อารยะขัดขืน : การต่อต้านขัดขืนอารยะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2549 ฉบับที่ 2


เงื่อนไขแห่งงานเขียน

แม้งานชิ้นนี้จะเกิดจากการมองเห็นและรับรู้ในปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมืองของไทยในปัจจุบัน แต่งานชิ้นนี้จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริง เพราะการกระทำเช่นนั้นถือเป็นการลดทอนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เหลือเพียงเศษเสี้ยวบางส่วนแล้วแปลงเป็นตัวอักษร ซึ่งผลสุดท้ายย่อมก่อให้เกิดความเคลือบแคลงมากกว่าที่จะทำให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเป็นการตัดต่อ จัดเรียง และประกอบสร้างโดยบุคคลที่ไม่มีทางล่วงรู้ในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของเหตุการณ์นั้นๆ และงานชิ้นนี้ก็มิได้มีความตั้งใจที่จะชี้ผิด-ถูก หรือพยายามสรรหาเหตุผลมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการชี้ผิด-ถูกหรือการสรรหาเหตุผลมารองรับปรากฏการณ์มิได้อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ผ่านกรอบคิดที่พร่ามัวด้วยมายาคติและข้อจำกัดทางการรับรู้อันเป็นเงื่อนไขสากลของความเป็นมนุษย์ทุกคน ประกอบกับผู้เขียนปฏิเสธการลดทอน/แยกส่วน หรือแม้แต่การเหมารวมในเหตุที่เกิดขึ้นและนำมาวิเคราะห์ได้ และด้วยเหตุผลอื่นอีกหลายประการที่ถักทอร้อยเรียงจนเกิดบทสรุปว่า งานชิ้นนี้เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของผู้เขียนที่เลือกหยิบกรอบคิดเกี่ยวกับอำนาจ วาทกรรม และปฏิบัติการแห่งอำนาจในความหมายของมิเชล ฟูโก้มาเป็นแว่นมองเข้าไปในปรากฏการณ์ดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ผู้เขียนได้เลือกหยิบแว่นที่ใช้มองได้อย่างถูกต้อง หรือมีความเข้าใจอย่างลุ่มลึกต่อกรอบมองที่เป็นเสมือนแว่นที่ใช้ตัดวางระหว่างการรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงข้ามผู้เขียนรู้สึกว่า ผู้เขียนมิได้มีความรู้หรือเข้าใจใดๆ ต่อกรอบคิดอันเป็นความคิดของบุคคลอื่นรวมไปถึงวิธีคิดของผู้เขียนเอง เพราะเมื่องานนี้จบลง ผู้เขียนก็จะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้เขียนได้รู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่วิเคราะห์ผ่านงานเขียนนี้ เหตุใดผู้เขียนจึงคิดเช่นนั้น คงตอบได้เพียงว่า ผู้เขียนเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มีหน้าที่ส่งผ่านสิ่งที่คิด ณ วันที่เขียนผ่านออกมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น หาได้เป็นเจ้าของความคิดหรือเจ้าของผลงานที่เขียนขึ้นแต่อย่างใดไม่

ว่าด้วยอำนาจ

งานชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์วาทกรรมที่ว่าด้วย “อารยะขัดขืน” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านกรอบคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, ค.ศ. 1926 - 1984) นักคิดกลุ่มหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ที่มองอำนาจในลักษณะที่แปลกแยกไปจากแนวคิดของนักคิดสมัยใหม่อันเป็นกระแสหลักทางความคิดในปัจจุบัน แต่เพื่อมิให้งานชิ้นนี้ขาดความสวยงามลงไป ผู้เขียนจึงขอฉายภาพเพื่อนำเสนอถึงวาทกรรมที่ว่าด้วย “อำนาจ” ในฐานะของผู้ถูกกระทำที่กำลังถูกกระทำจากวาทกรรมที่ว่าด้วย “อารยะขัดขืน” ในบริบทของวาทกรรมแห่งการต่อต้านขัดขืน อีกนัยหนึ่งก็คือการนำเสนอในสองสิ่งที่ต่างเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในขณะเดียวกัน เพราะหากไม่มี “อำนาจ” เป็นปัจจัยเริ่มต้นแล้ว “การต่อต้านขัดขืน” ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น และในทางกลับกัน หากที่ใดปราศจาก “การต่อต้านขัดขืน” ก็จะส่งผลให้ “อำนาจ” นั้นหมดความหมายลงไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะ “อำนาจ” กับ “การต่อต้านขัดขืน” เป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่คู่กันเสมอในลักษณะ “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านขัดขืนอยู่ด้วย” (Where there is power, there is resistance) (Foucault, 1988: 122 และ Foucault, 1990: 95)

