ยงยุทธ ติยะไพรัช
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
“ผมได้ประสบการณ์จากที่ต่าง ๆ มาเยอะแยะ แล้วก็ได้รู้จักคนเยอะแยะ
ทำไมเราไม่ทำอะไรให้บ้านให้เมืองบ้าง ผมเคยพูดติดตลกกับทุกคนว่า
ผมมีโอกาสเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นอะไรมาหลายอย่างแล้ว
เหลืออีกตำแหน่งหนึ่ง คือ ภารโรงประจำจังหวัด”
นายยงยุทธ ติยะไพรัช[1]
“ภารโรงประจำหวัด” เป็นคำที่แปลกหู และไม่คุ้นชินนัก ทว่าเป็นคำพูดที่เสมือนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของนักการเมืองคนสำคัญในจังหวัดเชียงราย นั่นคือ “นายยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีต ส.ส. จังหวัดเชียงรายหลายสมัย เส้นทางในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ นั่นคือ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย แต่เส้นทางการเมืองของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อต้องเผชิญกับการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้เขาถูกควบคุมตัวเป็น 1 ในแกนนำรัฐบาลที่ถูกควบคุมตัว หลังจากนั้นนายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในฐานะ “ประธานรัฐสภา” แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง และเป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นชื่อของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เงียบหายไป จนกระทั่งปรากฏออกมาอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2557 ในฐานะ “ประธานมูลนิธิรักเชียงราย”
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
นายยงยุทธ ติยะไพรัช เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2504 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายแต้ซ้ง แซ่เตีย และนางจม แซ่เตีย นายยงยุทธ ติยะไพรัช สมรสกับนางสลักจิต หรือ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มีบุตร-ธิดา รวม 3 คน
นายยงยุทธ ติยะไพรัช สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะเกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2526 โดยมีรหัสนักศึกษา 2208701 และปี พ.ศ. 2536 ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขา Urban Environmental Management ในปี พ.ศ. 2555 จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)[2]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
นายยงยุทธ ติยะไพรัช เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ “นักการเมือง” โดยเริ่มงานกับพรรคเอกภาพ โดยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเขตจังหวัดเชียงราย และได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2538 แต่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. สมัยแรก ได้เพียง 1 ปี เท่านั้น เนื่องจากมีการยุบสภา และมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในปี พ.ศ. 2539 ในการนี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ได้รับการเลือกตั้งสมัยที่สอง เป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 20 ต่อมานายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้เข้าดำรงตำแหน่งเลขานุการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์)[3] จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 20 สิ้นสุดลงจากการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี
การเป็น ส.ส. สมัยที่สามของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เกิดขึ้นภายหลังเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และร่วมงานทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา โดยในช่วงเวลาของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ประกอบด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ต่อมมาได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจนถึงครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ในปี พ.ศ. 2548 เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 375 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วงเวลานี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งถูกยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) และถูกควบคุมตัวอยู่เป็นเวลา 11 วัน[4] ส่งผลให้บทบาทของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เงียบหายไป
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 สมาชิกพรรคไทยรักไทยจึงย้ายไปสังกัด “พรรคพลังประชาชน” โดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมาก และนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ดำรงตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” ทว่าอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ใบแดงแก่นายยงยุทธ ติยะไพรัช เนื่องจากมีการร้องเรียนว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช ทุจริตการเลือกตั้ง ที่จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้ต้องยุติบทบาททางการเมืองลงไป และด้วยเหตุที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย จึงส่งผลให้ปลายปี พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และได้ตัดสิทธินายยงยุทธ ติยะไพรัชในฐานะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันนายยงยุทธ ติยะไพรัช ดำรงตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิรักเชียงราย”
