การไกล่เกลี่ยคนกลางและการแก้ไขความขัดแย้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:23, 21 พฤษภาคม 2557 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ชลัท ประเทืองรัตนา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ


บทนำ

บทความเรื่องการไกล่เกลี่ยคนกลางและการแก้ไขความขัดแย้ง มุ่งเน้นอธิบายความหมายของการไกล่เกลี่ยคนกลาง ทำให้ทราบนิยามร่วมกันของการไกล่เกลี่ยคนกลางว่าคืออะไร นอกจากนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เรามีวิธีแก้ไขความขัดแย้งได้หลายวิธีการ การไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation) เป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่นำมาสู่ความพึงพอใจร่วมกันของคู่กรณีได้หรือไม่ อย่างไร สำหรับแนวทางในการศึกษาการไกล่เกลี่ยคนกลางนั้น สามารถศึกษาทางทฤษฎีหลายวิธีการทั้งการศึกษาทฤษฎีเป็นการทั่วไปกับการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี แล้วความแตกต่างกันในแนวทางดังกล่าวคืออะไร อนึ่งการศึกษาแรงจูงใจของคนกลางและคู่กรณีในการไกลเกลี่ยมีความสำคัญและจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ บทบาทของคนกลางในการจัดการความขัดแย้งควรเป็นอย่างไร ยุทธวิธีที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้ง ประกอบด้วยวิธีการใดบ้าง การจะเลือกใช้ยุทธวิธีแบบใดต้องพิจารณาและวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการไกล่เกลี่ยก็ตาม เราจะไม่สามารถมองข้ามการนิยามความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยคนกลาง ซึ่งแม้ว่าจะมีการให้คุณค่าที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยก็จะมีลักษณะร่วมกันถึงความสำเร็จดังกล่าว บทความนี้ จะได้นำเสนอรายละเอียดตามหัวข้อที่ได้กล่าวมา

ความหมายของการไกล่เกลี่ยคนกลาง

Jacob Bercovitch ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัย Canterbury in Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เขียนบทความเรื่อง Mediation and Conflict Resolution ในหนังสือเรื่อง The SAGE Handbok of Conflict Resolution ซึ่ง Bercovitch ได้เป็นบรรณาธิการในหนังสือดังกล่าวด้วย ในบทความเรื่องการไกลเกลี่ยและการแก้ไขความขัดแย้ง ได้อธิบายถึงข้อจำกัดของการศึกษาการไกล่เกลี่ยคนกลางว่าขาดข้อมูลและการศึกษาที่เพียงพอ นอกจากนี้ ทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือระหว่างประเทศ เห็นว่าการไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นศิลปะเฉพาะแห่ง ไม่น่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นการวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ หรือพัฒนาขึ้นมาเป็นการทั่วไปได้ ตัวอย่างที่จะอธิบายได้ชัดเจนขึ้นคือนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันสองคนคือ Arthur Meyer (1960) เห็นว่าบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ย เปรียบได้กับการล่องเรือในทะเลที่ไม่สงบ ไม่มีการเดินเรือที่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่สามารถใช้ประสบการณ์จากคนอื่นได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในขณะที่ William Simkin (1971) ก็เห็นเช่นเดียวกันว่าไม่มีประโยชน์ที่การไกล่เกลี่ยคนกลางจะต้องไปพิจารณาถึงการพัฒนามาเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้เป็นการทั่วไป (Bercovitch, 2009)

การไกล่เกลี่ยคนกลางมาจากลาตินว่า แบ่งครึ่ง (Halve) แต่นิยามและการอธิบายการไกล่เกลี่ยก็มีความแตกต่างกันไปคือ 1) ยึดสิ่งที่ผู้ไกล่เกลี่ยทำหรือหวังว่าจะบรรลุผล 2) ความแตกต่างระหว่างการไกล่เกลี่ยคนกลางและการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม เช่น อนุญาโตตุลาการ 3) การอธิบายคุณลักษณะของนักไกล่เกลี่ย (Attributes) มีรายละเอียดคือ (Bercovitch, 2009)

1) อะไรที่นักไกล่เกลี่ยหวังว่าจะได้รับ และพวกเขาทำอย่างไรในการบรรลุเป้าหมาย (What Mediator Hope to Achieve and How They May Go About Achieving It)

Oran Young (1967) อธิบายว่าการไกล่เกลี่ย เป็นการกระทำโดยผู้ที่ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง เพื่อลดปัญหาด้านความสัมพันธ์ Chris Mitchell (1981)ให้คำจำกัดความว่าการไกล่เกลี่ยเป็นการใช้คนกลางโดยมุ่งหวังให้ได้ข้อยุติร่วมกันระหว่างคู่กรณี หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นการยุติพฤติกรรมความขัดแย้งระหว่างกัน ในขณะที่ Blake and Mouton (1985) นิยามว่า เป็นกระบวนการการแทรกแซงโดยบุคคลที่สาม โดยเข้าไปค้นหาและนิยามปัญหา และใช้วิธีการแยกการพูดคุยเพื่อหาข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การยอมรับร่วมกัน

2) การไม่เน้นผลลัพธ์ที่ได้และเน้นที่การดำเนินการแทรกแซง (Less Outcome-Oriented and Focus On the Act of the Intervention Itself)

Douglas (1957) เห็นว่าเป็นรูปแบบของการทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพ (Peacemaking) ซึ่งบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการเอง หรือการการเชิญชวนจากคู่กรณี เพื่อมาช่วยทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน Moore (1986) เห็นว่าเป็นกระบวนการที่บุคคลที่สามไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ช่วยให้คู่กรณีนำมาสู่ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน Singer (1990) ก็เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือจากบุคคลที่สามซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

3) การนิยามที่เน้นความเป็นกลางและไม่ลำเอียง (Focus on Neutrality and Impartiality)

Bingham (1985) เห็นว่าเป็นกระบวนการที่เข้ามาช่วยจากฝ่ายที่สามที่มีความเป็นกลาง ขณะที่ Folberg และ Taylor (1984) เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ผู้เกี่ยวข้องโดยการช่วยเหลือจากบุคคลที่เป็นกลาง แยกประเด็นความขัดแย้งเพื่อสร้างทางเลือก พิจารณาทางเลือกร่วมกัน และนำมาสู่ข้อตกลงที่สนองความต้องการของฝ่ายต่างๆ

