พึ่ง ศรีจันทร์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:55, 30 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณว...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พึ่ง ศรีจันทร์ : ประธานสภาสามัญชน

           ภายหลังการเปิดประชุมรัฐสภาทีประชุมร่วมระหว่างพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้ 2 วัน ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2490 สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ประชุมเลือกนายพึ่ง ศรีจันทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ สมาชิกพรรคสหชีพ เป็นประธานสภาฯ นายพึ่งจึงเป็นประธานสภาฯ คนที่ 7 ของประเทศ และเป็นผู้แทนฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ประธานสภาฯ ล้วนแต่เป็นข้าราชการเก่าที่มียศหรือบรรดาศักดิ์มาก่อน แม้แต่ประธานสภาฯ คนก่อน คือ นายเกษม บุญศรี ก็เคยเป็นพระมีตำแหน่งระดับ “เจ้าคุณ”  มาก่อน ดังนั้นมาดูชีวิตการเมืองของท่านดูบ้าง

             พึ่ง ศรีจันทร์ เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ก็ตาม แต่บ้านเกิดของท่านนั้นอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย ท่านเกิดที่เรือนแพหลังหนึ่งในแม่น้ำยม ที่บ้านท่าทราย ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2450 ตามประวัติไม่ระบุชื่อบิดามารดาเอาไว้ แต่กลับทราบว่าปู่ชื่อ “ศรี” และย่าชื่อ “จันทร์” เพราะครูเอาชื่อทั้งสองท่านมาตั้งเป็นนามสกุลให้เด็กชายพึ่ง ชีวิตวัยเด็กของท่านนั้นลำบาก เนื่องจากมารดาเสียชีวิตไปเมื่อท่านอายุเพียง 5 ขวบ และอีกสองปีต่อมาท่านก็กำพร้าพ่อ จึงมีตากับยายเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูต่อมา ด้านการศึกษานั้นท่านได้เรียนระดับประถมที่โรงเรียนประชาบาลที่บ้านท่าทรายจนจบชั้นเรียนเท่าที่มีในพื้นที่แล้วจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมในจังหวัดพิษณุโลก ด้วยท่านเป็นคนเรียนเก่งและมีมานะในการเรียน จึงเคยสอบได้ที่ 1 ของโรงเรียน ท่านได้เรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ซึ่งในเวลานั้นผู้ที่ศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จะเข้าเรียนต่อวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้

             นายพึ่งศึกษากฎหายจบเป็นเนติบัณฑิตไทยในปี 2469 ออกไปประกอบอาชีพเป็นทนายความอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ระยะหนึ่งแล้วจึงได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  ทำอาชีพทนายกับ “ทำไร่อ้อยและค้าไม้สักแปรรูป” และได้พบคู่ชีวิต แต่งงานอยู่กินกับภรรยาชื่อคุ้ม ทำให้ท่านพักอาศัยถาวรต่อมาที่จังหวัดอุตรดิตถ์

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 พึ่ง ศรีจันทร์ได้สนใจติดตามข่าวเป็นอย่างมาก ตอนที่เรียนกฎหมายก็เคยเรียนกับ “อาจารย์” ปรีดี พนมยงค์ ด้วย

             ครั้นมีการเลือกตั้งครั้งแรกที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม นายพึ่งจึงลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรด้วยแต่แพ้ได้คะแนนจากผู้แทนตำบล 16 คะแนน ผู้ชนะที่ 1 นายฟัก ณ สงขลา ได้ 18 คะแนน แต่นายพึ่งก็ไม่ท้อ พอมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี 2480 ที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ท่านจึงลงแข่งขันอีก คราวนี้ชนะได้เป็นผู้แทนฯสมใจ แต่เป็นผู้แทนฯ ได้ไม่ถึงปี นายกฯพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ยุบสภา นายพึ่งก็ลงเลือกตั้งและชนะเข้าสภาอีกเป็นครั้งที่สอง แต่คราวนี้ได้เป็นสมาชิกสภาฯ อยู่นาน เพราะมีการต่ออายุสภาฯ ตลอดเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านเองก็ได้ร่วมงานสำคัญของแผ่นดิน คือ งานเสรีไทย รับผิดชอบ “หน่วยสุโขทัย-อุตรดิตถ์” เขตงาน 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก ท่านมีฉายาที่เรียกขานว่า “นายพลผึ้ง” ช่วยทำงานต่อต้านญี่ปุ่นและร่วมมือกับสัมพันธมิตรจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทั้งท่านยังเป็นสมาชิกสภาฯ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่ลงมติไม่ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับพระราชกำหนดสองฉบับ ทำให้หลวงพิบูลสงครามต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีในปี 2487

             ต่อมาประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 นายทวี บุณยเกตุ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายพึ่งได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกได้เป็นรัฐมนตรีลอย ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีผู้นำเสรีไทยหลายคนเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี ต่อมาเป็นรัฐบาลที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้ามาเป็นนายกฯ นายพึ่งก็ยังได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีลอย ที่ท่านระบุว่า “รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม” แต่ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกฯยังไม่ทันครบเดือนก็ประกาศยุบสภาฯ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 ซึ่งนายพึ่งได้ลงเลือกตั้งด้วยแต่แพ้เลือกตั้ง ผู้ชนะคือ นาย สุ่น ตันติผลาผล กระนั้นนายพึ่งก็สามารถกลับเข้าสภาฯ ได้อีกเมื่อมีการเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2489 ตอนนั้นนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายเกษม บุญศรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

             ครั้นถึงวาระที่มีการเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2490 สภาผู้แทนฯ ก็มีมติเลือกนายพึ่ง ศรีจันทร์ สมาชิกพรรคสหชีพ เป็นประมุขของสภาผู้แทนฯ ขณะที่ท่านมีอายุประมาณ 40 ปีเท่านั้นเอง โดยมีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่นายพึ่งก็เป็นประธานสภาฯอยู่เพียง 7 เดือนเท่านั้น ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะคณะรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัน ยึดอำนาจ กระนั้นท่านก็ได้รับคำชมว่าเป็นประธานสภาฯ ที่ดีมากคนหนึ่ง นายใหญ่ ศวิตชาติ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงกันข้ามได้เคยเล่าว่า

             “เขาเป็นคนซื่อตรงต่ออุดมคติของเขา เขาเข้มแข็งเด็ดขาดและไม่เกรงใจใคร สิ่งที่สำคัญนั้นตลอดเวลาที่เขา-พวกเขามีอำนาจนั้น เขาไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตนเลย เขาทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ”

             ที่เล่าขานกันมากนั้นก็คือการทำหน้าที่ประธานสภาฯของนายพึ่ง ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลังวันยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร  เนื่องจากท่านได้นัดประชุมสภาฯ ไว้ก่อนวันรัฐประหาร ท่านจึงมาที่สภาฯ เข้าห้องประชุมแต่ก็เปิดประชุมไม่ได้เพราะมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ และทหารนำโดยพันโท หลวงกาจสงครามต้องมาเชิญตัวท่านไป  หลังจากนั้นนายพึ่งก็เดินทางกลับไปอุตรดิตถ์และห่างการเมืองไปนาน เพราะพวกนายปรีดีถูกรังแกกันมาก จนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ท่านจึงกลับมาลงเลือกตั้งและชนะได้เป็นผู้แทนอีกครั้ง

             พึ่ง ศรีจันทร์ ได้มีชีวิตดูการเมืองไทยที่ท่านรัก จนถึงแก่กรรมในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2535