การเสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงที่อังกฤษ และการอัญเชิญพระบรมอัฐิกับประเทศไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:56, 19 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล''' '''ผ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


การเสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงที่อังกฤษ (๒๔๘๔) และการอัญเชิญพระบรมอัฐิกับประเทศไทย (๒๔๙๒)

การเสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงที่อังกฤษ (๒๔๘๔)

          เช้าวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นตั้งแต่เช้าตรู่พระอาการดีขึ้นมาก จึงรับสั่งกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ว่าให้เสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล ทั้งนี้ พึ่งทรงทราบว่าถึงเวลาต้องส่งมอบให้ทหารอังกฤษ สมเด็จฯ จึงเสด็จฯ ไปยังที่ประทับเดิมนั้นโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา เพื่อทรงเก็บสิ่งของสำคัญที่ยังหลงเหลืออยู่ และดอกไม้จากสวนกลับมาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งยังทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นพระสนับเพลาแพรและฉลองพระองค์แขนยาว เสวยไข่ลวกนิ่มๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย แล้วบรรทมต่อ ประมาณ ๙ นาฬิกา นางพยาบาลพบว่าเสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระหทัยวาย ไม่มีผู้ใดทราบว่าเสด็จไปประทับ ณ สรวงสวรรค์ ณ เวลาใดแน่ ตามคติไทยก็คือทรงพระบุญญาธิการยิ่งนักจึงเสด็จสวรรคตอย่างสงบนิ่ง สิริรวมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา และเวลาที่ประทับในประเทศอังกฤษทั้งสิ้น ๑๔ ปีคือ ๗ ปีในช่วงที่ทรงศึกษาวิชาการและ ๗ ปี ในช่วงหลังนี้

          ตำรวจอังกฤษสกัดรถพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ที่เมืองเมดสโตน (Maidstone) ก่อนที่จะเสด็จฯ ถึงพระตำหนักเวนคอร์ต สมเด็จฯ ทรงทราบข่าวแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ทันที “สมเด็จฯ ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงเข้มแข็งเหลือเกินท่ามกลางเสียงร่ำไห้รำพันจากผู้ที่อยู่ในที่นั้น..” สมเด็จฯ รับสั่งเล่ากับหม่อมเจ้าการวิกว่า ขณะที่รถพระที่นั่งวิ่งออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ และต้องชะลอแล่นช้าลงเพราะหมอกลง พลันทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนขวางอยู่ “เห็นพิลึกแท้” ทรงสังหรณ์พระราชหฤทัยยิ่งนัก[๑]

          ทางการอังกฤษอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ตั้งพระบรมศพไว้ได้เกิน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้พระญาติวงศ์ คนไทยและชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยได้เดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ

          ครั้นถึงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่ ฌาปานสถาน โกลเดอรส์กรีน (Golders Green Crematorium) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ขณะกำลังเคลื่อนพระบรมศพออกจากพระตำหนัก สมเด็จฯ ประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล (หน้าต่าง) เป็นการส่วนพระองค์ ทรงกลั้นพระกรรแสงไว้ไม่ไหวอีกต่อไป รับสั่งว่า “เขาเอาไปแล้ว”[๒]

          พระบรมศพทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง ฉลองพระองค์สีแดงเช่นกัน ตามที่เคยรับสั่งกับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ให้จัดถวายให้เหมือนกับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชกาลที่ ๔ พระบรมวงศานุวงศ์จะทรงพระภูษาแดงทุกวันพระในรัชกาลนั้น แดงจึงถือเป็นสีของพระราชวงศ์[๓] นายเครก (R.D. Craig) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในเมืองไทยและเป็นทนายความประจำพระองค์กล่าวคำราชสดุดี จบแล้ว ไม่มีพิธีสงฆ์ใดๆ เพราะไม่มีพระภิกษุอยู่ในประเทศอังกฤษในขณะนั้น มีแต่ดนตรีบรรเลงเพลงไวโอลินคอนแชร์โต้ ของเมนเดิลโซน (Mendelsohn’s Violin Concerto) ซึ่งโปรดมากเป็นพิเศษ คลอเบาๆ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งไทยและเทศ พนักงานกดสวิตช์อัญเชิญพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้าจนลับตา[๔]