ในประเด็นที่ว่าด้วยอำนาจ ฟูโกต์ ได้นำเสนอความคิดที่แตกต่างไปจากนัยของวาทกรรมกระแสหลัก ที่มักให้ความหมาย “อำนาจ” ไปในแง่ของขีดความสามารถที่บุคคลหนึ่งมีเหนือบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นการทำให้บุคคลหนึ่งยินยอมกระทำในสิ่งที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าต้องการให้กระทำ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีปกติแล้วเขาผู้นั้นจะไม่ยินยอมกระทำในสิ่งที่ถูกกำหนด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้อีกบุคคลหนึ่งยินยอมต่อตนได้นั่นเอง แนวคิดที่ให้ความหมายหรืออธิบาย “อำนาจ” ในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากการมองสังคมว่าเป็นสนามการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันจากกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายในการแสวงหาอำนาจ เพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด และตัดสินใจ (decision-making) ในประเด็นสำคัญ (key issues) ให้เกิดการสนองตอบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนให้ได้มากที่สุด (Lukes, 1980: 11 - 15) ซึ่งการมอง “อำนาจ” ตามนัยนี้มักเป็นการมุ่งเน้นและให้ความสนใจเฉพาะกับอำนาจที่มีลักษณะเป็นทางการ และมองอำนาจประหนึ่งเป็นสิ่งของที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถเข้ายึดครองและใช้สอยได้อย่างอิสระ เพื่อทำการกดขี่ ปราบปราม และ/หรือบังคับผู้ที่ปราศจากอำนาจให้กระทำในสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจ ดังนั้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะของคู่ตรงข้ามที่มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์เสมอ (zero-sum)

ฟูโกต์ให้ความสำคัญกับ “อำนาจ” ที่ไม่ได้มีรากฐานอยู่เฉพาะในประเด็นของเศรษฐกิจและการเมือง แต่เขามอง “อำนาจ” มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายสลับซับซ้อน มีความแตกต่างหลากหลาย และแทรกตัวอยู่ในทุกส่วนของสังคม (Sheridan, 1980: 1 - 8) จากความแตกต่างหลากหลายและสลับซับซ้อนของ “อำนาจ” ทำให้เป็นการไม่ถูกต้องนักที่เราจะพยายามเข้าไปจัดการแยกส่วนและหรือลดทอนให้ “อำนาจ” เหลือเพียงความสัมพันธ์ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างอิสระจากประเด็นที่แตกต่างหรือไม่สนใจ เช่น ให้ความสำคัญเฉพาะในเรื่องของพรรคการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย หรือกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เพราะฟูโกต์มิได้มองว่าการมีอยู่ของ “อำนาจ” เป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบ แต่ตรงกันข้าม การมีอยู่ของ “อำนาจ” กลับเป็นไปในลักษณะของการกระจัดกระจายแฝงอยู่กับทุกความสัมพันธ์ในรูปแบบของ “โครงข่ายแห่งอำนาจ” และแผ่ขยายครอบคลุมอยู่ตลอดทุกพื้นที่ของชีวิตทางสังคม แม้กระทั่งร่างกายของมนุษย์ที่ดูเหมือนมีความเป็นส่วนตัวและเป็นส่วนย่อยที่สุดของสังคมก็หาได้หลุดรอดหรือพ้นไปจากการถูกอำนาจเข้ากระทำแต่อย่างใด การที่ “อำนาจ” สามารถแทรกซึมและเข้าไปดำรงอยู่ได้ในทุกแห่งหนของสังคมนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะ “อำนาจ” ได้กวาดรวมทุกอย่างเข้ามาไว้ด้วยกันภายในปริมณฑลของอำนาจ แต่เป็นเพราะ “อำนาจ” มาจากทุกหนทุกแห่งในสังคม (Foucualt, 1990: 93) “อำนาจ” จึงมิได้ถูกรวมศูนย์และจัดวางไว้ให้อยู่ แต่เฉพาะกับรัฐหรือเป็นสิ่งที่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมจะเข้ายึดครองและปิดล้อมไว้เป็นเอกสิทธิ์ของตนเองแต่เพียงผู้เดียวได้ ตรงกันข้าม “อำนาจ” กลับมีการไหลเลื่อนถ่ายเทไปมาอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ปัจเจกชนซึ่งเป็นผลสะท้อนแห่งอำนาจต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจไปด้วยในขณะเดียวกัน (Foucualt, 1980: 98)

