พลังราษฎร (พ.ศ. 2517)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:05, 11 สิงหาคม 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิป...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคพลังราษฎร

พรรคพลังราษฎรเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ทะเบียนเลขที่ 7/2517 หัวหน้าพรรคพลังราษฎร คือ ขุนจรรยาวิจารณ์ รองหัวหน้าพรรค คือ นายประสงค์ ชลายน เลขาธิการพรรค คือ นายสมเกียรติ ศุภโกวิท รองเลขาธิการพรรค คือ นายเจตน์ จามิกรณ์ กรรมการอำนวยการอื่น ได้แก่ นายบรรจง ลัมภสาระ นายราศรี ชูติพงศ์ นายวาส ศรีละม้าย นายประดิษฐ์ รัตนศร นายช่วง กัลยาณมิตร นายบุญกอ วชิโรภาสนันท์

นโยบายของพรรคพลังราษฎร

นโยบายด้านการเมือง พรรคพลังราษฎรจะดำเนินการทางการเมืองด้วยวิถีทางอันบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริตต่อปวงราษฎร โดยอาศัยหลักกฎหมายและเหตุผลเพื่อความศักดิ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างและปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังมีความนิยมนับถือการปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคพลังราษฎรมีจุดยืนตรงข้ามกับระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด ๆ และไม่สนับสนุนวิธีการของเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ๆ พรรคพลังราษฎรจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมิ่งขวัญของชาติไทยตลอดไป

นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคพลังราษฎรจะเคารพสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลและการสืบมรดก พรรคพลังราษฎรจะคำนึงถึงประโยชน์ของปวงราษฎรเป็นสำคัญ กิจการใดที่ราษฎรควรกระทำ รัฐพึงส่งเสริมไม่เข้าแทรกแซง กิจการใดที่เข้าแทรกแซงจะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรส่วนรวมแล้ว รัฐพึงเข้าแทรกแซงด้วยวิธีการเข้าดำเนินการเอง หรือจัดเป็นรูปสหกรณ์ตามควรแก่กรณี การจัดเก็บภาษีอากร ต้องให้เป็นธรรมแก่ปวงราษฎร พรรคพลังราษฎรจะไม่เพิ่มภาษีอากร และจะลดราคาค่ากระแสไฟฟ้า ลดค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ปวงราษฎร

พรรคพลังราษฎรจะแก้ไขและส่งเสริมอาชีพของราษฎร ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรทั่วประเทศอย่างจริงจังทุกวิถีทาง จะสร้างความมั่นคงในอาชีพของราษฎร โดยรัฐจะต้องเข้าช่วยเหลือหาตลาดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้ราษฎร พรรคพลังราษฎรจะกำจัดนายหน้าคนกลางที่คอยเอารัดเอาเปรียบราษฎรให้หมดสิ้นไป จะดึงเอาเศรษฐกิจของชาติมาอยู่ในมือของคนไทย จะปฏิรูปที่ดิน จัดสรรค์ที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรด้วยความเป็นธรรม

นโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม พรรคพลังราษฎรจะส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง จะส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับผลิตวัตถุดิบสังเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อแจกจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อลดการสั่งซื้อวัตถุดิบชั้นต้นสำหรับผลิตสินค้าจากต่างประเทศ

นโยบายด้านสังคม พรรคพลังราษฎรจะส่งเสริมให้การศึกษาทุกแขนงแก่บุตรหลานของราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า จะส่งเสริมการศึกษาโดยเน้นหนักไปในทางเทคโนโลยี และการศึกษาวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความชำนาญอย่างจริงจัง จะเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนไทยให้เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ เป็นนักต่อสู่การอาชีพ มุ่งอนาคต อดทน มานะเพียรพยายาม รู้จักคุณค่าของเวลา มองอนาคตมากกว่าปัจจุบัน มุ่งปลูกฝังสำนึกความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของกิจการ โดยเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนให้เลิกคิดถึงอาชีพรับราชการซึ่งพรรคพลังราษฎรเห็นว่าเป็นอาชีพที่ไม่อาจนำเศรษฐกิจของชาติให้รุ่งโรจน์ได้

นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคพลังราษฎรจะสนับสนุนนโยบายผูกไมตรีกับทุกชาติที่ไม่เป็นภัยต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย หรือแก่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคพลังราษฎรจะส่งเสริมผูกมิตรไมตรีกับชาติเพื่อนบ้านเพื่อรักษาความปลอดภัยร่วมกัน

นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรคพลังราษฎรจะคุ้มครองข้าราชการให้ได้รับความยุติธรรมปรับปรุงส่งเสริมสมรรถภาพสวัสดิการให้ดียิ่งขึ้น ให้ข้าราชมีทัศนติเลิกคิดว่าเป็นเจ้าขุนมูลนาย ให้สำนึกตนเป็นราษฎรอยู่เสมอ ทำงานเพื่อราษฎรให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วแข่งกับเวลาและยุติธรรม นอกจากนี้ พรรคพลังราษฎรจะไม่ละเลยการกวดขันปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเฉียบขาด ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายชาติและเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคพลังราษฎรส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคพลังราษฎร ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 92 ตอนที่ 193 วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518 หน้า 80-86.

สงวน คำวงษ์ศา, พรรคการเมืองของไทย, รัฐสภาสาร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มิถุนายน 2521), หน้า 1-16.

เสนีย์ คำสุข, ข้อมูลพื้นฐานพรรคการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2544, รัฐสภาสาร ปีที่ 49 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2544), หน้า 17-70.