          สมเด็จฯ ทรงเชิญพระบรมอัฐิในหีบเล็กไปประดิษฐาน ณ ที่ประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ จากนั้น ตลอดระยะเวลาสงคราม สมเด็จฯ เสด็จฯ ไปกรุงลอนดอนสัปดาห์ละครั้งเพื่อทรงช่วยจัดสิ่งของบรรจุหีบห่อส่งไปยังทหารแนวหน้าร่วมกับบรรดาสุภาพสตรีอาสาสมัคร ณ ตึกดอร์มี่ เฮาส์ (Dormy House) ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของศูนย์เซนต์ จอห์นส์ แอมบูแลนซ์ (Saint John’s Ambulance Brigade)

การอัญเชิญพระบรมอัฐิกับประเทศไทย (๒๔๙๒)

          แม้ว่าหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใหม่ๆ รัฐบาลได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี อัญเชิญเสด็จฯ กลับมาก็ตาม แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงเวลาสงคราม สมเด็จฯ จึงมิได้เสด็จฯ กลับ[๕]

          ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้สงบลงทั่วโลกแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ความบางตอนว่า “ถึงเวลาและเป็นการสมควรที่จะดำริจัดการให้ได้เชิญพระบรมอัฐิเข้ามาประดิษฐานเสียตามพระราชประเพณีที่มีมา...ถ้าจะเชิญเสด็จกลับมาประทับเสียในประเทศนี้และทูลขอให้เชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๗ เข้ามาด้วยก็จะดีหาน้อยไม่” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยและได้พิจารณาเห็นว่า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะได้สละราชสมบัติไปแล้ว จึงไม่ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยนิตินัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ตาม แต่ในทางพฤตินัย การถวายพระเกียรติยศเช่นองค์พระมหากษัตริย์ก็ทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย สำหรับสมเด็จฯ นั้นการแต่งตั้งพระองค์เป็นสมเด็จพระบรมราชินีไม่ได้มีการเพิกถอน แต่บัดนั้นมิได้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์ จึงให้ขนานพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลที่ ๗” คณะรัฐมนตรีจึงได้แจ้งมตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ความบางตอนว่า “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการถวายพระเกียรติโดยขออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เสมอด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมกษัตราธิราชเจ้า ในพระบรมราชวงศ์จักรี ให้ต้องตามพระราชประเพณี” นอกจากนั้น “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยรัฐบาลจักได้ถวายพระเกียรติตามพระราชประเพณีสืบไป”[๖]

          สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงรับที่จะเสด็จฯ กลับพร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาพร้อมกัน โดยทรงขอให้จัดส่งแต่นายรองสนิท (สมสวาท โชติกเสถียร) มหาดเล็กผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาแต่เดิมไปจากกรุงเทพฯ แต่ผู้เดียว เพื่อเป็นผู้อัญเชิญพระบรมอัฐิ ส่วนนางสนองพระโอษฐ์และราชเลขานุการนั้น โปรดที่จะให้คุณหญิงเนื่อง บุรีนวราช นางสนองพระโอษฐ์เดิม และม.ร.ว. สมัคสมาน กฤดากร ซึ่งถวายงานอยู่ที่อังกฤษอยู่แล้วทำหน้าที่ตามลำดับ ส่วนราชองครักษ์และเจ้าหน้าที่ภูษามาลานั้น แล้วแต่ทางราชการจะจัดสรร[๗]สำหรับนางพระกำนัลนั้น ต่อมาได้โปรดให้ ม.ร.ว. โพยมศรี สวัสดิวัตน์ (สุขุม ในภายหลัง) ซึ่งอยู่ที่อังกฤษอยู่แล้ว เป็นผู้ทำหน้าที่