เมื่อกล่าวถึงเรื่องของอำนาจ ประเด็นคำถามที่ว่า “อำนาจคืออะไร” มักปรากฏขึ้นก่อนที่จะนำไปสู่ประเด็นอื่นเสมอ แต่การถามด้วยคำถามดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยากยิ่งในการที่จะแสวงหา คำตอบที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ โดยเฉพาะหากมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นสากลใช้อธิบายได้ในทุกสถานที่และทุกเวลาตามหลัก “ความทั่วไป” ของการอธิบายแบบมหภาค เพราะการเพียรพยายามหาคำตอบด้วยกรอบคิดของทฤษฎีที่เป็นสากลซึ่งแม้จะมีความแตกต่างหลากหลายไปจากกัน แล้วแต่ว่าเป็นการตอบที่หลุดไหลออกมาจากวิธีคิดของสำนักคิดใด ก็ล้วนแต่จะนำพาให้เราก้าวไปสู่ปัญหาและความผิดพลาดได้ในที่สุด อันเป็นผลมาจากลักษณะของ “อำนาจ” ที่วางตัวกระจัดกระจายอยู่ในทุกความสัมพันธ์และทุกแห่งหนของสังคม อีกทั้งยังมีความแตกต่างหลากหลาย ซับซ้อนจนเกินกว่าที่จะตัดทอน ลดส่วน และ/หรือละเลยรายละเอียดปลีกย่อยของ “อำนาจ” ในแต่ละปรากฏการณ์ได้ (Foucault, 1980: 198 - 199) ฉะนั้นการวิเคราะห์อำนาจด้วยกรอบทฤษฎีที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์โดยใช้กรอบแบบสากลย่อมไม่สามารถเกิดความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ตามความจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสากลที่มาจากสำนักคิดใดก็ตาม ฉะนั้นการศึกษาถึง “อำนาจ” จึงควรให้เป็นไปเพื่อที่จะตอบคำถามว่า “อำนาจนั้นมีปฏิบัติการอย่างไร” (How is power excercised?) มากกว่าที่จะมุ่งศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า “อำนาจคืออะไร” (What is power?) (Foucualt, 1986: 216 - 219)

การเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่มุ่งศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า “อำนาจคืออะไร” มาสู่ “อำนาจมีปฏิบัติการอย่างไร” ทำให้วัตถุเป้าหมายของการศึกษาย้ายจากบุคคลหรือสถาบันที่เป็นทางการ ไปสู่การศึกษาถึงปฏิบัติการของ “อำนาจเล็ก ๆ” ที่โลดแล่นแสดงตนอยู่ในระดับวิถีปฏิบัติของชีวิตประจำวันในแต่ละบุคคล ซึ่งความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตประจำวันทั้งหมดล้วนดำรงอยู่และดำเนินไปภายใต้การถูกครอบคลุมจากโครงข่ายแห่งอำนาจ จึงเป็นความสัมพันธ์ของอำนาจที่เกิดขึ้น เฉพาะที่ (local relation of power) หรือที่เรียกว่า “อนุภาคของอำนาจ” (micro physic of power) ซึ่งอาจเปรียบได้กับเส้นเลือดฝอยที่ทำหน้าที่นำเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อของอวัยวะ ภายในร่างกาย (capillary movement) (Hall, 1997: 50) จากลักษณะความสัมพันธ์ของอำนาจ ที่เกิดขึ้นเฉพาะที่หรือที่เรียกว่าอนุภาคของอำนาจนั้น เป็นการเกิดขึ้นเฉพาะที่ในแต่ละส่วนของสังคมซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ฉะนั้นการวิเคราะห์ “อำนาจ” ที่เป็นอนุภาคเล็ก ๆ โดยปฏิเสธการใช้กรอบคิดที่เป็นสากลและการมุ่งหาคำตอบว่าอำนาจคืออะไรจะทำให้เราสามารถมองเห็นอำนาจอื่นที่ถูกกีดกัน ถูกกดทับ และถูกปฏิเสธได้เป็นอย่างดี การให้ความสำคัญกับอนุภาคของอำนาจจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ “อำนาจที่เป็นอื่น” ได้แสดงตน อันจะทำให้เราสามารถเข้าใจถึงกลไกแห่งอำนาจที่มีอยู่ในปรากฏการณ์เหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนและเป็นจริงมากกว่า

