คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
'คุณพระบริภัณฑ์ฯ ': "ขุนคลัง" ของหลวงพิบูลฯ
ตอนนี้มีผู้คนกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกันมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ตำแหน่ง"ขุนคลัง" ของรัฐบาลนั้นเป็นตำแหน่งที่คนรู้จักมาก มีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่ก็ไม่ถึงกับชัง สำหรับรัฐบาลแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นสำคัญนัก เพราะเป็นผู้ที่ต้องขวนขวายหาเงินมาให้รัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนอื่นได้มีใช้มีจ่ายนั่นเอง คิดขึ้นมาก็หวนนึกถึงขุนคลังเก่าของนายกรัฐมนตรีในอดีตอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านจอมพลคนนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีรวมเวลากันแล้วนานกว่าใคร ดังนั้นจึงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของท่านอยู่หลายคน แต่คนที่ถูกหมายตาที่จะเก็บเรื่องเอามาคุยในตอนนี้เป็นนายทหารที่มียศถึงพลเอก และก็เป็นทหารอาชีพมาทั้งจากการศึกษาและการทำงานในเบื้องต้น ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักบริหารการเงินฝีมือดีที่ได้ตำแหน่งทางการเมือง แล้วมารุ่งเรืองด้วยยศทางทหารในภายหลัง
ผมหมายถึงนายทหารที่ต้องมาเป็นนักการคลังที่มีทั้งยศและบรรดาศักดิ์ ที่ชื่อ พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ หรือ พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ นั่นเอง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 ตามประวัติบอกว่าการศึกษาเบื้องต้นท่านเป็นนักเรียนนายร้อยที่เก่ง ต่อมาจึงได้ทุนไปเรียนนายร้อยเยอรมันที่เมืองลิสแตร์เฟลเด เมืองนี้อยู่ใกล้กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.2454 ขณะที่เรียนอยู่ที่เยอรมันนีได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงอยู่ในประเทศเยอรมันนีไม่ได้ ท่านต้องย้ายหนีมาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเรียนวิชาทหารใหม่อีกทางด้านพลาธิการ แต่ก็เรียนไปได้ไม่นาน ประเทศไทยได้ประกาศเข้าร่วมสงครามด้วย ท่านจึงต้องย้ายข้ามประเทศเข้าไปประเทศฝรั่งเศสไปเรียนที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่ประเทศนี้ท่านได้เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรีทำงานอยู่กับผู้ช่วยทูตทหารของไทยซึ่งประจำอยู่ที่กรุงปารีส ท่านได้เรียนและทำงานอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึง พ.ศ.2464 จึงกลับบ้านเกิดเมืองนอน มารับราชการต่อเป็นนายร้อยโทที่กรมยกกระบัตร ท่านรับราชการทหารในเมืองไทยต่อมาอีกประมาณ 3 ปีจนถึง พ.ศ.2467 ท่านก็ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริภัณฑ์ยุทธกิจ ถัดมาอีก 5 ปี ใน พ.ศ.2472 ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ตอนนั้นท่านมียศทางทหารเป็นนายพันโท แต่ถึงแม้ว่าท่านจะเคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสมาก่อน ก็หาได้มีชื่อหรือมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 การที่มีความรู้ด้านพลาธิการ จึงได้ทำงานเป็นกรรมการพัสดุแห่งชาติ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังการกบฏบวรเดช ในปี พ.ศ.2477 ท่านได้เลื่อนยศทางทหารเป็นนายพันเอกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นพลาธิการทหารบก ตอนนั้นนายทหารที่มีอำนาจในรัฐบาล คือ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ผู้นำในการปราบกบฏบวรเดช
ในปีถัดมาท่านจึงได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลที่มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยท่านยังเป็นพลาธิการทหารบกควบไปด้วย อยู่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลฯจนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2480 พระยาพหลฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีเหตุมาจากกระทู้ถามและการอภิปรายของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เกี่ยวกับการขายที่ดินของพระคลังให้แก่นักการเมืองรวมทั้งรัฐมนตรีบางคน รัฐบาลจึงสิ้นสุดลง แต่เมื่อพระยาพหลฯกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจก็ยังได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเหมือนเดิม และได้อยู่ร่วมรัฐบาลของพระยาพหลฯ ไปจนกระทั่งรัฐบาลพระยาพหลฯ เจอมรสุมทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร แพ้เสียงในสภา คราวนี้นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯท่านต้องยุบสภาในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 จึงต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่
