ภูมิภาคนิยม
ผู้เรียบเรียงพัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ความหมายของภูมิภาคนิยม
“ภูมิภาคนิยม”คือ การรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน โดยผ่านการจัดตั้งองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคหรือสถาบันที่สามารถจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยที่แต่ละประเทศสมัครใจ ยินยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งโดยการจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการ หรือเจรจาหารือร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ มีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อสร้างความผูกพันในเชิงพฤติกรรมและนโยบาย ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน และสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้แต่ละประเทศมีหน้าที่ต่อกัน
แนวคิดและทฤษฏี
นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ใช้กรอบแนวคิดและทฤษฏีที่ ต่างกันในการวิเคราะห์และอธิบายความร่วมมือระดับภูมิภาคในอาเซียน ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึง 2 สำนักด้วยกัน ดังนี้
ก. สำนักสัจจนิยม” (Realism) เสนอว่าอาเซียนเกิดขึ้นเเละดำรงอยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจทั้งภายในเเละภายนอก การก่อตั้งอาเซียน ในปี 1967 มีที่มาจากปัญหาที่สืบเนื่องจากการสถาปนาประเทศมาเลเซีย อาเซียนเกิดขึ้นเพื่อลดแรงปะทะระหว่างอินโดนิเซีย ซึ่งมีข้อขัดเเย้งกับสิงคโปร์เเละมาเลเซียในช่วงนั้น และระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซียในการกล่าวอ้างสิทธิเหนือซาบาร์ห อีกทั้งยังเพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจภายนอก เพราะการรวมตัวเป็นสมาคมอาเซียนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ ในช่วงสงครามเย็นเป้าหมายหลักของอาเซียนคือต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ หากต่อมาเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เป้าหมายหลักได้เปลี่ยนเป็นการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์เเห่งชาติของตนเป็นหลัก ซึ่งอธิบายได้ว่า ความร่วมมือของอาเซียนเป็นการจัดการกับรัฐอื่นนอกภูมิภาคนั่นเอง
ข. มุมมองเสรีนิยมใหม่ (The Neo-liberal Perspective )นักวิชาการแนวเสรีนิยมใหม่ พยายามจะอธิบายอาเซียนผ่านการศึกษารวมตัวระหว่างประเทศ ด้วยทฤษฏีหน้าที่นิยม (Functionalist Theory) โดยเสนอว่า ความร่วมมือในอาเซียนพัฒนาไปสู่การสร้างสถาบันจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) ซึ่งอำนาจการตัดสินใจ เป็นไปอย่างกว้างขวางในอาเซียน ระบบระเบียบในภูมิภาคจึงมีเพิ่มขึ้นจากการพึ่งพากัน (Interdependence) ที่ขยายตัวมากขึ้น ผ่านการค้า การลงทุน เเละการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยังมองว่ากระบวนการสร้างสถาบันในหมู่สมาชิกอาเซียนเองต่างหาก ที่ก่อให้เกิดความมั่นคงเเละเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้นมา
ภูมิภาคนิยมและพัฒนาการอาเซียน
อาเซียนเป็นองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) ที่มีลักษณะการรวมกลุ่มระหว่างประเทศในบริบทของสงครามเย็นอันมีลักษณะตามแนวคิดภูมิภาคนิยมเก่า (Old Regionalism) อาเซียนจึงมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นหลัก คือ ต้องการเพิ่มอำนาจการต่อรองเเละป้องกันภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาเเทรกเเซงประเทศภายในภูมิภาค รวมทั้งต่อต้านการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เเละลดเเรงปะทะที่เกิดขึ้นจากความขัดเเย้งในดินเเดนของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อธำรงสันติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่อมา เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ภาวะหลังสงครามเย็นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเเละทำให้มีการจัดระเบียบโลกใหม่ การเปลี่ยนเเปลงของระเบียบโลก มีส่วนผลักดันให้อาเซียนปรับปรุงโครงสร้างองค์การเเละกลไกความร่วมมือ จากลักษณะภูมิภาคนิยมเก่าเป็นภูมิภาคนิยมใหม่ ลักษณะของ “ภูมิภาคนิยมใหม่” คือเป็นการรวมกลุ่มระหว่างประเทศที่ริเริ่มโดยประเทศภายในภูมิภาคนั้นๆ โดยไม่ได้มีการรวมตัวกันตามลัทธิทางการเมืองเเละมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่ม อย่างที่เคยปรากฏในยุคสงครามเย็น นอกจากนี้อาเซียนยังได้พัฒนาความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจ การเมืองเเละสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์กับประเทศเเละองค์การต่างๆภายนอกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เเม้ว่าภายใต้เเนวคิดภูมิภาคนิยมใหม่ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศจะประกอบด้วย ประเทศพัฒนาเเล้วเเละประเทศกำลังพัฒนา เเต่สำหรับอาเซียน ยังคงเป็นกลุ่มความร่วมมือที่รับเฉพาะประเทศที่มีภูมิศาสตร์หรือมีที่ตั้งเดียวกัน เเละไม่นำค่านิยมเเละวิธีปฏิบัติจากภายนอกภูมิภาคมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความร่วมมือภายในกลุ่ม นอกจากประเด็นเรื่องที่ตั้งแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันบนพื้นฐานค่านิยมเเละความเชื่อที่เหมือนกัน โดยเห็นได้จากรูปเเบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมเเละวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกทุกประเทศในอาเซียนนั้น( ยกเว้นประเทศไทย) เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมมาก่อน ดังนั้นเเต่ละประเทศจึงมีความหวงแหนในอำนาจอธิปไตยของตน กล่าวได้ว่าอาเซียนก่อตั้งบนพื้นฐานของการปฏิเสธระบบความเชื่อจาก ภายนอกภูมิภาคร่วมกัน (Concepts of what the region is not ) เเต่ไม่ใช่ก่อตั้งจากการที่ประเทศสมาชิกมีวัฒนธรรมและค่านิยมสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
