กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ผู้เรียบเรียง นิภาพร รัชตพัฒนากุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ภายหลังจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นทางเลือกให้ไทยสามประการคือ หนึ่ง ขอให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย สอง ญี่ปุ่นกับไทยทำสัญญาพันธมิตรเพื่อป้องกันประเทศไทย และสาม ไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในการทำสงครามร่วมรุกร่วมรบกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในชั้นแรกไทยเลือกปฏิบัติตามข้อที่หนึ่งคือยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน แต่หลังจากการประชุมหลายครั้งระหว่างผู้แทนของกองทัพญี่ปุ่นกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ในที่สุดก็มีการร่วมลงนามใน “กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย” ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 กติกาสัญญาดังกล่าวมีผลให้ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว และตามด้วยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485
เนื้อหาของกติกาสัญญาดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายทางการทหารของญี่ปุ่นต่อไทยที่เน้นการดึงไทยเข้าเป็นพันธมิตรในการทำสงครามมากกว่าที่จะเข้าครอบครองอย่างที่ปฏิบัติกับอาณานิคมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์หรือสิงคโปร์ ลักษณะที่แตกต่างโดยเปรียบเทียบกับดินแดนอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าวเกิดจากเหตุปัจจัยที่สำคัญคือ เนื่องจากไทยเป็นดินแดนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของตะวันตกและโดยหลักการแล้วยังคงดำเนินนโยบายเป็นกลางในสงคราม นอกจากนั้นสภาพทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เชื่อมต่อกับอาณานิคมของอังกฤษคือพม่าและมลายู ทำให้ไทยมีความสำคัญในฐานะเป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นในการโจมตีดินแดนทั้งสอง ซึ่งญี่ปุ่นยังยึดครองไม่ได้ อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตเสบียงอาหารเพื่อป้อนกองทัพญี่ปุ่น และความอุดมสมบูรณ์ในการผลิตอาหารนี้เองยังทำให้ไทยเหมาะเป็นพื้นที่ตั้งรับในกรณีที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการทำสงครามอีกด้วย[1]
ความสำคัญของไทยต่อแผนยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นดังกล่าวของต้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับไทยเมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของกองทัพญี่ปุ่นที่ปฏิบัติต่อชาวพื้นเมืองอื่นในดินแดนที่เข้ายึดครอง ในขณะที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเองก็เล็งผลเลิศบางประการจากการให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ดังปรากฏในกติกาสัญญาพันธไมตรีที่มีข้อตกลงลับต่อท้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างไทยและญี่ปุ่น คือ ญี่ปุ่นจะสนับสนุนไทยให้ได้ดินแดนด้านมลายูและพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งบางส่วนของดินแดนดังกล่าวเป็นดินแดนที่ผู้นำไทยบางคนเชื่อว่าเป็นดินแดนที่สูญเสียให้กับจักรวรรดิตะวันตกในช่วงล่าอาณานิคม ในขณะที่รัฐบาลไทยจะได้อำนวยความสะดวกให้กับกองทัพญี่ปุ่น เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน การจัดหาที่ตั้งฐานทัพ[2] อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องเหตุผลที่ทำให้ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันว่าเหตุผลใดมีน้ำหนักมากน้อยเพียงไรที่ทำให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่น รวมทั้งมีความเต็มใจมากน้อยเพียงใดในการตัดสินใจดังกล่าว
ดังนั้นโดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรร่วมรบกันในสงคราม แต่ในทางปฏิบัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองค่อนข้างอ่อนไหวต่อความผันผวนของสถานการณ์สงครามตลอดช่วงระยะเวลาสี่ปี เพื่อสร้างกรอบระยะเวลาในการทำความเข้าใจความเป็นมาและบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เราสามารถแบ่งช่วงเวลาของความสัมพันธ์ออกได้เป็นสองช่วงคือ เมื่อเริ่มสงครามจนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ.2486 อันเป็นช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้เปรียบในการทำสงคราม และตั้งแต่กลาง พ.ศ.2486 จนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายตั้งรับ
การจัดตั้ง “กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย”
