พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2553

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:51, 8 ธันวาคม 2557 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นกฎหมายที่กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกัน ก่อให้เกิดการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ รวมถึงหลักการในการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน และกำหนดการบริหารราชการแนวใหม่เพื่อให้ระบบบริหารราชการสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศและการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2553

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4กันยายน 2534 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติถึงปัจจุบันคือฉบับที่ 8 พ.ศ.2553 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

1. การจัดระเบียบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

(1)ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง

(2)ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค

(3)ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ได้แบ่งส่วนราชการเป็น 4 รูปแบบ โดยส่วนราชการทั้งสี่มีฐานะเป็นนิติบุคคล คือ

(1) สำนักนายกรัฐมนตรี

(2) กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง

(3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง

(4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง

ในการจัดบริหารราชการส่วนกลางไก้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจในการสั่งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น

การบริหารราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีให้แบ่งส่วนราชการป็น 4 รูปแบบ คือ

(1) รูปแบบที่หัวหน้าส่วนราชการเป็นข้าราชการการเมือง ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันกับสำนักงานรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ส่วนราชการนี้มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองดูแลรับผิดชอบ

(2) รูปแบบที่หัวหน้าส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวงและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการเหล่านี้ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

(3) รูปแบบของส่วนราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลราชการประจำทั่วไปของสำนักนายกรัฐมนตรี คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานปลัดกระทรวง มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะปลัดกระทรวงดูแลรับผิดชอบ

(4) รูปแบบที่หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

2. กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง อยู่ภายใต้การดูแลบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มีหน้าที่โดยทั่วไปคือ การกำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงานของกระทรวง รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตาม การดำเนินงานตามแผนและนโยบายที่กำหนดไว้

การแบ่งส่วนราชการภายในกระทรวง กระทรวงต่างๆ แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็นกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแต่มีฐานะเป็นกรม ส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงต่างๆ อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

(1) สำนักงานรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับราชการทางการเมืองของกระทรวงมีเลขานุการรัฐมนตรีดูแลรับผิดชอบขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(2) สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการอื่นที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ รวมทั้งการกำกับเร่งรัดติดตามผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง ทั้งนี้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของปลัดกระทรวง

(3) กรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรม ทั้งนี้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของอธิบดี หรือตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นสำหรับส่วนราชการระดับกรมที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

การแบ่งส่วนราชการภายในกรม จะแบ่งเป็นสำนักงานเลขานุการกรม กอง และแผนก

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค แบ่งส่วนราชการออกเป็นสองรูปแบบ คือ

(1) จังหวัด

(2) อำเภอ

ในระดับจังหวัด ได้บัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ

กำหนดให้มีปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในจังหวัด

ในระดับอำเภอ ให้มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 4 รูปแบบ ดังนี้ คือ

(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด

(2) เทศบาล

(3) องค์การบริหารส่วนตำบล

(4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบคือ กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528และเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

2.การปฏิบัติราชการแทน

ในการบริหารราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจในการบริหารราชการอาจจะมอบอำนาจในการสั่ง การ อนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น โดยผู้มีอำนาจในการบริหารราชการสามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้มีอำนาจชั้นรองเพื่อปฏิบัติราชการแทน โดยที่ผู้มอบอำนาจยังคงดำรงตำแหน่งและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่

หลักในการปฏิบัติราชการแทนมีอยู่ 5 ประการ คือ

(1) เป็นอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

(2) กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

(3) การมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ

(4) เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้นและจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ (เว้นแต่กรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจนั้นต่อไปอีกได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค)

(5) เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้

การปฏิบัติราชการแทนกำหนดผู้มอบอำนาจและรับมอบอำนาจดังต่อไปนี้

ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ

 (1)  นายกรัฐมนตรี	•	รองนายกรัฐมนตรี

• รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 (2)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง	•	รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

• ปลัดกระทรวง • อธิบดีหัวหน้าส่วนราชการอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า • ผู้ว่าราชการจังหวัด

 (3)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง	•	รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง

• ปลัดทบวง • อธิบดี • หัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า • ผู้ว่าราชการจังหวัด

 (4)  ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี	•	รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

• ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี • อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า • ผู้ว่าราชการจังหวัด

 (5)  ปลัดกระทรวง	•	รองปลัดกระทรวง

• ผู้ช่วยปลัดกระทรวง • อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า • ผู้ว่าราชการจังหวัด

 (6)  ปลัดทบวง	•	รองปลัดทบวง

• ผู้ช่วยปลัดทบวง • อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า • ผู้ว่าราชการจังหวัด

 (7)  อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า	•	รองอธิบดี  ผู้ช่วยอธิบดี  

• ผู้อำนวยการกอง • หัวหน้ากอง • หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น • หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า

 (8)  ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วน-
      ราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามมาตรา 31  
      วรรค 2	•	ข้าราชการในกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง

• หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

 (9)  ผู้ว่าราชการจังหวัด	•	รองผู้ว่าราชการจังหวัด

• ปลัดจังหวัด • หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด • นายอำเภอ • ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ • หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

 (10) นายอำเภอ	•	ปลัดอำเภอ

• หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

 (11) ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ	•	ปลัดอำเภอ

• หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ

 (12) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด	•	หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

• หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ

 (13) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (1) ถึง (12)	•	บุคคลอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

3.การรักษาราชการแทน

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดให้มีการรักษาราชการแทน ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งไม่อาจปฏิบัติราชการได้ เพื่อให้การบริหารราชการมีความคล่องตัว เกิดความต่อเนื่อง อันจะเป็นผลให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี

หลักในการรักษาราชการแทนมี 3 ประการ คือ

(1) กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนั้นหรือมีผู้ดำรงตำแหน่งแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม

(2) ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทนทุกประการ

(3) กรณีรักษาราชการแทนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

การรักษาราชการแทนไว้ กำหนดแนวทางไว้ดังนี้

ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้รักษาราชการแทน

 (1)  นายกรัฐมนตรี  	รองนายกรัฐมนตรี

กรณีมีรองนายกฯ หลายคนให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่ ครม. มอบหมาย (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง/

      รัฐมนตรีว่าการทบวง		รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ 

กรณีมี รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ หลายคนให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ คนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

 (3)  เลขานุการรัฐมนตรี	ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี

กรณีมีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีหลายคนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการ แทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน (4) ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง กรณีมีรองปลัดกระทรวงหลายคนให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีรองปลัดกระทรวง ให้นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ต่งตั้งข้าราชการ ในกระทรวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือ เทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน

 (5)  อธิบดี  	รองอธิบดี

กรณีมีรองอธิบดีหลายคนให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้ง ข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดี หรือข้าราชการตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่ง เพื่อความเหมาะสม ให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อาจแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนได้ (6) รองอธิบดี อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป 3) เลขานุการกรม หรือหัวหน้าส่วนราชการตาม

      มาตรา 33 วรรค 2	อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า เป็นผู้รักษาราชการแทน 

4.การพัฒนาระบบราชการ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาระบบราชการเพื่อให้การพัฒนาระบบราชการบรรลุประสิทธิภาพและประสิทธิผล

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2553

หนังสืออ่านประกอบ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2553