นอกจากที่ Bercovitch ได้ประมวลความหมายของการไกล่เกลี่ยคนกลางไว้ ดร.เบอร์นาร์ด เมเยอร์ (2553) แห่ง CDR Associates องค์กรด้านการจัดการความขัดแย้งในสหรัฐอเมริกา เห็นว่าการไกล่เกลี่ยคนกลาง ก็คือการจัดการความขัดแย้ง เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยมีบุคคลที่สามให้ความช่วยเหลือคู่กรณีจัดการกับความขัดแย้ง ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจหรือกำหนดวิธีแก้ปัญหา เป็นทั้งวิถีชีวิตและใช้ได้ในการทำงานกับวงการอาชีพต่างๆ สอดคล้องกับที่ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (2550) เห็นว่าการไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นการที่คู่กรณี พยายามที่จะแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างกันโดยความช่วยเหลือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สามที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย สรุปได้ว่าการไกลเกลี่ยเป็นกระบวนการจัดการความขัดแย้ง ที่ไม่ใช่การเจรจากันเองโดยตรง แต่ใช้คนกลางเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งได้รับการยอมรับจากคู่กรณี ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีอำนาจตัดสินใจ โดยคนกลางเข้าไปแทรกแซง เปลี่ยนมุมมอง พฤติกรรมด้วยการพูดคุยที่ไม่ใช้การบังคับทางกายภาพหรือไม่ได้บังคับใช้ทางกฎหมาย

การแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีและการไกล่เกลี่ยคนกลาง

ความขัดแย้งเป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ก็ควรจัดการความขัดแย้งให้เป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราสามารถจัดการได้ทั้งการใช้ความรุนแรง และในทิศทางที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violent) วิธีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีในความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีหลายวิธีการ ดังที่ปรากฏในมาตรา 33 ของกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter) ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา (Negotiation) การไต่สวน (Inquiry) การไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation) การแยกเจรจา (Conciliation) การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) รวมถึง การใช้ตัวแทนประจำภูมิภาค (Resort to Regional Agencies) หรือวิธีการสันติวิธีอื่นๆ (Bercovitch, 2009)

ในกฎบัตรสหประชาชาติกล่าวถึงการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศไว้ 3 วิธีการ (Bercovitch, 2009)

1.การเจรจาโดยตรงระหว่างคู่กรณี

2.การไกล่เกลี่ยคนกลางด้วยวิธีการต่างๆทั้งการอำนวยความสะดวกด้วยจัดเตรียมสถานที่และการแยกเจรจา

3.ข้อผูกพัน (Binding) ตามกฎหมาย จากฝ่ายที่สาม เช่น การอนุญาโตตุลาการและการวินิจฉัยชี้ขาดโดยศาล (Adjudication) เป็นต้น

แต่ละวิธีการมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป และเหมาะกับความขัดแย้งที่แตกต่างกันไป ซึ่งในบทความนี้จะเน้นที่การแก้ไขความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ยคนกลาง เพื่อทำความเข้าใจถึงการไกล่เกลี่ยคนกลาง การทำงานของการไกล่เกลี่ยคนกลาง (How It Work) ใครสามารถใช้การไกล่เกลี่ยคนกลาง ปัญหาที่ผู้ไกล่เกลี่ยประสบ และประเมินว่าการไกล่เกลี่ยคนกลางสามารถป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างไร นอกจากการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กล่าวมา วันชัย วัฒนศัพท์ (2550) เห็นว่าการแก้ไขความขัดแย้งทั่วไปสามารถกระทำได้ในรูปแบบต่างๆ โดยผลที่ทำให้คู่กรณีหรือฝ่ายต่างๆ รู้สึกว่าชนะทั้งคู่ (Win-Win) คือการไกล่เกลี่ยคนกลางและการเจรจา ซึ่งประกอบไปด้วย

1.หลีกหนีปัญหา (Avoidance )เป็นการไม่หยิบปัญหามาพูดกัน บางครั้งไปนินทาลับหลัง

2.การใช้คนกลางในการไกล่เกลี่ย มีความแตกต่างกันระหว่างสังคมตะวันตกกับตะวันออก

3.การเจรจาไกล่เกลี่ยกันเอง ซึ่งคู่กรณีใช้วิธีการพูดคุยกันเองโดยตรง

4.อนุญาโตตุลาการ เป็นกระบวนการใช้คนกลางมาทำหน้าที่ตัดสิน

5.การฟ้องร้องกัน (Litigation) โดยมีผู้พิพากษามาตัดสินในข้อพิพาท

6.การใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง (Legislation) ผ่านการออกกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร

7.การใช้การชุมนุมประท้วงอย่างสันติ (Civil Disobedience) เป็นการเรียกร้องให้ได้สิ่งที่ต้องการอย่างสงบ

8.การใช้ความรุนแรง (Violence) โดยเชื่อว่าความรุนแรงสามารถยุติปัญหาได้ แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการจัดการอย่างแท้จริง ปัญหายังคงดำรงอยู่

ลักษณะสำคัญของการไกล่เกลี่ยคนกลาง เป็นการแทรกแซงของบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะมีคู่ขัดแย้งเพียงสองหรือมากกว่านั้น รวมถึงไม่ใช้การบังคับ ใช้แนวทางสันติวิธี และไม่ผูกพันทางกฎหมายให้ต้องปฏิบัติตาม (Non-Binding) โดยนักไกล่เกลี่ยเข้าไปในความขัดแย้ง เพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือมีอิทธิพลต่อความขัดแย้ง นอกจากนั้น การไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นความสมัครใจ คู่กรณีเป็นผู้ควบคุมผลลัพธ์ และเลือกเองว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธการไกล่เกลี่ยคนกลาง (Bercovitch, 2009) สรุปได้ว่าการไกล่เกลี่ยคนกลาง เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี สามารถใช้ได้ทั้งในระดับปัจเจก ระดับรัฐ ระหว่างประเทศ เมื่อการไกล่เกลี่ยคนกลางประสบความสำเร็จ จะทำให้คู่กรณีลดความขัดแย้งลง เป็นเครื่องมือในการยุติความเป็นปฏิปักษ์ นำมาสู่ข้อตกลง หรือการยุติความขัดแย้ง

