สมุดปกขาว
ผู้เรียบเรียง : ฐิติวิชญ์ ศุภวรรณจิระโชติ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
บทนำ
สมุดปกขาวเป็นเอกสารเผยแพร่ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และสถานการณ์ทั่วไป ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของภาครัฐ เหตุที่เรียกสมุดปกขาว (White Paper) เนื่องจากลักษณะของปกรายงานเป็นสีขาวนั่นเอง
สมุดปกขาวของไทย
สมุดปกขาวของไทย วิกฤตการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เกิดความยุ่งยากทางการเมือง อันสืบเนื่องมาจากความคิดเห็นขัดแย้งในคณะรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลืองต่อรัฐบาล โดยให้รัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเองด้านเกษตรและอุตสาหกรรม ให้ราษฎรทุกคนเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างรัฐ โดยรัฐประกันความสุขสมบรูณ์แก่ราษฎร ซึ่งเป็นการเสนอแนวทางการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมาก อาทิ เรื่องการถือครองและการเช่าที่ดินการจัดรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆด้วยหวังเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ดำเนินตามหลักการของประเทศสังคมนิยม อาจมีผลกระทบต่อพื้นฐานโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงงบประมาณรายจ่ายของประเทศ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงวิจารณ์ข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างจริงจัง และได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยสอดคล้องกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยทรงพระราชนิพนธ์ สมุดปกขาวตอบโต้สมุดปกเหลือง ในช่วงกบฏบวรเดชที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไม่พอใจที่นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เนื่องจากกรณีที่ที่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" โดยออกเป็นสมุดปกขาว เพราะคณะรัฐมนตรีไม่ยอมรับเค้าโครงเศรษฐกิจแบบนี้ ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรเองก็เกิดการแตกแยกกันทางความคิด กระทั่งนำไปสู่การเปิดอภิปรายวิจารณ์กันในรัฐสภา
ในการกบฏบวรเดชขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" และชนวนสำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา
เมื่อวิเคราะห์ถึงเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎรแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นแผนการบริหารประเทศในระดับกว้างหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเป็นการแสวงหาแนวทางว่าการก้าวไปสู่ความทันสมัยจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารเค้าโครงฯ อย่างไร จึงจะตอบคำถามดังกล่าวได้ โดยจะต้องตอบโจทย์ว่าในสมัยก่อนปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยมีปัญหาอะไร แล้วจึงมาตอบปัญหานั้น โดยมีปัจจัยต่าง ๆ หรืออาจเรียกว่าการพัฒนาที่ก้าวไปสู่เป็นความทันสมัย ความเป็นตะวันตก ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ การขยายตัวทางการค้า หรือการพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งจะต้องสอดคล้องไปกับเทคโนโลยีการผลิตเป็นสำคัญ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้มองว่าควรกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง มิใช่เพียงเรื่องการจัดระบบกฎหมาย แต่จัดระบบเศรษฐกิจเพื่อเป็นฐานอำนาจสำคัญให้ทุกคนเข้าถึง ดังนั้น การปฏิรูปที่ดินจึงอยู่ในแผนเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยโดยประกอบไปด้วยแผนการกระจายอำนาจ สร้างเอกราช เสรีภาพ ให้ ประชาชนทุกคนมีทรัพยากรในมือทั่วถึง มีความทัดเทียมกัน มีปัจจัยการผลิต รวมถึงมีทรัพย์สิน ที่เป็นตัวกำหนดอำนาจที่แท้จริง โดยที่หากสิ่งเหล่านี้ทั่วถึง การเป็นประชาธิปไตยก็ทั่วถึงเช่นเดียวกัน โดยมีหลักการทางวัตถุเป็นตัวสนับสนุน
ในประการแรกระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้หมายถึงระบบที่ใช้วิธีการริบทรัพย์สินเงินทองของคนในสังคมแล้วเอามาแบ่งเฉลี่ยเท่าๆ กัน เพราะถ้าหากเป็นระบบตามวิธีการนี้ ระบบนั้นก็หาใช่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพราะมิใช่ระบบที่เป็นธรรมกับผู้อื่น คนที่ไม่ทำงานหรือทำอย่างเกียจคร้านก็จะได้ส่วนแบ่งเท่ากับคนที่ทำงานด้วยความอุตสาหะและจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจของสังคม และอธิบายต่อว่า ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหมายถึง ราษฎรส่วนข้างมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อย ที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันพี่น้อง การออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถ เพื่อผลิตสิ่งอุปโภคและบริโภคให้สมบูรณ์ ดังนั้นแล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรม ตามส่วนแรงงานทางกายหรือทางสมองที่ตนได้กระทำ ผู้ใดออกแรงมากก็ได้มาก ผู้ใดออกแรงน้อยก็ได้น้อย เหล่านี่คือนิยามหลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวไว้
ในทัศนะของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น อำนาจความเป็นเสรีต้องได้รับการค้ำจุน โดยการครอบครองปัจจัยการผลิตเท่าเทียมกัน และต้องทำให้เศรษฐกิจไม่ต้องพึ่งต่างชาติมากเหมือนสมัยหลัง รัชกาลที่ 4 ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งแนวความคิดในการที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจชาตินิยมซึ่งหลังสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เกิดคนรวยขึ้น 2-3 พวก ซึ่งความรวยเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ โดยความรวยกระจุกตัวที่คนจีนพ่อค้า หรือเจ้านายที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ผูกขาดสัมปทานการค้าโดยอาศัยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรือความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง
สรุปแล้วเจตนารมณ์และหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้แยกแยะ แบ่งส่วน แต่รวมความหมาย มิติ นัยยะทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน โดยคำว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์ หมายถึง ครบถ้วนทุกมิติ ตั้งแต่มิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นประชาธิปไตย
ในทำนองตรงกันข้ามเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอาจจะไม่ใช่เป็นแค่เพียงอุดมการณ์อันเลื่อนลอยเท่านั้นมิเช่นนั้นก็คงจะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เค้าโครงนี้มากขนาดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าในความคิดของเค้าโครงดังกล่าวอาจจะไปก่อให้เกิดความกังวลหรือหวั่นเกรงกับใคร โดยใครจะมีแนวโน้มเสียประโยชน์บ้าง สิ่งเหล่านี้อยู่ในพระราชวิจารณ์ในสมุดปกขาวโดยในพระราชวิจารณ์เองตอนหนึ่งก็แสดงความปริวิตกว่าอาจจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับคนหลายพวกหลายฝ่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเค้าโครงไม่ได้เป็นแค่แนวความคิดลอยๆ แต่เป็นแผนการบริหารจัดการอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะทำให้เกิดการได้การเสียของผู้คนในสังคม
