29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
ผู้เรียบเรียง ศ.นรนิต เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นวันที่คณะทหารที่ประกอบด้วยนายพลทหารบก พลทหารเรือ และนายพลทหารอากาศ จำนวน 9 คน คือ พลเอก ผิน ชุณหะวัณ พลโท เดช เดชประดิยุทธ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเรือตรี หลวงยุทธศาสตร์โกศล พลเรือตรีหลวงชำนาญ อรรถยุทธ พลเรือตรี สุนทร สุนทรนาวิน พลอากาศเอก พื้น รณภากาศ ฤทธาคณี พลอากาศโทหลวงเชิด วุฒากาศ และพลอากาศโทหลวงปรุง ปรีชากาศ ซึ่งได้เรียกตัวเองว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ของพวกตัวเอง และล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
ตอนนั้น พ.ศ. 2494 รัฐบาลที่ถูกล้มไปก็คือรัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการยึดอำนาจแล้วก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาใหม่ โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเดียวกันมาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวอีก
คณะผู้ยึดอำนาจเรียกตัวเองว่า คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 อ้างว่าสถานการณ์ของโลกตอนนั้นอยู่ในความคับขัน และอ้างภัยคอมมิวนิสต์และการคอร์รัปชั่นโดยว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้
“จึงคณะทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ, ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ... ได้พร้อมกันเป็นเอกฉันท์กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความรุ่งเรืองสถาพรแห่งประเทศชาติสืบไป”
คณะบริหารประเทศชั่วคราวออกคำแถลงการณ์ฉบับที่ 1 นี้ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ทำให้
“1. อำนาจและหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันได้สิ้นลงสุดในวันที่เวลาที่ประกาศนี้
2. รัฐสภาในปัจจุบัน ทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาเป็นอันยุบเลิกไป”
แต่เมื่อต่อมาตั้งจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีอีก จึงทำให้เห็นว่าการยึดอำนาจครั้งนั้น ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจที่จะล้มรัฐบาล แต่ต้องการล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 นั่นเอง
พอคณะบริหารประเทศชั่วคราวล้มรัฐบาลและล้มสภาแล้วได้บอกว่าจะนำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มาใช้ ผู้คนที่สนใจเรื่องการเมืองน่าจะแปลกใจ เพราะตอนที่คณะรัฐประหารซึ่งก็คือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ใน พ.ศ. 2494 ได้ยึดอำนาจใน พ.ศ. 2490 นั้น ได้เลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่งนั้น คณะรัฐประหารก็ได้ปิดฉากการมีอำนาจของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไปเกือบสิ้นเชิง เพียงแต่เก็บผู้ที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้เพียงบางคนเท่านั้น
การยึดอำนาจวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นี้ จำเลยสำคัญคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ดังจะเห็นได้จากเนื้อความในแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ที่อ้างว่า “รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้เปิดช่องทางให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชาติหลายประการ”
คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้แสดงความชื่นชมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ไว้มากเกินความคาดหมาย คนที่ไม่ได้ฟังหรืออ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 อาจไม่ทราบ จะขอยกมาให้พิจารณาโดยแถลงการณ์ได้อ้างถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
“ด้วยกระแสพระบรมราชโองการดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า เป็นพระราชประณิธานอันแรงกล้า ที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 สถิตสถาพรโดยไม่ถูกเลิกล้างและทำใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีแต่บทบัญญัติให้แก้ไข ไม่เป็นการสมควรที่ใครจะยกเลิกและสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าในชั่วเวลาไม่ถึง 20 ปี ก็ได้มีการแก้ไขและทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นหลายครั้ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้นั้นเสีย และก็ได้แลเห็นผลร้ายที่เกิดความยากลำบากให้แก่ประเทศชาติตลอดมาและยิ่งมาถึงเวลานี้ ในขณะที่สถานะการเมืองเข้าสู่ความคับขันอย่างยิ่งเช่นนั้น เป็นการแน่นอนว่าประเทศชาติไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ และหนทางเดียวที่จะรักษาประเทศชาติ ศาสนาและองค์พระมหากษัตริย์ไว้ก็คือ ต้องนำออกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้นั้น กลับมาใช้ใหม่”
ที่น่าสนใจพิเคราะห์ดูก็คือ เหตุใดคณะรัฐประหารจึงไม่ชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ทั้ง ๆ ที่ได้ร่างขึ้นสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เปิดทางให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่แล้ว
ดังนั้นการที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดทางให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยทั้งสองประเภทมีอำนาจเท่ากัน ส.ส. ประเภทแต่งตั้งจึงเป็นตัวช่วยรัฐบาล
ที่สำคัญ ตั้งแต่คณะรัฐประหารยึดอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 2490 มาจนถึง พ.ศ. 2494 เพียงเวลา 4 ปี รัฐบาลที่คณะรัฐประหารครอบงำอยู่นั้นต้องเจอความพยายามที่จะยึดอำนาจล้มรัฐบาลอยู่หลายครั้ง มีทั้งกบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง และกบฏแมนแฮตตัน
คณะรัฐประหารเมื่อไม่ชอบรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2492 แต่ไม่กล้าร่างรัฐธรรมนูญของตนขึ้นมาใช้แบบฉบับ พ.ศ. 2490 เพราะประชาชนไม่เชื่อถือ จึงต้องคิดไปอาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม เพราะชอบที่ให้มี ส.ส.ประเภท 2 ได้ ส่วนเรื่องอื่นก็จะไปอาศัยแก้ไขเพิ่มเติมเอา ดังที่ในปีถัดมาจึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ออกมาใช้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อยู่ยืนนาน มาจนถึงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จึงถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาล แต่ไม่ได้ล้มรัฐธรรมนูญ