รัฐ และอำนาจรัฐ

อำนาจรัฐได้ถูกผลิตและส่งต่อผ่านช่องทางมากมาย ทั้งที่เป็นอำนาจที่แข็งทื่อ ผ่านการใช้กฎหมายและบทลงโทษทางศาลเป็นเครื่องมือหลัก และอำนาจที่ละเอียดอ่อนจนบางครั้งยากที่จะสัมผัสความบางเบาของปฏิบัติการแห่งอำนาจแต่ทว่าผลแห่งการควบคุม บังคับกลับแข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากการผลิตชุดความรู้ผ่าน “วาทกรรมแห่งความถูกต้อง” ที่ถูกโอบกอดไว้ด้วยสีสรรแห่งความเป็นพลเมืองดี

เมื่อรัฐเป็นผู้ผลิตชุดความจริง ทำให้รัฐสถาปนาตนเองเป็นผู้กำหนดความถูกผิด และถูกทำให้เกิดมายาภาพแห่งความถูกต้องซ้อนทับกับชุดความจริงที่ในเนื้อหาสาระโดยแท้อาจเป็นเพียงเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เขาฉกฉวยฉลากของคำว่ารัฐมาก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ในขณะที่ชุดความจริงเหล่านั้นสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน มันได้กระทำการกดทับ และเบียดไล่ชุดความจิรงอื่นที่แตกต่างไปอยู่ในปริมณฑลของคำว่า “ผิด” และ “สิ่งที่เลว” ทั้งที่ความจริง โดยเนื้อหาสาระของชุดความจริงเหล่านั้นยังมิได้มีโอกาสในการแสดงตนเพื่อปรากฎตนต่อสังคมเลย จึงกล่าวได้ว่ามันเป็นชุดความจริงที่ถูกปิดปากเงียบจากชุดความจริงที่สามารถแย่งยึดพื้นที่ความถูกต้องไว้จนหมดสิ้น

การผลิตซ้ำและส่งต่อแก่ประชาชนว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เป็นเงื่อนไขที่ทุกคนสมควร/ต้อง “เคารพ” และ “ไม่โต้แย้ง” กับสิ่งที่จัดให้มีขึ้นและผลที่จะเกิดตามมา การอธิบายการกระทำของฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของบุคคลผู้มีอำนาจได้กระทำและตอกย้ำความคิดในทุกช่องทางที่สามารถกระทำได้ การกล่าวอ้างตัวบทกฎหมายถึงข้อบัญญัติและฝ่ายของตนได้กระทำตามข้อบัญญัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจึงกลายเป็นชุดความจริงที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการปิดปากและเบียดไล่ความคิดทุกคนคิดที่มีความ “เป็นอื่น” อันแตกต่างไปจากตนให้ออกไปจากขอบเขตของคำว่า “ถูกต้อง”

แต่เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีการต่อต้านขัดขืน ชุดความคิดของการต่อต้านขัดขืนจึงได้ก่อตัวขึ้นบนรากฐานของการไม่เห็นด้วยและพยายามที่จะเข้าแย่งยึดความชอบธรรมจากอำนาจเก่าที่ดำรงอยู่ “อารยะขัดขืน” เป็นวาทกรรม/องค์ความรู้ที่ถูกเลือกหยิบมาใช้ในปฏิบัติการของอำนาจที่เป็นอื่นในฐานะอำนาจชายขอบ แต่ด้วยการขาดอำนาจในการค้ำจุนความชอบธรรมของวาทกรรม/องค์ความรู้ชุดใหม่ ทำให้การเกิดขึ้นเพื่อแย่งยึดพื้นที่ความชอบธรรมของอำนาจชายขอบเป็นไปอย่างแผ่วเบา และถูกตีโต้จากอำนาจศูนย์กลางในทุกรูปแบบเช่นกัน