          สำหรับพระราชพาหนะนั้น แม้ว่าเจ้าชายอักเซลแห่งเดนมาร์ก นายกกรรมการบริษัทอีสต์เอเชียติคจะได้ทรงเอื้อเฟื้อกับทางกรุงเทพฯ ว่าจะจัดเรือของบริษัทฯ ดังกล่าวถวาย แต่โดยที่สมเด็จฯ ได้ทรงติดต่อกับบริษัทของประเทศฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ไว้เรียบร้อยแล้ว สมเด็จฯ จึงทรงเสนอว่าให้บริษัทอีสต์เอเชียติค จัดเรือรับเสด็จฯ จากสิงคโปร์ไปเกาะสีชัง โดยทรงย้ำกับรัฐบาลว่าไม่ได้ต้องพระราชประสงค์จะให้เป็นการสิ้นเปลืองมากเกินควรมาตั้งแต่แรกแล้ว หากจะมีทางใดที่จะตัดรายจ่ายลงได้แล้ว ก็ทรงยินดีที่จะปฏิบัติตาม[๘]

          ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จฯ ออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน พร้อมกับอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ คืนสู่ประเทศไทย โดยเรือวิลเฮ็ม ไรซ์ (WilheimRuys) ของบริษัท Royal Rotterdam Lloyd ของเนเธอร์แลนด์ จากท่าเรือเมืองเซาท์แธมป์ตัน (Southampton) ไปยังสิงคโปร์ ภายในเรือได้จัดเตรียมที่และห้องพิเศษสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิฯ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และในวันเสด็จฯ กลับนั้น มีข้าราชการสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนและนักศึกษาไทยเป็นจำนวนมากไปส่งเสด็จฯ กันอย่างคับคั่ง อีกทั้งรัฐบาลอังกฤษได้จัดกองทหารเกียรติยศซึ่งได้บรรเลงเพลงพระบารมีส่งเสด็จพระบรมอัฐิ โดยมีผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกซอลสเบอรี (Salisbury) นำสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจกองทหารเกียรติยศในพระอิริยาบถสง่างาม ในขบวน นายรองสนิทเป็นผู้เชิญพระพุทธรูป หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ทรงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิลงเรือ[๙]

          สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯ พร้อมด้วยข้าราชบริพารซึ่งรัฐบาลจัดตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ ถึงเกาะสิงคโปร์ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ กองทหารซอลสเบอรรี (Salisbury) และกองทหารแบล็ค วอทช์ (Black Watch) ซึ่งเป็นกรมทหารราบจากสก๊อตแลนด์ของอังกฤษ ตั้งแถวกองเกียรติยศรับเสด็จฯ มีธงไชยเฉลิมพล เมื่อเสด็จลงจากเรือวิลเฮ็ม ไรซ์ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วทรงตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ พลตรีหม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ เลขาธิการพระราชวัง และสมุหราชองครักษ์ ได้มารับเสด็จฯ และนำเสด็จลงเรือ “ภาณุรังษี” ซึ่งรัฐบาลได้เช่าจากบริษัทอีสต์เอเชียติคเพื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย[๑๐]

          เรือ “ภาณุรังษี” มาถึงเกาะสีชังในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เจ้าพนักงานภูษามาลาได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งประดิษฐานในกล่องหินอ่อน บรรจุพระโกศทองคำซึ่งกองกษาปณ์ กรมคลัง จัดทำตามแบบและขนาดเช่นเดียวกับพระโกศทองคำ ทรงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ หากแต่ลวดลายและสีลงยาต่างกันเท่านั้น เสร็จแล้วได้เชิญลงเรือรบหลวง “แม่กลอง” แห่งราชนาวีไทยอีกครั้งเทียบท่าราชวรดิษฐ์ กรุงเทพมหานคร เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ ที่นั้น ได้มีการรับเสด็จพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสมพระเกียรติยศแห่งองค์พระมหากษัตริย์ทุกประการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เสด็จไปรับพระบรมอัฐิในพระปรมาภิไธย พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล รวมทั้งข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเป็นจำนวนมาก องค์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จขึ้นไปบนเรือหลวง “แม่กลอง” ทรงถวายสักการะพระบรมอัฐิ และในขณะนั้น ทหารเรือยิงปืนใหญ่ถวายความเคารพ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร และกลองชัยชนะ พนักงานพระราชพิธีอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือหลวงขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกราเชนทรรถ และอัญเชิญพระบรมอัฐิโดยพยุหยาตราใหญ่เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

