ศาลาเฉลิมกรุง : พระราชกรณียกิจด้านการภาพยนตร์
สภาพโรงภาพยนตร์ก่อนมีศาลาเฉลิมกรุง
แต่เดิมมาจนในช่วงต้นๆ ของสมัยรัชกาลที่ ๗ โรงภาพยนตร์เกือบทั้งหมดในกรุงเทพฯ และในสยามเป็นโรงขนาดเล็กที่ดูซอมซ่อ คือเป็นอาคารไม้หลังคามุงสังกะสี แม้แต่โรงภาพยนตร์พัฒนาการซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงที่สามแยกซึ่งดีที่สุดก็เป็นเช่นนั้น โรงนี้เป็นของสยามภาพยนตร์บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเวลานั้น ส่วนโรงอื่นๆ มีเช่น โรงพัฒนารมย์บนถนนเจริญกรุงเช่นกัน โรงบางรัก โรงบางลำพู โรงนางเลิ้ง โรงสาธร โรงนาครเกษมที่เวิ้งวัดตึก เป็นต้น [1]
กำเนิดศาลาเฉลิมกรุง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะชวา ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในเมืองบันดุงเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ว่า โรงหนังก่อนเป็นตึก... “โรงหนังของเราเมื่อไรจะมีดีๆ เสียบ้างก็ไม่ทราบ เงินก็ได้เป็นกอง เดี่ยวนี้ออกจะน่าขายหน้าเต็มที ไม่สมควรกับเมืองหลวงของประเทศที่ “ซิวิไลส์” เลย” [2]
ครั้นเสด็จฯ กลับมา ทรงมีพระราชดำริจะสร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยขึ้น แผนการเป็นรูปเป็นร่างแล้ว จึงมีรายงานข่าวอย่างละเอียดในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่าจะเป็นโรงตึกทันสมัย สร้างที่เวิ้งสนามน้ำจืด ตรงที่ถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร
ศาลาเฉลิมกรุงนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวโรกาสเฉลิมพระนครครบ ๑๕๐ ปี เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร มีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงเป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง นายนารถ โพธิปราสาท เป็นวิศวกร
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมเป็นแบบเรียบง่ายผสมผสานระหว่างแบบตะวันตกกับแบบไทย เรียกว่า International หรือ Modern Style ตัวอาคารมีพื้นที่ 400 ตารางวา จำนวน 3 ชั้น ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยศิลปแบบไทย กลางห้องโถงใหญ่จะเห็นแผ่นฉลุลายเทพพนมปฐมพรหมสี่หน้า คล้ายหนังตะลุง ซึ่งเป็นท่ารำเบื้องต้นของผู้ที่เรียนนาฏศิลป์ประดับอยู่บนฝาผนัง มีระบบไฟและระบบเสียงที่สมบูรณ์ มีระบบเปิด-ปิดม่านอัตโนมัต มีการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นแห่งแรกของเมื่องไทย ความโดดเด่นคือไม่มีเสากลางห้องที่อาจบังสายตาเวลาชมภาพยนตร์ จัดฉายภาพยนตร์ต่างชาติเสียงในฟิล์ม เป็นโรงภาพยนตร์ที่ “สวยที่สุดในเอเซียตะวันออก” และ “เก๋มาก…เหมือนอยู่ในปารีส” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ มูล ดารากร) เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีเปิด ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการฉายภาพยนตร์คือ มหาภัยใต้ทะเล
ศาลาเฉลิมกรุงยุคแรก
นอกเหนือจากการสร้างศาลาเฉลิมกรุงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเห็นว่าการดำเนินการโรงภาพยนตร์จำเป็นต้องมีผู้ดูแลและบริหารงาน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งบริษัทและโปรด- เกล้าฯ พระราชทานนามให้ว่า “บริษัทสหศินีมา จำกัด (The United Cinema Company Limited)” จดทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องเพราะสยามภาพยนตร์บริษัทประสบความขาดทุนมีหนี้สินล้นพ้น และได้โอนกิจการให้แก่บริษัทสหศินิมา จำกัด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อแก่โรงภาพยนตร์ในเครือให้คล้องจองกับชื่อเฉลิมกรุง ว่าเฉลิมบุรี (สิงคโปร์เดิม) เฉลิมธานี (นางเลิ้งเดิม) เฉลิมเวียง เฉลิมนคร เฉลิมรัฐ และเฉลิมราษฎร์ [3]
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๖ ศาลาเฉลิมกรุงจัดฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากต่างประเทศเท่านั้น
ศาลาเฉลิมกรุงยุคเฟื่องฟู
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นยุคทองของภาพยนตร์ที่ผลิตเองในประเทศไทย โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงจัดฉายภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งยังเกิดธรรมเนียมใหม่คือการจัดรอบปฐมทัศน์เพื่อโปรโมทภาพยนตร์และมีการแสดงดนตรีก่อนฉาย ศาลาเฉลิมกรุงจึงเป็นที่นัดพบกันระหว่างดารา นักแสดง ผู้กับกับภาพยนตร์ ฯลฯ
ศาลาเฉลิมกรุงยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงซึ่งบริษัทสหศินิมา จำกัด ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการดูแลยังคงทำหน้าที่ฉายภาพยนตร์และจัดการแสดงต่างๆ เช่นละครเวที คอนเสริท์ ชั้นแรกจะเป็นห้องโถงใหญ่ที่มีห้องจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์หรือละครเวทีต่าง ชั้น ๒ ของอาคารประกอบด้วยห้องรับรองชื่อว่าห้องเมขลา ภายในมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่กลางผนัง และมีตู้โชว์อุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ เครื่องคิดเลข แผ่นกระจกโฆษณาในสมัยอดีต เครื่องพิมพ์ดีด เป็นต้น ตรงข้ามกับห้องเมขลาเป็นโรงภาพยนตร์ของศาลาเฉลิมกรุงซึ่งมีเพียงห้องเดียวซึ่งในอดีตถือว่าใหญ่และทันสมัยมากที่สุด ปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงพื้นใหม่ให้เหลือ ๖๐๐ ที่นั่งจากเดิม แบ่งเป็นด้านล่าง ๔๘๐ ที่นั่ง ด้านบน ๑๒๐ ที่นั่ง โดยทั้งข้างซ้ายและข้างขวาจะมีประตูลายรดน้ำ ส่วนชั้น 3 เป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นที่ทำงานของมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง และแบ่งอีกห้องหนึ่งซึ่งแต่เดิมเป็นห้องชมภาพยนตร์ขนาดเล็กซึ่งจัดถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับประดาอย่างสวยงามและคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง
- ↑ โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๗). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำโดยสถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗, หน้า ๓๑-๓๒.
- ↑ พระปกเกล้า, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิตในคราวเสด็จพระพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรนิติ, หน้า ๖๖.
- ↑ โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๗). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำโดยสถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗, หน้า ๓๖.
บรรณานุกรม
โดม สุขวงศ์. (๒๕๓๗). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำโดยสถาบันไทยคดีศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗.
พระปกเกล้า, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๙๒). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิตในคราวเสด็จพระพาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรนิติ.
เว็บไซต์
ศาลาเฉลิมกรุง: www.salachalermkrung.com
สมคิด แซ่คู : http://www.dailynews.co.th/entertainment/326824