กรณีที่ ๑ นายประสิทธิ์ จำปาขาว

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:06, 11 มีนาคม 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''กรณีที่ ๑ นายประสิทธิ์ จำปาขาว : ตัวอย่างของคนเกิดในประ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

กรณีที่ ๑ นายประสิทธิ์ จำปาขาว : ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศลาวจากบิดาสัญชาติไทยและมารดาสัญชาติลาว แต่เขาตกเป็นคนไร้รัฐเพราะไร้สถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร


ช่วง ๒ เดือนมานี้ “น้อย”ได้แต่มุ่งหน้าเข้าทุ่งนาเกี่ยวข้าวตั้งแต่เช้ายันค่ำ ได้ค่าจ้างวันละ ๑๕๐ บาท เรียกได้ว่าเป็นการหาเช้ากินค่ำขนานแท้ เพราะเขาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง เงินที่ได้มาใช้เลี้ยง ๒ ปากท้องแทบไม่พอพอหมดหน้าเกี่ยวข้าว เขาก็จะไปรับจ้างเกี่ยวถอนมันสัมปะหลัง จากนั้นก็รับจ้างปลูกและดูแลไร่มันต่ออีกหลายเดือนซึ่งได้ค่าแรงในราคาใกล้เคียงกัน

ชีวิตของเด็กหนุ่มวัยต้น ๓๐ ปีมีแต่คำว่ารับจ้างและรับจ้างอยู่ตามท้องไร่ท้องนาเรื่อยมา ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้นป.๖หากช่วงไหนไม่มีงานจริงๆก็ชักชวนเพื่อนวัยเดียวกัน ๓-๔ คนเข้าไปหาฟืนมาเผาถ่านขายได้กระสอบละร้อยกว่าบาท ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ แต่สมัยนี้ไม่ว่าไม้อะไรก็หาทำฟืนยากเต็มที วัฎจักรชีวิตตลอด ๓๖๕ วันของน้อยวนเวียนอยู่อย่างนี้ปีแล้วปีเล่า เพื่อความอยู่รอดของเขาและน้องชายน้อยไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก ทุกวันนี้เขายังเป็นคนเถื่อนของรัฐไทย เพราะไม่มีบัตรประชาชนเหมือนกันทั่วไป ทั้งๆที่เขาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยเต็มเปี่ยมความล้าหลังและ “ไร้ใจ”ของราชการไทย ทำให้ชีวิตคนเล็กคนน้อยต่างเผชิญชะตากรรมต่างๆนาๆ น้อยมีชื่อเต็มว่านายประสิทธิ์ จำปาขาว เป็นชาวบ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่เขาเกิดที่แขวงจำปาสัก อีกฟากหนึ่งของฝั่งโขง ในประเทศลาว

เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน พ่อของน้อยและญาติพี่น้องชักชวนกันข้ามฝั่งโขงไปทำมาหากินที่จำปาสัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนย่านนี้ที่ต่างโยงใยกันมาแต่ดั้งเดิม หากช่วงใดที่เกิดความแห้งแล้งหรือมีภัยต่างๆก็อพยพไปยังพื้นที่สมบูรณ์และอยู่เย็นกว่า แม่น้ำโขงไม่ได้มีหน้าที่เป็นเส้นแบ่งแดนหรือแยกชาวบ้านออกจากกัน ไม่เช่นนั้นคนโบราณคงไม่มีใครเรียกสายน้ำว่า “แม่”พ่อของน้อยได้เมียที่จำปาสัก เมื่อให้กำเนิดน้อยทั้งคู่โยกย้ายกลับมาอยู่บ้านบะไหเพราะช่วงนั้นภายในประเทศลาวตกอยู่ในสภาวะการสู้รบ เช่นเดียวกับคนท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่ต่างหนีภัยกลับมาอยู่อีกฟากหนึ่งของริมน้ำโขงบางส่วนอพยพเข้าไปอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยก็ได้บัตรสีและกลายเป็นบัตรประชาชนหมดแล้ว แต่คนอีกจำนวนมาก ย้ายกลับมาอยู่กับญาติพี่น้องเพราะไม่คิดว่าจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์ ในที่สุดทั้งหมดจึงตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับน้อยปัจจุบันชาวบ้านบะไหแทบทั้งหมู่บ้านต้องตกเป็น“คนเถื่อน” และไร้สิทธิต่างๆโดยสิ้นเชิง แม้แต่บริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องพึงจัดให้ เช่น น้ำปะปา ไฟฟ้า ก็ต้องจ่ายแพงกว่าคนทั่วไปเพราะต้องต่อพ่วงเอาจากที่อื่น เช่นเดียวกับเรื่องปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สุขภาพ ทุกคนที่บะไหต่างต้องเผชิญความยากลำบากกันถ้วนหน้าแม้มีพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใหม่ออกมาเปิดช่องให้แล้วก็ตาม แต่ใจคนของทางการยังคงเย็นชืดเหมือนเดิมหลังย้ายกลับมาปักหลักที่บ้านบะไห ครอบครัวของน้อยมีสมาชิกเพิ่มอีก ๑ คนคือน้องชายของน้อย ซึ่งเขาได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิความเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ แตกต่างจากน้อยที่แม้พยายามยื่นเรื่องไปแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วพ่อน้อยได้เสียชีวิต ส่วนแม่หนีไปอยู่กินกับผู้ชายคนใหม่ ปล่อยให้น้อยและน้องชายอยู่กันเพียงลำพัง “ผมก็อยากให้เขาเรียนสูงๆ เขามีโอกาสดีกว่าผม เพราะถึงผมเรียนไปก็เอาไปทำงานไม่ได้” น้อยพูดถึงความหวังของเขา แต่เป็นความหวังที่มลายไปแล้ว เมื่อสิ้นปีเทอมก่อน“เด”น้องชายของน้อยก็ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบป.๖ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับแวดการศึกษาของชาวบ้านที่นี่ แม้นโยบายด้านนี้ของประเทศจะเขียนไว้สวยหรูให้ทุกคนได้เรียนฟรี แต่ความเป็นจริงในชีวิตยังคงมีช่องว่างอยู่เสมอ

“ผมเองก็ไม่มีปัญญาส่งเขาด้วยแหละ”น้อยยอมรับตรงๆ เพราะลำพังค่าจ้างวันละ ๑๕๐ บาท และก็ไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน แค่ค่ากิน ค่าน้ำค่าไฟก็แทบไม่พอแล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ห้ามปรามอะไร เมื่อน้องชายบอกว่าจะไม่เรียนต่อ” “ถ้าเขาย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยม ต้องเสียค่ารถวันละ ๔๐ บาท ไหนจะค่ากินอีกล่ะ ตอนแม่ไปก็ไม่ได้ทิ้งเงินไว้ให้เลย” น้ำเสียงของน้อยไม่ได้ตั้งใจจะโทษแม่ เพียงแต่อยากอธิบายถึงความจำเป็นอันแสนเศร้าของหัวอกคนเป็นพี่ เพื่อนๆในหมู่บ้านของน้อยหลายคนยอมเสียเงินทำบัตรต่างด้าวเพื่อเข้าไปหางานทำในเมือง แต่น้อยทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเขามีภาระเรื่องน้องชาย บัตรประชาชนเพียงใบเดียวได้สร้างวงเวียนชีวิตอันยากลำเค็ญ และสร้างความแตกต่างได้แม้กระทั่งคนสายเลือดเดียวกัน แต่คนที่มีบัตรมักไม่เข้าใจและยอมไม่รับรู้ชะตากรรมของเพื่อนในสังคมเดียวกัน “พวกเราไม่ค่อยมีใครกล้าไปอำเภอหรอก แค่เจอเจ้าหน้าที่ก็สั่นแล้ว ยิ่งผมไม่มีหลักฐานอะไร มีแค่คำยืนยันจากอาว่าผมเป็นลูกพ่อที่เป็นคนไทยจริงๆ แต่คงไม่มีใครฟังหรอก” เขาไม่กล้าที่จะหวังอะไรอีกแล้ว เพราะประสบการณ์ในอดีตได้ดับความหวังเขาไปแล้วจนสิ้น ช่างเป็นเรื่องอันน่าหดหู่ที่ชีวิตในวัยหนุ่มและวัยเริ่มหนุ่มของน้อยกับเด แทนที่จะเป็นวัยที่เปี่ยมด้วยความหวังและแสงจรัส กลับต้องอยู่อย่างสิ้นหวังและมืดมน เช่นเดียวกับเยาวชนบ้านบะไหที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อนาคตของเดก็คงหนีไม่พ้นต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเช่นเดียวกับพี่ชาย ไม่รู้ว่าเรามีผู้บริหารประเทศกันทำไม หรือแค่เอาไว้แย่งชิงอำนาจกันเท่านั้น???