การปฏิรูปที่ดินในยุคสมัยนั้นผู้ที่ครอบครองที่ดินมากที่สุดเป็นพวกเจ้าขุนมูลนายมิได้เป็นการแข่งขันอย่างเสรีเหมือนในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการถือครองที่ดินในสมัยนั้นหมายถึงอำนาจ ซึ่งเค้าโครงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนี้ทำให้เกิดความสั่นคลอนได้ของอำนาจดังกล่าว ซึ่งเจ้าขุนมูลนายต่างหวาดกลัวกับการยึดที่ดิน
อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะราษฎรได้ทำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงยอมรับข้อเสนอของคณะราษฎร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบสุขของประชาราษฎร์ ไม่ต้องการเสียเลือดเนื้อกัน ถ้าเกิดจลาจลจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย
ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบผลสำเร็จโดยไม่มีการใช้กำลังรุนแรงแต่อย่างใด พระองค์เสด็จกรุงเทพมหานคร คณะราษฎรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งอำมาตย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะราษฎรบางคนได้ร่างขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย พระองค์จึงได้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และออกพระราชบัญญัติการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นผลให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎรจึงปรากฏเด่นชัดขึ้น
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นอำนาจของคณะราษฎรก็ได้คืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เดินทางกลับประเทศเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ โดย พ.อ.พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งปฏิวัติจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ จนได้รับฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย"
ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและกลุ่มผู้นิยมระบอบเก่า ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชและพวก ก่อการกบฏในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถูกฝ่ายรัฐบาลปรามได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาได้สร้างเมรุชั่วคราวของผู้เสียชีวิตคราวปราบกบฏบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง แต่การสร้างเมรุชั่วคราวที่ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) เดิมรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงยินยอม แต่แต่ทางคณะราษฎรยืนยันที่จะสร้างเมรุชั่วคราวบนทุ่งพระเมรุ รัชกาลที่ 7 จึงต้องทรงยินยอม แต่ระบุถ้อยคำด้วยท่วงทำนองว่า "ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์"
การกบฏครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อพระราชฐานะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งๆ ที่ทรงวางพระองค์เป็นกลาง เพราะคณะราษฎรเข้าใจว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการกบฏ ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 และคณะราษฎรจึงร้าวฉานยิ่งขึ้น ในต้น พ.ศ.2477 รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติหลวงพิบูลย์สงครามกับหลวงประดิษฐ์ มนูญธรรม ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นสืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477
ต่อจากนั้นคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สืบมาจนถึงปัจจุบัน
สมุดปกขาวของประเทศไทยในปัจจุบัน
ในประเทศไทยการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในลักษณะเป็นรายงานประจำปี (Annual Report) นั้น ได้มีการจัดทำมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่รายงานทางวิชาการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสมุดปกขาวของญี่ปุ่น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อในขณะนั้น) ได้จัดทำรายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยขึ้นเป็นฉบับแรก นอกจากนั้นยังมีรายงานในลักษณะคล้ายสมุดปกขาวจากหน่วยงานภาครัฐอีกหลายฉบับ แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายมากนัก
การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมามีอิทธิพลต่อประเทศไทยอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวและการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ การปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 เป็นฉบับปี พ.ศ. 2535 ก็เพื่อให้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับรายงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 (3) กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ จัดทำนโยบายและวางแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในการนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ดำเนินการจัดทำภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้ง
ดังนั้นสมุดปกขาวปัจจุบันรัฐบาลในประเทศต่างๆ จึงนำลักษณะของปกสีขาวมาใช้เป็นเอกสารเผยแพร่ของรัฐอย่างกว้างขวาง สำหรับประเภทรายงานลับหรือรายงานผลการประชุมรัฐสภา จะจัดทำเป็นปกสีน้ำเงินที่เรียกว่าสมุดปกสีน้ำเงิน (Blue Book )
อ้างอิง
บรรณานุกรม
เว็บไซต์http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%9A%E0%B8%A7 %E0%B8% A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A. (วันที่ 12 สิงหาคม 2557). http://www.senate.go.th/web-senate/research47/pdf/series2/n02.pdf (19 สิงหาคม 2557) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2_(%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C_%E0%B8%9E%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%99) ประชาไท, "ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์", ประชาไท, 19 กันยายน พ.ศ. 2550 นายหนหวย, , “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ”, จุลสารสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า, กรุงเทพ พ.ศ. 2530.
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
ชาตรี ประกิตนนทการ,สถาปัตย์คณะราษฏร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาไท 19 กันยายน พ.ศ. 2550 ม.จ. พูนพิสมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น(ภาคต้น),สำนักพิมพ์มติชน,พ.ศ.2543