นายพจน์ สารสิน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:50, 28 ธันวาคม 2558 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม) (พจน์ สารสิน (นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์) ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น นายพจน์ สารสิน)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ชาตะ

นายพจน์ สารสิน เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2448 ที่บ้านพักถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) (ตำแหน่งแพทย์หลวงประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] กับคุณหญิงสุ่น สารสินโดยเป็นนักศึกษาวิชาการแพทย์ของประเทศไทยคนแรก ที่สำเร็จปริญญาแพทย์ M.D. จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุนของมิชชันนารี เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับราชการเป็นแพทย์ประจำกองทัพไทย และเคยไปราชการสงครามกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ในคราวปราบฮ่อ ทางแคว้นหลวงพระบาง บิดาของท่านได้ทิ้งมรดกจำนวนมหาศาลไว้ทำให้นายพจน์ สารสิน เป็นบุคคลที่ร่ำรวยคนหนึ่งของประเทศไทย[2]

นายพจน์ สารสิน มีพี่น้องดังนี้

1. นายกิจ สารสิน

2. นางสาวแสง สารสิน สมรสกับ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (นายบุญจ๋วน บุณยะปานะ) อดีตประธานศาลฎีกา

3. หม่อมลิ้นจี่ สารสิน ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช[3]

การสมรส

นายพจน์ สารสิน สมรสกับคุณหญิงศิริ สารสิน (โชติกเสถียร) มีบุตร-ธิดา รวม 6 คน ดังนี้

1. นายพงส์ สารสิน อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 45 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533) ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นได้ขายหุ้นให้กับบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ในเครือเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ประเทศสิงคโปร์ สมรสกับ นางมาลินี สารสิน (วรรณพฤกษ์)

2. พลตำรวจเอกเภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ สมรสกับท่านผู้หญิงถวิกา สารสิน (สุจริตกุล) นางสนองพระโอษฐ์

3. นายบัณฑิต บุณยะปาณะ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ใช้นามสกุลตามบิดาบุญธรรม คือ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (นายบุญจ๋วน บุณยะปานะ) กับนางแสง สารสิน (พี่สาวนายพจน์ สารสิน) สมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงพิลาศลักษณ์ (กิติยากร) บุณยะปานะ ธิดาของหม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม (ไชยันต์)

4. นางพิมสิริ ณ สงขลา สมรสกับ พ.อ.จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

5. พลเอกสุพัฒน์ สารสิน อดีต ทส. ของจอมพลประภาส จารุเสถียร และอัตราพลตรีประจำกองบัญชาการกองทัพบกสมัยที่พลเอก อาทิตย์ กำลังเอกดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.และผบ.สูงสุด

6. นายอาสา สารสิน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ก่อนจะหันมาประกอบธุรกิจ โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กรรมการธนาคารกรุงเทพ รองประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด, ประธานกรรมการบริษัท ไทยเอเชียแปซิฟิคบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย เบียร์ไฮเนเก้น และ ไทเกอร์เบียร์ ของประเทศสิงคโปร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2543 สมรสกับ ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน ธิดาคนสุดท้องของหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และหม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล) กับหม่อมราชวงศ์วิจิตรโฉม กิติยากร ธิดาคนที่สามของหม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร กับ หม่อมเนื่อง ชยางกูร[4]

การศึกษา

นายพจน์ สารสิน ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 ได้ศึกษาต่อที่ Wilbraham Temple ณ รัฐแมซซาจูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เป็นสมาชิกของ Middle Temple ในเมืองลอนดอน[5] เมื่อกลับสู่ประเทศไทยเข้าเรียนวิชากฎหมาย จนสอบได้เนติบัณฑิตไทย เมื่อปี พ.ศ. 2472 ต่อมาได้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้เนติบัณฑิตอังกฤษ[6]

ประวัติการรับราชการ

• พ.ศ. 2492 – พ.ศ. 2493 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทูตสันถวไมตรีไทยไปประเทศพม่า และเป็นผู้แทนไทยไปในพิธีมอบเอกราชในประเทศอินโดนีเซีย

• พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2500 เอกอัครราชฑูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนของประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ

• พ.ศ. 2497 ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการชุดที่ 5 ของการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 9

• พ.ศ. 2500 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) (SEATO) เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้[7]

บริหารราชการแผ่นดิน

• พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2494 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา[8]

• พ.ศ. 2491 – พ.ศ. 2492 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 15 เมษายน 2491 – 25 มิถุนายน 2492 และ 28 มิถุนายน 2492 – 13 ตุลาคม 2492