การบังคับบัญชาทางการทหารของญี่ปุ่นในระหว่างสงครามนั้นมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายครั้ง โดยมีการสั่งการสูงสุดอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่กรุงโตเกียว ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบนในพื้นที่ต่างๆ เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 มีเพียงฐานทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศสเท่านั้น จนกระทั่งภายหลังจากเข้ายึดดินแดนอาณานิคมตะวันตกได้บางส่วนแล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ที่เรียกว่า “กองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้” ที่สิงคโปร์
สำหรับทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเคลื่อนไหวในไทยช่วงระยะแรกก่อนจัดตั้งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ที่สิงคโปร์ จนกระทั่งเกิด “กรณีบ้านโป่ง” ที่เกิดการปะทะกันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับราษฎรและตำรวจไทยที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ชนวนเหตุของการปะทะกันเกิดจากทหารญี่ปุ่นลงโทษพระสงฆ์ไทยที่ให้บุหรี่แก่เชลยศึกผิวขาวที่กำลังก่อสร้างทางรถไฟด้วยการตบหน้า เหตุการณ์ดังกล่าวได้บานปลายใหญ่โตและทำให้พันธไมตรีที่เปราะบางระหว่างไทยและญี่ปุ่นเกิดรอยร้าวขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานราชการและราษฎรไทยเริ่มไม่ให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของกองทัพญี่ปุ่นมากขึ้น ดังนั้นภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปราะบางต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ จึงได้จัดตั้ง “กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก
อันที่จริงแล้ว “กรณีบ้านโป่ง” เป็นเพียงชนวนที่ทำให้ความไม่พอใจของรัฐบาลไทยต่อญี่ปุ่นที่สั่งสมมาก่อนหน้านี้เปิดเผยให้เห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพันธมิตรทั้งสองเริ่มสั่นคลอนภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจตั้งกระทรวงมหาเอเชียบูรพาขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการที่สัมพันธ์กับดินแดนต่างๆ ในวงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา การจัดตั้งกระทรวงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากการที่กิจการที่เกี่ยวกับประเทศไทยต้องเข้าไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาเอเชียบูรพาเช่นเดียวกับแมนจูก๊กและจีนที่มีรัฐบาลหุ่นของญี่ปุ่นปกครองอยู่นั้น ทำให้สถานะของไทยเปรียบเสมือนประเทศที่อยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นเรื่องสถานะของไทยในความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากต่อผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้น อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ไม่พอใจต่อการจัดตั้งกระทรวงดังกล่าว ภายในรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มีความเห็นต่อเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด[3]
สำหรับ ”กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” นั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 โดยมีกองบัญชาการอยู่ที่หอการค้าจีนที่ถนนสาทร กรุงเทพ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโทนากามุระ อาเคโตะ โดยมีหน้าที่สำคัญสองประการคือ ป้องกันไทยซึ่งเป็นที่มั่นแนวหลังให้กับสมรภูมิพม่าและมลายู และหน้าที่ในการดูแลกองทัพญี่ปุ่นที่เดินทัพผ่านประเทศไทย จะเห็นได้ว่าหน้าที่หลักทั้งสองของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีลักษณะในการดูแลความสงบเรียบร้อยมากกว่าที่จะเป็นกองทัพเพื่อการสู้รบ กล่าวจนถึงที่สุดก็คือการจัดตั้งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยก็เพื่อรักษาวินัยของทหารญี่ปุ่นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองนั่นเอง[4]
จากเป้าหมายดังกล่าวทำให้กองทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยไม่ได้มีกองกำลังที่ใหญ่โตนัก แต่เกิดจากการรวบรวมเอากองกำลังบางส่วนที่เคยสังกัดอยู่กับกองบัญชาการใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยย้ายมาสังกัดกับหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้[5] ภาระกิจอันดับแรกๆ ในการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เช่น การจัดการกับปัญหาหนี้สินที่กองทัพญี่ปุ่นได้ติดค้างรัฐบาลและราษฎรท้องถิ่นตลอดระยะประมาณหนึ่งปีนับตั้งแต่กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานในไทย การจัดพิมพ์คู่มือสำหรับทหารญี่ปุ่นเกี่ยวกับมารยาทและการปฏิบัติตัวกับชาวไทย[6]