หลักการพื้นฐานของอาเซียน
สำหรับหลักการซึ่งเป็นพื้นฐาน ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียน ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารสองฉบับ คือ ปฏิญญาว่าด้วยเขตเเห่งสันติภาพ เสรีภาพเเละความเป็นกลาง (The Declaration on the Zone of Peace, Freedom and Neutrality :ZOPFAN) ซึ่งเป็นปฏิญญาที่ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งได้กำหนดให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลอดจากการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค ส่วนสนธิสัญญาไมตรีเเละความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Treaty of Amity and Cooperation: TAC) เป็นสนธิสัญญาที่กำหนดเเนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยหลักการที่สำคัญที่เอกสารทั้งสองรับรองไว้ คือ
1. การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียมกัน บูรณาภาพเเห่งดินเเดน
2. การไม่เเทรกเเซงกิจการภายใน
3. การเเก้ปัญหาโดยสันติวิธี
4. การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง
5.การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งมีมาตรการเกี่ยวกับเเนวทางยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยอาศัยกลไกคณะรัฐมนตรี ( High Council ) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในภูมิภาค
จากหลักการข้างต้น อาเซียนได้พัฒนาธรรมเนียมของตนเองที่เป็นที่รู้จักในนาม “วิถีอาเซียน” (ASEAN Way) อาเซียนได้เลือกใช้หลักฉันทามติเป็นพื้นฐานของกระบวนการตัดสินใจเเละกำหนดนโยบาย หลักฉันทามตินี้ มีพื้นฐานมาจากคติพื้นบ้านของอินโดนิเซียเรื่องการปรึกษาหารือ ( Musyyawarah / Consulation ) เเละการเห็นพ้องต้องกัน ( Mufakat / Consensus) ซึ่งมีลักษณะปฏิเสธการใช้กลไกที่เป็นทางการหรือกระบวนการทางกฎหมายในการตัดสินใจ รวมถึงไม่มีบทลงโทษใดๆ แก่สมาชิกที่ปฏิเสธความร่วมมือ เเนวทางเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้อาเซียนเป็นองค์การระดับภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ท่ามกลางความหลากหลายของภูมิภาค อาเซียนสามารถลดความขัดแย้งและสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันได้ ทั้งยังเป็นผลดีต่อการขยายความร่วมมือของอาเซียนให้ครอบคลุมประเทศทั้งหมดภาย ในภูมิภาคให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว เเม้ว่าเเต่ละประเทศจะมีความเเตกต่างกันในทางมิติทางการเมือง เศรษฐกิจเเละสังคม
อย่างไรก็ดีการที่อาเซียนยึดมั่นหลัก “วิถีอาเซียน” เเละหลัก “ฉันทามติ”เป็นพื้นฐานของกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบายนั้น เป็นผลดีและก่อให้เกิดความสบายใจแก่ประเทศในภูมิภาคเนื่องจากเป็นหลักที่รับรองว่าจะไม่มีประเทศสมาชิกใดก็ตามที่ถูกบังคับให้ต้องดำเนินการหรือไม่ดำเนินการในกิจการใดๆที่ตนไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ประเทศสมาชิกต้องตระหนักถึง “ประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค” เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในเมียนมาร์ มหันตภัยพายุไซโคลนนาร์กีสในเมียนมาร์ ปัญหาข้อพิพาทชายเเดนไทยกับกัมพูชา ปัญหาเหล่านี้อาเซียนไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสาเหตุสำคัญเนื่องจากอาเซียนยึดถือหลักสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก “วิถีอาเซียน” คือ การไม่เเทรกเเซงกิจการภายใน ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพียงเเค่หลักที่อาเซียนยึดถือเป็นหัวใจมาโดยตลอด มิอาจทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่ประสบความสำเร็จได้ ดังนี้ จึงเกิดเเนวคิดที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีฐานทางกฎหมายและปรับปรุงระบบคุณค่าขององค์กรใหม่ ต่อมาอาเซียนจึงจัดทำธรรมนูญขององค์การหรือกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ขึ้นมาเพื่อให้เป็นกรอบกติกาอันจะก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างใกล้ชิดของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเละพัฒนาอาเซียนไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ความมั่งคั่งและสันติภาพ
เอกสารอ้างอิง
กิตติ ประเสริฐสุข.2557. “พิเคราะห์อาเซียน...ผ่านทฤษฏีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.” http://www.aseanwatch.org (acessed,June 27,2014)
ไชยวัฒน์ ค้ำชู เเละ ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. ประชาคมอาเซียนกับการปกครองท้องถิ่น.กรุงเทพมหานคร :สุขุมเเละบุตร .,2555.
ธนวัฒน์ พิมลจินดา.2557.”องค์กรเหนือรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ : จากทฤษฏีสู่กรณีเปรียบเทียบ.”http://www.midnightuniv.org/midnighttext/00870.doc (acessed,June 27,2014)
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฏร สำนักวิชาการ , เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพิธีสาร ฉบับที่ 3 เพื่อเเก้ไขสนธิสัญญาไมตรีเเละความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.กรุงเทพมหานคร :สำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฏร สำนักการพิมพ์.,2552.
อรณิช รุ่งธิปานนท์ . ภูมิภาคนิยมกับอาเซียน. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฏร.,2557.
Acharya,A. , The Evolution of Regional Oraganisation ,Oxford:Oxford University Press.,2000.
Breslin,S. Advancing East Asian Regionlism . London :Routledge.,2007.
Michael Leifer, ASEAN and the Security and of Southeast Asia. London : Routledge., 1989.