การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:51, 7 ธันวาคม 2557 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์การเพื่อยกระดับคุณภาพระบบราชการไทยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเทียบเท่าระดับสากล โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการประเมินองค์การด้วยตนเอง ครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ ทั้ง การนำองค์การ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล การจัดการกระบวนการและผลลัพธ์การดำเนินการ[1]

ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

การพัฒนาระบบราชการมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน ดังนั้นระบบราชการจำเป็นต้องมีการปรับปรุงตนเองอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง มีขีดสมรรถนะสูง มีวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบต่อสังคมให้ความสำคัญกับประชาชน ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ข้าราชการพัฒนาตนเอง มีความคิดริเริ่มและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องวางแผนและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยข้อมูลสารสนเทศ และทำงานโดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาและวงจรคุณภาพการบริการภาครัฐ

วัตถุประสงค์ของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ คือ[2]

1.เพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

2.เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของหน่วยสู่ระดับมาตรฐานสากล

3.เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของหน่วยงานภายใน

การนำการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐมาใช้ในประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการไทย (ก.พ.ร.) ได้เริ่มศึกษาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 โดยนำหลักเกณฑ์และแนวคิดตามรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award-MBNQA) และรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand Quality Award - TQA) มาปรับให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบราชการไทย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ และการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

วันที่ 28 มิถุนายน 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ส่วนราชการมีเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นกรอบในการประเมินองค์กรด้วยตนเอง โดยครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล มุ่งเน้นให้หน่วยงานราชการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน คือ[3]

1.การนำองค์การ

เป็นการประเมินการดำเนินการของผู้บริหารในเรื่องวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ค่านิยม ความคาดหวังในผลการดำเนินการ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในส่วนราชการ การกำกับดูแลตนเองที่ดี และดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน   2.การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์

เป็นการประเมินวิธีการกำหนดและถ่ายทอดประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หลัก และแผนปฏิบัติราชการ เพื่อนำไปปฏิบัติและวัดผลความก้าวหน้าของการดำเนินการ

3.การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เป็นการประเมินการกำหนดความต้องการ ความคาดหวัง และความนิยมชมชอบ การสร้างความสัมพันธ์ และการกำหนดปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจ

4.การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

เป็นการประเมินการเลือก รวบรวม วิเคราะห์ จัดการ และปรับปรุงข้อมูลและสารสนเทศ และการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์การ

5.การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล

เป็นการประเมินระบบงาน ระบบการเรียนรู้ การสร้างความผาสุกและแรงจูงใจของบุคลากร เพื่อให้บุคลากรพัฒนาตนเองและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ตามทิศทางองค์การ

6.การจัดการกระบวนการ

เป็นการประเมินการจัดการกระบวนการ การให้บริการ และกระบวนการอื่นที่ช่วยสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระบวนการสนับสนุน เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์การ

7.ผลลัพธ์การดำเนินการ

เป็นการประเมินผลการดำเนินการและแนวโน้มของส่วนราชการในมิติด้านประสิทธิผล มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพ และมิติด้านการพัฒนาองค์การ

เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปโดยมีประสิทธิผล สำนักงาน ก.พ.ร. ได้สร้างผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการจัดการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แก่หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องนี้ในส่วนราชการ ใน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้เข้ารับการรับฟังการชี้แจงจำนวน 3,000 คน จัดอบรมผู้ตรวจประเมินภายในองค์กรเพื่อสร้างบุคลากรในส่วนราชการเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ในหลักการและวิธีการในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการในส่วนราชการตนเอง โดยได้มีการจัดอบรมผู้ตรวจประเมินภายในองค์กร จำนวน 6 รุ่น ใน พ.ศ. 2548 มีผู้เข้าอบรมจำนวน 400 คน จัดอบรมวิทยากรตัวคูณ เพื่อสร้างบุคลากรจากส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับส่วนราชการตนเอง และส่วนราชการอื่นๆ โดยได้จัดอบรมวิทยากรตัวคูณ แก่ข้าราชการจากกรม และจังหวัด รวมทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย รวม 2 รุ่น ใน 2548 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 150 คน การจัดอบรมวิทยากรที่ปรึกษา เพื่อสร้างบุคลากรจากส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามเกณฑ์พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับส่วนราชการตนเอง และส่วนราชการอื่นๆ โดยได้มีการจัดอบรมวิทยากรที่ปรึกษารวม 2 รุ่น ใน พ.ศ. 2549 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 130 คน และจัดอบรมผู้ตรวจประเมินรางวัล เพื่อสร้างผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถในการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจำนวนที่เหมาะสม โดยได้มีการจัดอบรมผู้ตรวจประเมินรางวัล 1 รุ่น ใน พ.ศ. 2549 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 20 คน