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดจากการทำงานที่ใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 นั้น นายยงยุทธ ติยะไพรัช นับว่าเป็น 1 ในทีมงานที่คอยดูแลเรื่อง “ภาพลักษณ์” ของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนทำหน้าที่ในการประสานงานและให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และความใกล้ชิดระหว่างนายยงยุทธ ติยะไพรัช กับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ได้เพิ่มระดับความใกล้ชิดมากขึ้น โดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล อาทิเช่น นโยบายต่อสู้กับยาเสพติด นโยบายแก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น[5] และสามารถสร้างคะแนนนิยมที่สูงมากให้กับรัฐบาล
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ในช่วงปี พ.ศ. 2551 บทบาทของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกจัดวางให้เป็นนักประนีประนอม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแต่เดิมนั้นภาพลักษณ์ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช มีภาพลักษณ์ที่แข็งกร้าว ในลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และได้เปลี่ยนมาสู่ภาพที่ประนีประนอมมากขึ้น เพื่อลดความตึงเครียดในการเผชิญหน้ากันของคู่ขัดแย้ง[6] แต่นายยงยุทธก็อยู่ในตำแหน่งนี้ได้เพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น เนื่องจาก กกต. มีมติให้ใบแดงแก่เขา โดยนายยงยุทธ ติยะไพรัชได้แถลงข่าวลาออกในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551[7] และกรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรองหัวหน้าพรรค เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 237 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 103 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และมาตรา 94 (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550[8] และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
หลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ทุ่มเทให้กับการทำงาน “การเมืองท้องถิ่น” ในจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนนางสลักจฤฎดิ์ (สลักจิต) ติยะไพรัช ภรรยาของเขาให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2555 แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปี กกต. ก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาให้จำคุกนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ในกรณีแจ้งความเท็จ[9] ส่งผลให้นางสลักจฤฎดิ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ต่อมานายยงยุทธ ติยะไพรัช จึงผลักดันนางบุศริณธญ์ วรพัฒนานันท์ (ติยะไพรัช) พี่สาวของตนให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนนางสลักจฤฎดิ์ แม้ว่านางบุศริณธญ์จะได้รับการเลือกตั้ง แต่ต่อมา กกต. ก็มีมติให้ใบเหลืองแก่นางบุศริณธญ์ เนื่องจากมีการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัคร[10]
ปัจจุบันนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้จัดตั้ง “มูลนิธิรักเชียงราย” โดยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิด้วยตนเอง ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดเชียงราย อยู่ 2 ประการ คือ การพัฒนาคน และการพัฒนาจังหวัดเชียงราย[11]
ฉายาและข้อวิจารณ์
นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “ยุทธ ตู้เย็น” เนื่องจาก ในปี พ.ศ. 2547 ขณะที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนนโยบาย “สงครามยาเสพติด” นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้นำกำลังตำรวจกองปราบปรามเข้าล้อมบ้านตระกูล “ศตะกูรมะ” ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากนายยงยุทธกล่าวหาว่าบ้านหลังดังกล่าวมีการผลิตยาเสพติด และเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด อีกทั้งในระหว่างการจับกุมนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังและอาวุธปืนยิงถล่มจนทรัพย์สินในบ้านเสียหาย หนึ่งในนั้นคือ “ตู้เย็น”[12] ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยศาลพิจารณารับฟ้องในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และบุกรุกในเวลากลางคืน จากนั้น ทั้งหมดได้ใช้ตำแหน่งและหลักทรัพย์ยื่นต่อศาลขอประกันตัวออกไป[13]
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายยงยุทธ ติยะไพรัช ไม่ได้รับการยอมรับจากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากช่วงเวลานั้นนายยงยุทธ ติยะไพรัช กำลังถูก กกต. พิจารณาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง โดยได้รับฉายาว่า “ประธานสภาสีเทา” ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า
“คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ควรมีเกียรติประวัติที่ดี มีบารมี และเป็นที่ยอมรับของ ส.ส. ทั้งสภา มีสถานะที่มั่นคง ดำรงตำแหน่งได้ครบวาระ เนื่องจากเราไม่อยากได้ประธานสภาสีเทา แต่ต้องการประธานสภาที่ใสสะอาดปราศจากข้อสงสัยใด ๆ”[14]
ในช่วงเวลาที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างนี้ต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเมือง โดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้รับข้อกล่าวหาว่า มีส่วนสำคัญในการใช้ตำแหน่งเกื้อหนุนต่อการต่อสู้ทางการเมือง นั่นคือ การกล่าวหาว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช มีส่วนสำคัญในการให้ข้าราชการกรมป่าไม้ เข้าร่วมชุมนุมใน “คาราวานคนจน” ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล[15] นอกจากนี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นผู้ให้ข่าวว่ามีการปลดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วงเวลา 2 เดือน ก่อนการยึดอำนาจ[16]
บรรณานุกรม
ชู ‘หมัก’ นายกฯ เชิงสัญลักษณ์ เชิดบท ‘ยุทธ’ นักประนีประนอม ลบข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดในชีวิต. เนชั่นสุดสัปดาห์ (25-31 มกราคม 2551).
ยงยุทธ-ผู้การโก๋ เจอข้อหาหนัก ยิงถล่มบ้าน ‘ศตะกูรมะ’ อ้างผลิตยานรก. แนวหน้า (วันที่ 16 ตุลาคม 2550).
