สยามเมื่อยามประสูติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:30, 19 มกราคม 2559 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำแล่นผ่านปากน้ำเจ้าพระยา ทหารในป้อมพระจุลจอมเกล้าเริ่มยิงเตือน...แต่เรือรบฝรั่งเศสยังคงแล่นต่อเข้ามาและเริ่มยิงตอบโต้ ในที่สุดเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ ก็ฝ่าแนวป้องกันได้สำเร็จเข้ามาจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสห่างจากพระบรมมหาราชวังไปไม่ไกลนัก และกดดันเรียกร้องให้สยามจ่ายค่าเสียหายจากการปะทะกัน และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ปากน้ำ หรือ วิกฤตการณ์ รศ. ๑๑๒ ข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียดินแดนอินโดจีนเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ๘ พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส พระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ฯ” เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้อง มีพระนามเรียกอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” หรือ “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย

เจ้าฟ้าชายพระองค์น้อยทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก ทรงเจริญพระชนม์ระหว่างที่สยามต้องเผชิญกับกระแสล่าอาณานิคมของตะวันตกซึ่งกำลังถาโถมอย่างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมีผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเร่งพัฒนาสยามให้ก้าวหน้า และปฏิรูปการปกครองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายอย่างรัดกุมรวมทั้งยังส่งผลต่อการอภิบาลและแนวพระราชดำริทางการศึกษาของพระราชโอรสทุกพระองค์ในภายหลัง

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