ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:41, 3 ธันวาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' พัชร์ นิยมศิลป ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิป...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


ข้อมูลพื้นฐาน และ ความหมาย

ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 เป็นผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนิเซีย โดยผู้นำชาติอาเซียนซึ่งในขณะนั้นมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ร่วมกันลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 ถือเป็นเอกสารอาเซียนฉบับที่สามหลังจากมีการลงนามก่อตั้งอาเซียนในปี ค.ศ. 1967 และการลงนามปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration (ZOPFAN))

ประวัติความเป็นมาความสำคัญต่ออาเซียน กระบวนการจัดทำ

หลังจากที่ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1967 อาเซียนมีเพียงแค่การจัดองค์กรอย่างหลวมๆและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่างๆก็ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากในการจัดทำปฏิญญาอาเซียนนั้น ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำต้นแบบการจัดองค์กรมาจากองค์การอาสา (ASA) ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ประเภท ได้แก่ (1) ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting) (2) คณะกรรมการอาเซียนถาวร (ASEAN Standing Committee) (3) คณะกรรมการเฉพาะกิจ ( Ad Hoc and Fixed Committee) และ (4) สมาชิกเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretary Member) การนี้ได้ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรที่วางไว้ในปี ค.ศ. 1967 ไม่มีเสถียรภาพและไม่มีประสิทธิภาพ จวบจนระยะเวลาผ่านไปกว่า 9 ปี รัฐสมาชิกก็ได้ริเริ่มให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนิเซีย การประชุมครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดองค์กรโดยจัดตั้งคณะกรรมการ 5 ประเภท ได้แก่

1. ที่ประชุมผู้นำประเทศ
2. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
3. ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
4. รัฐมนตรีอาเซียนอื่นๆ
5. สำนักเลขาธิการอาเซียน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาติสมาชิกอาเซียนทำให้ต้องหันหน้าเข้าหากันและสร้างความร่วมมือได้ด้านต่างๆ เกิดขึ้นการการลงนามหยุดยิงระหว่างสหรัฐอเมริกาและเวียดนามเหนือ (Paris Cease-fire Agreement) ในปี ค.ศ. 1973 อันเป็นผลให้สหรัฐอเมริกาลดกำลังพลและถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม จวบจนกรุงไซงอนแตกพ่ายแก่กองทัพเวียดนามเหนือในปี ค.ศ. 1975 สหรัฐอเมริกาได้ลดบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาจากเวียดนาม ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องหันหน้าเข้าหากันและพึ่งพากันมากขึ้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1976 อินโดนิเซียเสนอว่าอาเซียนควรจัดตั้งสภาความมั่นคงร่วมกันและจัดการซ้อมรบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากผู้นำอาเซียนเกรงว่าจะทำให้อัตลักษณ์ของอาเซียนที่เป็นองค์กรความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนเป็นองค์กรด้านความมั่นคงอันจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นอุปสรรคต่อการสานความร่วมมือเพื่อรักษาสันติภาพและสร้างเสถียรภาพผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันว่าอาเซียนจะสานต่อปณิธานตามปฏิญญากรุงเทพ ผู้นำอาเซียนจึงลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ฉบับที่ 1 มีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรัฐสมาชิกได้ประกาศเป้าหมายและหลักการไว้ 8 ข้อ ได้แก่

ข้อ 1 เสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐและความมั่นคงของภูมิภาคมีส่วนสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงและสันติภาพของโลก รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจึงมีมติให้ยุติปัจจัยคุกคามที่เกิดจากการเป็นตัวแทนของมหาอำนาจเพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคและรัฐของตน

ข้อ 2รัฐสมาชิกในฐานะปัจเจกรัฐและในฐานะมวลสมาชิกจะต้องสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถให้เกิดการจัดตั้งเขตภูมิภาคที่มีสันติสุข มีอิสรภาพและมีความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ข้อ 3 รัฐสมาชิกตระหนักอย่างยิ่งว่าจะต้องลดความยากจน ความหิวโหย และความไม่รู้หนังสือ ดังนั้นรัฐสมาชิกจึงต้องร่วมมืออย่างแข็งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมโดยเน้นไปที่การส่งเสริมการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชนในรัฐของตน

