ลานพระบรมรูปทรงม้า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ลานพระบรมรูปทรงม้านี้ก็คือลานพระราชวังดุสิต เป็นลานกว้างอยู่ปลายถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนศรีอยุธยา ทางด้านเหนือของลานเป็นที่ตั้งพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ได้ชื่อว่าลานพระบรมรูปทรงม้า ก็เพราะในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการเชิญพระบรมรูปทรงม้า หรือพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนแท่นอยู่บริเวณกลางลานพระราชวังดุสิตนั่นเอง

ในตอนเช้ามืดเวลาประมาณ 06.05 นาฬิกา วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กองกำลังทหารของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เคลื่อนเข้ามารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแห่งนี้ และได้เล่าสืบต่อกันมาว่า นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ยืนขึ้น ประกาศแถลงการณ์การยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยยืนอยู่ทางด้านซ้ายของพระบรมรูปทรงม้าหันหลังให้ทางด้านของอนุสาวรีย์และหันหน้าไปทางเหล่าทหารที่ระดมมายืนอยู่ปะปนกัน นั่นคือหันหน้าไปทางสนามเสือป่า จุดที่เชื่อกันว่าพระยาพหลพลพยุหเสนายืนอ่านแถลงการณ์ประวัติศาสตร์นั้น บัดนี้ได้มีหมุดเปลี่ยนแปลงการปกครองขนาดใหญ่ฝังอยู่ (ดูภาพประกอบ)

ก่อนเวลาหกโมงเช้าสักเล็กน้อยของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้มีทหารบกและนักเรียนนายร้อยมาฝึกทหารกันอยู่ ทหารบกนั้นเป็นทหารจากกองพันทหารบก ส่วนนักเรียนนายร้อยมีผู้บังคับการโรงเรียนคือนายพันโทพระเหี้ยมใจหาญ เป็นผู้ควบคุมมาด้วยตัวเอง

ต่อมาในเวลาประมาณ 6 นาฬิกา ก็มีทหารเรือที่มีจำนวนพลทหารประมาณ 100 นาย นำโดย นายเรือเอกหลวงสินธุ์สงครามชัยมาถึงที่ลานพระบรมรูปทรงม้าทางปลายถนนราชดำเนิน ดังนั้นในเวลาประมาณหกโมงเช้าที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจึงมีทหารมาชุมนุมกันมากผิดปกติ

อีกห้านาทีต่อมาในเวลา 06.05 น. รถยนต์บรรทุกทหารเต็มคันรถ อีกหลายคันที่วิ่งกันมาเป็นขบวนก็โผล่เข้ามาให้เห็นพร้อมกับความสว่างของวัน ทันทีที่หลวงสินธุ์สงครามชัยเห็น “ต้นขบวนรถยนต์โผล่ เขาก็โล่งใจสั่งทหารขยายแถวปิดถนนราชดำเนินซึ่งพุ่งตรงมาถนนหน้าพระลาน”

ขบวนรถยนต์บรรทุกทหารที่เข้ามาที่ลานพระบรมรูปทรงม้าขบวนนี้นำโดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองฝ่ายทหารทั้งสี่คนที่มีการให้สมญากันภายหลังว่า “สี่ทหารเสือ” มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และนายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ

พระยาทรงสุรเดชบรรยายถึงภาพที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าวันนั้น เมื่อขบวนทหารที่ท่านและคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปรากฏตัวขึ้น

“ณ ที่นั้นมีกองพันทหารบกซึ่งได้นัดหมายไว้เมื่อวันที่แล้ว กำลังฝึกอยู่นักเรียนนายร้อยทั้งหมดในความควบคุมของผู้บังคับการโรงเรียนและครูวิชาทหารของผู้อำนวยการฝ่ายทหารก็พร้อมอยู่ที่นั่น

ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้ต้อนทหารทั้งหมดเข้าประตูรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันต์ฯ ภายหลังที่พระยาพหลฯ ได้อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้ถูกตะโกนแต่งตั้งขณะนั้นเป็นต้นไป”

คำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรกที่นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนอ่านต่อหน้าแถวทหาร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีดังนี้ [เนื้อความของประกาศฉบับนี้ทั้งหมดได้มาจากหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ที่พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2533] “ราษฎรทั้งหลายเมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นตามยถากรรมดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้เพิ่มขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎร ตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้างข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีละหลายล้านบาท ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ๆ ถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอร์มัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังค์ลงเสียแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกลับกล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้น ไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิบ และกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาดนักเรียนเรียนเสร็จแล้ว และทหารปลดกองหนุนแล้ว ก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้ว ก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดทำบ้านเมือง ให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่จะสนองคุณราษฎร ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างไรไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อย ๆ ไป เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ ค่อยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรมปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเมืองที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎร์ขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎร์เห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภาจะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎร์ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎร์ได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดกาลเวลา ตามวิธีนี้คณะราษฎร์พึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่มีอุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้าได้รวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎร์จะพึงกระทำก็คือจะต้องจัดวางโครงการ อาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว หลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎร์วางไว้มีอยู่ว่า 1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาลในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยที่รัฐบาลใหม่จะหางานให้ ราษฎรทุกๆคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) 5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น 6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎร์ ให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จคณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากกษัตริย์เหนือกฎหมาย พึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากินอย่าได้ทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร์ การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎร์นี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาส ของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า “ศรีอารย”” นั้น ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า” (คณะราษฎรที่พิมพ์นี้ต้นฉบับที่ได้มามีการันต์ที่ ร จึงคงไว้ตามต้นฉบับ) มีคนในยุคหลังบางรายมีความสงสัยว่าคำกล่าวประกาศการยึดอำนาจที่พระยาพหลฯ เอาออกมาอ่านตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กับแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรกที่ได้พิมพ์ออกแจกจ่ายในตอนสายวันเดียวกันนั้นเป็นเอกสารฉบับเดียวกันหรือไม่ เพราะแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับที่พิมพ์แจกจ่ายแก่ราษฎรนั้นพระยาพหลฯ ไม่ได้เป็นคนเขียน มีบุคคลอื่นเป็นคนเขียน หากข้อความที่พระยาพหลฯ อ่านเหมือนกัน ก็แสดงว่าเอกสารแถลงการณ์ที่พิมพ์เตรียมไว้แจกจ่ายนั้นพิมพ์เสร็จเรียบร้อยและมารอพร้อมแล้วที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนที่พระยาพหลฯ และขบวนทหารจะเข้ามาจึงมีผู้เตรียมการนำมาให้พระยาพหลฯ ใช้อ่านได้ทันกาล หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยได้เล่าถึงเหตุการณ์ในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลาก็น่าจะประมาณแปดโมงเช้า ที่ท่านได้เห็นแถลงการณ์ฉบับนี้ “สักครู่ชายพิสิษฐ์น้องชายข้าพเจ้าที่กำลังเป็นทหารประจำการอยู่ วิ่งถือประกาศที่พวกทหารทิ้งแจ้งความตามถนนมาถวายเสด็จพ่อ” ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่า “เมื่อนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านแถลงการณ์จบลงทหารทุกเหล่า ตลอดจนประชาชนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็เปล่งเสียงไชโยโห่ร้องให้การสนับสนุนคณะราษฎร” ส่วนพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทหารของคณะผู้ก่อการฯ ได้บันทึกเล่าถึงบรรยากาศในตอนนั้นเอาไว้เองว่า “ภายหลังปรากฏว่านายทหารที่ได้ฟังการอ่านคำประกาศของพระยาพหลฯ ส่วนมากยังไม่รู้เรื่องอะไร เมื่อสั่งให้เข้าไปในรั้วพระที่นั่ง ก็เข้าไปอย่างนั้นเอง เมื่อทหารเข้าไปในรั้วแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ได้สั่งให้เข้าแถวคละกันหมดทุกแห่ง เตรียมพร้อมสำหรับที่จะสั่งใช้ได้ต่อไป การที่ให้เข้าแถวคละกันเช่นนี้ ย่อมเป็นการป้องกันมิให้ ผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งสั่งการแก่ทหารของตัวได้สะดวกเพราะทหารของตัวมิได้รวมกันอยู่ กระจายแซกอยู่ทั่วไปห่างไกลกัน” ทั้งนี้ คณะผู้ก่อการก็ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการของคณะผู้ก่อการฯ