หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:23, 9 มิถุนายน 2560 โดย WikiSysop (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ :ทหารเรือคนแรกที่เป็นนายกฯ

             ในบรรดานายกรัฐมนตรีของไทยนั้นมีนายทหารบกอยู่หลายคน แต่มีนายทหารเรือเพียงคนเดียวที่ได้เข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายทหารเรือผู้นี้ได้มาจากเสียงสนับสนุนในสภา แต่นายทหารเรือผู้นี้ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารที่มีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นายทหารเรือผู้นี้คือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 ด้วยนั่นเอง

             หลวงธำรงฯมีชื่อว่า ถวัลย์ นามสกุล ธารีสวัสดิ์ ท่านเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง (อำเภอพระนครศรีอยุธยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน พ.ศ.2444 มีบิดาชื่ออู๋ และมารดาชื่อเงิน ดังนั้นในวัยเด็กจึงได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ จากนั้นจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายเรือ จบมารับราชการเป็นนายทหารเรือ แต่ท่านก็เป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี เพราะเรียนกฎหมายจนจบได้เป็นเนติบัณฑิตไทย

             ตอนที่หลวงธำรงฯอายุได้ 31 ปี มียศเป็นนายเรือเอก ได้รับการชักชวนจากเพื่อนนายทหารเรือ คือ นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าสายทหารเรือในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้เข้าร่วมงานการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย หลังการยึดอำนาจสำเร็จ มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกจำนวน 70 นาย หลวงธำรงฯก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาฯ จึงเป็นผู้ก่อการฯที่สำคัญคนหนึ่ง

             ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงธำรงฯได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรก ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2477 เป็นรัฐมนตรีลอย ได้เป็นรัฐมนตรีไม่นานรัฐบาลก็ตั้งให้เป็นผู้แทนไปทำงานสำคัญเข้าเฝ้าเจรจากับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อังกฤษ คณะนี้มีด้วยกันสามคน มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้า หลวงธำรงฯจึงเป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้แทนรัฐบาล และมีนายดิเรก ชัยนาม ทำหน้าที่เลขานุการ การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ต่อมาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯได้ปรับคณะรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง หลวงธำรงฯได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและดำรงตำแหน่งสืบเนื่องไปจนสิ้นสมัยของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ

             หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ปี 2481 แล้ว ได้มีรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ปรากฏว่าหลวงธำรงฯยังได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และก็เป็นรัฐมนตรีที่อยู่ร่วมรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ จนหลวงพิบูลฯลาออกเพราะรัฐบาลแพ้เสียงในสภาฯ เมื่อปี 2487 และท่านก็เว้นว่างไม่ได้ร่วมรัฐบาลที่ตามมาอีกสามรัฐบาลจนหมดสถานการณ์สงคราม

             หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2489 แล้ว ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีข่าวเกี่ยวกับการที่จะยกเลิกการมีสมาชิกสภาฯประเภทแต่งตั้ง ทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการเมืองรวมตัวกันคิดตั้งพรรคการเมือง ครั้งนั้นหลวงธำรงฯได้รวมผู้ก่อการส่วนหนึ่งกับผู้ที่สนับสนุนนายปรีดีตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคแนวรัฐธรรมนูญ โดยมีหลวงธำรงฯเป็นหัวหน้าพรรค แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองก็ตาม และพรรคแนวรัฐธรรมนูญนี้ได้ร่วมกับนักการเมืองที่เป็นพันธมิตรรวมกันออกเสียงในสภาฯ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้เสียงในสภาฯ โดยสภาฯมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชนที่เสนอโดยสมาชิกสภาฯ แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วย อันเป็นผลให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนสภาฯต้องมีมติขอให้นายปรีดี พนมยงค์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล ขณะนั้นนายปรีดีไม่ได้เป็นสมาชิกสภาฯ เพราะได้ลาออกมาก่อนหน้านั้น แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาฯ จึงมีสมาชิกสภาฯ คือนาย จำรัส สุวรรณชีพ ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาฯ เปิดทางให้แต่งตั้งนายปรีดี เป็นสมาชิกสภาฯเสียก่อน นายปรีดีได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 แต่ในรัฐบาลของนายปรีดีชุดแรกนี้ หลวงธำรงฯก็ยังมิได้เข้าร่วมรัฐบาล