          พระราเชนทรรถเทียบเกยหน้าพระที่นั่งจักรมหาปราสาท เชิญพระโกศพระบรมอัฐิ ขึ้นประดิษฐานเหนือพระที่นั่งพุดตานถมบรมราชาอาสน์พระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรแวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสสริยยศภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[๑๑]

          จากนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม ได้มีการจัดงานพระราชพิธีกุศลทักษิณานุปทานของหลวงขึ้น (การที่ได้ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ เนื่องด้วยในขณะนั้นพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ยังคงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) แล้วเชิญพระโกศขึ้นสู่ที่ประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิที่ชั้นบนแห่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ร่วมกับพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์และพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพราชินี[๑๒]

          ครั้นวันที่ ๑๓-๑๙ มิถุนายน ได้ประดิษฐานอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถวายสักการะระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. ทุกวัน แล้วอัญเชิญขึ้นสู่หอพระบรมอัฐิอีกครั้ง

          วันที่ ๓๐ มิถุนายน เวลา ๑๖.๓๐ น. ได้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคารไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม องค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงบรรจุผอบพระบรมราชสริรางคารในพระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส แล้วทรงวางพวงมาลาของหลวง จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงวางพวงมาลา[๑๓]

          เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์และภาพถ่ายโดยเจ้ากาวีละวงศ์ ณ เชียงใหม่ หม่อมเจ้าการวิกและหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ กระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารออมสิน และกรมโฆษณาการ เป็นต้น[๑๔]

          อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและได้พระราชทานเข็มพระปรมาภิไธย ปปร. กาไหล่ทองลงยา ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดทำเป็นที่ระลึกแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าริ้วขบวนพระราชอิสสริยศด้วย[๑๕]

          วันที่ ๑๖ กันยายน สมเด็จฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในงานนี้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานของที่ระลึก ณ ตำหนักที่ประทับขณะนั้นคือ “ตำหนักหอ” ในวังสระปทุม และต่อมาได้พระราชทานแหนบและเสมารัชกาลที่ ๗ ประเภทต่างๆ เป็นของที่ระลึกแก่ข้าราชสำนักที่ปฏิบัติงานรวม ๑๓ คนด้วย[๑๖]

 

บรรณานุกรม

ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่         ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ.

“นรุตม์” (นามแฝง). ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร': หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์.กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

PimsaiAmranand, M.R. 2520. My Family, My Friends and I. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.

อ้างอิง


[๑]“นรุตม์” (นามแฝง). ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร': หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์.(กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์), หน้า ๑๐๗.

[๒]“นรุตม์” (นามแฝง). ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร': หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์.(กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์), หน้า ๑๐๘.

[๓]  Pimsai Amranand,  M.R. 2520. My Family, My Friends and I. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.) ,p. 25.

[๔]“นรุตม์” (นามแฝง). ๒๕๓๙. ใต้ร่มฉัตร': หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์.(กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์), หน้า ๑๐๙.

[๕]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๑๑.

[๖]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๑๕-๑๑๘.

[๗]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๑๘-๑๑๙.

[๘]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๐-๑๒๑.

[๙]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๑-๑๒๒ และภาพถ่าย.

[๑๐]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๓-๑๒๔.

[๑๑]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๔-๑๒๕ , ๑๒๗-๑๒๘.

[๑๒]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่       ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๔-๑๒๕ , ๑๒๘-๑๒๙

[๑๓]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๔-๑๒๕ และ ๑๓๑-๑๓๒.

[๑๔]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๒๔-๑๒๕ และ ๑๓๓-๑๓๔.

[๑๕]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘.           (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๓๕.

[๑๖]ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ ๙ เมษายน ๒๕๔๘. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ) ,  หน้า ๑๓๕.