สาเหตุแห่งการแทรกแทรงทางการเมือง
สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมือง
เสนอ จันทรา ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุของการยึดอำนาจในประเทศไทย ได้ค้นพบสาเหตุของการรัฐประหาร 3 สาเหตุพอสรุปได้ดังนี้
1. การแก่งแย่งอำนาจกันเองในกลุ่มผู้นำในวงการรัฐบาล การแก่งแย่งแข่งขันกันมีอำนาจของบรรดาผู้นำทางการเมืองนี้เองทำให้ต้องมีการรัฐประหารกันอยู่เสมอตลอดระยะเวลาประมาณ 40 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีขึ้นในประเทศไทย เป็นผลให้การปกครองระบอบนี้มิได้ก้าวหน้าหรือเจริญเติบโตแพร่หลายในหมู่ประชาชน
2. ความเฉยเมยหรือความไม่เอาใจใส่ในกิจการทางการเมืองของสมาชิกในสังคม สาเหตุที่ปะชาชนไทยไม่สนใจกิจการทางการเมืองสืบเนื่องมาจาก 2.1 สถานภาพทางเศรษฐกิจที่ยากจน 2.2 การได้รับการศึกษาทางการเมืองน้อย 2.3 ขาดสถาบันทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง 3. ตัวบุคคลผู้ทะเยอทะยานทางการเมือง ไม่พอใจต่อฐานะของตนหวังแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองเพื่อสนับสนุนพรรคพวกของตนการแก่งแย่งอำนาจชิงดีชิงเด่นกันเช่นนี้ทำให้ประชาชนคนไทยเรารู้สึกเบื่อหน่ายต่อการปกครองของประเทศ
สาเหตุของการปฏิวัติรัฐประหารในสายตานักวิชาการผู้สังเกตการณ์กับผู้นำทหารผู้ก่อการปฏิวัติรัฐประหารอาจแตกต่างกัน โดยเฉพาะนายทหารผู้นำ การปฏิวัติรัฐประหารก็พยายามยกเหตุผลที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการผ่อนคลายความรู้สึกที่คิดจะต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารในหมู่ประชาชน ส่วนมากคณะรัฐประหารจะอ้างเหตุผลที่ทำรัฐประหารว่าเนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาลล้มเหลวความเสื่อมทรามทางเศรษฐกิจ สังคม และภัยคอมมิวนิสต์ (นิรันดร์ กุลฑานันท์,2531 : 56-57)
4.3 สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมือง
นักวิชาการต่างประเทศและของไทย เคยวิเคราะห์การที่คณะทหารทำการแทรกแซงทางการเมือง พบว่าสิ่งเร้าที่สำคัญที่ทำให้ทหารเข้าแทรกแซง ทางการเมือง คือ ผลประโยชน์ของกลุ่มทหาร (Corporate interest) ซึ่งได้แก่ ความเป็นอิสระ (autonomy) และการไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มทางสังคมอื่นๆ (exclusiveness) ในกิจกรรมที่ทหารถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบหลัก สำหรับการเมืองไทย ผลประโยชน์ของกลุ่มทหารมิใช่ผลประโยชน์ในลักษณะที่เรียกว่า (Corporate interest) ซึ่งมีขอบเขตจำกัดเท่านั้น หากยังมีผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย เช่น ตำแหน่งทางการเมือง ถ้าคณะทหารไทยเป็นเป็นทหารกลุ่มอาชีพจะมุ่งรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มให้ความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มสังคมอื่นๆ ในกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบหลักของทหารจะไม่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมาก
คณะทหารก็ยังต้องการความมั่นใจอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญแก่กองทัพและนโยบายบางด้านที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของฝ่ายทหาร โดยตรงดังนั้น การจำกัดบทบาททหาร จึงมักใช้วิธียอมให้คณะทหารมีตัวแทน ในวงการการเมืองเช่นถือเป็นหลักปฏิบัติว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องแต่งตั้งจากผู้นำของกองทัพ
แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองในลักษณะดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ไม่เป็นหลักประกันว่าการปฏิวัติ รัฐประหาร จะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะมีปัจจัยหลายด้านที่มีส่วนกำหนดขอบเขตของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร คือ ทหารจะมีแนวโน้มที่จะทำรัฐประหาร (จงกล บึงตระกูล,2530 : 45-46)
พันโทวิทวัส รชตะนันท์ ได้ทำการสำรวจทัศนคติของทหารต่อสาเหตุของการรัฐประหาร ซึ่งแบ่งเงื่อนไขของรัฐประหารเป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ
1. ประเด็นที่ว่าทหารจะทำรัฐประหารเมื่อสภาพทางการเมืองภายในไร้เสถียรภาพ ได้แก่ 1.1 ผู้นำทางการเมืองขาดความชอบธรรม 1.2 ความเปราะบางของรัฐบาล 1.3 ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย 1.4 วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 1.5สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน(ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือนเป็นสาเหตุที่สำคัญของการรัฐประหารในความเห็นของนายทหารผู้ตอบ) 2. ประเด็นที่ว่า สาเหตุของการรัฐประหารสืบเนื่องมาจากเงื่อนไขเกี่ยวกับสถาบันทหารโดยตรง ได้แก่ 2.1 ผลประโยชน์ของทหารถูกกระทบกระเทือน 2.2 ความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหาร
สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทย (ประชา เทพเกษตรกุล,2535 :47-50)
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้น สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการที่ผลประโยชน์ร่วมของสถาบันทหารถูกกระทบกระเทือน ทั้งนี้เนื่องจากในระยะก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย ทำให้มีการปลดข้าราชการออกจากประจำการเพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล และในปี 2474 พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ลาออกเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมขึ้นเงินเดือนทหาร ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้เกิดจากพลังของอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสมัยใหม่มากกว่า ผลกระทบจากการสูญเสียผลประโยชน์ เนื่องจากคณะผู้ก่อการเห็นว่าจำเป็นต้องปกครองประเทศกันในระบบประชาธิปไตยเพราะระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่ล้าสมัย ทั้งนี้โดยมีการกระทบกระเทือนด้านผลประโยชน์จากที่ไม่ได้รับการเพิ่มเงินเดือนเป็นตัวเร่งให้ฝ่ายทหารทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เกิดเร็วขึ้น
สำหรับในการรัฐประหาร 4 ครั้งต่อมา คือ ในปี 2490, 2500, 2514 และ 2519 การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสิ่งเร้าสำคัญ โดยในการรัฐประหาร 2490 นั้นสาเหตุมากจากการที่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทของทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบกตกต่ำลงมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจแล้ว ฝ่ายทหารยังถูกมองว่าเป็นผู้ร่วมทำสงครามกับญี่ปุ่น และเกียรติภูมิของฝ่ายทหารยิ่งตกต่ำไปมากยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายพลเรือนภายใต้การนำของเสรีไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นฝ่ายปลดปล่อยของประเทศให้รอดพ้นจากภาวะแพ้สงคราม ผลประโยชน์ของกลุ่มทหารที่ได้รับความกระทบกระเทือนอีกประการหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลปลดทหารประจำการซึ่งส่วนใหญ่ไปร่วมกับญี่ปุ่นในมณฑลพายับหรือสหรัฐไทยเดิม ออกเป็นทหารกองหนุนจำนวนมากอย่างกะทันหัน โดยมิได้มีการให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเดินทางกลับภูมิลำเนาและสวัสดิการอื่นๆ ตามสมควร ทั้งนี้เพราะรัฐบาลถูกบีบบังคับจากอังกฤษ ประกอบกับรัฐบาลเองก็ประสงค์ที่จะลดกำลังทหารเพื่อลดรายจ่ายและอำนาจทางทหารลง ยิ่งกว่านั้นตามรัฐธรรมนูญ 2489 ยังได้ห้ามทหารประจำการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา หรือรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งทำให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่กับนักการเมืองพลเรือนแต่ฝ่ายเดียว การกระทำของรัฐบาลดังกล่าวนอกจากจะทำให้ทหารมีความรู้สึกว่าความเป็นอิสระของกลุ่มถูกคุกคามและเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของทหารแล้ว ทำให้นายทหารประจำการที่เคยมีอำนาจทางการเมืองมาก่อนและนายทหารประจำการที่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเกิดความไม่พอใจ การขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจกับชนชั้นนำที่ต้องการได้อำนาจจึงเกิดขึ้น และนำมาซึ่งการรัฐประหารเมื่อ 8 พ.ย. 2490
สำหรับการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 16 ก.ย. 2500 ก็มีลักษณะของสาเหตุเช่นเดียวกับการรัฐประหาร เมื่อเดือน พ.ย. 2490 คือ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำในขณะนั้น อันได้แก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นประการแรก ขณะเดียวกันผลประโยชน์ทางการเมืองของทหารประจำการ ก็มีทีท่าว่าจะพูดลิดรอนลง เพราะจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายต้องการที่จะลดจำนวนสมาชิกสภาประเภทสองให้น้อยลง และพยายามที่จะแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการทางการเมืองทำให้ทหารที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งที่เป็นรัฐมนตรี และสมาชิกสภาประเภทสองอยู่ในขณะนั้น เกิดความไม่พอใจที่ตนอาจต้องเสียผลประโยชน์ไป และประการสุดท้ายคือ การที่มีการขยายกำลังและบทบาทของตำรวจออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ทหารมีความรู้สึกว่าถูกท้าทาย และถูกลดความสำคัญลง
การรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ใน พ.ศ. 2514 สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่สถาบันทหารถูกท้าทายอำนาจจากรัฐสภา โดยงบประมาณทางทหารถูกอภิปรายคัดค้านจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างกว้างขวาง และจากการเลือกตั้งในปี 2512 มีผลกระทบทำให้อำนาจของผู้นำทางการเมืองขณะนั้นลดลงเนื่องจากไม่สามารถปกครองประเทศได้อย่างเด็ดขาด และต้องแบ่งผลประโยชน์ในรูปเงินพัฒนาจังหวัดให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนพรรคสหประชาไทย เป็นต้น นอกจากการรักษาอำนาจและความพยายามที่จะให้มีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้นำระดับสูงอีกด้วย ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่าง จอมพลประภาส จารุเสถียร กับพลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจอีกด้วย ดังนั้นคณะทหารจึงได้ก่อการรัฐประหารขึ้นเพื่อพยายามที่จะรักษาอำนาจของตนไว้
สำหรับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ นั้นเกิดจากการที่ความเป็นอิสระของทหารถูกละเมิดเกียรติภูมิและบทบาทของทหารตกต่ำลง เนื่องจากการโจมตีของศูนย์นิสิตนักศึกษาผู้นำกรรมกรและนักการเมืองหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ การคอรัปชั่นของผู้นำทหาร การใช้ทหารปราบปรามผู้เดินขบวนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การยินยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในประเทศ และการเรียกร้องให้ยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นต้น นอกจากนี้งบประมาณทางทหารยังถูกโจมตีและท้วงติงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลายเรื่อง ประกอบกับมีการตื่นตัวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และไร้ทิศทาง ทำให้มีการเดินขบวน การประท้วงและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกระทบกระเทือนด้านความมั่นคงของประเทศไทย และผลประโยชน์ของกลุ่มทหารเป็นส่วนรวมด้วย
ส่วนการกบฏ เมื่อ 24 มี.ค. 2520 ซึ่งนำโดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และการกบฏเมื่อ 1 เม.ย. 2524 นั้นเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างผู้นำระดับสูงที่ถืออำนาจกับบุคคลระดับสูงที่เป็นผู้นำหรือแกนนำในการกบฏในเรื่องผลประโยชน์ร่วม รวมทั้งด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการใช้กำลังก่อการกบฏขึ้นเพื่อช่วงชิงและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองไว้ ส่วนกบฏเมื่อ 9 ก.ย. 2528 ซึ่งนำโดย พลเอกเสริม ณ นคร, พ.อ. มนูญ รูปขจร สร้างสาเหตุการปฏิวัติว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจเสื่อมโทรม รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 ก็สร้างสาเหตุการทำรัฐประหารว่าเกิดจากพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงของคณะผู้บริหารประเทศ ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา การทำลายสถาบันทหาร การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เหล่านี้ทำให้คณะทหารตัดสินใจเข้ายึดอำนาจทางการเมือง