             ครั้นต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ พ.ศ.2489 ที่กำหนดให้รัฐสภาไทยประกอบด้วย พฤฒสภา กับสภาผู้แทนราษฎร หลวงธำรงฯได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภาคนหนึ่งด้วย และเมื่อนายปรีดี ได้เป็นนายกฯสืบต่อหลังใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 หลวงธำรงฯได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงนับว่าท่านเป็นคนที่นายปรีดีวางใจมากคนหนึ่ง ขณะนั้นรัฐบาลกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมืองมาก เพราะเหตุการณ์กรณีสวรรคต

             เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 แล้ว ทางรัฐบาลก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เพราะได้ยกเลิกการมีสมาชิกสภาประเภทแต่งตั้งไปแล้ว และมีการแก้ไขอัตราส่วน ส.ส. ต่อจำนวนประชาชนจากเดิม 1 ต่อ 100,000 คน ทำให้มี ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 82 คน โดยจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2489 ทางฝ่ายรัฐบาลนั้นก็มีพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่มีหลวงธำรงฯเป็นหัวหน้าพรรค กับพรรคสหชีพที่มี นายเดือน บุนนาคเป็นหัวหน้า ส่วนฝ่ายค้านนั้นก็มีพรรคการเมืองใหม่คือพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ครั้งนี้หลวงธำรงฯได้ลาออกจากพฤฒสภามาลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

             ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี ปรีดี นายกรัฐมนตรี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญได้รับเลือกจากคนอยุธยาให้เป็นผู้แทนราษฎรทั้งสองคน นับว่าเป็นสิ่งที่น่าจะดีต่อรัฐบาล เพราะเป็นเสียงสนับสนุนจากประชาชนในยามที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกรัฐมนตรี โดนเล่นงานหนักทั้งที่เปิดเผย และการสาดโคลนทางการเมืองแบบลับๆ โดยเอาการดำเนินการคดีสวรรคตมาเล่นงานรัฐบาล แต่แรงกดดันทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาลก็ไม่ได้ลดลง ดังนั้นในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489 นายปรีดี จึงขอลาออกจากนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่าได้ทำงานให้บ้านเมืองมานานและมีเรื่องสุขภาพไม่ดี ครั้งนี้ทางสภาฯได้หารือกันและมาลงตัวที่หลวงธำรงฯที่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพ กับพรรคการเมืองเล็กอีกบางพรรค ท่านจึงได้เป็นนายกรัฐคนที่ 8 ของประเทศ กระนั้นรัฐบาลของหลวงธำรงฯก็ถูกคนกล่าวหาว่าอยู่ใต้บารมีของอดีตนายกรัฐมนตรีปรีดี แต่ความจริงอย่างหนึ่งนั้นก็คือหลวงธำรงฯเป็นนักการเมืองที่มีฝีมือและฝีปากดีทีเดียว มีคนให้ฉายาว่าเป็นนายกฯ "สาริกาลิ้นทอง " ฝีปากนั้นดูจะไม่เป็นรองใคร นับว่าจะต่อกรกับหัวหน้าฝ่ายค้านสำคัญอย่างนายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการฯมาด้วยกันได้

             แรงกดดันทางการเมืองตั้งแต่หลวงธำรงฯรับหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้นหนักหนามาตั้งแต่ต้น เพราะนอกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยม ที่ได้นายควง ผู้ก่อการฯที่แยกวงมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน จึงเป็นฝ่ายค้าน         ที่น่ากลัว เพราะนายควงเป็นนักการเมืองเป็นผู้มีวาจาเป็นเอก มีคะแนนนิยมดี ขณะเดียวกันอดีตนายกรัฐมนตรี นายทหารเก่าอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถูกบีบให้ออกจากวงการเมืองไปเพราะชนักติดหลังข้อหาอาชญากรสงคราม ถึงขนาดบอกว่าเข็ดการเมือง ก็กลับมาปรากฏตัวเรียกหาความนิยม ทำท่าเหมือนว่าจะกลับเข้าวงการเมืองอีก ทั้งนี้เพราะว่าจอมพล ป.นั้นหลุดจากคดีอาชญากรสงครามแล้ว เพราะกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ออกมาใช้หลังการกระทำ จึงไม่อาจใช้ในคดีที่ย้อนหลังได้  พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ทันครบปี ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2490 เพราะเห็นว่าประชาชนชักมีความไม่พอใจรัฐบาลขึ้นมาบ้างแล้ว