แนวทางในการศึกษาการไกล่เกลี่ยคนกลาง (Approaches in The Study of Mediation)

การศึกษาแนวทางการไกล่เกลี่ยคนกลางระหว่างประเทศ (International Mediation) จำแนกได้เป็น การศึกษาทฤษฎีทั่วไป (General Theory) ทฤษฎีจากบริบท (Context –Specific Theory ) และการขยายทฤษฎีจากบริบท (Extend Context Theory) (Bercovitch, 2009)

1.ศึกษาเพื่อการเสนอแนะสิ่งที่จะนำไปสู่การจัดการความขัดแย้งที่ดี ดังตัวอย่างที่ โรเจอร์ ฟิชเชอร์และวิลเลียม ยูริ ผู้ปฎิบัติงานในโปรแกรมการเจรจา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนอแนะไว้ มีหนังสือและคู่มือแนะนำว่าผู้ไกล่เกลี่ยและนักเจรจาควรจะทำอย่างไร อะไรบ้างที่จะนำไปสู่การเจรจาและการไกล่เกลี่ยที่ดี และความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร

2. เป็นการศึกษาบริบทการจัดการความขัดแย้งที่มีความแตกต่างกัน การศึกษาดังกล่าว มาจากทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติ เป็นการศึกษาเพื่อทดสอบทฤษฎีและพัฒนาทฤษฎีเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ทฤษฎีจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากการทดลอง จากเทคนิคการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในแต่ละบริบทสังคมที่แตกต่างกัน และนำทฤษฎีดังกล่าวที่ได้ไปใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งได้แทบทุกเรื่อง ผู้ที่ศึกษาแนวทางนี้คือ Burton, Dobb, Fisher, Kelman, และ Walton

3.เป็นการศึกษาที่มาจากกรณีการไกล่เกลี่ยต่างๆ เน้นว่าแต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม ผู้ไกล่เกลี่ยที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ลักษณะของความขัดแย้งที่ไม่เหมือนกัน การศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาทฤษฎี และเสนอแนะแนวทางด้วยการ ก)ศึกษารายละเอียดการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศแต่ละกรณี ข) ทดลองในการไกล่เกลี่ยเพื่อค้นหาว่านักไกล่เกลี่ยทำอย่างไรในการควบคุมสถานการณ์ ค) ใช้กรอบความคิดที่ไม่แน่นอน (Contingency Framework) ขึ้นอยู่กับแต่ละบริบท แนวทางนี้เน้นการศึกษากรณีการไกลเกลี่ยระหว่างประเทศจำนวนมาก เพื่อกำหนดและทดสอบว่าการไกล่เกลี่ยที่มีประสิทธิภาพ และประเมินว่าภายใต้เงื่อนไขใด ทำให้การไกล่เกลี่ยทำงานได้ดี ดังเช่น งานของ Bercovitch , Rubin, Touval และZartman ซึ่ง Bercovitch เห็นว่าแนวทางนี้ นำมาสู่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและใช้ในการไกล่เกลี่ยได้ดีกว่าอีกสองแนวทาง

เหตุผลและแรงจูงใจของการไกล่เกลี่ยคนกลาง

เหตุผลและแรงจูงใจในการไกล่เกลี่ยคนกลางระหว่างคนกลางและคู่กรณี มีความแตกต่างกันไป ทั้งประเด็นการใช้ระยะเวลาในการไกล่เกลี่ยคนกลาง ความเสี่ยงในผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การไกล่เกลี่ยคนกลางมีความเหมาะสมหรือถูกพิจารณานำมาใช้ได้มากกว่าวิธีการอื่นเมื่อ ก) ความขัดแย้งยาวนาน หรือซับซ้อน ข) คู่กรณีมาถึงทางตัน ค) คู่กรณีไม่สนับสนุนจากต้นทุนที่เกิดขึ้นและการสูญเสียชีวิต ง) คู่กรณีเตรียมตัวจะร่วมมือกัน ยุติสถานการณ์ที่ยุ่งยาก (Bercovitch, 2009)

แรงจูงใจของคนกลาง

คนกลางแต่ละคนมีแรงจูงใจที่แตกต่างกันออกไป แรงจูงใจในการไกล่เกลี่ยที่ไม่เป็นทางการในระดับปัจเจกบุคคล (Unofficial Individual) อาจประกอบไปด้วยความต้องการ ก) ใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งที่ขยายตัวหรือยาวนาน ข) เข้าถึงผู้นำหรือเปิดช่องทางในการสื่อสาร ค) นำความคิดสู่การปฏิบัติในการจัดการความขัดแย้ง ง) เผยแพร่ความคิดของตนเอง เพื่อแสดงสถานะความเป็นมืออาชีพ สำหรับแรงจูงใจในการไกล่เกลี่ยที่เป็นทางการ (Official Representative of a government or an organization) ระดับรัฐบาลหรือองค์กร ประกอบด้วย ก) ภาระหน้าที่ที่ชัดเจนในการแทรกแซงความขัดแย้ง เช่น African Union เป็นต้น ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในภูมิภาค ข) ต้องการทำบางสิ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องต่อไปอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเมือง ค) อาจได้รับการร้องขอจากคู่กรณีหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ง) เพื่อไม่ทำให้โครงสร้างถูกกระทบกระเทือน เพราะอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกาเข้ามาไกลเกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกรีซและตุรกี ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกของ NATO จ) การใช้การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีในการขยายอิทธิพล เพื่อให้คู่กรณีเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งกล่าวคือจะขาดเขาไม่ได้ เช่น กรณีอาหรับกับอิสราเอล มีการไกล่เกลี่ยโดยสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่านักไกล่เกลี่ยเป็นตัวแสดงทางการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องในการไกล่เกลี่ยคนกลางและใช้ทรัพยากร เนื่องจากคาดหวังว่าจะแก้ไขความขัดแย้ง และได้รับบางสิ่งจากการกระทำดังกล่าว

