ประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2489–2494)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:58, 10 มิถุนายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''พรรคประชาธิปัตย์ (2489 – 2494)''' หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

พรรคประชาธิปัตย์ (2489 – 2494)

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2475 - 2489 มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในสังคมไทยทั้งหมด 4 ครั้งคือวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476, วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480, วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481, และวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ซึ่งทั้ง 4 ครั้งนี้การสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ทำในนามพรรคการเมือง คณะราษฎร์ซึ่งเปรียบเสมือนพรรคการเมืองพรรคเดียวของสังคมไทย จึงมีคนของคณะราษฎร์อยู่ในสภาอยู่มาก

หลังการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดย ดร. ปรีดีพยายามผลักดันให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทแต่งตั้ง ทั้งยังให้วุฒิสภามีที่มาจากการคัดเลือกของ ส.ส. นอกจากนี้มีการเขียนระบุไว้ในมาตรา 14 ว่า บุคคลมีเสรีภาพที่จะรวมกลุ่มทางการเมืองเป็น “คณะพรรคการเมือง” ได้ แต่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 นั้นในปีเดียวกันก็ได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาก่อนแล้ว 4 พรรค ตามลำดับดังนี้ พรรคก้าวหน้า ก่อตั้งโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, พรรคสหภูมิ ตั้งขึ้นประมาณปลายปี พ.ศ.2488 หัวหน้าพรรคคือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ดร.ปรีดี พนมยงค์, พรรคแนวรัฐธรรมนูญ มีพล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรคตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ดร.ปรีดี พนมยงค์ เหมือนกัน แต่นโยบายหลักไม่ยึดแนวความคิดทางเศรษฐกิจของ ดร.ปรีดี ต่อมานายควง อภัยวงศ์ รวมกลุ่มกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคก้าวหน้า รวมกลุ่มนายเลียง ไชยกาล ส.ส.จากจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตกลงก่อตั้งพรรคและใช้ชื่อพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ม.ร.ว. เสนี ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรคและ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 5 วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ปรากฏว่ามี ส.ส. ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก โยมีหลวงธำรวนาวาสวัสดิ์เป็นนายยกรัฐมนตรี ที่ต่อมามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ลาออกเพื่อดำรงมารยาททางการเมือง ซึ่งต่อมาก็ได้รับเลือกกลับมาอีกครั้ง ทว่าไม่นานนักจอมพลผิน ชุณหวัณ, พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และ พล อ. สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้ทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และดร. ปรีดีได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่เวลานั้นไม่ได้มีการบังคับให้พรรคการเมืองหยุดดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จึงคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ 6 วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกมาถึง 53 ที่นั่งจาก 99 ที่นั่งเป็นเสียงข้างมากในสภา แม้นายควง อภัยวงศ์หัวหน้าพรรรคจะถูกบีบให้ลาออกโดยมีหลวงพิบูลสงครามดำรงตำแหน่งแทน พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงข้างมากก็ได้มีส่วนผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492

ช่วง พ.ศ. 2492 – 2494 เป็นช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆมาก ที่สำคัญคือมีความพยายามก่อรัฐประหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกคือกบฏวังหลวงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ที่นำโดยทหารเรือที่สนับสนุน ดร. ปรีดี และครั้งที่ 2 กบฏแมนฮัตตัน วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 แต่รัฐประหารไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะทหารนำโดยหลวงพิบูลสงครามประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2492 และนำรัฐธรรมนุญฉบับ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้อีกครั้ง และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกนี้จึงยุติกิจกรรมทางการเมืองลง


ที่มา

เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปีประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.

พรรคการเมืองไทย. http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=5929.msg47927