การอภิปรายทั่วไปครั้งนั้นโด่งดังมาก เนื่องจากเป็นการเปิดอภิปรายที่หวังจะล้มรัฐบาลในสภาฯ หรือไม่ก็โจมตีให้ประชาชนทั่วไปเห็นความเสียหายของรัฐบาลมากขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ขออภิปรายในเรื่องต่างๆ ดังนี้

             “ 1.ความสงบเรียบร้อยภายใน ข้าราชการ และทหารกองหนุน

             2.การเงินของชาติ

             3.การเศรษฐกิจ

             4.กรณีสวรรคต”

             การอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ทำให้ผู้ที่ติดตามเห็นว่าฝีปากของนายกฯหลวงธำรงฯและหัวหน้าฝ่ายค้านคือหลวงโกวิทฯหรือนายควงนั้นเก่งด้วยกันทั้งคู่ และการอภิปรายก็ยาวนานมากถึง 8 วัน กับ 7 คืน คือจากวันที่ 19 ถึง 26 พฤษภาคม พ.ศ.2490 หลังการอภิปรายจบ และได้มีการลงมติในวันต่อมา ฝ่ายรัฐบาลก็ชนะด้วยเสียงจำนวนมากถึง 86 ต่อ 55 กระนั้นหลวงธำรงฯก็ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯในวันถัดมา คือวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2490 แต่ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็นนายกฯอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน กลับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้ง หลวงธำรงฯก็ได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีบางตำแหน่งโดยให้ ดร.เดือน บุนนาค หัวหน้าพรรคสหชีพ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาอยู่ขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย และเปิดทางตั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่เป็นสมาชิกสภาฯเข้ามาร่วมรัฐบาล

             แม้รัฐบาลของหลวงธำรงฯจะกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้ก็ตาม แต่นอกสภาฯนั้นฝ่ายค้านก็โจมตีอย่างหนัก จนถึงกับมีเสียงว่าจะมีการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ แต่ทางรัฐบาลเองดูจะมั่นใจว่าจะคุมสถานการณ์ได้ เพราะเชื่อมั่นว่าทางผู้นำทหารเรือนั้นสนับสนุนรัฐบาล และเวลานั้นกองกำลังของทหารเรือในพระนครก็เข้มแข็ง ทางตำรวจที่มีหลวงสังวรยุทธกิจ อดีตนายทหารเรือเป็นอธิบดีอยู่ และทางทหารบกที่มีหลวงอดุลเดชจรัสเป็นผู้บัญชาการ ต่างก็ยืนยันว่าควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันในบรรดาผู้นำสำคัญของรัฐบาลรวมทั้งหลวงธำรงฯเองด้วยที่จะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาสู้กับแรงกดดันทางการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ แต่ยังไม่ครบหกเดือน ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังอยู่บนเวทีลีลาศสวนอัมพรในงานการกุศล ที่มีนายควง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอยู่ด้วยนั้น นายทหารกลุ่มหนึ่งก็บุกไปที่บ้านของท่านที่ถนนราชวิถีซึ่งห่างจากสวนอัมพรไม่ถึงห้านาที เพื่อจับตัวนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหลวงธำรงฯจึงหนีรอดไปได้ อย่างไรก็ตามการรัฐประหารก็สำเร็จ ทั้งนายควงและจอมพล ป.ก็กลับมาเป็นนายกฯทั้งสองคน ส่วนหลวงธำรงฯก็ต้องเดินทางหลบออกไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศที่ฮ่องกงช่วงเวลหนึ่ง แล้วจึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทย แต่ท่านก็มิได้เข้าวงการเมืองอีกเลย

             พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงปี 2531จึงได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 3 ธันวาคม