แรงจูงใจของคู่กรณี คู่กรณีมีแรงจูงใจในการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย คือ ก) การไกล่เกลี่ยอาจจะช่วยพวกเขาให้ลดความเสี่ยงในการขยายตัวของความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน ข) แต่ละฝ่ายหวังว่าคนกลางจะช่วยให้ตนมีอิทธิพลเหนืออีกฝ่าย ค) การไกล่เกลี่ยจะเป็นการสื่อสารต่อสาธารณะว่าพวกเขาจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติ ง) ต้องการให้คนนอกเข้ามาช่วยประณามว่าความพยายามการสร้างสันติภาพล้มเหลว จ) ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถเข้าไปตรวจสอบ และให้หลักประกันว่าจะนำมาสู่ข้อตกลง อย่างไรก็ตาม เมเยอร์ (2553) เน้นแรงจูงใจของคู่กรณีในประเด็นคู่กรณีต้องการให้นักไกล่เกลี่ยช่วยให้ตนเองบรรลุความต้องการ โดยเป็นจุดเน้นมากที่สุดเพื่อช่วยเหลือตนเอง คู่กรณีต้องการให้นักไกล่เกลี่ยหาวิธีการสร้างความกดดันให้อีกฝ่ายเพื่อให้ประนีประนอมและทำข้อตกลง ไม่ว่าเราจะศึกษาการไกล่เกลี่ยภายในหรือระหว่างประเทศ เราควรเข้าใจว่าการไกล่เกลี่ยไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงมนุษยธรรมเท่านั้น หรือผู้ไกล่เกลี่ยอาจไม่ได้ยึดแต่ประโยชน์ของคู่กรณีเป็นที่ตั้งเท่านั้น แต่อาจมีผลประโยชน์ของผู้ไกล่เกลี่ยร่วมอยู่ด้วยก็เป็นได้

บทบาทหน้าที่ของคนกลาง

ดังที่เราได้ทราบแล้วว่าการไกล่เกลี่ยคนกลางจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่คู่กรณีไม่สามารถพูดคุยกันได้เอง จึงมีความจำเป็นต้องใช้บุคคลที่สามเข้ามาช่วยกำกับกระบวนการ คนกลางจะมีหน้าที่ช่วยให้คู่กรณีหรือคู่เจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย อันจะนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้งระหว่างกัน โดยพยายามไม่ให้กระบวนการเปลี่ยนไปในทางที่จะเอาชนะกันจนเกิดว่าฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ โดยสรุปคนกลางจึงมีบทบาท (วันชัย วัฒนศัพท์, 2550) 1. ทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการให้ดำเนินไปโดยส่งเสริมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ของคู่เจรจา 2. มีความรู้สึกร่วมกับคู่เจรจาทั้งหลาย 3. ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง 4. แสดงให้เห็นแง่มุมทั้งบวกและลบของแต่ละฝ่าย 5. ช่วยให้คู่เจรจาเข้าใจธรรมชาติของข้อพิพาทและเหตุผลที่ซ่อนอยู่ 6. ส่งเสริมให้คู่เจรจาพิจารณาทางเลือก 7. ถามวิถีทางเลือกอื่นที่คิดว่าดีที่สุดที่จะทำหากไม่มาเจรจาหาข้อตกลง (BATNA: Best Alternative To a Negotiated Agreement หรือ ทดตก : ทางเลือกอื่นที่ดีที่สุดแทนการหาข้อตกลงจากการเจรจาไกล่เกลี่ย) 8. ช่วยให้คู่เจรจาหาทางออกที่ตอบสนองความต้องการทุกฝ่าย 9. ช่วยคู่เจรจาร่างข้อตกลงที่เป็นไปได้จากทางออกต่าง ๆ 10. ปกป้องความน่าเชื่อถือของกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย

ยุทธวิธีของการไกล่เกลี่ย (Mediation Strategies)

อะไรบ้างที่ผู้ไกล่เกลี่ยทำเมื่อไกล่เกลี่ย ยุทธวิธีของการไกล่เกลี่ยที่ใช้ในการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศประกอบด้วย 3 วิธีคือ (Bercovitch, 2009)

1.ยุทธิวิธีการสื่อสารและอำนวยความสะดวก (Communication – Facilitation Strategies) เป็นพฤติกรรมในระดับต่ำที่สุดของการแทรกแซง ผู้ไกล่เกลี่ยใช้บทบาทแบบตั้งรับ (Passive) ด้วยการให้ข้อมูลแก่คู่กรณี เน้นการสร้างความร่วมมือ (Facilitating Cooperation) มีการเข้าไปควบคุมการไกล่เกลี่ยคนกลางน้อยมาก เช่น กรณีบทบาทการไกลเกลี่ยของนอร์เวย์ ในข้อตกลง Oslo (Oslo Agreement) ระหว่างอิสราเอลและ PLO ในปี 1993 ยุทธวิธีนี้เปรียบได้กับการเอื้ออำนวยให้คู่กรณีได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน และปล่อยให้กระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นโดยคู่กรณีเอง

2.ยุทธิวิธีกระบวนการ (Procedural Strategies) นักไกล่เกลี่ยใช้วิธีนี้เป็นการเข้าไปควบคุมกระบวนการไกล่เกลี่ยมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดโครงสร้างของการประชุม การควบคุมผู้สามารถมีอิทธิพลต่อกระบวนการ การเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน การให้ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร ดังกรณีของบทบาทของนิวซีแลนด์ใน Bougainville ในปี 1995 ในการนำคู่กรณีไปในค่ายนิวซีแลนด์

3. ยุทธวิธีชี้แนะ (Directive Strategies) เป็นรูปแบบการแทรกแซงที่เข้มข้นที่สุด ผู้ไกล่เกลี่ยจะส่งผลและควบคุมต่อเนื้อหาของการเจรจาโดยการให้ผลประโยชน์ต่อคู่กรณี ยุทธวิธีเช่นนี้เป็นการมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงประเด็น และพฤติกรรมของคู่กรณี ดังเช่นที่ Richard Holbrook เข้าไปมีบทบาทกรณี Dayton

