ตาลปัตรพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:25, 9 กันยายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ผ้าปักไหม

36.3 X 94.5 เซนติเมตร

เป็นพัดหน้านาง พื้นเขียว ทำด้วยผ้าแพร ใจกลางพัดปักไหมเป็นภาพพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ ประกอบด้วยพระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต อันเป็นราชศาตราวุธของพระราม ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ รอบขอบพัดปักอักษรข้อความ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บรมราชาภิเษก ๒๔๖๘ นมพัดทำด้วยทองเหลืองรูปกลีบบัว ด้ามไม้ คอ และส้นพัดเป็นทองเหลือง

ประวัติความเป็นมา

ตาลปัตรพัดรองบรมราชาภิเษกเล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและสร้างขึ้นจำนวน 80 เล่ม เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 และถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์เข้ามาร่วมในพระราชพิธีจำนวน 80 รูป “ตาลปัตร” หมายถึง พัดที่ทำด้วยใบตาล คำว่า “พัด” เป็นคำนาม หมายถึง เครื่องโบกหรือกระพือลม ภาษาบาลีเรียกว่า “วิชนี” ภาษาไทยอาจแปลงเป็น “พัชนี” และต่อมาคงเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง “พัช” โดยออกเสียงว่า “พัด” ซึ่งคำนี้คงมีการเรียกกันจนลืมต้นศัพท์ไป

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ไทยนิยมถือพัดวิชนีที่มีลักษณะรูปรีงองุ้มคล้ายจวักและใช้ถือแทนตาลปัตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดรูปลักษณะของพัดแบบนี้ว่ารูปร่างไม่เป็นมงคล คล้ายจวักที่ใช้ตักแกง จึงทรงคิดดัดแปลงตาลปัตรให้มีรูปกลมมนคล้ายพัดใบตาล แต่ทำโครงขึ้นด้วยไม้ แล้วใช้ผ้าแพรอย่างดีคลุมทั้งสองด้าน ขลิบด้วยผ้าโหมด โปรดให้ใช้แทนตาลปัตรรูปงอแบบเดิม เรียกว่า “พัดรอง”

ในเวลาต่อมา “พัดรอง” เริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้น จากแบบที่เรียบง่ายแต่เดิม ได้มีการตกแต่งลายบนผ้าให้งามวิจิตรขึ้น จากหลักฐานพบว่าพัดรองที่เป็นงานปักอย่างสวยงาม มีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพัดรองของหลวงสั่งมาจากเมืองจีน ลายเป็นอักษร “จ” 3 ตัว อยู่ใต้พระเกี้ยวยอด พระราชทานในงานขึ้นพระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน แต่หาตัวอย่างไม่ได้สูญหายไปหมดแล้ว พัดรองต่อมาคือ พัดเอราวัณ ซึ่งพระราชทานในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีระกา พ.ศ. 2416 ก็สั่งมาจากเมืองจีนเหมือนกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2426 การทำพัดรองเริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนมากมักเป็นการปักดิ้น ปักเลื่อม และมีการตกแต่งด้วยวิธีการต่างๆ ตามความนิยม มีทั้งปักหรือใช้ผ้าทอพิมพ์ลายหรือบุผ้า เป็นต้น นอกจากจะนิยมทำพัดรองในงานมงคล อาทิ งานเฉลิมฉลองพระชนมายุ งานขึ้นพระตำหนักและงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีในงานอวมงคลด้วย ได้แก่ งานพระเมรุ เป็นต้น

อ้างอิง