ความสัมพันธ์ของอำนาจกับวาทกรรม/ความรู้ เป็นไปในลักษณะเหตุผลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ อำนาจไม่ได้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของความรู้ แต่อำนาจเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ โดยความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็จะเข้าไปทำหน้าที่รับรองอำนาจในชุดเดียวกับตนให้สามารถยึดครองพื้นที่ เบียดไล่ และ/หรือแย่งชิงพื้นที่จากอำนาจในชุดอื่นที่แตกต่างไปจากตน อำนาจและความรู้จึงแสดงให้เห็นถึงกันและกันในฐานะที่ดำรงอยู่ด้วยกัน หาได้เป็นอิสระต่อกันแต่อย่างใด นั่นคือ ไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจใดที่ปราศจากการสร้างระบบความรู้ และไม่มีความรู้ใดที่อยู่ได้โดยปราศจากอำนาจ ในทางกลับกัน ย่อมไม่มีอำนาจใดที่อยู่ได้โดยปราศจากการรับรองความถูกต้องจากระบบความรู้ และไม่มีระบบความรู้ใดที่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ (Foucault, 1991: 27 - 28)

ภาพการต่อสู้ระหว่างสองขั้วอำนาจคือรัฐในฐานะผู้ปกครองกับประชาชนในฐานะผู้ถูกปกครองจึงเป็นการต่อสู้ที่อยู่บนรากฐานของความไม่เท่าเทียมกัน และนั่นจึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มขั้วอำนาจที่หลุดไปจากศูนย์กลางของอำนาจเลือกที่จะนำแนวทางอารยะขัดขืนออกมาขับเคี่ยวกับอำนาจรัฐ โดยพยายามแสดงจุดยืนออกมาปรากฎให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นและเข้าใจตามที่ผู้กระทำอารยขัดขืนปรารถนาให้เข้าใจ เพื่อให้คนในสังคมได้เห็น รับรู้ และคิดไปในทิศทางเดียวกับตนคิด ซึ่งนั่นหมายความว่า คิดในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐหรือผู้มีอำนาจได้ผลิตซ้ำชุดความจริงให้คิด

และหากฝ่ายใดสามารถได้สำเร็จ เส้นแบ่งของความถูกต้องก็จะถูกขยับย้ายไปจากจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้ขยายวงกว้างออกไปจากศูนย์กลางของอำนาจฝ่ายตน เพื่อกลืนกินพื้นที่ความชอบธรรมของอำนาจที่เป็นอื่นไปจากตนให้มากที่สุด เพราะสุดท้ายมันจะนำมาซึ่งความชอบธรรมและปิดปาก เบียดไล่ชุดความคิดอื่นให้ออกไปเป็นแนวคิดชายขอบจนไม่สามารถปรากฎให้เห็นเป็นความคิดที่ถูกต้องได้ในปริมณทลทางความคิดใหม่

การต่อต้านขัดขืนแบบอารยะขัดขืน (civil disobedience)

อารยะขัดขืน เป็นการเรียกกิจกรรมรวมๆ ของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตนตามกฎหมาย หรือตามความต้องการและ/หรือคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้อยู่ในอำนาจ เป็นการแสดงการต่อต้านขัดขืนอำนาจกระแสหลัก โดยไม่มีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพและพร้อมที่จะรับผลจากบทลงโทษตามกฎหมายโดยไม่บิดพริ้ว