การจะเลือกใช้วิธีการใดในการไกล่เกลี่ยคนกลางถึงจะเหมาะสมคงจะไม่สามารถบอกได้ แต่คงขึ้นอยู่กับผู้ไกล่เกลี่ยแต่ละกรณี ว่าจะเลือกใช้วิธีการแบบใด การใช้ทางเลือกใดยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ (Relationship) ระหว่างคู่กรณี บริบทของความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่ก็อาจเป็นได้ว่าความขัดแย้งที่เข้มข้นมากๆ อาจต้องการการแทรกแซงมากกว่า (Intense Intervention) ความขัดแย้งที่ไม่มาก

วิธีการที่ใช้ควบคุมและจัดการความขัดแย้ง

เมเยอร์ (2553) เห็นว่าหัวใจสำคัญของวิธีการที่นักไกล่เกลี่ยใช้ควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัว มี 4 วิธี ประกอบด้วย

1.เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของปฏิสัมพันธ์ เพื่อทำให้คู่กรณีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความขัดแย้ง เปลี่ยนวิธีการนำเสนอประเด็นปัญหา การสื่อสาร การแสดงความรู้สึก ซึ่งคู่ขัดแย้งจะผ่อนปรนพฤติกรรมต่อต้านส่วนใหญ่ของตน

2.ใช้ความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์และใช้ความเป็นมนุษย์ในการปฏิสัมพันธ์ นักไกล่เกลี่ยต้องสร้างความเชื่อมั่น แสดงความมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับกระบวนการจัดการความขัดแย้ง รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ต่อการแก้ไขความขัดแย้ง อีกทั้งการแสดงตัวตนของความเป็นมนุษย์ที่มีความอบอุ่น อารมณ์ขัน และมีความสามารถในการสานสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้ง

3.ใช้ทักษะและดำเนินการเป็นขั้นตอน ได้แก่ความสามารถในการสื่อสาร การวิเคราะห์ความขัดแย้ง การวางแผนจัดการความขัดแย้ง กำหนดขั้นตอนต่างๆในการไกล่เกลี่ย เช่น การระบุประเด็นปัญหา การค้นหาความต้องการ การสร้างทางเลือก เป็นต้น

4.ใช้ค่านิยมและจริยธรรม นักไกล่เกลี่ยจะมีมาตรฐานจริยธรรมของตน เช่น นักไกล่เกลี่ยโดยทั่วไปจะมุ่งมั่นช่วยเหลือคู่กรณีในการแสวงหาผลลัพธ์ที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสม ถือได้ว่าจริยธรรมนี้เป็นพื้นฐานสำหรับคู่กรณีในการสร้างความเชื่อถือ และการสร้างความสัมพันธ์

ปัจจัยที่กระทบต่อการเลือกยุทธวิธี (Factors Affecting the Choice of a Strategy)

การจะใช้ยุทธวิธีแทรกแซง แก้ไขปัญหาแบบใด ว่าจะเป็นแบบเข้มข้น ปานกลางหรือน้อย มีหลายปัจจัย ปัจจัยที่กระทบต่อการเลือกทางเลือกใดในการไกล่เกลี่ย ประกอบไปด้วย (Bercovitch, 2009)

1.ความเข้มข้นของความขัดแย้ง (The Intensity of a Conflict) เป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อการจัดการความขัดแย้ง และรูปแบบที่ใช้ในการไกล่เกลี่ย ความเข้มข้นของความขัดแย้งพิจารณาได้จาก ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ระดับของการเป็นปฏิปักษ์ จำนวนผู้เสียชีวิต ระดับของความโกรธ และความเข้มข้นของความรู้สึก รวมถึงประเภทหรือประเด็นผลประโยชน์ และมุมมองด้านลบต่อกันของคู่กรณี Rubin (1980) เห็นว่าเมื่อความขัดแย้งต่ำ คู่กรณีห่วงเรื่อง “การซ่อมรั้วของตนเอง” และไม่ต้องการบุคคลที่สามเข้ามาแทรกแซง คู่กรณีต้องการจัดการความขัดแย้งด้วยตัวเอง แต่ถ้าคู่กรณีไม่สามารถจัดการปัญหาได้ นักไกล่เกลี่ยจะเข้ามาช่วยเร่งกระบวนการเจรจา ในทางกลับกัน ความขัดแย้งที่เข้มข้น จำเป็นต้องไม่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไป นักไกล่เกลี่ยจะต้องใช้การแทรกแซง สอดคล้องกับที่เมเยอร์ (2553) เห็นว่าคู่กรณีจะคอยจนกว่าความขัดแย้ง รุนแรงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ จึงจะแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก

2.ประเภทของประเด็นที่ขัดแย้ง (The Type of Issues In Conflict) ประเภทของประเด็นที่ขัดแย้งจะส่งผลต่อการเลือกวิธีการใด เช่น เป็นความขัดแย้งภายในรัฐหรือระหว่างรัฐเมื่อเป็นความขัดแย้งภายในรัฐ ก็จะเน้นไปที่ประเด็นอัตลักษณ์ อำนาจปกครองตนเอง (Autonomy) และเชื้อชาติ ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องความรู้สึก รวมถึงความกลัว ความไม่พอใจ ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งยากต่อการไกล่เกลี่ย นักไกล่เกลี่ยอาจใช้วิธีการเจรจาด้วยการใช้ยุทธวิธีการสื่อสารและอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจ และสร้างสิ่งจูงใจให้นำไปสู่การจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี แต่ในทางตรงข้าม ความขัดแย้งในประเด็น ความมั่นคง ทรัพยากร การป้องกันประเทศ เป็นประเด็นที่ชัดเจนและง่ายกว่าในการแก้ไข นักไกล่เกลี่ยอาจใช้การกดดันเพื่อให้เกิดการยอมกันหรือข้อตกลง ในประเด็นที่เห็นได้ชัดเจน (Tangible) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งได้ลุล่วง

3.ลักษณะภายในของคู่กรณี (The Internal Characteristics of The Parties) คู่กรณีที่มีความเหมือนกันในระบบการเมือง โครงสร้างทางสังคม (ชาติพันธุ์ , วัฒนธรรม, ศาสนา) อาจจะยินดีให้ความร่วมมือ แก้ไขความขัดแย้งได้ดีกว่า ในทางกลับกันคู่กรณีที่มีความแตกต่างทางระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาจจะไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อาจจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายคุกคามต่ออัตลักษณ์ของอีกฝ่าย ผู้ไกล่เกลี่ยอาจต้องใช้ยุทธิวิธีการสื่อสาร สร้างช่องทางในการสื่อสาร ให้ความรู้ต่อคู่กรณีในด้านทักษะการเจรจา และช่วยพวกเขามองเห็นเข้าใจปัญหาได้ชัดเจนขึ้น