ภายหลังการเลือกตั้ง พระยาพหลฯ เลือกที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ มีอำนาจแท้จริงในขณะนั้นจึงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ให้มาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งเดิมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ได้คุมการคลังของประเทศ
จนถึงปี พ.ศ.2484 หลังจากที่ญี่ปุ่นบุกไทยและรัฐบาลต้องยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านไทยได้ ทางการเมืองภายในของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คราวนี้นั่นเองที่นายกรัฐมนตรีได้ให้พระบริภัณฑ์ยุทธกิจมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2484 ท่านเป็นรัฐมนตรีนั่งว่าการสองกระทรวงได้เช่นนี้คนเขาก็ว่ากันว่าท่านนั้นได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอย่างมาก เพราะตอนนั้นทางญี่ปุ่นบีบที่จะขอกู้เงินไทย นายกรัฐมนตรีเองเห็นด้วยอยู่แล้ว เรื่องจะสะดวกก็เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ค้านด้วย ซึ่งญี่ปุ่นก็กู้เงินได้ตามที่ต้องการ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจคงทำงานถูกใจนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านนายกฯจึงเลือกให้ท่านพ้นตำแหน่งจากกระทรวงเศรษฐการและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่เพียงตำแหน่งเดียวตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 และท่านก็เป็น "ขุนคลัง" คู่ใจคุณหลวงพิบูลสงครามต่อมาตลอดเวลาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามเจอพายุการเมืองที่สำคัญ สภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมออกกฎหมายผ่านพระราชกำหนด 2 ฉบับที่รัฐบาลออก นายกรัฐมนตรีจึงลาออก คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจจึงพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่ทางการเมือง แต่ชีวิตทางการเมืองของท่านยังไม่จบ
พระบริภัณฑ์ยุทธกิจพ้นตำแหน่งทางการเมืองได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ท่านก็ลาออกจากราชการ รับบำนาญในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2487 ขณะนั้นท่านมีอายุ 51 ปี ถัด มาจากนั้นอีก 2 เดือน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นี่ก็น่าจะแสดงว่าท่านเป็นคนมีฝีมือทีเดียว รัฐบาลใหม่ก็ยังไปเอาตัวมาเป็นกรรมการที่สำคัญด้านการเงินการทองของประเทศ และตำแหน่งนี้นี่เองที่ทำให้ท่านดังขึ้นมาอีก เพราะคณะกรรมการธนาคารชาติขัดแย้งกับรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจนต้องพ้นตำแหน่งกันทั้งคณะ
ชีวิตการเมืองนั้นก็มีขึ้นมีลง ตอนนั้นนายเก่าของท่านคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เลิกแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องค้างสืบมา เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีตกเป็นผู้ต้องหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ดีว่าเรื่องนี้ไปจบที่ศาล ที่เห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาภายหลังการกระทำ จึงใช้ย้อนหลังไม่ได้ เวลาผ่านมาถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีรัฐประหารเกิดขึ้น คณะรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญและล้มรัฐบาล จึงล้มรัฐสภาไปด้วย หลังการรัฐประหารได้ 10 วันก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ซึ่งในบรรดาสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้มีชื่อคุณพระบริภัณฑ์ฯได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยคนหนึ่ง ดังนั้นท่านจึงกลับเข้ามาทำงานทางการเมืองอีกครั้งในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในช่วงเวลานี้วุฒิสภาได้ทำหน้าที่รัฐสภาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามา
ในปีถัดมา รัฐบาลของนาย ควง อภัยวงศ์ ที่คณะรัฐประหารขอให้มาปกครองประเทศ ได้บีบให้นาย ควง อภัยวงศ์ ลาออก และจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายเก่าของคุณพระบริภัณฑ์ฯ ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลแทน แต่คุณพระบริภัณฑ์ฯก็ยังไม่ได้เข้ามาร่วมรัฐบาล จนกระทั่งถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ พระยามไหสวรรณ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีจึงได้หันมาชวนคุณพระบริภัณฑ์ฯเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ แทนอีกครั้งหนึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี นำรัฐนาวาฝ่าคลื่นของความพยายามที่จะล้มรัฐบาลของกลุ่มนายทหารและพลเรือนมาได้หลายครั้งหลายหน จนถึง พ.ศ.2494 คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลคือฝ่ายเดียวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศยึดอำนาจ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณพระบริภัณฑ์ฯก็ต้องพ้นตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
ครั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ที่ตั้งโดยคณะบริหารประเทศชั่วคราว คุณพระบริภัณฑ์ฯก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีด้วย แต่ย้ายกระทรวงไปอยู่ที่กระทรวงเกษตราธิการ นอกจากนั้นท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญในตอนนั้นด้วย แต่พอจอมพล ป.พิบูลสงครามจัดตั้งรัฐบาลใหม่สืบต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2494 คุณพระบริภัณฑ์ฯก็เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลับมาเป็น "ขุนคลัง" ของหลวงพิบูลฯอีกครั้ง และเป็นตลอดมา ในพ.ศ.2498 ท่านได้รับยศทางทหารสูงสุดเป็นพลเอก เชื่อกันว่าท่านเป็นขุนคลังที่นายกรัฐมนตรีเกรงใจมาก เพราะมีเรื่องเล่ากันว่าตอนปลายปี 2498 ต่อต้นปี 2499 นั้นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังคือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีเรื่องที่ไม่ทำตามใจรัฐมนตรีที่เป็นตำรวจ และรัฐมนตรีที่เป็นทหารซึ่งมีอำนาจในรัฐบาล จนนายกรัฐมนตรีก็ไม่ชอบใจด้วย ดร.ป๋วยฯจึงติดต่อหางานไปทำชั่วคราวที่เมืองนอก พอคุณพระบริภัณฑ์ฯทราบเรื่องท่านก็กล้าช่วยเหลือ ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วยฯ ได้เล่าเอาไว้ว่า
“แต่ความเรื่องนี้รู้ถึงคุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ท่านเห็นใจ แต่ไม่อยากให้ผมออกจากราชการไป จึงส่งผมไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังที่สถานเอกอัครราชทูตที่ลอนดอน... "
ตอนที่มีการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 จอมพล ป. นำทีมรัฐมนตรีลงสมัครแข่งขันด้วยอีก 8 คนในเมืองหลวง ในนามพรรคเสรีมนังคศิลา คุณพระบริภัณฑ์ฯลงแข่งขันด้วยในลำดับที่ 3 ต่อจากนายกรัฐมนตรี และคุณพระเวชยันต์รังสฤษดิ์ เลือกตั้งครั้งนั้นผู้สมัครของรัฐบาลชนะ 7 คนจาก 9 คน คุณพระบริภัณฑ์ฯก็ได้รับเลือกตั้งด้วยและได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ อันเป็นกระทรวงแรกที่ท่านเคยเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกนิสิตนักศึกษาและประชาชนประท้วงว่าเป็นการเลือกตั้ง"สกปรก" จนนำไปสู่การยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ที่ล้มรัฐบาล และให้จัดการเลือกตั้งใหม่โดยไม่ล้มรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งใหม่มีขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500
ที่น่าสนใจคือคุณพระบริภัณฑ์ฯได้มาลงเลือกตั้งที่พระนคร วัดใจคนเมืองหลวงดูอีกครั้ง โดยท่านไม่สังกัดพรรคใดเลย และเกินความคาดหมายท่านชนะเลือกตั้ง ได้เป็นคนที่ 9 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นขวัญใจคนเมืองหลวงได้ไป 8 ที่นั่ง ท่านจึงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจนถึงวันที่จอมพล สฤษดิ์ฯยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ท่านจึงยุติการเล่นการเมือง คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจมีชีวิตอยู่สืบมาจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 3 เมษายน พ.ศ.2513 รวมอายุได้ 77 ปี