พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น พุทธศักราช 2542
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งเพื่อถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น พุทธศักราช 2542 เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้หากเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นคนใดไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น พุทธศักราช 2542 ได้แก่ การกำหนดวิธีและขั้นตอนการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งวิธีการพิจารณาคัดค้านการลงคะแนนเสียง ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดได้ดังนี้
การเข้าชื่อขอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
1.1หากประชาชนเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นคนใดไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป จะต้องเข้าชื่อร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะต้องถือตามเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
- 1.ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินจำนวน 100,000 คน จะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
- 2.ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 100,000 – 500,000 คน จะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
- 3.ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 500,000 – 1,000,000 คน จะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
- 4.ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 1,000,000 คนขึ้นไป จะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 30,000 คนของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
1.2 การจัดทำคำร้องเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะต้องมีรายละเอียดดังนี้
- 1.ชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุหรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
- 2.รายละเอียดของข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นคนใดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะประสงค์ให้ลงคะแนนเสียงถอดถอนนั้นมีการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างไรจนเป็นเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
- 3.รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- 4.คำรับรองของผู้แทนของผู้เข้าชื่อที่มีอำนาจดำเนินกิจการให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนตามข้อ 3 ว่าผู้เข้าชื่อทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นและเป็นผู้ร่วมเข้าชื่อด้วยตนเอง
1.3 สำหรับกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ส่งคำร้องให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนนั้นภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำร้องนี้ และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นจัดทำคำชี้แจง แล้วให้ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำร้องจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายใน 7 วัน ทั้งนี้ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการแทน ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลนั้นแทน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำชี้แจงหรือครบกำหนด แล้วแต่กรณี เพื่อจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดจะต้องประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด และประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงไว้ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร และที่ลงคะแนนเสียงหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่ลงคะแนนเสียงไมน้อยกว่า 20 วัน ก่อนวันลงคะแนนเสียง นอกจากนี้ยังให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้แทนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ปิดประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าว พร้อมคำร้อง คำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสมาชิกสภาท้องถิ่นถ้าหากมี
1.4 การกำหนดหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดหน่วยลงคะแนนเสียงที่พึงจะมีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงจำนวนสิทธิลงคะแนนเสียงในแต่ละหน่วยลงคะแนนและความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและประกาศให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทราบไม่น้อยกว่า 20 ก่อนวันลงคะแนนเสียง และประกาศให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทราบไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนลงคะแนนเสียง และในกรณีจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนนเสียง จะต้องประกาศให้ทราบก่อนวันลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 5 วัน เว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉินจะประกาศการเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนเสียงน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
1.5 กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในหน่วยลงคะแนนเสียง โดยให้มีประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน อย่างไรก็ตาม หากในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้ง มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึง 5 คน ให้กรรมการที่เหลืออยู่แต่งตั้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงจนครบ 5 คน
กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีหน้าที่ดำเนินการและรักษาความเรียบร้อยในการลงคะแนนเสียงและการนับคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้ง และหากกรณีที่มีผู้ใดขัดขวางการลงคะแนนเสียง กรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกไปจากหน่วยลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดขวางการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
การลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนการลงคะแนนถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
2.1 การลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทำเครื่องหมายในช่องที่ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับการให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกร้องขอให้ลงคะแนนเสียงถอดถอน ส่วนลักษณะและขนาดของบัตรลงคะแนนเสียงก็ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
2.2 ในวันลงคะแนนเสียงให้เปิดการลงคะแนนเสียงตั้งแต่เวลา 08.00 -15.00 น.
