พัฒนาการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย
ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มกองทัพพันธมิตร เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ทั้งพื้นที่แผ่นดินใหญ่ เช่น ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม และพื้นที่แบบหมู่เกาะ เช่น ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการกำหนดพื้นที่ในการปฏิบัติการของกองทัพ จนมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง และเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้วิตกถึงสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเริ่มหันหน้าเข้าหากัน เพื่อรวมกลุ่มกันขึ้นในระดับภูมิภาค อันนำมาสู่การก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค
ประวัติความเป็นมา
ภายหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพพันธมิตร อันนำมาสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ.1945 ซึ่งผลจากการสิ้นสุดของสงครามทำให้ยุคอาณานิคมในเอเชียตะวันออกนั้นสิ้นสุดไป แม้ว่าชาติตะวันตกได้รับประเทศอาณานิคมเดิมของตนคืนจากญี่ปุ่นแต่กระแสชาตินิยม การเรียกร้องเอกราชและการต่อต้านจากพลเมืองในอาณานิคมทำเจ้าอาณานิคมเหล่านี้จำต้องยอมคืนเอกราชให้กับชาติต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อย่างไรก็ดีการได้รับเอกราชคืนมาก็มิได้ทำให้เกิดเสถียรภาพหรือความเจริญก้าวหน้าเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพม่าที่ต้องประสบปัญหาของสงครามกลางเมือง ระหว่างชาวพม่ากับชนกลุ่มน้อย ภายหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 เป็นต้น
นอกจากนั้นประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังต้องเผชิญปัญหาจากสงครามเย็น และการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ อิทธิผลจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และฝ่ายลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและประเทศจีนนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆได้มีความพยายามรวมตัวกัน เพื่อความมั่นคงในแต่ละประเทศ จนเกิดกระแสการรวมตัวกันต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นภายในภูมิภาค อาเซียนได้พยายามจัดเวทีความร่วมมือภายในภูมิภาคหลายครั้ง เช่น องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ได้จัดตั้งในปี ค.ศ.1954 โดยมีสมาชิกแปดประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศปากีสถาน ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มกันทางทหาร ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อย่างไรก็ดี SEATO ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก มีสมาชิกที่มีภูมิศาสตร์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง ไทยและฟิลิปปินส์เท่านั้น อีกทั้งประเทศสมาชิกทั้งหลายพยายามหลีกเลี่ยงข้อผูกมัดต่างๆ และขอถอนตัวออกไปทีละประเทศ จนสุดท้าย SEATO ก็ได้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ.1977 นอกจากนั้นยังมีสมาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASA) ได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1961 โดยประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเน้นที่เรื่องภายในภูมิภาคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อพิพาททางเขตแดนระหว่าง ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ในรัฐซาบาห์และซาราวัค ก็ทำให้ ASA นั้น ต้องหมดสภาพไปโดยปริยาย โดยมีการดำเนินการได้เพียงสองปีเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ประเทศในอาเซียนได้มีความพยายามในการรวมตัวกันอยู่อย่างเนืองๆ ในขณะนั้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จนถึงการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งอาเซียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในปี ค.ศ.1967 จากแนวความคิดของ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น ที่ได้เชิญผู้แทนประเทศของประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ มาพูดคุยกันที่จังหวัดชลบุรี ซึ่ง ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้เสนอให้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือกันภายในภูมิภาค และรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในเวทีโลก จนในที่สุดอาเซียนก็ได้ก่อตั้งขึ้นจากปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 จากการลงนามของรัฐมนตรีจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย และได้ลงนามครบทั้ง 10 ประเทศ ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999 โดยประเทศกัมพูชา ได้ลงนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศสุดท้าย
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
ในปฏิญญากรุงเทพนั้น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสันติภาพและความมั่นคง ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการคมนาคม ด้านการศึกษา และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกของภูมิภาคอาเซียน อันเป็นการวางรากฐานการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงให้กับอาเซียน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับประเทศภายนอก และองค์การระหว่างประเทศต่างๆอีกด้วย
พัฒนาการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังการจัดตั้งอาเซียน
ภายหลังการจัดตั้งอาเซียนใน ค.ศ.1967 อาเซียนได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่หนึ่ง (ค.ศ.1967-1975) : หลังจากอาเซียนได้ถูกจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1967 นั้น ในระยะแรกๆ อาเซียนได้เน้นไปที่ประเด็นความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งในขณะนั้นประเทศจีนและประเทศรัสเซีย ได้มีการแข่งขันกันในการขยายอิทธิพลของตนเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ ลดบทบาททางการทหารในอาเซียน โดยนโยบายการแข่งขันของทั้งสองประเทศ คือเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน โดนจีนได้สนับสนุนให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง จนนำมาสู่การลงนามปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่ง สันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (ZOPFEN) ที่ประเทศมาเลเซียได้เสนอขึ้น