4.ความสัมพันธ์ก่อนหน้าและประสบการณ์ของคู่กรณี (The Previous Relationship and Experience of The Parties) พิจารณาว่าในอดีตมีความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งหรือไม่ ความสัมพันธ์ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับในอดีตว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรระหว่างคู่กรณี ในสภาพบรรยากาศที่มีความเสี่ยง และไม่แน่นอน นักไกล่เกลี่ยอาจอาจใช้ข้อมูลข่าวสารจากก่อนหน้านี้ หรือพิจารณาว่าเคยมีการผูกมิตรต่อกันหรือไม่

5.ตำแหน่งและอัตลักษณ์ของผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator and Rank) ใช้ในการอธิบายตำแหน่งที่เป็นทางการของผู้ไกล่เกลี่ย อันส่งผลต่อการเลือกยุทธวิธีในการไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยบางคนอาจมีศักยภาพในการใช้ทรัพยากร มีอำนาจและอิทธิพล แต่ผู้ไกล่เกลี่ยบางคนก็มีแต่เพียงชื่อเสียง แต่ไม่มีอำนาจ ยุทธวิธีในการไกล่เกลี่ยแตกต่างกันไปตามสถานะที่แตกต่างกันของผู้ไกล่เกลี่ย บางคนมีทรัพยากรเต็มที่ จึงใช้ยุทธวิธีแบบเข้มข้นที่สุด ในขณะที่องค์การพัฒนาเอกชน (NGO) ใช้ได้เพียงยุทธวิธีการสื่อสาร ซึ่งไม่สามารถมีทรัพยากรที่จะให้คู่กรณีได้

6.การเริ่มต้นและเวลาในการแทรกแซงการไกล่เกลี่ย (The Initiation and Timing of Mediation Intervention) การไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการที่เน้นความสมัครใจ การเริ่มหรือริเริ่มอาจเกิดขึ้นจาก คู่กรณีเอง ผู้ไกล่เกลี่ย หรือคู่กรณีอื่นๆ ใครจะเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการและเวลาใดอาจขึ้นอยู่กับ อำนาจและความชอบธรรมในการไกลเกลี่ย

7.สภาพแวดล้อมของการไกล่เกลี่ย (The Mediation Environment) การเลือกสภาพแวดล้อมใดในการไกล่เกลี่ย อาจจะกำหนดโดยความต้องการของคู่กรณี อำนาจของคู่กรณี ทรัพยากรและเป้าหมาย และความเต็มใจในการเจรจา รวมถึงการกดดันจากสื่อมวลชน

ความคิดของความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยคนกลาง (The Notion of Success in Mediation)

เราจะทราบได้อย่างไรว่าการไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จหรือไม่? ข้อตกลง Dayton ข้อตกลง Oslo ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่? การพิจารณาหรือให้คำนิยามมีความแตกต่างกันออกไป การไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศไม่ได้เป็นรูปแบบเดียว ไม่ได้มีกฎเกณฑ์เดียว การไกล่เกลี่ยที่มีสถานนะจากปัจเจก (Individual mediators) อาจเน้นที่วิธีการสื่อสาร และเน้นที่การปฎิสัมพันธ์และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ในขณะที่การไกล่เกลี่ยโดยผู้มีอำนาจรัฐ (Mediating states) อาจต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความสำเร็จสามารถทำได้ทั้งจากความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยและตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่เป็นภววิสัย (Objective) (Bercovitch, 2009) เกณฑ์อัตวิสัย (Subjective Criteria)

เกณฑ์อัตวิสัยประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยคือ ปัจจัยแรก เน้นที่มุมมองของคู่กรณีหรือผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อคู่กรณีรู้สึกว่าพึงพอใจ (Satisfaction) ต่อกระบวนการหรือผลลัพธ์ของการไกล่เกลี่ย หรือรู้สึกว่ามีความเป็นธรรม หรือว่าผลลัพธ์ที่ได้ถูกมองว่าเป็นธรรม หรือมีประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม (Fairness) อาจจับต้องไม่ได้ แต่นักวิชาการหลายคนพยายามสร้างตัวชี้วัดความเป็นธรรม เช่น กระบวนการที่เป็นกลาง การควบคุมการโต้เถียง ความเท่าเทียม ความเห็นพ้องต้องกันในผลลัพธ์ การเห็นพ้องต้องกันในการยอมรับบรรทัดฐาน นอกจากนี้ ยังรวมถึง การปรับปรุงกระบวนการ การเข้าถึงข้อมูล โอกาสที่เท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ปัจจัยที่สอง ความรู้สึกหรือตระหนักว่ากระบวนการเป็นธรรม (Perceive Fairness in Proceeding) ในกระบวนการจากคู่กรณี คู่กรณีต้องเห็นว่ากระบวนการมีความเป็นธรรม ถ้ากระบวนการมีความไม่เป็นธรรม ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ บางครั้งอาจพิจารณาจากความพึงพอใจ (Participant Satisfaction ) เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ถ้าคู่กรณีพึงพอใจกระบวนการหรือผลลัพธ์ พวกเขาก็จะเห็นว่าประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สามคือ คุณภาพของประสิทธิผล (Quality of Effectiveness) เป็นรูปแบบใหม่ของพฤติกรรมที่เห็นพ้องต้องกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางสิ่ง อย่างน้อยก็เป็นไปในด้านบวก เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความรุนแรงมาสู่พฤติกรรมการไม่ใช้ความรุนแรง หรือการลงนามในบันทึกข้อตกลง การยอมรับการหยุดยิง การเห็นด้วยกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ หรือมาตรการต่างๆ ปัจจัยที่สี่คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) เน้นที่กระบวนการ ประสิทธิภาพเน้นที่ต้นทุนของการจัดการความขัดแย้ง ทรัพยากรที่ใช้ และเวลา ข้อตกลงที่ได้ถ้าหากใช้เวลาที่รวดเร็วเกินไป หรือเนิ่นนานเกินไปก็ถือว่าเป็นปัญหา ประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับประสิทธิผล สรุปได้ว่ามุมมองแบบอัตวิสัยนั้น ความเป็นธรรม และการปรับปรุงบรรยากาศในการสร้างความสัมพันธ์ ก็มีความสำคัญ การที่กล่าวว่าเป็นอัตวิสัยเนื่องจากขึ้นอยู่กับ มุมมอง (Perception) ของคู่กรณีในความขัดแย้ง

