การรวมศูนย์อำนาจ(Centralization)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : กฤษณ์ วงศ์วิเศษธร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


แนวคิดและความหมาย

รัฐหนึ่งๆ จำเป็นต้องมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ ซึ่งมีความสำคัญในฐานะ“ตัวแทน”ของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในประเทศ ที่เกิดจากการเจรจาต่อรองการค้าการลงทุน หรือความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลส่วนกลาง จึงเป็นสิ่งที่รัฐขาดไม่ได้เพื่อคอยทำหน้าที่ในด้านความสัมพันธ์ภายนอกหรือกิจการวิเทศสัมพันธ์ของรัฐ ดังปรากฏว่า ภารกิจหน้าที่ในด้านการต่างประเทศ, การทูต ตลอดจนแนวนโยบายด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐ จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลส่วนกลาง ที่ไม่สามารถให้องค์กรหรือภาคส่วนใดเข้ามาดำเนินการแทนได้ ซึ่งส่วนใหญ่บทบาทของรัฐส่วนกลางที่เห็นได้ชัด มักจะเป็นบทบาทใหญ่ๆที่ส่งผลต่อผลประโยชน์มหาชนของชาติ เช่น มักจะเข้าไปบทบาทควบคุมระบบเศรษฐกิจโดยรวมของรัฐ รวมถึงการเข้าไปกำกับดูแลกิจการอื่นๆ เช่น การค้าภายใน และระบบการคมนาคมและขนส่ง เป็นต้น

การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) มีได้ 2ประเภท คือ การรวมศูนย์อำนาจในทางการเมืองและการรวมศูนย์อำนาจในทางการปกครอง โดยความหมาย ประเภทแรกการรวมศูนย์อำนาจในทางการเมือง หมายถึง มีศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยหรือมีเอกภาพในการใช้อำนาจรัฐทั้งภายในและภายนอกรัฐโดยสมบูรณ์ และประเภทที่สองการรวมศูนย์อำนาจในทางปกครอง หมายถึงการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ โดยให้รัฐแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินการปกครองหรือจัดทำบริการสาธารณะต่างๆให้แก่ประชาชน โดยมีการรวมอำนาจในการตัดสินใจ การวินิจฉัยสั่งการเป็นยุติเด็ดขาดอยู่ที่รัฐส่วนกลาง

ลักษณะสำคัญของการรวมศูนย์อำนาจปกครอง

ลักษณะสำคัญของการรวมศูนย์อำนาจปกครองเป็นการรวมอำนาจไว้ที่เดียว กล่าวคือ เป็นการรวมอำนาจตัดสินใจในภารกิจหลักๆของรัฐ อาทิ เช่น กำลังทหาร ตำรวจ อำนาจวินิจฉัยสั่งการ อนุมัติ ยกเลิก แก้ไข ระงับหรือเพิกถอนการกระทำต่างๆที่เกิดจากการบริหารราชการส่วนกลาง ซึ่งเป็นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่แบบลดหลั่นกันไป (Hierarchy) ให้ทุกฝ่ายขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ เพื่อสะดวกและสามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้ทันท่วงที

ข้อดีของการรวมศูนย์อำนาจ

จากลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจปกครอง จะเห็นได้ว่า

ประการแรก เป็นการรวมกำลังและรวมอำนาจบังคับบัญชาไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ทำให้อำนาจของรัฐมั่นคง เป็นหลักที่ทำให้เกิดเอกภาพ (Unity) ในการปกครอง เป็นวิธีการปกครองที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างเสมอภาคกัน

ประการที่สอง ในส่วนของการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนนั้น ส่วนกลางมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มีขนาดใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนมีความรู้ความสามารถ สามารถจัดบริการสาธารณะได้ดีอย่างมีมาตรฐาน และเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ

ข้อเสียของการรวมศูนย์อำนาจ

หลักการรวมศูนย์อำนาจปกครองมีข้อเสียอยู่อย่างน้อย 3 ประการ คือ

ประการแรก การรวมศูนย์อำนาจทำให้อำนาจการตัดสินใจรวมอยู่ที่ส่วนกลาง เมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ห่างไกล การรั้งรอการตัดสินใจจากส่วนกลางย่อมทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและไม่ทั่วถึง

ประการที่สอง การรวมศูนย์อำนาจจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบังคับบัญชาเป็นชั้นลดหลั่นกันไป การปฏิบัติหน้าที่เต็มไปด้วยความล่าช้า การแก้ปัญหาและการปฏิบัติงานต้องกระทำตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดตามลำดับขั้นตอนในการบังคับบัญชาก่อให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน

ประการที่สาม การแก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกล เช่นในท้องถิ่นต่าง ๆ อำนาจในการตัดสินมิได้เป็นของคนในพื้นที่นั้น ๆ ทำให้การจัดทำบริการสาธารณะและการแก้ปัญหาไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่

กล่าวสรุปได้ว่า การรวมศูนย์อำนาจทางการปกครองนั้นคือการที่รวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการ ในการจัดระบบระเบียบการบริหารราชการ หรือการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนไว้ที่รัฐส่วนกลางเพียงผู้เดียว ทำให้แบบแผนการดำเนินของทั่วประเทศเป็นแบบเดียวกัน มีลำดับการบังคับบัญชา ทุกภาคส่วนขึ้นอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด จึงทำให้ประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจมักจะมีเอกภาพในการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามในการดำเนินโดยผ่านการตัดสินใจของส่วนกลางเพียงผู้เดียว ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาที่เร่งด่วน และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในพื้นที่ต่างๆได้อีกด้วย

อ้างอิง


บรรณานุกรม

จักรพันธ์ วงษ์บูรณาวาทย์.การบริหารราชการไทย. เชียงใหม่ : ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.

ชูวงศ์ ฉายะบุตร.การปกครองท้องถิ่นไทย.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร: บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2539.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ 1 แนวคิดพื้นฐานการกระจายอำนาจกับการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น.กรุงเทพมหานคร: บริษัท ธรรมดาเพรส จำกัด, 2547.

ประยูร กาญจนดุล.คำบรรยายกฎหมายปกครอง.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพมหานคร: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

สมคิด เลิศไพฑูรย์,ไพฑูรย์.กฎหมายการปกครองท้องถิ่น, (กรุงเทพฯท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: ธรรกมลการพิมพ์, 2550).