ถวิล อุดล
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ถวิล อุดล : ผู้ทำให้ยุบสภาครั้งแรก
บางท่านอาจนึกได้ว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อใด ในสมัยที่ใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็อาจลืมไปแล้วว่าสาเหตุมาจากอะไร และใครที่เป็นผู้ก่อให้เกิดการยุบสภาในการเมืองระบบรัฐสภา ที่เมืองไทยยึดเอาเป็นรูปแบบการปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 การยุบสภานั้นเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งในกระบวนการทางการเมืองที่รุกรับกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร ด้วยเหตุนี้จึงขอคุยถึงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคนหนึ่ง ที่ทำให้มีการยุบสภาครั้งแรกเกิดขึ้นในการเมืองไทย
นักการเมืองผู้นี้คือ นาย ถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดร้อยเอ็ด คุณถวิลนั้นเป็นคนร้อยเอ็ดโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ที่บ้านคุ้มเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อนายฟัก มารดาชื่อนางนิ่ม ฐานะทางบ้านดี บิดาทำการค้าขายข้าวเปลือก ในด้านการศึกษาท่านเรียนที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยมาก่อนจนถึงมัธยมปีที่ 5 แล้วจึงเข้ามาเรียนต่อในพระนคร ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในชั้นมัธยมปีที 6 จนจบมัธยมปีที่ 8 จากนั้นจึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จบเป็นเนติบัณฑิต ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี เมื่อ พ.ศ.2473 เรียนจบแล้วก็ไปมีอาชีพเบื้องต้นเป็นทนายความ ชีวิตสมรสของท่านนั้นมีภรรยาชื่อนางบุนทัน อุดล
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณถวิล ได้เข้ามารับราชการที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย และต่อมาได้ถูกโอนไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาเทศบาล ซึ่งก็เป็นตำแหน่งข้าราชการของกระทรวงเดียวกัน ในระหว่างปี 2478 ถึง 2480 ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจการเทศบาลที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีโอกาสพูดคุยกันมากกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นักการเมืองเลือกตั้งรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นสมาชิกสภา และเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนจบกฎหมายมาพร้อมกันจึงน่าจะทำให้เขาสนใจการเมืองและลงเลือกตั้ง
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรก ที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนได้โดยตรง ถวิล อุดล จึงลงเลือกตั้งทันที ความที่เป็นคนหนุ่มที่มีความรู้และพูดเก่ง ขยันออกไปหาเสียงพบชาวบ้าน ถวิล อุดล จึงได้เป็นผู้แทนราษฎรสมใจนึกของเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ขณะที่มีอายุได้ 28 ปี สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้งอย่างละครึ่งสภา ก็ได้เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการฯ นายกรัฐมนตรีคนเก่าให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป
ครั้นเข้ามาเป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกสภาสมัยแรก ถวิล อุดล ก็ได้มีบทบาททางการเมืองมากในสภา เพราะเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็งในการทำงาน กล้าแสดงออก ทั้งยังร่วมมือกับเพื่อนทำหนังสือพิมพ์รายสิบวันชื่อ "สยามอุโฆษ" โดยตัวเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเทศบาล อันเป็นเรื่องที่ตนรู้เรื่องดี เคยทำงานด้านนี้มาเอง แต่ที่สำคัญที่ทำให้ชื่อถวิล อุดล ดังติดสภาผู้แทนราษฎรก็คือ ท่านกับพวกได้เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับวิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2481 ซึ่งประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเล่าเอาไว้ว่า
“การที่รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีต่อสภานั้น ให้รัฐบาลเสนอรายละเอียดทั้งรายรับรายจ่าย ตามงบประมาณนั้นโดยแจ้งชัด เพื่อให้สมาชิกสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณ ได้ทราบก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติไปตาม (ตาม) ยอดงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ"
แต่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พระยาไชยยศสมบัติ ชี้แจงว่าทำไม่ได้ หลังการอภิปรายและก่อนที่จะลงมติ นายกรัฐมนตรีก็ยังยืนยันว่ารัฐบาลทำไม่ได้ ถ้าสภาลงมติรับข้อเสนอรัฐบาลก็จะลาออก ปรากฏว่าวันนั้นรัฐบาลแพ้มติสภา ในการลงมติลับผู้เสนอชนะด้วยเสียง 45 ต่อ 31 พระยาพหลฯนายกรัฐมนตรีจึงทำหนังสือลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการฯ แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯไม่รับใบลา จึงให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 นั่นเอง
นี่ก็คือเหตุที่ดูว่าไม่น่าใหญ่ แต่ก็ใหญ่จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภา และไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
ถวิล อุดล ลงเลือกตั้งอีกและได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง แต่รัฐบาลใหม่ที่ได้ตามมามีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนี้อยู่มาจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นบุกไทยและไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย จึงทำให้มีขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้น คุณถวิลก็เข้าร่วมงานเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ท่านรับผิดชอบดูแลเสรีไทยที่ร้อยเอ็ด และท่านยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนไปติดต่อกับรัฐบาลจีน ดังนั้นในทางการเมืองจึงอยู่ในฝ่ายที่ค้านรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม และมีส่วนร่วมกับสมาชิกสภาไม่ยอมผ่านร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนด 2 ฉบับที่รัฐบาลเสนอต่อสภา จนทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องยอมลาออกจากนายกรัฐมนตรีในปี 2487
หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ถวิล อุดล และพวกถูกการเมืองเล่นงานจนไม่ได้เข้าไปอยู่ในวงการเมือง ที่ร้ายก็คือเมื่อเกิด "กบฏวังหลวง" ที่พยายามล้มพวกหลวงพิบูลสงครามในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และรัฐบาลปราบได้ รัฐบาลก็กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ถวิล อุดล กับพวกถูกจับคุมขัง การเมืองที่โหดร้ายทำให้ ถวิล อุดล กับพวกถูกสังหารในขณะที่ย้ายที่คุมขังท่านและพวก ในตอนดึกมากของคืนวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2492 โดยอ้างว่าโจรจีนมลายูมาชิงตัวผู้ต้องหา ถวิล อุดล กับเพื่อน 3 คนถูกยิงตาย ไม่มีตำรวจและโจรจีนเป็นอะไรเลย
การเมืองไทยที่ลุ่มๆดอนๆนั้น ก็มีความโหดร้ายที่น่ากลัวให้เห็นด้วย