การแสดงออกถึงพฤติกรรมของแนวทางอารยะขัดขืนอันเป็นไปเพื่อการต่อต้านขัดขืนต่ออำนาจหลัก สามารถกระทำได้ในหลายช่องทาง อาจโดยการเลือกที่จะกระทำผิดกฎหมายบางข้อ ทั้งที่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ตนต่อต้านหรือกฎหมายอื่นที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นมิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเป้าหมายสูงสุดในกระทำคือการพยายามที่จะแสดงตนออกมาจากพื้นที่ชายขอบของสังคมให้คนในสังคมส่วนใหญ่ได้เห็นและคิดไปในทิศทางที่กลุ่มตนต้องการ ฉะนั้นการน้อมรับให้ฝ่ายรัฐที่ตนต่อต้านลงโทษจึงเป็นเป้าหมายแฝงเพื่อบรรลุเป้าหมายหลัก ให้เป็นการตะโกนก้องโดยไม่ต้องส่งเสียง เพราะฝ่ายที่ถูกต่อต้านคือฝ่ายรัฐจะเป็นผู้ตะโกนก้องให้คนในสังคมได้รับรู้ผ่านกระบวนการลงโทษตามหลักวาทกรรมทางกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากหลักการต่อต้านอย่างอหิงสาของท่านมหาตมะ คานธี ที่ได้ร่างกฎเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

1. ผู้ต่อต้านอันมีอารยะจะไม่เก็บความโกรธใดๆ ไว้

2. เขาจะต้องทนทุกข์กับความโกรธจากฝ่ายตรงข้าม

3. ในการทำเช่นนั้น เขาจะถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี จงอย่าแก้แค้น แต่เขาจะไม่แสดงความกลัวต่อการถูกลงโทษหรือความชอบต่อคำสั่งใดๆ ที่มาจากความโกรธ

4. เมื่อบุคคลผู้อยู่ในอำนาจพยายามจับกุมผู้ต่อต้านอันมีอารยะ ผู้ต่อต้านจะยอมให้จับโดยสมัครใจ และเขาจะไม่ต่อต้านการเพิ่มหรือถอดทรัพย์สมบัติของเขาเอง เมื่อทรัพย์เหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่ยึดไป

5. ถ้าหากว่าผู้ต่อต้านอันมีอารยะมีทรัพย์สินอยู่ในการครอบครอง แต่ว่าเขาทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดูแลทรัพย์นั้นเท่านั้น เขาจะปฏิเสธที่จะมอบทรัพย์นั้นไป แม้ว่าการปกป้องสิ่งนั้นอาจจะทำให้เขาต้องสูญเสียชีวิต เขาจะยอมปกป้องมัน แต่จะไม่แก้แค้น

6. การแก้แค้นนั้นรวมไปถึงการกล่าวคำสบถและการสาปแช่ง

7. ดังนั้น ผู้ต่อต้านอันมีอารยะจะไม่กล่าวดูแคลนฝ่ายตรงข้าม และจะไม่เข้าไปตะโกนด่าคำที่มีการคิดขึ้นใหม่มากมาย ซึ่งขัดแย้งกับจิตวิญญาณแห่งอหิงสา

8. ผู้ขัดขืนอันมีอารยะจะไม่ทำความเคารพธงแห่งสหราชอาณาจักร และจะไม่กล่าวดูแคลนเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดียและชาวอังกฤษ

9. ในช่วงเวลาที่เกิดการต่อสู้ขึ้น ถ้าหากมีใครกล่าวดูแคลนเจ้าหน้าที่ หรือกระทำการทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผู้ต่อต้านอันมีอารยะจะเข้าปกป้องเจ้าหน้าที่จากการถูกดูแคลนหรือจากการทำร้าย แม้ว่าจะต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองก็ตาม (http://www.lcc.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=465)

หากนำแนวคิดของอารยะขัดขืนมาพิจารณา จะเห็นได้ว่ามีรากฐานอันถือเป็นแก่นของแนวทางที่สำคัญคือ

1. เป็นการกระทำที่ผู้กระทำ กระทำการละเมิดกฎหมายอย่างตั้งใจและรับรู้ถึงการละเมิดนั้น ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบของรัฐให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองเห็นว่า/เชื่อว่ามีความชอบธรรมมากที่สุด

2. การละเมิดต่อข้อห้ามดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะให้มากที่สุด เพื่อแสดงตนและให้รัฐเป็นฝ่ายตะโกนก้องแทนผู้กระทำ และเพื่อการบรรลุเป้าหมายนี้ ผู้กระทำการจึงเลือกที่จะประกาศให้รัฐและสังคมรับรู้ถึงสิ่งที่ตนเองจะกระทำการละเมิดต่อกฎหมายหรือข้อห้ามของรัฐล่วงหน้า

