เกษตรอุตสาหกรรมไทย (พ.ศ. 2531)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทย

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2531 นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม วุฒิสมาชิกและอดีตรองเลขาธิการพรรคราษฎร และนายอนันต์ บูรณวนิช รักษาการเลขาธิการพรรค ได้ยื่นขอจัดตั้งพรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทย ซึ่งในเวลาต่อมาพรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยได้รับอนุมัติการจดทะเบียนพรรคการเมืองโดยทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2531 ในทะเบียนพรรคเลขที่ 23/2531 โดยมีนายประวัติ สายทองสุก ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมีคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งสำคัญ ดังนี้

1. นายชูศักดิ์ ทาระคำ รองหัวหน้าพรรค

2. นายอนันต์ บูรณวนิช เลขาธิการพรรค

3. นายชัยศักดิ์ ทะไกรราช รองเลขาธิการพรรค

ด้านอุดมการณ์ของพรรคนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยได้กำหนดอุดมการณ์ของพรรคเมื่อครั้งยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองไว้ว่า “พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยจะยึดมั่นในการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคจะยึดถือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ อันจะก่อให้เกิดการเกิดดี กินดี อยู่ดี ตายดีของราษฎรสืบไป” โดยอุดมการณ์ดังกล่าวของพรรคได้ถูกใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของพรรคซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

นโยบายด้านการเมืองมุ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิของประชาชน ทั้งในด้านการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และสิทธิในการจัดตั้งกลุ่มหรือพรรคการเมืองระบบประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูป และแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองแบบโดยสันติวิธี รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้ช้าราชการสำนึกในหน้าที่บริการประชาชน เลิกใช้อำนาจบังคับแบบเผด็จการ หันมาใช้วิธีการแบบประชาธิปไตย คือ บังคับตามกฎหมาย เหตุผล และความต้องการอันชอบธรรมของประชาชน ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง

นโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยจะเร่งรัดปรับปรุงเศรษฐกิจโดยระดมทรัพยากรและกลไกต่างๆ เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท ส่งเสริมการธนาคาร ธุรกิจและอุตสาหกรรมพลังงาน การค้าต่างประเทศ ให้อยู่ในรูปของบริษัทมหาชนหรือรัฐเข้าไปมีส่วนในการบริหารดำเนินการเองตามความจำเป็น นอกจากนี้ พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยยังได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่งให้เป็นธุรกิจที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง มีระบบตรวจสอบควบคุมผลงานเช่นเดียวกับธุรกิจของเอกชน

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยจะเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยการปฏิรูปที่ดินอย่างเร่งด่วนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างทั่วถึง เร่งรัดการพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึง สนับสนุนและส่งเสริมให้สถาบันการเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อการเกษตรเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง และเป็นสถาบันที่ดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง โดยรัฐจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรและอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาที่ควบคู่กันไป

นโยบายด้านสังคม การศึกษา และการสาธารณสุขนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคมจากการแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา และการรับบริการต่างๆของรัฐ ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และปรับปรุงการศึกษาในชนบทในภาคการศึกษาประชาบาลและวิชาชีพให้ทั่วถึง ขยายขอบข่ายบริการรักษาพยาบาล และบริการสาธารณสุขให้เพียงพอที่จะบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดให้มีการประกันสังคม เพื่อให้บริการและความมั่นคงในชีวิตต่อบุคคลทุกอาชีพ

นโยบายด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยมุ่งหมายที่จะปฏิรูประบบงานของหน่วยราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้สามารถรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงและเป็นที่เชื่อถือได้

ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศนั้น พรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทยจะยึดถือนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ สร้างมิตรภาพและความร่วมมือกับทุกประเทศ โดยยึดหลักการเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ต่อต้านคัดค้านอำนาจจักรวรรดินิยมทุกรูปแบบ และสนับสนุนการทำงานของอาเซียนให้มีพลังและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับด้านการดำเนินกิจกรรมทางเมืองของพรรคนั้น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2531 นายอุบล บัวหลวงงาม ประธานสมัชชาพรรคเกษตรอุตสาหกรรมไทย และนายอนันต์ บูรณะวณิช เลขาธิการพรรค ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผ่านนายอาษา เมฆสวรรค์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐมนตรีทุกคนลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมีเหตุจากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 พรรคเกษตรอุตสาหกรรมก็ได้ยื่นขอเปลี่ยนชื่อพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองให้เป็น “พรรคเกษตรเสรี” และได้รับการอนุมัติจากนายทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 โดยได้ทำการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจากนายประวัติ สายทองสุข เป็น นายอนันต์ บูรณวนิช


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 104 หน้า 21-31

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 12 หน้า 18-20

สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 13 พ.ศ.2531 หน้า 369, 427, 449

สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 17 พ.ศ.2535 หน้า 102