ข้อ 4. รัฐสมาชิกจะขยายความร่วมมือในการรับมือและต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่จะฉุดรั้งพัฒนาการของประเทศสมาชิก

ข้อ 5. รัฐสมาชิกจะต้องร่วมมือกันทั้งในโครงการระดับประเทศและโครงการระดับภูมิภาค โดยจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในภูมิภาคให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละรัฐสมาชิก

ข้อ 6. ภายใต้หลักการอันหนึ่งอันเดียวกันรัฐสมาชิกจะต้องยึดมั่นในการยุติข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในภูมิภาคโดยกระบวนการสันติวิธี

ข้อ 7. รัฐสมาชิกจะต้องสร้างปัจจัยให้เกิดความร่วมมือบนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกันและบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

ข้อ 8. รัฐสมาชิกจะต้องร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาอัตลักษณ์ของภูมิภาคและพยายามในทุกวิถีทางที่จะสร้างประชมอาเซียนที่เข้มแข็ง บนพื้นฐานของการก้าวไปด้วยกันและสอดคล้องกับสิทธิที่จะปกครองตนเอง ความเสมอภาคและหลักไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น

เนื้อหาและผลของปฏิญญา

รัฐสมาชิกอาเซียนได้ตกลงที่วางกรอบความร่วมมือโดยแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรมและการสื่อสาร ด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนากลไกอาเซียน 1) ด้านการเมือง รัฐสมาชิกได้วางข้อตกลงไว้ 7 ข้อ ได้แก่

1. จัดให้มีการประชุมระดับผู้นำประเทศตามความจำเป็นและความเหมาะสม
2. จัดให้มีการลงนามในสนธิสัญญา Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia
3. จะยุติข้อพิพาทภายในภูมิภาคโดยสันติวิธีโดยเร็ว
4.ระลึกเสมอถึงการยอมรับและเคารพการเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เป็นอิสระและเป็นกลาง
5. จะพัฒนากลไกอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเมือง
6. ให้มีการศึกษาแนวทางในการร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้การลงนามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาเซียน
7. ส่งเสริมความมั่นคงทางการเมืองโดยการมีทัศนคติและจุดยืนร่วมกัน และหากเป็นไปได้ให้มีแนวปฏิบัติร่วมกัน

2) ด้านเศรษฐกิจ รัฐสมาชิกได้วางข้อตกลงไว้ 5 ด้าน ได้แก่

1.ร่วมมือกันเกี่ยวกับโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน รัฐสมาชิกจะต้องช่วยเหลือกันที่จะรักษาอุปทานของโภคภัณฑ์ในรัฐสมาชิกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหารและพลังงาน นอกจากนั้นรัฐสมาชิกยังต้องเร่งให้เกิดความร่วมมือด้านการผลิตโภคภัณฑ์โดยมี อาหารและพลังงานเป็นเบื้องต้น
2. ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม

รัฐสมาชิกจะต้องร่วมมือกันในการจัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนเพื่อสนองตอบความต้องการโภคภัณฑ์ในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญใน 3ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหรรมเกี่ยวกับการผลิตอาหาร ด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือรักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และด้านการสร้างงาน

3. ความร่วมมือในด้านการค้าสินค้า

รัฐสมาชิกจะต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาโครงสร้างการค้าในแต่ละรัฐสมาชิกให้สามารถเติบโตและเป็นหลักประกันอีกทั้งเพิ่มรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศและรักษาเงินคงคลัง นอกจากนั้นรัฐสมาชิกจะต้องพัฒนาไปสู่การสร้างข้อตกลงทางการค้าพิเศษระหว่างกันโดยอาศัยการเจรจาและตกลงกันโดยฉันทามติในหมู่รัฐสมาชิกการขยายตัวทางการค้าระหว่างรัฐสมาชิกจะต้องได้รับการอุปถัมภ์ผ่านความร่วมมือทางโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารและพลังงานและผ่านความร่วมมือโครงการอุตสากรรมอาเซียน ทั้งนี้รัฐสมาชิกจะต้องเร่งการเปิดประตูสู่ตลาดนอกอาเซียนเพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าสำเร็จรูป รัฐสมาชิกจะต้องหาแนวทางในการลดกำแพงทางการค้าในตลาดนอกอาเซียนและหาแนวทางร่วมกันในการรับมือผลกระทบจากการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ และจากประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือดังกล่าวจะนำสู่ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและกรรมวิธีการผลิตอันจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความหลากหลายมากขึ้น

