องค์ประกอบและที่มาของการกำหนดองค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เนื่องจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนองค์กรของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และกลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543[1] ดังนี้
1. กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ | จำนวน 50 คน |
---|---|
ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคการผลิตหลักของประเทศ ได้แก่ | |
1. การผลิตด้านการเกษตร | จำนวน 16 คน |
2. การผลิตด้านการอุตสาหกรรม | จำนวน 17 คน |
3. การผลิตด้านการบริการ | จำนวน 17 คน |
2. กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ | จำนวน 49 คน |
กลุ่มในภาคสังคม | จำนวน 19 คน |
(1) การพัฒนาชุมชน | จำนวน 2 คน |
(2) การสาธารณสุข | จำนวน 2 คน |
(3) การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมและศาสนา | จำนวน 4 คน |
(4) การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ | จำนวน 2 คน |
(5) การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ | จำนวน 4 คน |
(6) การพัฒนาแรงงาน | จำนวน 4 คน |
(7) การคุ้มครองผู้บริโภค | จำนวน 1 คน |
กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร | จำนวน 16 คน |
(8) ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำทะเล อากาศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ | จำนวน 10 คน |
(9) การพัฒนาระบบการเกษตร | จำนวน 4 คน |
(10) การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม | จำนวน 1 คน |
(11) การพัฒนาระบบการบริการ | จำนวน 1 คน |
กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ | จำนวน 14 คน |
ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งในภาพรวม และในแต่ละกลุ่มนั้น ในการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กฎหมายได้กำหนดให้ต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนไปตามภาค อาชีพ เพศ และขนาดของกิจการ[2] โดยในกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในกลุ่มการผลิตด้านการอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกจ้าง และในกลุ่มการผลิตด้านการบริการจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ค้าอิสระหรือผู้ประกอบกิจการด้วยตนเองรายย่อยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เพื่อกระจายสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ในขนาดที่เหมาะสม อันจะก่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด คำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ใหญ่โตเกินไป.
ที่มา
พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548
พรรณราย ขันธกิจ. สารานุกรมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบัน พระปกเกล้า , 2552.
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : องค์กรสะท้อนปัญหา ... จากประชาสู่รัฐ. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2552.
ดูเพิ่มเติม
www.nesac.go.th/