พ.ศ.2548 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้สร้างหน่วยงานนำร่องโดยคัดเลือกส่วนราชการนำร่อง 2 ส่วนราชการ ได้แก่ กรมการค้าภายใน และกรมสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมการนำระบบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐไปใช้ ซึ่งส่วนราชการทั้งสองได้ทำการประเมินตนเองตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ พร้อมกับวิเคราะห์โอกาสในการปรับปรุงตนเองเบื้องต้นแล้ว

พ.ศ.2552 ก.พ.ร.ได้พัฒนาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Fundamental Level: FL) ซึ่งเป็นแนวคิด การปรับปรุงทีละขั้น ได้วางแนวทางดำเนินการพัฒนาองค์การ (PMQA Roadmap) ให้ผ่านเกณฑ์ฯ ปีละ 2 หมวด สำหรับกรมและจังหวัด และปีละ 3 หมวด สำหรับสถาบันอุดมศึกษา

เมื่อส่วนราชการดำเนินการพัฒนาองค์การครบทุกหมวดและผ่านการรับรองเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Certify Fundamental; FL) แล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. จะส่งเสริมให้ส่วนราชการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้า (Progressive Level: PL) 2 และเมื่อส่วนราชการสามารถดำเนินการผ่านเกณฑ์ฯ ระดับก้าวหน้า การพัฒนาองค์การจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากลตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐต่อไป

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 มีการดำเนินการมุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงองค์การ โดยการวัดความสำเร็จของการดำเนินการ เพื่อผ่านเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน โดยได้ดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมและการติดตามประเมินผลส่วนราชการทั้งในระดับกรม จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีการดำเนินการ

1) การส่งเสริมสนับสนุนให้ส่วนราชการมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ได้แก่ จัดประชุมชี้แจงตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา การจัดคลินิกให้คำปรึกษารายหน่วยงานการให้คำปรึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ให้แก่ที่ปรึกษาส่วนราชการในการพัฒนาองค์การ และให้ข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางเว็บไซต์เอกสารต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.พ.ร. และตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า 137 กรมจังหวัด 75 จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา 12 แห่ง

2) จัดทำคู่มือและพัฒนาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้า เพื่อให้ส่วนราชการปรับปรุงระบบบริหารจัดการและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกรอบการประเมินที่สามารถบ่งชี้ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและสะท้อนให้เห็นถึงระดับการพัฒนาของส่วนราชการรวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมการตรวจรับรองการผ่านเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน เป็นโปรแกรมที่สามารถใช้ในการสอบทานเพื่อให้มั่นใจว่าส่วนราชการ มีความพร้อมในการบริหารจัดการ ระดับพื้นฐาน ก่อนที่จะก้าวไปสู่ระดับการบริหารจัดการองค์การตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับก้าวหน้าต่อไป

3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบสถาบัน โดยการจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระหว่างสมาชิกเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 2 สถาบัน (มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) เป็นแนวทางการพัฒนาระบบราชการที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลให้การพัฒนาองค์การเป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่อง เน้นให้ความสำคัญกับประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการความคาดหวังการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ มีการวัดทบทวนกำกับติดตามงานอย่างเป็นระบบและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

  1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ.[ออนไลน์]. แหล่งที่มา :http://www.opdc.go.th/special.php?spc_id=4&content_id=153 (16 กันยายน 2557).
  2. กรมธนารักษ์, เกี่ยวกับ PMQA. [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.treasury.go.th/pv_maehongson/download/article/article_20140615123644.pdf , (16 กันยายน 2557).
  3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ.[ออนไลน์]. แหล่งที่มา :http://www.opdc.go.th/special.php?spc_id=4&content_id=153 (16 กันยายน 2557).

บรรณานุกรม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ.[ออนไลน์]. แหล่งที่มา :http://www.opdc.go.th/special.php?spc_id=4&content_id=153 (16 กันยายน 2557).

กรมธนารักษ์, เกี่ยวกับ PMQA. [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.treasury.go.th/pv_maehongson/download/article/article_20140615123644.pdf , (16 กันยายน 2557).