3. ด้วยเป้าหมายของการตะโกนโดยไม่ต้องส่งเสียงให้เกิดการแผ่ขยายไปในทุกจุดขงสังคม การแสดงความเต็มใจที่จะรับโทษทางกฎหมายของการกระทำผิดกฎหมายจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของผู้กระทำการ โดยเฉพาะการถูกลงโทษในแนวทางที่ผู้กระทำการมิได้ใช้ความรุนแรงต่อต้านอำนาจรัฐแต่อย่างใด

4. จากเงื่อนไขที่กล่าวมาเพื่อให้คนที่ได้รับรู้ถึงการกระทำของกลุ่มตนให้เกิดสำนึกใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และเห็นพ้องกับแนวคิดที่กลุ่มผู้กระทำการยึดถืออยู่ ซึ่งนั่นหมายถึงการขยายพื้นที่ความชอบธรรมให้กับตนเองอันเป็นการขยับย้ายเส้นแบ่งของความถูกต้องนั่นเอง

แล้วท้ายที่สุด เมื่ออำนาจหนึ่งสามารถเข้าแย่งยึดพื้นที่แห่งความถูกต้องได้แล้ว การเบียดไล่ชุดความคิดอื่นที่แตกต่างก็จะต้องเกิดขึ้น บนรูปแบบและเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกัน การต่อสู้ของเสียงคนชายขอบที่ลุกขึ้นมาใช้แนวทางอารยะขัดขืนก็มิได้หมายความว่าการชนะหรือพ่ายแพ้ของฝ่ายใดจะหมายถึงการจบสิ้นการต่อสู้และเข้าแย่งยึดและกดทับชุดความคิดที่เป็นอื่นลงได้ ตรงกันข้าม มันยังจะต้องการการเลื่อนไหล ถ่ายเท ขยับย้ายเส้นแบ่งแห่งความชอบธรรมอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่อำนาจยังเป็นอำนาจ

การความคิดก่อนถอดแว่นที่ตัดขวาง

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า แม้อำนาจรัฐจะพยายามอำพรางตัวไว้ได้อย่างแนบเนียนด้วยการสร้างวาทกรรมที่ผลิตความจริงขึ้นมาเป็นระเบียบวินัยทั้งในรูปของกฎหมายที่มีบทลงโทษ หรือสิ่งที่ควรกระทำในฐานะพลเมืองที่ดีที่มีสังคมคอยจับตามอง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นไปโดยมีเป้าหมายเพื่อการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งที่หากพิจารณาลงไปอย่างลุ่มลึก เราจะพบว่าสิ่งเหล่านั้นหาได้มีแก่นสารที่แท้จริงไม่ เป็นแต่เพียงสิ่งประกอบสร้างที่เกิดขึ้นมาโดยมีอำนาจอำพรางอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการชูประเด็นการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกับการมีจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย การเป็นคนว่านอนสอนง่ายไม่ฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองกับการเป็นพลเมืองดีของประเทศ หรือกรณีตราหน้าบุคคลที่ฉีกบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “สัจจะที่จริงแท้” (The Truth) เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงในปริมณฑลแห่งมนุษย์ จะมีก็แต่เพียง “ความจริง” (truth) ที่ถูกสร้างขึ้นและแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่ (time and space) เช่นเดียวกันกับเกณฑ์ชี้มาตรฐานความถูกต้องที่มิได้มีความเป็นกลางหรือมีเหตุผลความจริงแท้แต่อย่างใด ทว่ากลับเต็มไปด้วยเส้นใยของอำนาจที่สอดแทรกแฝงตัวอยู่ภายในกฎเกณฑ์เหล่านั้น ทั้งนี้เพราะระเบียบวินัยและความเป็นถูกต้องล้วนเป็นเพียงการผลิตสร้างที่เกิดขึ้นจากการยึดครอง ผลิต และส่งขยายวาทกรรมและอำนาจ หาได้เป็นสัจจะจริงแท้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ความจริงในสังคมกลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากข้อจำกัด ข้อห้ามชนิดต่างๆ มากมาย โดยมีวาทกรรมซึ่งเป็นปฏิบัติการของภาษาที่มีกฎเกณฑ์เฉพาะตัวในการปฏิบัติงาน โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในโครงสร้างทางภาษาศาสตร์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงกิจกรรมอื่นทางสังคมเป็นตัวกำหนด (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529: 145 - 146) วาทกรรมจึงเป็นระบอบของความจริงที่ทำให้เกิดการแยกแยะว่าการกระทำใดถูกต้อง และการกระทำรู้ใดที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องล้วนเป็นผลมาจากการต่อสู้ แย่งชิง เพื่อการยึดครองพื้นที่การยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจที่มีความแข็งแกร่งและครอบคลุมไปในทุกความสัมพันธ์ทางสังคมโดยเฉพาะอำนาจที่เกิดจากกลไกของการสร้างวินัย จนดูประหนึ่งว่ามนุษย์จะหมดสิ้นหนทางในการขยับเลื่อนตนเองไปจากการถูกเกาะกุมของอำนาจได้ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทางออกเป็นสิ่งที่มีมาพร้อมกับการใช้อำนาจ “เมื่อที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านขัดขืน” (resistance) (Foucault, 1980: 162) การครอบคลุมพื้นที่ทุกแห่งหนของอำนาจไม่ได้หมายความว่าอำนาจจะสามารถอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (omnipresent but not omnipotent) (Best and Kellner, 1991: 54 - 55) มนุษย์จึงมิได้ตกอยู่ในสภาวะของการสิ้นไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิงจนปราศจากพื้นที่ที่จะแสดงบทบาทการกระทำ (helpless and passive) แต่การกระจายอยู่ในทุกแห่งหนของอำนาจกลับทำให้การต่อต้านขัดขืนจะต้องเคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการไปได้ในทุกที่และทุกเวลาและมีลักษณะของ “พหุลักษณ์” ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจที่ต่อต้าน (Foucault, 1990: 94 - 96) การต่อต้านขัดขืนจึงสามารถปรากฏให้เห็นได้ทั้งในรูปลักษณ์ของอารยะขัดขืนซึ่งมีลักษณะของความไร้ระเบียบวินัยเพื่อต่อต้านกลไกของความเป็นระเบียบวินัยและความปกติิ หรือในรูปแบบการสร้างวาทกรรมคู่ตรงข้ามขึ้นมาแย่งชิง พื้นที่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง (Foucault, 1990: 101)