เกณฑ์ภววิสัย (Objective Criteria)

เกณฑ์ภววิสัยแตกต่างจากมุมมองและความรู้สึกของแต่ละบุคคล แต่เน้นที่ตัวชี้วัดที่ชัดเจน เห็นได้ในเชิงประจักษ์ เช่น เกิดความรุนแรงน้อยลง การเสียชีวิตน้อยลง พฤติกรรมหยุดการใช้ความรุนแรง คู่กรณีมาสานเสวนากัน หรือข้อตกลงที่ได้ เป็นต้น เกณฑ์แบบภววิสัยจับต้องได้ชัดเจน จากจำนวนเดือนที่ได้หยุดยิง การลดจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยคนกลาง การยอมรับกองกำลังของสหประชาชาติ หรือมาตรการอื่นๆ

แต่การใช้แต่เกณฑ์อัตวิสัยที่เห็นได้ชัดเจนมาพิจารณา ก็อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากนักไกล่เกลี่ย และคู่กรณีมีความแตกต่างกันในเป้าหมายในใจ นักไกล่เกลี่ยอาจจะเน้นที่เนื้อหาสาระระหว่างกัน หรืออาจเน้นที่บรรยากาศ สถานที่ บรรทัดฐานในการตัดสินใจ เป้าหมายเหล่านี้มีความแตกต่างกันไป จึงควรประเมินโดยเน้นที่ผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการของแต่ละคน ว่ามีเป้าหมายอะไรและวัตถุประสงค์ใด

นอกจากเกณฑ์อัตวิสัยและภววิสัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยคนกลางคืออะไร แคทเธอรีน มอริส (2547) ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการความขัดแย้งจากประเทศแคนาดา และเป็นผู้สอนด้านการจัดการความขัดแย้งใน University of Victoria และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประมวลไว้ดังนี้

1.การชนะหรือตนเองได้มากที่สุด

2.การแก้ปัญหาชั่วคราว เช่น การหยุดยิงจากการสู้รบกัน

3.การได้ข้อตกลงที่มั่นคงและยั่งยืน

4.การทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการชดใช้ หรือการซ่อมแซมปรับปรุง แก้ไข 5.การกลับมาคืนดีกันอย่างถาวร

6.การสร้างหรือพัฒนาสัมพันธภาพจนมีบรรยากาศที่ช่วยให้การเจรจาดำเนินไปได้

ขณะที่เมเยอร์ (2553) เห็นว่าการไกล่เกลี่ยคนกลางที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกันรุนแรง ยืดเยื้อ มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การทำข้อตกลงนั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และตั้งข้อสงสัยต่อนักไกล่เกลี่ยที่กล่าวอ้างว่าการไกล่เกลี่ยส่วนมากมักจะบรรลุข้อตกลง อัตราความสำเร็จที่สูงเกินไปอาจเกิดขึ้นจากการใช้วิธีการบังคับก็เป็นได้ แต่อัตราความสำเร็จที่ต่ำเกินไปก็เป็นปัญหาเช่นกัน เมเยอร์เห็นว่าเป้าหมายของการไกล่เกลี่ยคนกลางน่าจะเน้นที่การช่วยให้คู่กรณีเข้าร่วมการจัดการความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ และการที่คู่กรณีตระหนักว่าตนต้องการความช่วยเหลือ ถือว่าเป็นที่มาแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของนักไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะมีการนิยามความสำเร็จแตกต่างกันไป แต่ความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยคนกลางจะเกิดขึ้นได้น่าจะประกอบด้วย

1.ความรู้สึกพึงพอใจและรู้สึกว่ากระบวนการมีความเป็นธรรม

2.การเปลี่ยนแปลงจากความรุนแรงมาสู่พฤติกรรมการไม่ใช้ความรุนแรง

3.ประสิทธิภาพทางด้านเวลา และทรัพยากรที่ใช้

4.การทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการชดใช้ หรือการซ่อมแซมปรับปรุง จากผู้ที่กระทำผิด ผู้ที่กระทำผิดต้องยอมรับว่าได้ทำผิดไป

5.การกลับมาคืนดีกัน โดยแก้ไขความสัมพันธ์ที่แตกร้าวให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

6.การสร้างหรือพัฒนาสัมพันธภาพจนมีบรรยากาศที่ช่วยให้การเจรจาดำเนินไปได้ เนื่องจากผู้ที่ขัดแย้งกันมักจะมีอารมณ์ที่รุนแรงต่อกัน การสร้างบรรยากาศในการพูดคุยที่ดีจึงมีความสำคัญมาก

7.การได้ข้อตกลงที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งมาจากความคิด จากข้อเสนอแนะของคู่ขัดแย้งอย่างแท้จริง อันจะทำให้คู่กรณีปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นอย่างจริงจัง

บทสรุป

บทความเรื่องการไกล่เกลี่ยคนกลางและการแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้เข้าใจความหมายของการไกลเกลี่ยคนกลางว่าเป็นกระบวนการจัดการความขัดแย้ง ที่ไม่ใช่การเจรจากันเองโดยตรง แต่ใช้คนกลางเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งได้รับการยอมรับจากคู่กรณี ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีอำนาจตัดสินใจ โดยคนกลางเข้าไปแทรกแซง เปลี่ยนมุมมอง พฤติกรรมด้วยการพูดคุยที่ไม่ใช้การบังคับทางกายภาพหรือไม่ได้บังคับใช้ทางกฎหมาย นอกจากนี้ บทความได้นำเสนอว่าการไกล่เกลี่ยคนกลาง เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีที่จะทำให้คู่กรณีรู้สึกว่าได้รับความพึงพอใจ กล่าวคือชนะ-ชนะทั้งคู่ และยังสามารถใช้ได้ทั้งในระดับปัจเจก ระดับรัฐ และระหว่างประเทศ