4. แนวทางร่วมกันแก้ปัญหาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศและปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่นๆ

หลักการความร่วมมือด้านการค้าสินค้าจะสะท้อนจากการปฏิรูประบบการค้าระหว่างประเทศ การปฏิรูประบบแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตภายใต้การนำขององค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐสมาชิกจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่

5. กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

อาเซียนจะจัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจอาเซียนเป็นประจำ หรือตามความเหมาะสม โดยมีจุดประสงค์เพื่อ

ก) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของรัฐสมาชิกในการสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน
ข) ทบทวนและประเมินผลการปฎิบัติตามโครงการและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว
ค) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตลอดจนนโยบายต่างๆ เพื่อเป็นทางไปสู่การประสานการพัฒนาในระดับภูมิภาค
ง) ปฏิบัติการใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐบาลของรัฐสมาชิกตกลง

3) ด้านสังคม

รัฐสมาชิกตกลงที่จะร่วมมือด้านการพัฒนาสังคมโดยเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ที่มีภูมิลำเนาในชนบทผ่านการขยายโอกาสในการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพและได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รัฐสมาชิกจะสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในประชาคม โดยเฉพาะเด็กและสตรีให้ได้รับการพัฒนา นอกจากนั้นยังต้องขยายความร่วมมือทั้งระหว่างกันเองและระหว่างอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ให้ครอบคลุมความท้าทายใหม่ ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวนประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการป้องกันการค้ายาเสพติด

4) ด้านวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร

สำหรับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร รัฐสมาชิกตกลงว่าจะจัดให้มีการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาเซียนและภาษาในอาเซียนโดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา อีกทั้งสนับสนุนให้นักวิชาการ นักเขียน ศิลปินและนักสื่อสารมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมกันในภูมิภาค นอกจากนั้นรัฐสมาชิกยังต้องส่งเสริมอาเซียนศึกษาผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษาระดับประเทศ

5) ด้านความมั่นคง

รัฐสมาชิกตกลงที่จะสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงนอกกรอบอาเซียนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนบนความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการร่วมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐสมาชิก

6) ด้านการพัฒนากลไกอาเซียน

รัฐสมาชิกได้กำหนด 3 แนวทางในการพัฒนากลไกอาเซียน ได้แก่ 1. จัดให้มีการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน 2. ทบทวนโครงสร้างองค์กรอาเซียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และ 3. ศึกษาถึงแนวทางจัดตั้งกรอบธรรมนูญอาเซียน

รัฐสมาชิก

ปฏิญญาฉบับนี้ ผู้นำประเทศทั้ง 5 ประเทศ ได้มีการปรึกษาหารือกันที่เมือง เดนปาซาร์ จังหวัด บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นความร่วมมือกันในเรื่องการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค โดยลงนามในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ดังนี้

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนาย ซูฮาร์โต้ ประธานาธิบดี

สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนายฮุซเซน บิน ดาโต๊ะ อน นายกรัฐมนตรี

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยนาย เฟอร์ดินาน เอดราลิน มาร์กอส ประธานาธิบดี

สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนาย ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรี

ราชอาณาจักรไทย โดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี

เอกสารอ้างอิง

1. Acharya, Amitav. Constructing a Security Community in Southeast Asia. (London: Routledge, 2001) 61.

2. David Irvine, “Making Haste less slowly: ASEAN from 1975,” in Understanding ASEAN, ed. Alison Broinski (London: Macmillan Press Ltd, 1983 ), 60.

3. Declaration of ASEAN Concord 1976, Adopted by the Head of State/Government at the 1st ASEAN Summit in Bali, Indonesia on 24 February1976.

3. Melvin Gurtov, “Southeast Asia after Withdrawal from Vietnam” (1970) accessed February 24, 2014, http://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/papers/2008/P4413.pdf. 3-4.

4. Mohamad Faisol Keling The Development of ASEAN from Historical Approach, Asian Social Science, Vol.7, No.7 July, (2011): 172.

5. Shee Poon Kim, A decade of ASEAN 1967-77, Asian Survey, Vol. XVIII, No.8, August, (1977): 763.