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้สักแค่ไหน การต่อต้านขัดขืนก็จะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้กรอบของการแย่งชิงเพื่อเป็นวาทกรรมหลักของสังคมจนสามารถสถาปนาตนเองเป็นสิ่งที่เต็มพร้อมไปด้วยความถูกต้องและมีความชอบธรรมในการกดทับและเบียดไล่อำนาจที่เป็นอื่นให้ออกไปจากปริมณฑลแห่งความถูกต้อง

บรรณานุกรม

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2529). “มิเชล ฟูโกต์: ปัญญาชน ความจริงและอำนาจ,” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 - 2 ตุลาคม 2528-มีนาคม 2529. หน้า 142 - 154.

Best, Steven and Kellner,Douglas. (1991). “Foucault and the Critique of Modernity,” in PostModern Theory : Critical Interrogations. New York: Guilford Press.

Foucault, Michel. (1980). Power/Knowledge: Selected Interviews and Other Writing 1972-1977. Gordon, Colin (ed.) New York: Pantheon.

Foucault, Michel. (1986). “The Subject and Power,” in Michel Foucualt: Beyond Structuralism and Hermeneutics. Dreyfus, Hubert L. and Rabinow, Paul (eds.) Great Britian: The Harvester Press.

Foucault, Michel. (1988). “Power and Sex,” in Michel Foucault: Politics Philosophy Culture. Kritzman, Lawrence D. (ed.) New York: Routledge.

Foucault, Michel. (1990). The History of Sexuality Volume I: An Introduction. Hurley, Robert (trans.) Harmondsworth: Penguin Books.

Foucault, Michel. (1991). Discipline and Punish: The Birth of Prison. Sheridan, Alan (trans.) New York: Penguin Books.

Hall, Stuart. (ed.). (1997). Representation : Cultural Representations and Signifying Practices. London: SAGE Publications.

Lukes, Steven. (1980). Power: A Redical View. London: The Macmillan Press.

Sheridan, Alan (ed.). (1980). Michel Foucault: The Will to Truth. London and New York: Tavistock Publications. http://www.lcc.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=465)