พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเยาว์
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล และ ศิริน โรจนสโรช
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ร.ศ. ๑๑๒ ปีมะเส็ง ตรงกับวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับพระราชทานพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์ นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวริจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร
พระนามอย่างไม่เป็นทางการคือ “เอียดน้อย” เจ้าจอมเยื้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์ สุขสวัสดิ์ และหม่อมเจ้าหญิงพโยมมาลย์ เกษมสันต์เป็นพระพี่เลี้ยง มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาร่วมพระบรมราชชนกชนนีเดียวกันคือ
๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๕. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
๗. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย
๘. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา [1] ซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถมาตั้งแต่ยังเยาว์ และได้มีโอกาสเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เป็นครั้งแรกเมื่อยังทรงเป็นพระราชกุมารองค์น้อยๆ เล่าว่า
ได้เห็นเด็กชายตัวน้อยๆ รูปร่างแบบบาง ผิวขาว ทรงฉลองพระองค์แบบเสื้อกางเกงติดกันอย่างฝรั่งสีขาว ไว้พระเมาฬี (จุก) มีพวงมาลัยสวมรอบ ปักปิ่นพลอยอะไรอยู่กลาง เพชรรอบ มานั่งลงข้างสมเด็จ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าคงเป็นลูก คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อทรงพระเยาว์ พระชนมพรรษาระหว่าง ๓-๔ ปี ชาววังจะเรียกพระองค์ว่าทูลกระหม่อมเอียดน้อย สมเด็จรับสั่งว่า “แม่ได้ข้าหลวงใหม่ พ่อเอียดเอาไปเล่นด้วยไหมจ๊ะ” ทูลกระหม่อมเอียดน้อยทรงยิ้มอ่อนหวาน แต่ไม่รับสั่งตอบว่ากระไร รู้สึกว่าทรงอายหน่อยๆ แต่ประทับเคียงสมเด็จแม่เฉยๆ อยู่ ทำพระเนตรหยิบหน่อยๆ
เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถทรงห่วงใยการศึกษาของพระราชโอรสยิ่ง ดังข้อความในพระราชหัตถเลขา [2] ที่พระราชทานแก่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) มีความตอนหนึ่งว่า
เจ้านายชั้นเล็กอีกชั้นหนึ่งมีชนมายุสมควรกับเวลาที่จะเล่าเรียนได้แล้ว คือลูกฉันอีก ๒ คน แลทูลหม่อมมหิดลกับองค์อุรุพงษ์ รวม ๔ องค์ด้วยกัน อายุที่อย่างน้อยที่สุด ๘ ขวบ ฉันจึงมีใจปรารถนาอยากจะให้ได้เล่าเรียนตามสมควรแก่เวลาแลชนมายุของเธอทั้งหลายนั้นเสีย เพราะเวลานี้ก็ต่างองค์ต่างได้เรียนอยู่บ้างแล้วตามอย่างเด็กๆ ที่อยู่ว่างๆ ดีกว่าจะให้เล่นซนอย่างเด็กอยู่เปล่าๆ พอเปนทางดำเนินแห่งความรู้ในชั้นต้นเปนเค้าไว้บ้าง ก็อ่านแลเขียนกันได้ตามประสาเด็กๆ ซึ่งได้เริ่มเรียน แต่ต่างครูบาอาจารย์กันแลเปนผู้หญิงสอนกันเองไม่เปนระเบียบเรียบร้อยอันใด
หม่อมศรีพรหมาเล่าถึงพระอุปนิสัยในสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ว่า [3] “พระองค์มีน้ำพระทัยกว้างขวาง ไม่ถือสาในพระเชษฐาที่เคยทรงเหยียดว่าเป็นผู้หญิงอยู่กับพวกจู๊ดจี๊ด เมื่อทรงชวนเล่นด้วยก็ทรงรับด้วยน้ำพระทัยนักกีฬา ทำหน้าที่เต็มความสามารถ”
สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
เมื่อพระชนมายุครบ ๑๒ พรรษา สมควรแก่การโกนจุกตามประเพณีไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชและสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์พร้อมกันเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ และพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามดังนี้
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชาทรงศักดินา 40,000 เจ้ากรมเป็นขุนศุโขไทยธรรมราชา ถือศักดินา 800 ปลัดกรมเป็นหมื่นเชียงรายอาณาธิปก ถือศักดินา ๖๐๐ สมุหบาญชีเป็นหมื่นหนองจิกพสกอำรุง ถือ ศักดินา ๓๐๐
หลังจากพระราชพิธีโสกันต์และทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะตามประเพณีแล้ว จึงเสด็จ พระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ มีพระราชพิธีส่งเสด็จที่พระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐
บรรณานุกรม
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (บ.ก.). (๒๕๓๖). พระบรมราโชวาทพระราชทานในวันงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ใน ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (น. ๒๕๗-๒๖๑). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. (๒๕๕๐). อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: สารคดี.
ศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ, สมเด็จพระ. (๒๕๐๗). พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
ศิริน โรจนสโรช. (๒๕๕๖). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก (น.๓-๔๑). นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อ้างอิง
- ↑ ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. (๒๕๕๐). อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: สารคดี, หน้า ๑๑ – ๑๒.
- ↑ ศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ, สมเด็จพระ. (๒๕๐๗). พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., หน้า ๑๑ – ๑๒.
- ↑ ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. (๒๕๕๐). อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: สารคดี, หน้า ๘๕.