ระยะที่สอง (ค.ศ.1975-1983) : ในช่วงนี้ภูมิภาคอาเซียนได้เผชิญกับปัญหาลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ซึ่งประเทศต่างๆในอาเซียน ได้กังวลว่าประเทศของตนจะได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีล้มตามกัน (Domino Theory) ทำให้ประเทศอาเซียนได้มีการร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยผู้นำของอาเซียนนั้นได้มีการหารือกันใน ค.ศ.1976 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาสู่การลงนามในเอกสารสองฉบับ คือ ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ซึ่งสองปีต่อมา อาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคง จากกรณีที่เวียดนามได้ยึดครองกัมพูชา ทำให้อาเซียนได้ร่วมมือกัน ทำให้อาเซียนได้ร่วมมือกันในการต่อต้านปัญหาดังกล่าว จนประสบความสำเร็จ เมื่อเวียดนามประกาศถอนทหารจากกัมพูชา ใน ค.ศ.1989 ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้อาเซียนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น
ระยะที่สาม (ค.ศ.1983-1999) : ในระยะนี้ ภูมิภาคอาเซียนได้ตระหนักถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเน้นที่การส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งนำมาสู่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) จากการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งที่สี่ ใน ค.ศ.1992 ในส่วนด้านความมั่นคง ภายหลังจากเวียดนามได้ถอนทหารในกัมพูชา ใน ค.ศ.1989 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ห้าที่จัดขึ้นโดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ได้มีการเชิญเวียดนามเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก จนนำมาสู้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1995 ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้มีการตกลงให้ผู้นำอาเซียนมีการปรึกษาหารือเป็นประจำทุกปี และจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการทุกสามปี นอกจากนี้เหล่าผู้นำอาเซียนยังได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) อันเป็นการสืบต่อเจตนารมณ์ของปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งเสรีภาพ และความเป็นกลาง (ZOPFAN) ด้วย
ระยะที่สี่ (ค.ศ.1997-2007) : ในปี 1997 ภูมิภาคอาเซียนได้ประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ที่เรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และการจัดตั้งกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ในที่สุด ต่อมาในปี ค.ศ.2003 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่เก้า ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เหล่าผู้นำอาเซียนได้มีการลงนามใน Declaration of ASEAN Concord II เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นใน ค.ศ.2020 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็น การเตรียมการรับมือกับภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ท้ายที่สุด ใน ค.ศ.2007 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่สิบสาม ณ ประเทศสิงคโปร์ ก็ได้มีการลงนามในกฎบัตรอาเซียน อันเปรียบเสมือนเป็นธรรมนูญของอาเซียน ที่วางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างขององค์กรอาเซียนไว้ เพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง
บทส่งท้าย
ตั้งแต่การจัดตั้งสมาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASA) ใน ค.ศ.1961 จนพัฒนามาเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ใน ค.ศ. 1967 นับเป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่อาเซียนได้เผชิญกับวิกฤตหรือปัญหาอย่างมากมาย ทั้งจากปัญหาภายในและภายนอกภูมิภาค แต่จากความร่วมมือของประเทศทั้งหลายในอาเซียนก็ทำให้สามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกโดยสันติวิธี การสร้างวัฒนธรรมของภูมิภาคเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้นำองค์กรของรัฐ การจัดการความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัฒน์ อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้อพิพาททางเขตแดนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ที่แม้ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะได้พิจารณาคดีไปก่อนแล้วใน ค.ศ.1962 แต่ปัญหาเรื่องเขตแดนพิพาทนั้นก็ยังไม่จบสิ้น จนให้มีการตีความคำพิพากษาอีกครั้งในปี ค.ศ.2013 ซึ่งมอบให้อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสันติภาพ หรือปัญหาในด้านเศรษฐกิจที่ช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศที่รวยและประเทศที่ยากจนแตกต่างกันอย่างมาก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้อาเซียนนั้นจะมีการพัฒนาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลให้อาเซียนต้องปรับตัวให้ทันอยู่เสมอ ซึ่งการที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคเป็นสำคัญ การพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันในภูมิภาคจะเป็นการพัฒนาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ . บันทึกการเดินทางอาเซียน. กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ., 2552.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.
กระมล ทองธรรมชาติ.เอเชีย ความรู้ทั่วไป. กรุงเทพฯ :ธีรานุสรณ์การพิมพ์.2525.
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล ., 2556.
ธนาคารแห่งประเทศไทย.2557. “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.” http://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/index/Pages/ASEAN_page.aspx (accessed June 12 ,2014).
ประภัสสร์ เทพชาตรี .ประชาคมอาเซียน. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม., 2554.
ไพศาล หรูพานิชกิจ. เอเชียตะวันออก บนเส้นทางสู่การเป็นประชาคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2553.
ภิญญดา ไรนิเกอร์. “การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทในอาเซียน : บทเรียนจากระบบระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอื่นๆ.” วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.
ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน สำนักงานอัยการสูงสุด.2557. “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.” http://www.asean.ago.go.th/index.php/group (accessed June 12 ,2014).
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย. ประชาคมอาเซียนในมุมมองของศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เดือนตุลา., 2555.
สุรินทร์ พิศสุวรรณ. อาเซียน รู้ไว้ ได้เปรียบแน่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง., 2555.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร .การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.,2555.
Donald E. Weatherbee . อาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นท์ติ้ง., 2556.