ฝ่ายค้าน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นายยอดชาย  วิถีพานิช

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร  พันธุ์เปรื่อง

         พรรคการเมือง (Political Party) เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐบาลที่ทำหน้าที่การบริหารปกครอง พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรมในการเลือกตัวแทนในรูปแบบการเลือกตั้ง (Election) เพื่อให้ได้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ของสังคม แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองจะมีเฉพาะการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะพรรคการเมืองในระบอบการปกครองอื่นก็มี เพียงแต่วัตถุประสงค์ บทบาท และหน้าที่ของพรรคการเมืองแต่ละระบอบอาจมีความแตกต่างหลากหลายกันไป ดังนั้น พรรคการเมืองไทยจึงเป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการทางการเมืองหลายประการ นับตั้งแต่การกำหนดนโยบายของพรรค การคัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไปเป็นตัวแทนของประชาชน การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ  การเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังเผยแพร่อุดมการณ์และนโยบายของพรรค พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน และในปัจจุบันพรรคการเมืองได้มีการปรับบทบาทเพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชน   และเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การปกครองประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น

1. บทบาทของฝ่ายค้าน

          การเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าพรรคนั้น ๆ จะมีอุดมการณ์เช่นใด แต่ก็มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญ คือ ตรวจสอบการบริหารประเทศของฝ่ายรัฐบาล กล่าวสำหรับในประเทศไทย หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ดีมากเท่าไร เข้มแข็งมากเท่าใด ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อประเทศชาติและต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย โดยปกติการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกได้รับเลือกตั้งมากที่สุดเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคก็จะได้รับการสนับสนุนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบและควบคุมให้ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา จากหลักการนี้ได้นำไปสู่แนวคิดพัฒนาทางการเมืองในประเทศอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างมากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อยก็สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายตรวจสอบ โดยมีสถานภาพบางอย่างพิเศษต่างไปจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในชื่อของตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสมเด็จพระราชินี (Her Majesty’s Loyal Opposition) และต่อมาก็มีหลายประเทศที่ใช้รูปแบบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ได้นำมาปรับใช้เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะประเทศในเครือจักรภพ เช่น ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา ฟิจิ เป็นต้น

          แต่ก็มีบางครั้งที่พรรคการเมืองที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังที่ปรากฏในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อพ.ศ. 2518 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งหนึ่ง เนื่องจากหลังเลือกตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ได้คะแนนเสียงสนับสุนนเพียง 103 คน ไม่ถึงครึ่งของสภา (135 คน) และรัฐธรรมนูญสมัยนั้นกำหนดว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงวันแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาปรากฏว่ารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนผู้แทนราษฎร

         ดังนั้น พรรคกิจสังคมที่มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 ที่นั่ง สามารถรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ รวม 8 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในสภา 74 เสียง กลับกลายเป็นฝ่ายค้าน

2. หน้าที่ของฝ่ายค้าน

          พรรคการเมืองที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งน้อยหรือไม่ได้เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน หน้าที่ของฝ่ายค้านก็คือการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือชี้ข้อบกพร่องในการดำเนินงานของรัฐบาล คอยท้วงติงคัดค้านการกระทำที่ไม่ชอบหรือขัดต่อมติของมหาชน ควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อที่สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เป็นต้น ส่วนเรื่องการประท้วงของฝ่ายค้านด้วยการเดินออกจากห้องประชุมหรือ walkout นั้น เป็นมาตรการทางการเมืองที่ฝ่ายค้านใช้กดดันฝ่ายรัฐบาล กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกติกาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  รวมถึงมีหน้าที่ในการร่างนโยบายของรัฐบาลทางอ้อม เพราะฝ่ายค้านจะตรวจสอบว่านโยบายใดของรัฐบาลมีจุดอ่อนหรือมีอะไรที่ควรดำเนินการแต่ไม่มีในนโยบายของรัฐบาล ฝ่ายค้านก็จะแสดงความเห็นออกไป ซึ่งถ้ามีเหตุผลดีรัฐบาลก็ต้องรับฟัง เพราะมิฉะนั้นจะเสียคะแนนนิยมจากประชาชนได้

          ในระบอบประชาธิปไตยฝ่ายค้านได้รับการยอมรับว่ามีหน้าที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าพรรครัฐบาล เพราะถ้ามีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่เข้มแข็งจะช่วยควบคุมมิให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายข้างมากใช้อำนาจไปในทางที่ผิดหรือเป็นเผด็จการ ตรงกันข้ามประเทศที่ฝ่ายค้านทำหน้าที่อ่อนแอ การคัดค้านนอกสภา เช่น การเดินขบวนประท้วง การก่อจลาจลจะมีบทบาทสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเมือง

3. รัฐบาลเงา (Shadow Cabinet)

          ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ฝ่ายค้านนอกจากจะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรมแล้ว ยังมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเงาด้วย รัฐบาลเงา หรือ Shadow Cabinet คือ การกำกับตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอันรวมถึงการตรวจสอบนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกโดยรัฐบาล ในบางโอกาสรัฐบาลเงาอาจจะมีการเสนอแนะฝ่ายรัฐบาลโดยการออกนโยบายที่เห็นว่าเหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้รัฐบาลนำไปปรับใช้หากเห็นสมควร ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้การตรวจสอบของรัฐบาลเงาไม่เป็นการตรวจสอบแบบจับผิดฝ่ายตรงข้ามแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการตรวจสอบในเชิงสร้างสรรค์ กล่าวคือ มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับรัฐบาลอีกด้วย  นอกจากนี้ยังมีการเตรียมบุคลากรไว้ล่วงหน้าสำหรับการเป็นรัฐบาลในอนาคต ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมในหน้าที่ของรัฐบาล เผื่อว่าฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้งในคราวต่อไปหรือในกรณีที่รัฐบาลเกิดเพลี่ยงพล้ำไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐบาลต่อไป ฝ่ายค้านก็จะเข้าทำหน้าที่แทนรัฐบาลได้ทันที เพราะรัฐบาลเงานั้นจะมีการวางตัวบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จะคอยติดตามปัญหาและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในหน้าที่ของกระทรวงที่ตนถูกวางตัวไว้

         “รัฐบาลเงา” เป็นคำที่ใช้เรียกในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการตั้งคณะบุคคลอย่างไม่เป็นทางการเพื่อคอยตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล ลักษณะของการตั้งคณะบุคคลอย่างไม่เป็นทางการนี้ จะเลียนแบบรัฐบาลในการตั้งคณะรัฐมนตรี โดยตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาเป็นผู้ที่คอยตรวจสอบเกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบของกระทรวงนั้น ๆ เช่น ผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจก็จะเป็นผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเงาของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรี ซึ่งคณะบุคคลอันเปรียบเสมือนเงาของรัฐมนตรีนั้นก็จะมีครบทุกกระทรวง

          สำหรับประเทศไทย “รัฐบาลเงา” เริ่มเป็นคำที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2539 สมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ ทำหน้าที่บริหารประเทศ และมีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีนายชวน  หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  นอกจากนี้ คำว่า “รัฐบาลเงา” มักจะได้รับการพูดถึงกันในทุก ๆ ครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล เช่น กรณีของการจัดตั้งรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ก็มีการพูดถึงรัฐบาลเงาของฝ่ายค้านซึ่งก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นที่รับรู้กันว่า ในกรณีที่ฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาล คณะบุคคลที่คอยดูแลตรวจสอบกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาลเงาของฝ่ายค้านนั้น ก็จะมาเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้น ๆ

          ในประเทศไทยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในมาตรา 126 บัญญัติว่า “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง  ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

          ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 110 ว่า “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเขาบริหารราชการแผนดินแลว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผูแทนราษฎรผูเปนหัวหนาพรรคการเมืองในสภาผูแทนราษฎร ที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตนมิไดดํารงตําแหนงรัฐมนตรี และมีจํานวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิไดดํารงตําแหนงรัฐมนตรี แตไมนอยกวาหนึ่งในหาของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเทาที่มีอยูของสภาผูแทนราษฎรในขณะแตงตั้ง เปนผูนําฝายคานในสภาผูแทนราษฎร

          ในกรณีที่ไมมีพรรคการเมืองใดในสภาผูแทนราษฎรมีลักษณะที่กําหนดไวตามวรรคหนึ่งใหสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผูเปนหัวหนาพรรคการเมือง ซึ่งไดรับเสียงสนับสนุนขางมากจากสมาชิกสภาผูแทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคนั้น มิไดดํารงตําแหนงรัฐมนตรีเปนผูนําฝายคานในสภาผูแทนราษฎร ในกรณีที่มีเสียงสนับสนุนเทากันใหใชวิธีจับสลาก

          ใหประธานสภาผูแทนราษฎรเปนผูลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแตงตั้งผูนําฝายคานในสภาผูแทนราษฎร

          ผูนําฝายคานในสภาผูแทนราษฎรยอมพนจากตําแหนงเมื่อขาดคุณสมบัติดังกลาวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และใหนําบทบัญญัติมาตรา 124 วรรคสี่ มาใชบังคับโดยอนุโลม ในกรณีเชนนี้พระมหากษัตริยจะไดทรงแตงตั้งผูนําฝายคานในสภาผูแทนราษฎรแทนตําแหนงที่วาง”

4. บรรณานุกรม

ประเวศ วะสี. “ฝ่ายค้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยิ่งฝ่ายค้านเข้มแข็ง รัฐบาลยิ่งดีขึ้น.” (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.prawase.com/index.php/2012-03-05-07-32-50/161-2012-03-21-14-38-17 2548.

พรรคการเมืองและพัฒนาการของพรรคการเมืองในประเทศไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.senate.go.th/committee2551/committee/files/committee31/part4.pdf.

ลิขิต ธีรเวคิน. “บทบาทของฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์.”  (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.dhiravegin.com/detail.php?item_id=000094. (15 พฤศจิกายน 2545).