• พ.ศ. 2492 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 13 ตุลาคม 2492 – 1 มีนาคม 2493)

• พ.ศ. 2500 เป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2500)ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 21 กันยายน 2500 – 1 มกราคม 2501)

• พ.ศ. 2500 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 23 กันยายน 2500 – 26 กันยายน 2500

• พ.ศ. 2506 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (สมัยรัฐบาล พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 11 ธันวาคม 2506 – 7 มีนาคม 2512

• พ.ศ. 2511 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (สมัยรัฐบาล พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 10 กุมภาพันธ์ 2511 – 7 มีนาคม 2512

• พ.ศ. 2512 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ(สมัยรัฐบาล พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 11 มีนาคม 2512 – 17 พฤศจิกายน 2514[9]

ผลงานที่สำคัญ

ภารกิจสำคัญของรัฐบาลนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของระบอบประชาธิปไตย มี 2 ประการ คือ 1. จะต้องเร่งจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์ยุติธรรมอันเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องและเป็นเหตุผลที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้นทำให้ “รัฐบาลของนานาประเทศให้การรับรองรัฐบาลไทย” หลังการรัฐประหาร อันเป็นภารกิจประการที่ 2 ซึ่งรัฐบาลของนายพจน์ สารสิน สามารถดำเนินการให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีทั้งสองประการ[10]

ชีวิตบั้นปลาย

นายพจน์ สารสิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จากการปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่คณะปฏิวัติได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปแห่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พ.ศ. 2500 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 และกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ตามเดิม[11] [12]

ในเวลาต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ในรัฐบาลของ พลเอก ถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 2) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2506 และต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการอีกหนึ่งตำแหน่ง แทนรัฐมนตรีคนเดิมที่ลาออก และเมื่อพลเอก ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (เป็นสมัยที่ 3) นายพจน์ สารสิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512 [13]

ต่อมาท่านได้ยุติบทบาททางการเมืองโดยใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานครจนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 11.40 น. ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร รวมอายุได้ 95 ปีเศษ[14]

อ้างอิง

  1. “เส้นทางของนายพจน์ “สารสิน” นายกฯ จับตั้ง”, [ออนไลน์], แหล่งที่มา : http://www.pattayasigntech.com (3 ธันวาคม 2552)
  2. ธนากิต, วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545) หน้า 358.
  3. “เส้นทางของนายพจน์ “สารสิน” นายกฯ จับตั้ง”. เรื่องเดียวกัน.
  4. “เส้นทางของนายพจน์ “สารสิน” นายกฯ จับตั้ง”. เรื่องเดียวกัน.
  5. ธีระชัย ธนาเศรษฐ, ทำเนียบนายกรัฐมนตรี (กรุงเทพฯ : ธีรกิจ, ม.ป.ป.) หน้า 80.
  6. ธนพล จาดใจดี, เรื่องราวง่ายๆ ของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย (กรุงเทพฯ : ธนพลวิทยาการ, 2544) หน้า 29.
  7. ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย (กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545) หน้า 208 – 209.
  8. ธนากิต, เรื่องเดียวกัน, หน้า 208.
  9. นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์, เอกสารวงงานรัฐสภา “รวมรายชื่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่คณะแรกจนถึงคณะปัจจุบัน” (กรุงเทพฯ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2544) หน้า 356.
  10. ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย, หน้า 212.
  11. ประวัตินายกรัฐมนตรี, “นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 นายพจน์ สารสิน”, [ออนไลน์], แหล่งที่มา : http://www.cabinet.thaigov.go.th/pm_09.htm (3 ธันวาคม 2552)
  12. นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์, เรื่องเดิม, หน้า 104.
  13. ธนากิต, วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 361.
  14. ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย, หน้า 213.

บรรณานุกรม

ธนพล จาดใจดี, เรื่องราวง่ายๆ ของ 23 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ธนพลวิทยาการ. 2544.

ธนากิต, ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด. 2545.

ธนากิต, วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด. 2545.

ธีระชัย ธนาเศรษฐ, ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : ธีรกิจ. ม.ป.ป..

นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์, เอกสารวงงานรัฐสภา “รวมรายชื่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่คณะแรกจนถึงคณะปัจจุบัน”. กรุงเทพฯ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2544.

ประวัตินายกรัฐมนตรี “นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 นายพจน์ สารสิน” [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.cabinet.thaigov.go.th/pm_09.htm (3 ธันวาคม 2552)

“เส้นทางของนายพจน์ “สารสิน” นายกฯ จับตั้ง” [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.pattayasigntech.com (3 ธันวาคม 2552)

ดูเพิ่มเติม

พจน์ สารสิน