พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 08:24, 17 พฤศจิกายน 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง กัญญาภัค อยู่เมือง และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [รก.๒๕๒๒/๑๒/๑พ/๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒] โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ ฉบับนี้มีดังต่อไปนี้


- บรรดาบทกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน


- เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เกณฑ์การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าการเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเรื่องดังต่อไปนี้


(๑) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่จะพึงมีในการเลือกตั้งครั้งนั้น
(๒) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี
(๓) จำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละเขต
(๔) จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และ
(๕) จำนวนอำเภอและตำบลรวมเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขต


- การกำหนดเขตเลือกตั้งให้ถือตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้


(๑) ให้กำหนดท้องที่ทั้งหมดของอำเภออยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน


(๒) ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตาม (๑) ได้ จะแยกตำบลของอำเภอหนึ่งไปรวมกับอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งที่มีพื้นที่ติดต่อกันก็ได้ แต่ต้องไม่นำพื้นที่เพียงบางส่วนของตำบลหนึ่งไปรวมกับอีกเขตเลือกตั้งหนึ่ง


- ในเขตเลือกตั้งใด ถ้ามีผู้สมัครไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการเลือกตั้งได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำการลงคะแนนเลือกตั้ง


- นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาไม่ว่าโดยวิธีใดอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหรือทำด้วยประการใด อันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การเลือกตั้ง นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง และห้ามมิให้ผู้ใดเล่น หรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อ ว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดแพ้หรือชนะ หรือได้คะแนนเท่าใด และได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด


- ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอพนักงานฝ่ายปกครอง และตำรวจ มีหน้าที่จัดการให้ความสะดวกและรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง


- ห้ามมิให้ผู้ใดสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินหนึ่งเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่พรรคการเมืองใดส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งในเขตใด พรรคการเมืองนั้นต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งให้ครบจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น และจะส่งได้คณะเดียวในเขตเลือกตั้งหนึ่งเขต ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครน้อยกว่าหนึ่งในสี่ ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่จะพึงมีในการเลือกตั้งครั้งนั้น ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศถอนการสมัครรับเลือกตั้งของสมาชิกพรรคการเมืองนั้น และห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง


- เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้นายอำเภอจัดทำประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่สาธารณะที่เห็นได้ง่ายและที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน


- บัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอคัดรายชื่อผู้เลือกตั้งจากทะเบียนบ้าน เว้นแต่ในเขตเทศบาล ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล เมื่อได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่งแล้ว ผู้เลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าตนหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งแห่งหน่วยเลือกตั้งที่ตน หรือผู้นั้นสมควรมีชื่อเป็นผู้เลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น มีสิทธิยื่นคำร้องต่อนายอำเภอก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และเมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีถึงที่สุดแล้วให้ศาลแจ้งไปยังเทศบาลหรือนายอำเภอ ซึ่งผู้นั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านโดยไม่ชักช้า เพื่อบันทึกลงไว้ในทะเบียนบ้าน และให้เทศบาลหรือนายอำเภอประกาศการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามคำสั่งศาลปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลหรือที่ว่าอำเภอ ในกรณีที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งแล้ว ให้นายอำเภอประกาศถอนชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วยและให้นำมาตรา ๒๘ วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม


- เมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใดจนถึงวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใดด้วยวิธีการดังนี้


(๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แก่สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา หรือสถานสงเคราะห์อื่นใด
(๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ
(๔) ทำสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งอื่นใดเพื่อประโยชน์ของบุคคล ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา หรือสถาบันอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ก็ตาม
(๕) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด


- หน่วยเลือกตั้งหนึ่งให้มีที่เลือกตั้งแห่งหนึ่งที่เลือกตั้งนั้นต้องให้เป็นที่ซึ่งประชาชนเข้าออกได้สะดวกเพื่อการลงคะแนนเลือกตั้งและในวันเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนนกำหนดบริเวณโดยรอบที่เลือกตั้ง โดยมีป้ายแสดงเขตบริเวณของที่เลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


- เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ให้นายอำเภอประกาศระบุที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในท้องที่ของตนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ก่อนวันเลือกตั้ง ประกาศของนายอำเภอดังกล่าวให้ปิด ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่สาธารณะที่เห็นได้ง่าย และที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง ในกรณีฉุกเฉินนายอำเภอจะประกาศเปลี่ยนแปลงที่เลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งเมื่อใดก็ได้ ในท้องที่ตำบลใด ถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เลือกตั้ง หรือความปลอดภัยสาธารณะถูกคุกคาม นายอำเภอจะประกาศระบุที่เลือกตั้งนอกเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งนั้น ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เลือกตั้ง หรือกำหนดที่เลือกตั้งนอกเขตหน่วยเลือกตั้ง ให้นายอำเภอรายงานพร้อมส่งสำเนาประกาศไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยไม่ชักช้า


- ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน ให้ผู้เลือกตั้งที่จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้ตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเมื่อกรรมการตรวจคะแนนตรวจสอบถูกต้องแล้วให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้น ดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครหรือผู้แทนพรรคการเมืองผู้ใดทักท้วงให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง โดยให้จดหมายเลขของบัตรประจำตัวประชาชน และสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชน แต่ในกรณีผู้เลือกตั้งใช้ใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรใหม่ ให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วแต่กรณี ลงในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเป็นหลักฐานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแล้วให้กรรมการตรวจคะแนนมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นไปลงคะแนน


- เมื่อปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจคะแนนนับคะแนนโดยเปิดเผยจนเสร็จในรวดเดียว ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน เมื่อการนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจคะแนนประกาศผลของการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งนั้น และรีบทำรายงานแสดงผลของการนับคะแนนและปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อส่งไปยังนายอำเภอโดยเร็ว


- แบบประกาศผลของการนับคะแนน รายงานแสดงผลของการนับคะแนน วิธีนับคะแนน วิธีประกาศผลของการนับคะแนน และวิธีเก็บบัตรเลือกตั้งบรรจุหีบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


- เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว นายอำเภอจะทำลายบัตรเลือกตั้งและเอกสารที่เก็บอยู่ในหีบบัตรเลือกตั้งนั้นได้ เมื่อพ้นระยะเวลาคัดค้านการเลือกตั้งตามมาตรา ๗๘ แล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ให้นายอำเภอเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยนายอำเภอส่งรายงานการเลือกตั้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยด่วนและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรวมยอดคะแนนการเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้รายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้งต่อไปยังรัฐสภา


- ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน ผู้สมัครของพรรคการเมืองใดได้คะแนนมากที่สุด ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่คะแนนมากที่สุดเท่ากัน ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนเท่ากัน จับสลากกันว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง


- เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศผลการเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งใด ผู้เลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือเห็นว่าการที่บุคคลใดได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๒ ผู้เลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดที่เขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ หรือต่อศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานครภายในสามสิบวัน เว้นแต่เฉพาะกรณีร้องคัดค้านตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่


- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องมาจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


ดูเพิ่มเติม