2.3 ก่อนเริ่มเปิดให้มีการลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงนับจำนวนบัตรลงคะแนนเสียงทั้งหมดของหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรทั้งหมดในที่ลงคะแนนเสียงไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงเปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงในที่เปิดเผยและแสดงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงซึ่งอยู่ในที่ลงคะแนนเสียงนั้นเห็นว่าเป็นหีบเปล่า แล้วปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงและให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 คน ซึ่งอยู่ในที่ลงคะแนนเสียงขณะนั้นลงชื่อในบันทึกนั้นด้วย ยกเว้นว่าจะไม่มีผู้ลงคะแนนเสียงอยู่ในขณะนั้น
2.4 ในวันลงคะแนนเสียง ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียง พร้อมกับแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
2.5 เมื่อคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงแล้ว ต้องอ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดังๆ ถ้าไม่มีใครทักท้วงก็ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง โดยให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตรไว้ แล้วจึงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงลงชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อไว้เป็นหลักฐาน กรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงจึงจะมอบบัตรลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนนเสียงได้ แต่หากมีผู้ทักท้วงหรือกรรมการที่ประจำหน่วยลงคะแนนเสียงสงสัยว่าไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง คณะกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงจะเป็นผู้สอบสวนและวินิจฉัย หากคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง คณะกรรมการจะต้องทำบันทึกคำวินิจฉัยและให้ผู้ถูกสงสัยลงชื่อไว้ด้วย พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียง
2.6 หากคณะกรรมการลงคะแนนเสียงไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย หรือเหตุสุดวิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันลงคะแนนเสียง คณะกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงจะต้องกำหนดสถานที่ลงคะแนนเสียงใหม่ที่ผู้มีลงคะแนนสามารถมาใช้สิทธิได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่สามารถกำหนดสถานที่ลงคะแนนเสียงได้ ก็ให้ประกาศงดลงคะแนนในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น ทั้งนี้ คณะกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนเสียงดังกล่าวจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน หลังจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำหนดวันลงคะแนนเสียงใหม่ในหน่วยลงคะแนนนั้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบว่าเหตุให้ไม่สามารถลงคะแนนได้นั้นได้สงบแล้ว และต้องประกาศก่อนวันลงคะแนนเสียงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
2.7 เมื่อถึงเวลาปิดการลงคะแนนเสียง คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงจะต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนบัตรลงคะแนนเสียงทั้งหมด จำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรที่เหลือ โดยกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะต้องลงชื่อและประกาศให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทราบ
บัตรเสีย
ตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้กำหนดลักษณะของบัตรเสียไว้ดังต่อไปนี้
1.เป็นบัตรปลอม
2.เป็นบัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
3.เป็นบัตรที่ทำเครื่องหมาย จนไม่สามารถรู้ได้ว่าลงคะแนนเสียงในทางใด
4.เป็นบัตรที่มีลักษณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
ถ้าพบว่าเป็นบัตรเสียตามลักษณะข้างต้น ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงสลักหลังในบัตรเสียว่า “เสีย” และต้องระบุเหตุผลที่เป็นบัตรเสียด้วย พร้อมกับลงชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่า 2 คน และไม่ให้นับบัตรเสียเป็นคะแนน
การนับคะแนนและการประกาศผล
การนับคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. เมื่อหมดเวลาการลงคะแนนเสียงถอดถอน คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงแต่ละแห่งจะต้องนับคะแนน ณ ที่ลงคะแนนเสียงนั้นโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้น เมื่อนับผลคะแนนเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศผลการลงคะแนนเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด
2. กรณีมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ให้ถือว่าการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลนั้นเป็นอันตกไป และจะมีการร้องขอให้ลงคะแนนเสียงถอดถอนบุคคลดังกล่าวด้วยเหตุผลเดียวกันอีกไม่ได้
3. กรณีมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และมีคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกร้องขอให้ถอดถอน ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ เมื่อได้ประกาศผลการลงคะแนนเสียงแล้ว ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเห็นว่าการลงคะแนนเสียงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการลงคะแนนเสียงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการลงคะแนนเสียง หากคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วว่าการลงคะแนนเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้มีการจัดลงคะแนนเสียงใหม่ ยกเว้นว่าการลงคะแนนเสียงใหม่นั้นจะไม่ทำให้ผลการลงคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านนั้นเสียง
