หลวงสุทธิสารรณกร : ประธานสภานานที่สุด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


หลวงสุทธิสารรณกร : ประธานสภานานที่สุด

ในบรรดาประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือประธานสภาที่เคยมีมาในบ้านเรานี้ ท่านประธานที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นนายทหารคนหนึ่งของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านก็เป็นประธานสภาคนแรกที่ถึงแก่อนิจกรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ท่านประธานสภาท่านนี้คือ พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร หรือพลเอก สุทธิ ศุขวาที บางแห่งเขียน "สุขวาที" แต่ภายหลังท่านใช้บรรดาศักดิ์ของท่านเป็นนามสกุลว่า "สุทธิสารรณกร" คุณหลวงสุทธิฯเป็นคนกรุงเทพ เป็นบุตรชายของหลวงเพราะสำเนียง กับนางจีบ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2444 เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก จบมาก็ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารและเป็นทหารที่เจริญ ได้ยศและบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุทธิสารรณกรตั้งแต่ปี 2473 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในชื่อเดิม ภรรยาของท่านชื่อทิพย์

ท่านเริ่มมามีหน้าที่ทางการเมืองก็เมื่อภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 เพราะคณะทหารบกได้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และอีก 4 ปีต่อมา เมื่อคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราว ที่ประกอบด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่จาก 3 กองทัพจำนวน 9 นาย ได้นำการยึดอำนาจ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 หลังจากนั้น 7 วันได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ หลวงสุทธิสารรณกร เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย นับเป็นการเริ่มต้นงานทางการเมืองด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นท่านเป็นเสนาธิการทหารบก ในปีถัดมาเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คุณหลวงสุทธฯก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 สืบต่อมา

การเมืองไทยในเวลานั้นตกอยู่ภายใต้การนำของคณะทหาร ซึ่งดำเนินมาจนถึงปี 2498 ผู้คนภายนอกรัฐบาลจึงทราบว่าภายในคณะทหารที่ร่วมกันปกครองประเทศนั้นได้มีความแตกแยกเป็นพวกใหญ่ๆสองพวกโดยพวกแรกนั้นมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ บุตรเขยจอมพล ผิน ชุณหวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้นำ ส่วนอีกพวกหนึ่งนั้นมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า ดังนั้นคุณหลวงสุทธฯจึงอยู่ทางฝ่ายจอมพล สฤษดิ์ นายทหารรุ่นน้อง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จอมพล สฤษดิ์ เรียกคุณหลวงสุทธฯว่า " พี่หลวง"   

ก่อนการรัฐประหารปี 2490 คุณหลวงสุทธฯเป็นนายพลตรีแล้ว จอมพล สฤษดิ์ ยังเป็นนายพันอยู่ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 นั้นแม้มิได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ก็ล้มสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ จึงได้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาผู้แทนขึ้นมาใหม่ก่อนมีการเลือกตั้ง คุณหลวงสุทธฯได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาชุดใหม่ด้วย ครั้งนี้ผู้คนจึงได้รู้จักหลวงสุทธิสารรณกรมากขึ้น เพราะในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2500 คุณหลวงสุทธิฯได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอำนาจนิติบัญญัติ คือเป็นประธานสภา ที่ได้มีการเลือก นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การ ส.ป.อ.ในขณะนั้นให้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม. พ.ศ.2500 หลังการเลือกตั้ง มีนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง เปิดประชุมสภาฯ มีประธานสภาคนใหม่ และมีรัฐบาลใหม่ ที่มี พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงสุทธิสารรณกร ก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต่อมา แต่ที่สำคัญยังดำรงตำแหน่งประจำที่สำคัญในกองทัพ

ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับนักการเมืองฝ่ายทหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 คราวนี้จอมพล สฤษดิ์ ยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วย และเว้นว่างเวลาที่จะออกกติกาการปกครองชั่วคราวมาจนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2502 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ความตามธรรมนูญนี้ จะต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง ก็ได้ มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา คุณหลวงสุทธิฯได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง ในบรรดาสมาชิกสภาแห่งนี้ส่วนมากก็เป็นนายทหาร แต่ก็มีพลเรือนที่มีบทบาทและมีความสำคัญทางการเมืองในยุคนั้นรวมอยู่ด้วย

สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งต้องทำหน้าที่นิติบัญญัตินั้นถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องร่างกติกาการปกครองบ้านเมืองฉบับใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งนี้นับเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาที่ 2 ของไทย จอมพล สฤษดิ์ จึงได้เลือกคนที่ตนวางใจมากมาเป็นผู้นำ สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเลือกพลเอก หลวงสุทธิสารรณกร เป็นประธาน มีนายทวี บุณยเกตุ กับ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรองประธาน สภาแห่งนี้ได้เลือก จอมพล สฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย พลเอก หลวงสุทธิฯจึงเป็นตัวช่วยจอมพล สฤษดิ์ ในการพัฒนา โดยการออกกฎหมายต่างๆ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2503 คุณหลวงสุทธิฯ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการรองผู้บัญชาการทหารบก นั่นก็คือตำแหน่งรองจากจอมพล สฤษดิ์ นั่นเอง จอมพล สฤษดิ์จึงน่าจะไว้ใจมาก แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างล่าช้า เวลาผ่านไปจนถึงวันที่คุณหลวงสุทธิฯถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2511 การร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ มาเรียบร้อยประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511