ลาออก. มติชนสุดสัปดาห์ (2-8 พฤษภาคม 2551).
เส้นทางวิบากของยงยุทธ ติยะไพรัช กับเนวิน ชิดชอบ. มติชนสุดสัปดาห์ (18-24 มกราคม 2551).
เส้นทาง ‘สายล่อฟ้า’ สู่ประธานสภา ‘สีเทา’ ภารกิจหนักอึ้งของ ‘ยงยุทธ’, มติชนสุดสัปดาห์ (วันที่ 25- 31 มกราคม 2551).
อิศรินทร์ และคณะ. ในคืนยะเยือก (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552).
เว็บไซต์
หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา) เข้าถึงจาก <> http://library.cmu.ac.th/pinmala/alumni_detail.php?StudentID=2208701&ayear=2545 >เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
บทวิเคราะห์การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง เข้าถึงจาก <>%20เมื่อ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1539> เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
2 ตระกูล'ติยะไพรัช-จงสุทธนามณี'
เข้าถึงจาก <>%20เมื่อวันที่%2027%20เมษายน%20พ.ศ http://www.komchadluek.net/detail/20140318/181011.html> เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
กกต. มีมติให้ตั้งใหม่ นายก อบจ.เชียงราย แจกใบเหลือง "บุศริณธญ์" พี่สาว "ยงยุทธ ติยะไพรัช" เข้าถึงจาก <>%20เมื่อ http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=604243> เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
'ยงยุทธ' ขอเป็น'ภารโรงประจำจังหวัด' เข้าถึงจาก <>%20เมื่อวันที่%2027%20เมษายน%20พ.ศ http://www.komchadluek.net/detail/20140430/183837.html> เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
อ้างอิง
[1] นายยงยุทธ ติยะไพรัช ให้สัมภาษณ์ในรายการหน้าที่พลเมือง ช่วงกล้าท้าชน ตอน ภารโรงประจำจังหวัด ยงยุทธ ติยะไพรัช ออกอากาศในช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557.
[2] หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา), เข้าถึงจาก http://library.cmu.ac.th/pinmala/alumni_detail.php?StudentID=2208701&ayear=2545 เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
[3] เส้นทางวิบากของยงยุทธ ติยะไพรัช กับเนวิน ชิดชอบ, มติชนสุดสัปดาห์ (18-24 มกราคม 2551), น.8.
[4] อิศรินทร์ และคณะ, ในคืนยะเยือก, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552), น. 184.
[5] เพิ่งอ้าง, น. 192.
[6] ชู ‘หมัก’ นายกฯ เชิงสัญลักษณ์ เชิดบท ‘ยุทธ’ นักประนีประนอม ลบข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดในชีวิต, เนชั่นสุดสัปดาห์ (25-31 มกราคม 2551), น. 12.
[7] ลาออก, มติชนสุดสัปดาห์ (2-8 พฤษภาคม 2551), น.7.
[8] บทวิเคราะห์การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง, เข้าถึงจาก http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1539 เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
[9] 2 ตระกูล'ติยะไพรัช-จงสุทธนามณี', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20140318/181011.html เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
[10] กกต. มีมติให้ตั้งใหม่ นายก อบจ.เชียงราย แจกใบเหลือง "บุศริณธญ์" พี่สาว "ยงยุทธ ติยะไพรัช", เข้าถึงจาก http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=604243 เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
[11] 'ยงยุทธ'ขอเป็น'ภารโรงประจำจังหวัด', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20140430/183837.html เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559.
[12] ชู ‘หมัก’ นายกฯ เชิงสัญลักษณ์ เชิดบท ‘ยุทธ’ นักประนีประนอม ลบข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดในชีวิต, เนชั่นสุดสัปดาห์ (25-31 มกราคม 2551), น. 12.
[13] ยงยุทธ-ผู้การโก๋ เจอข้อหาหนัก ยิงถล่มบ้าน ‘ศตะกูรมะ’ อ้างผลิตยานรก, แนวหน้า (วันที่ 16 ตุลาคม 2550), น.7.
[14] เส้นทาง ‘สายล่อฟ้า’ สู่ประธานสภา ‘สีเทา’ ภารกิจหนักอึ้งของ ‘ยงยุทธ’, มติชนสุดสัปดาห์ (วันที่ 25-31 มกราคม 2551), น.12.
[15] เพิ่งอ้าง.
[16]อิศรินทร์ และคณะ, อ้างแล้ว, น.173-192.