แม้ความพยายามดังกล่าวจะทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทย-ญี่ปุ่นไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม แต่ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการรักษาพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองคือ สถานการณ์สงคราม ดังนั้นภายหลังจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นในสงครามนับตั้งแต่กลางปี 2486 ความร่วมมือจากฝ่ายไทยก็ดูจะเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากขึ้น ในเดือนกรกฎาคมนายกรัฐมนตรีโตโจ ฮิเดกิ ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพและได้ตัดสินใจยกเมืองเชียงตุงและเมืองพานในรัฐฉานและสี่รัฐในมลายูให้กับไทย นัยว่าเพื่อหวังจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยตามที่ตกลงไว้ในสนธิสัญญา[7] ตลอดจนการจัดประชุมมหาเอเชียบูรพาในเดือนพฤศจิกายน โดยหวังว่าการตอกย้ำถึงอุดมการณ์วงไพบูลย์ร่วมกันจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้ผลนัก จนเมื่อความเสียเปรียบในสงครามของกองทัพญี่ปุ่นปรากฏให้เห็นเด่นชัดและรับรู้กันทั่วไปภายหลังจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มโจมตีกรุงเทพครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2486 การเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยก็เริ่มเกิดขึ้น
ก่อนหน้าที่กรุงเทพจะถูกโจมตีทางอากาศไม่นานได้มีคำสั่งจัดตั้งกองพลน้อยที่ 29 เพื่อเพิ่มกำลังทหารประจำในกรุงเทพ และตั้งกองทัพที่ 29 ขึ้นเพื่อรับผิดชอบในเขตมลายูซึ่งหมายถึงดินแดนตอนใต้ของชุมพรลงไป[8] การปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่อเค้าให้เห็นถึงภาระกิจใหม่ของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่และโครงสร้างของ “กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2487 เพื่อให้เป็นกองกำลังสำหรับการสู้รบ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "กองทัพที่ 39"[9] และเพียงหนึ่งเดือนก่อนสิ้นสงครามได้ยุบเลิกกองทัพที่ 39 โดยเปลี่ยนเป็น “กองทัพภาคที่ 18“ มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับกองทัพที่ 39 แต่เพิ่มหน้าที่พิเศษคือการป้องกันรักษากรุงเทพ โดยมีกำลังทั้งหมดราวหนึ่งแสนห้าหมื่นนาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารที่ถอยร่นมาจากพม่า และย้ายมาจากมลายูและอินโดจีนฝรั่งเศส[10] แต่ยังไม่ทันที่กองทัพที่ปรับขึ้นใหม่นี้จะได้ลงมือปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็สิ้นสงครามเสียก่อน
การร่วมงานกันระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองทัพและพลเรือนไทยในระหว่างสงคราม
กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำในไทยสามารถแยกตามภารกิจได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือกองทหารที่มีหน้าที่ในการทำสงครามโดยทั่วไป เช่น กองทัพที่ 15 ซึ่งเป็นกองกำลังที่ยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม[11] และกองทหารที่รับผิดชอบในการดูแลเส้นทางรถไฟ
สำหรับความร่วมมือระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทยเกิดขึ้นภายหลังจากการทำ “ข้อตกลงร่วมรบระหว่างญี่ปุ่น-ไทย” เมื่อต้นปี พ.ศ.2485 ถึงแม้ข้อตกลงฉบับนี้จะใช้คำว่าร่วมรบแต่อันที่จริงแล้ว กองทัพญี่ปุ่นหมายถึงการที่กองทัพไทยจะต้องอยู่ภายใต้การชี้นำของญี่ปุ่น[12] ซึ่งการร่วมรบระหว่างทหารญี่ปุ่นและทหารไทยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เปรียบในการรบด้านพม่าตลอดจนถึงยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลพิบูลสงครามมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ครอบครอง เนื่องจากความเชื่อที่ว่าดินแดนดังกล่าวคือดินแดนที่ไทยสูญเสียให้กับอังกฤษในสมัยล่าอาณานิคม
ความปรารถนาดังกล่าวของไทยได้รับการตอบสนองจากกองทัพญี่ปุ่นและนำมาสู่การทำ “เค้าโครงในการร่วมรบระหว่างญี่ปุ่น-ไทยต่อจีน” ในเค้าโครงดังกล่าวกองทัพพายัพของไทยซึ่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของญี่ปุ่นโดยมีพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบุกพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ได้บุกเข้าไปทางรัฐฉานของพม่าและเข้ายึดเชียงตุงซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 93 ของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2485 แต่ภายหลังจากเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวได้แล้วก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพใหญ่ภาคใต้ของญี่ปุ่นกับกองทัพพายัพของไทยในเรื่องการครอบครองดินแดนในรัฐฉาน ซึ่งสุดท้ายความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงภายหลังจากญี่ปุ่นยกเมืองเชียงตุงและเมืองพานให้กับไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2486 เมื่อคราวที่นายพลโตโจเดินทางมาเยือนกรุงเทพ[13]
กองทหารญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาประจำในประเทศไทยคือกองทหารที่รับผิดชอบในการดูแลเส้นทางรถไฟ ซึ่งแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ กองพลทหารรถไฟที่ทำหน้าที่ดูแลการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟที่มีอยู่แล้วในไทย เช่น กองพลทหารรถไฟที่ 7 ดูแลทางรถไฟสายตะวันออกและสายเหนือ กองพลทหารรถไฟที่ 11 ดูแลทางรถไฟสายใต้ กองทหารส่วนนี้เข้ามาปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงแรกของสงคราม ในขณะที่กองพลทหารรถไฟอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลการสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่าในส่วนที่อยู่ในเขตประเทศไทย เช่น กองพลทหารรถไฟที่ 9 ซึ่งเข้ามาปฏิบัติภารกิจภายหลังจากญี่ปุ่นเริ่มวางโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่าเมื่อปลายปี 2485
แม้กองพลทหารรถไฟจะมีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศไทยแต่ก็ไม่ได้สังกัดอยู่กับกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่หอการค้าจีน แต่มีสำนักงานแยกต่างหากอยู่ที่สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงเทพ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพใหญ่แห่งภาคพื้นทิศใต้ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ในมลายู ส่วนกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีหน้าที่เฉพาะการติดต่อกับรัฐบาลไทยและให้ความช่วยเหลือโครงการสร้างทางรถไฟเท่านั้น
โครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่าเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากในการส่งกำลังบำรุงทางทะเลไปยังร่างกุ้ง เนื่องจากการโจมตีจากเครื่องบินและเรือดำน้ำของฝ่ายตรงข้ามที่เป็นไปอย่างหนักหน่วง การสร้างทางรถไฟมีทั้งสิ้นสองสาย คือ สายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ทันบีอูซายัต (ทางรถไฟสายไทย-พม่า) และสายชุมพร-กระบุรี (ทางรถไฟสายคอคอดกระ) การสร้างเส้นทางรถไฟทั้งสองสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบากและกำหนดการในการก่อสร้างที่เป็นไปอย่างเร่งรีบ ทำให้ต้องระดมทรัพยากรและแรงงานเพื่อการก่อสร้างจำนวนมาก แม้ทางรถไฟสายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ทันบีอูซายัด จะถูกเรียกขานในนาม “ทางรถไฟสายมรณะ” แต่ความสำเร็จในการก่อสร้างที่ใช้เวลาเพียงประมาณหนึ่งปีก็สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทัพญี่ปุ่น ตลอดจนถึงกลุ่มพ่อค้าเมืองหลวงและพ่อค้าท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง รวมทั้งการจัดจ้างแรงงาน เช่น จีน มลายู ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในการก่อสร้างทางรถไฟ
การปะทะกันระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองทัพและพลเรือนไทยในระหว่างสงคราม
นอกเหนือจากการต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาที่มีการจัดตั้งเป็นขบวนการอย่างขบวนการเสรีไทย ตลอดจนการจัดพิมพ์ใบปลิว หนังสือพิมพ์ ของปัญญาชนนักคิดนักหนังสือพิมพ์ในเขตเมืองแล้ว ในระยะเวลาสี่ปีที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานในไทยเกิดการปะทะกันระหว่างกองทหารญี่ปุ่นกับข้าราชการหรือพลเรือนไทยครั้งใหญ่ๆ สองครั้ง คือ กรณีบ้านโป่งที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว และเหตุการณ์ปะทะกันที่จังหวัดระนอง
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นนั้นอ่อนไหวไปตามความผกผันของภาวะสงคราม ดังนั้นนับตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2487 เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายตั้งรับในสงครามมากขึ้น ท่าทีระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นจึงมีความไว้วางใจกันน้อยลง เนื่องจากผู้นำไทยบางส่วนได้แอบติดต่อกับรัฐบาลจีนที่จุงกิงและฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ท่าทีของกองทัพญี่ปุ่นมีลักษณะแทรกแซงและคุกคามไทยมากกว่าในระยะแรก ความหวาดระแวงดังกล่าวชัดเจนมากขึ้นภายหลังนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มั่นใจต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “ทหารญี่ปุ่นยึดเมืองระนอง” ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487 โดยทหารญี่ปุ่นประจำวิคตอเรียพอยด์ได้เข้ายึดสถานีตำรวจ ที่ทำการทหารและไปรษณีย์ที่จังหวัดระนอง นำมาสู่การปะทะกันเป็นเหตุให้ทหารตำรวจและราษฎรไทยเสียชีวิตหลายสิบคน