วิธีพิจารณาการคัดค้านการลงคะแนนเสียง
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การพิจารณาการคัดค้านการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ โดยมีลำดับวิธีการพิจารณาการคัดค้านการลงคะแนนเสียงและสิทธิของผู้ถูกคัดค้าน ดังนี้
5.1 ขั้นตอนการยื่นคำร้อง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าการลงคะแนนเสียงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องโดยกฎหมายแล้ว ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านการลงคะแนนเสียงคัดค้านผ่านผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายใน 30 วัน แล้วผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะรับคำร้องคัดค้านและส่งไปยังเลขาธิการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในคำร้องดังกล่าวจะต้องระบุข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่ามีการกระทำให้การลงคะแนนเสียงเป็นไปไม่ถูกต้อง รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลา และสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นั้นด้วย พร้อมทั้งจะระบุพยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานบุคคลด้วย และเมื่อยืนคำร้องคำคัดค้านแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะออกใบรับให้แก่ผู้คัดค้าน และบันทึกลงรับคำร้องคัดค้านไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้คัดค้านต้องการจะขอแก้ไขเพิ่มเติมในคำร้องคัดค้านนั้น หากพ้นระยะเวลายื่นคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านจะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้
5.2 การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาสั่งรับหรือไม่รับคำร้องคัดค้าน โดยจะต้องดำเนินการภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องคัดค้าน หากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีการพิจารณาให้รับคำร้อง ก็จะส่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนดำเนินการต่อไป แต่ถ้าหากคณะกรรมการการเลือกประจำจังหวัดตั้งไม่รับคำร้องคัดค้าน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา หากผลการพิจารณาไม่รับคำร้องคัดค้าน ก็ให้ส่งเรื่องให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสั่งจำหน่ายเรื่องและแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ แต่ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้รับคำร้องคัดค้าน ก็ให้ส่งเรื่องให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้คัดค้านอาจจะขอถอนคำร้องคัดค้านเมื่อใดก็ได้ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะเริ่มทำการพิจารณาสำนวน ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้
หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะต้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว ยกเว้นว่าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะเห็นว่าคำร้องคัดค้านนั้นไม่จำเป็นต้องสืบสวนต่อไป ก็ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำความเห็นหรือข้อสังเกต แล้วจึงเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาต่อไป
หากมีการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่าข้อคัดค้านมีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องเสนอให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเรียกผู้ถูกคัดค้านมาเพื่อแจ้งและอธิบายข้อคัดค้าน และแจ้งสิทธิที่จะกระทำได้ตามระเบียบการพิจารณานี้ให้ผู้คัดค้านได้รับทราบ
หากผู้ถูกคัดค้านปฏิเสธข้อคัดค้าน เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป และในกรณีที่ผู้ถูกคัดค้านไม่มารับทราบข้อคัดค้าน เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องส่งสรุปข้อคัดค้าน และจะต้องมีหนังสือถึงผู้ถูกคัดค้านโดยแจ้งให้ทราบทางไปรษณีย์ หากผู้คัดค้านยังไม่มารับฟังข้อคัดค้าน เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องบันทึกไว้ในสำนวนการสืบสวนสอบสวนไว้
5.3 กรณีที่พบว่ามีผู้อื่นเกี่ยวข้องกับผู้ถูกคัดค้าน หากสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่ามีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกคัดค้าน เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ แล้วดำเนินการสอบสวนผู้นั้นด้วย
5.4 สิทธิในการชี้แจงเหตุผลของผู้ถูกคัดค้าน ผู้ถูกคัดค้านมีสิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำโต้แย้งข้อคัดค้าน ก่อนที่จะเสนอรายงานสรุปสำนวนการสืบสวนสอบสวนต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
5.5 การใช้ภาษาในการสืบสวนสอบสวน กฎหมายกำหนดให้ใช้ภาษาไทยในการสืบสวนสอบสวน แต่หากมีความจำเป็นต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ หรือภาษาต่างประเทศให้เป็นภาษาไทย ก็ให้ใช้ล่ามแปล และหากผู้ให้การไม่สามารถพูด ได้ยินหรือเข้าใจภาษาไทย หรือสื่อความหมายได้และไม่มีล่าม เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องจัดหาล่ามหรือจัดให้ถามตอบ หรือใช้วิธีอื่น ๆ ที่สามารถสื่อความหมายได้ตามความเหมาะสม
5.6 การทำรายงานการสืบสวนสอบสวน เมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนเห็นได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ให้ทำรายงานการสืบสวนสอบสวนตามระเบียบที่กำหนดไว้ โดยจะต้องประกอบด้วย วัน เดือน ปีที่ทำรายงาน ชื่อผู้ถูกคัดค้านและผู้ถูกคัดค้าน สรุปคำให้การหรือคำชี้แจงผู้ถูกคัดค้านและพยานฝ่ายผู้ถูกคัดค้าน ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมความเห็นและเหตุผลประกอบ รวมทั้งหากมีความเห็นแย้ง ก็จะต้องระบุไว้ด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาลำดับขั้นของการพิจารณาคำคัดค้านในแต่ละชั้น จะพบว่าได้มีการพิจารณาใน 2 ลำดับชั้น ได้แก่
1) การพิจารณาชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด การลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ถือเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการ 1 คน มีคะแนนเสียง 1 เสียง ถ้าผลการลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานคณะกรรมการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เพื่อเป็นเสียงชี้ขาด และฝ่ายเสียงข้างน้อยก็สามารถทำความเห็นแย้งรวมไว้ได้ สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาจะต้องดำเนินการภายใน 10 วัน นับตั้งแต่ได้รับสำนวน หากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาสำนวนเกิน 10 วัน ก็สามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 วัน และจะต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายเวลารวมสำนวนไว้ด้วย
2) การพิจารณาชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับสำนวน คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคณะใดคณะหนึ่งพิจารณาสำนวนและความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดก่อนได้ และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการดังกล่าว หรือได้รับสำนวนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งทันที โดยการลงมติของคณะกรรมการเลือกตั้งให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก และในคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบคำสั่งนั้น และกรรมการการเลือกตั้งที่ลงมติทุกคนจะต้องลงลายมือชื่อในคำสั่งนั้นด้วย แล้วจึงส่งเรื่องให้เลขาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ และแจ้งผลให้ผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้านทราบ
5.7 การดำเนินคดีอาญา หากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยสั่งการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว พบว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามกฎหมาย คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมอบหมายให้เลขาธิการหรือพนักงานดำเนินการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
ข้อห้ามกระทำผิดการเลือกตั้งและบทกำหนดโทษ
6.1 หากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง มีความผิดต้องระวางโทษาจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.2 ผู้ใดกระทำการในระหว่างระยะที่จัดให้มีการลงคะแนนเสียงตามข้อห้ามที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำที่เป็นข้อห้ามดังกล่าว ได้แก่
- • ห้ามลงคะแนนเสียงหรือพยายามลงคะแนนเสียง ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง
- • ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรลงคะแนนเสียงมาลงคะแนนเสียง
- • ห้ามนำบัตรลงคะแนนเสียงออกไปจากที่ลงคะแนนเสียง
- • ห้ามทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดๆก็ตาม ไว้ที่บัตรลงคะแนนเสียง
- • ห้ามทำบัตรลงคะแนนเสียงชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสียโดยจงใจกระทำการ หรือกระทำการใดๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
- • ห้ามนำบัตรลงคะแนนเสียงใส่ในหีบบัตรลงคะแนนเสียงโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อลงคะแนนเสียงโดยผิดไปจากความเป็นจริง หรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้มีบัตรลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากความเป็นจริง
- • ห้ามกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขางไม่ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไปที่ลงคะแนนเสียงภายในเวลาที่กำหนดให้จัดมีการลงคะแนนเสียง
- • ห้ามเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นที่คำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือให้งดคะแนนเสียง
- • ห้ามเรียกทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อตนเองหรือผู้อื่นจะได้ลงคะแนนเสียงหรืองดลงคะแนนเสียง
- • ห้ามก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ลงคะแนนเสียงหรือกระทำการใดที่จะเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อการลงคะแนนเสียง หรือฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่นี้
- • ห้ามกระทำการกับหีบบัตรลงคะแนนหรือบัตรลงคะแนนด้วยวิธีกรเปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
6.3 หากคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงผู้ใดจงใจนับบัตรลงคะแนนเสียงหรือคะแนนที่ลงคะแนนเสียงผิดไปจากความเป็นจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำการด้วยประการใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้บัตรลงคะแนนเสียงชำรุดหรือหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรลงคะแนนเสียงให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือทำรายงานการลงคะแนนเสียงไม่ตรงความเป็นจริง จะมีความผิดระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ทั้งนี้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้ทำหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายฉบับนี้ และสำหรับกรุงเทพมหานคร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทน
ที่มา
พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พุทธศักราช 2542, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 116 ตอนที่ 104 ก, วันที่ 26 ตุลาคม 2542
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีพิจารณาการคัดค้านการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 120 ตอนที่ 13 ก, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546