สำหรับแนวทางในการศึกษาการไกล่เกลี่ยคนกลางนั้น สามารถศึกษาทางทฤษฎีหลายวิธีการทั้งการศึกษาทฤษฎีเป็นการทั่วไปกับการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี แนวทางแรก เป็นการใช้ทฤษฎีเพื่อเสนอแนะว่า อะไรบ้างที่จะนำไปสู่การเจรจาและการไกล่เกลี่ยที่ดี และความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร อีกแนวทางหนึ่ง เป็นทฤษฎีที่มาจากการศึกษากรณีการไกล่เกลี่ยต่างๆ เน้นว่าแต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันไป ตามแต่สภาพสังคม และไม่มีทฤษฎีใดที่แน่นอนหรือเป็นสูตรที่ตายตัว อนึ่งการศึกษาแรงจูงใจของคนกลางและคู่กรณีในการไกลเกลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงมนุษยธรรมเท่านั้น ผู้ไกล่เกลี่ยอาจไม่ได้ยึดแต่ประโยชน์ของคู่กรณีเป็นที่ตั้งเท่านั้น แต่อาจมีผลประโยชน์ของผู้ไกล่เกลี่ยร่วมอยู่ด้วยก็เป็นได้ สำหรับคู่กรณีก็อาจจะหวังใช้คนกลางเป็นเครื่องมือ โดยให้คนกลางเข้าข้างฝ่ายตนเอง

ในประเด็นยุทธวิธีที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้ง ประกอบด้วยวิธีการใดบ้าง การทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุยกัน หรือจะเน้นการแทรกแซงเนื้อหาการเจรจาโดยแลกกับผลประโยชน์ วิธีหลังนี้ผู้ไกล่เกลี่ยจะมีทรัพยากรและอำนาจที่สามารถกำหนดทั้งเนื้อหาและกระบวนการได้ การจะเลือกใช้วิธีการใดในการไกล่เกลี่ยคนกลางถึงจะเหมาะสมคงจะไม่สามารถบอกได้ แต่คงขึ้นอยู่กับผู้ไกล่เกลี่ยแต่ละกรณี ว่าจะเลือกใช้วิธีการแบบใด การจะใช้ยุทธวิธีแทรกแซง แก้ไขปัญหาแบบใด ว่าจะเป็นแบบเข้มข้น ปานกลางหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ความขัดแย้งเข้มข้นมากหรือไม่ ขัดแย้งกันเรื่องอะไร คู่กรณีมีความเหมือนกันทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนามากน้อยเพียงใด ความสัมพันธ์ต่อกันก่อนหน้าดีหรือไม่ อำนาจและทรัพยากรของผู้ไกล่เกลี่ยมีสูงหรือไม่ รวมถึง เวลาและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการไกล่เกลี่ยก็ตาม เราจะไม่สามารถมองข้ามการนิยามความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยคนกลาง ซึ่งแม้ว่าจะมีการให้คุณค่าที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยก็จะมีลักษณะร่วมกันถึงความสำเร็จดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์อัตวิสัยและภววิสัย เกณฑ์อัตวิสัยเป็นมุมมองและความรู้สึกของแต่ละบุคคล ประกอบด้วย 1)ความรู้สึกว่าพึงพอใจของคู่กรณี 2) ความรู้สึกหรือตระหนักว่ากระบวนการเป็นธรรม กล่าวคือ คู่กรณีต้องเห็นว่ากระบวนการมีความเป็นธรรม 3) คุณภาพของประสิทธิผล เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความรุนแรงมาสู่พฤติกรรมการไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลง การยอมรับการหยุดยิง เป็นต้น 4)ประสิทธิภาพ เน้นที่ต้นทุนของการจัดการความขัดแย้ง ทรัพยากรที่ใช้ และเวลา ข้อตกลงที่ได้ถ้าหากใช้เวลาที่รวดเร็วเกินไป หรือเนิ่นนานเกินไปก็ถือว่าเป็นปัญหา สำหรับเกณฑ์ภววิสัยแตกต่างจากมุมมองและความรู้สึกของแต่ละบุคคล แต่เน้นที่ตัวชี้วัดที่ชัดเจน เห็นได้ในเชิงประจักษ์ เช่น เกิดความรุนแรงน้อยลง การเสียชีวิตน้อยลง พฤติกรรมหยุดการใช้ความรุนแรง คู่กรณีมาสานเสวนากัน หรือข้อตกลงที่ได้ เป็นต้น

บรรณานุกรม

ฟิชเชอร์, โรเจอร์ และ ยูริ, วิลเลียม. (2545). กลยุทธ์การเจรจาต่อรอง. (ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ). กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.

มอริส, แคธเธอรีน. (2547). การจัดการความขัดแย้งและการขอโทษ. (วันชัย วัฒนศัพท์,ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศาลาแดง.

เมเยอร์, เบอร์นาร์ด. (2553). พลวัตรการจัดการความขัดแย้ง. (นายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: คบไฟ.

ยูริ, วิลเลียม. (2544). เอาชนะคำว่าไม่ใช่เรื่องยาก. (วันชัย วัฒนศัพท์, ผู้แปล). ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท.

ยูริ, วิลเลียม. (2547). กลยุทธ์การสมานไมตรีเพื่อบรรลุสันติร่วมกัน. (เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว,ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

วันชัย วัฒนศัพท์. (2550). ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา....พิมพ์ครั้งที่ 3. ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท.

ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. (2547). ศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและความขัดแย้ง. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์ จำกัด.

Bercovitch, Jacob, Victor Kremenyuk, and I. William Zartman (2009). The Sage Handbook of Conflict Resolution. London: SAGE Publications Ltd.

Bercovitch, Jacob. (2009). “Mediation and Conflict Resolution” In The Sage Handbook of Conflict Resolution. eds. Bercovitch, Jacob., Kremenyuk, Victor and Zartman, I. William. 2009. London: SAGE Publications Ltd.

Lewicki, Roy.J, David M. Saunders, and John W. Minton. (2001). Essentials of Negotiation, New York. Irwin/Mcgraw-Hill.