นอกเหนือจากการปะทะใหญ่ทั้งสองครั้งที่จังหวัดราชบุรีและระนอง ยังมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับข้าราชการและพลเรือนไทยที่มักเกิดขึ้นตามพื้นที่ที่มีฐานทัพของญี่ปุ่นตั้งอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีที่ตั้งคลังอุปกรณ์ ฐานในการลำเลียงและส่งกองกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่น ตลอดจนพื้นที่แนวเส้นทางก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ซึ่งมักจะเกิดเหตุการณ์ลักขโมยสิ่งของต่าง ๆ จากสถานที่ตั้งของกองทหารญี่ปุ่น รวมทั้งขัดขวางการขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟ ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นขบวนการย่อยๆ ที่ไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างชัดเจน แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนได้รับฉายาว่า ขบวนการไทยถีบ หรือกรณีที่กองทัพญี่ปุ่นพยายามเข้าใช้อาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยพลการก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเองก็รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี
ที่มา
ดำริห์ เรืองสุธรรม. ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2544.
ทวี ธีระวงศ์เสรี. สัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524.
นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากงานค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการญี่ปุ่น-ตะวันตก-ไทย : บทสำรวจสถานภาพแห่งความรู้. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549
นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “ไทย-ญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม: บางแง่มุมจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม” วารสารธรรมศาสตร์. 27:1 (ธันวาคม 2547): 140-166
โยชิกาวา โทชิฮารุ. สัญญาไมตรี ญี่ปุ่น-ไทย สมัยสงคราม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
พรรณี บัวเล็ก. จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นกับพัฒนาการทุนนิยมไทย : ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 (พ.ศ.2457-2484). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540.
พวงทิพย์ เกียรติสหกุล. “กองทัพญี่ปุ่นกับทางรถไฟสายใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ.2484-2488.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
มาซาโอะ เซโตะ. ชีวิตของมาซาโอะ เซโตะ ผู้ถูกพ่อและญี่ปุ่นทอดทิ้ง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : บริษัท เซอิอูน (ประเทศไทย), 2548.
สายหยุด เกิดผล. มองญี่ปุ่นไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดบันทึกพลเอกสายหยุด เกิดผล พ.ศ.2484-2488. กรุงเทพฯ : อาร์ต โปรดักชั่น. 2550
อาเคโตะ นากามูระ. ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546
อ้างอิง
- ↑ พวงทิพย์ เกียรติสหกุล, “กองทัพญี่ปุ่นกับทางรถไฟสายใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ.2484-2488.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 54-56.
- ↑ ทวี ธีระวงศ์เสรี, สัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่น, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524), หน้า 134.
- ↑ นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “ไทย-ญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม: บางแง่มุมจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม” วารสารธรรมศาสตร์, 27:1 (ธันวาคม 2547) , หน้า 140-166.
- ↑ โยชิกาวา โทชิฮารุ, สัญญาไมตรี ญี่ปุ่น-ไทย สมัยสงคราม, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2550), หน้า78.
- ↑ อาเคโตะ นากามูระ, ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), หน้า 20.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 48-53.
- ↑ โยชิกาวา โทชิฮารุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 85.
- ↑ อาเคโตะ นากามูระ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 129-131.
- ↑ พวงทิพย์ เกียรติสหกุล, เรื่องเดียวกัน, หน้า 75.
- ↑ อาเคโตะ นากามูระ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 183-186.
- ↑ ทวี ธีระวงศ์เสรี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 137.
- ↑ โยชิกาวา โทชิฮารุ, เรื่องเดียวกัน
- ↑ พวงทิพย์ เกียรติสหกุล, เรื่องเดียวกัน, หน้า 84-93.