ประชาชนไทย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคประชาชนไทย (2547)
พรรคประชาชนยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2547[1] โดยมีนายบุญกาจ แจ้งพรมมา ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและนายไทกร พลสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค[2] แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2547[3] นายบุญกาจ แจ้งพรมมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาชนพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งทำให้ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2547[4] ซึ่งในครั้งนั้นพรรคได้หัวหน้าพรรคคนใหม่คือนายไทกร พลสุวรรณ ส่วนเลขาธิการพรรคคือนายวัฒนา สายแสน แต่แล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2547[5] นายวัฒนา สายแสน ก็ได้ลาออกจาการเป็นเลขาธิการพรรคทำให้ต้องมีการสรรหาเลขาธิการพรรคใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งหัวหน้าพรรคก็ได้แต่งตั้งนายสมชาติ ทองดีนอก ให้รักษาการตำแหน่งเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2548[6] สุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาชนไทย[7] ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสองเนื่องจากพรรคไม่ดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคจำนวนตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป กล่าวคือพรรคประชาชนไทยแจ้งว่าพรรคมีสมาชิกทั้งหมด 5,689 คน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจพบเพียง 5,151 คน จึงขอให้สำนักบริหารการทะเบียนตรวจสอบ ซึ่งผลก็คือไม่พบเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 534 คน จึงได้ให้ทางพรรคส่งหลักฐานการเพื่อยืนยันการมีตัวตนของสมาชิกพรรคแต่พรรคมิได้ดำเนินการแต่อย่างใดนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงดำเนินการพิจารณาจำนวนสมาชิกเท่าที่ตรวจพบซึ่งก็คือ 4,537 คน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าพรรคประชาชนไทยมีสมาชิกไม่ถึง 5,000 คนจึงเป็นเหตุให้พรรคถูกยุบในครั้งนี้นั่นเอง
สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคประชาชนไทยนั้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 47 คน[8] ส่วนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 89 คน[9] ซึ่งทั้งหมดมิได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด
รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ[10]
ด้านการเมืองและการปกครอง
1.ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพและปลูกจิตสำนึกให้รักชาติบ้านเมือง
2.สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3.แก้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
4.ส่งเสริมให้ข้าราชการประจำมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผย
5.กระจายอำนาจการปกครอง
6.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหมู่ข้าราชการ
7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
8.สร้างมาตรฐานและความเป็นธรรมในการเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการ
9.ปกป้อง คุ้มครอง เทิดทูนสถาบันกษัตริย์
ด้านเศรษฐกิจ
1.ทบทวนและพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.กำหนดมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
3.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร
4.กำหนดการใช้สอยพื้นที่อย่างเป็นระบบ
5.สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
6.กระจายความเจริญไปสู่ชนบท
7.ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค
8.ยกระดับมาตรฐานค่าครองชีพ
9.จัดตั้งองค์กรเศรษฐกิจแห่งชาติ
10.วางผังเมืองทั่วประเทศ
11.สนับสนุนและคุ้มครองผลผลิตภายในประเทศ
12.ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทย
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
1.แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในทุกระดับ
2.สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
3.จัดให้มีการประกันสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ
4.ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา
5.ปลูกฝังชาตินิยมให้แก่ประชาชน
ด้านการเกษตรและสหกรณ์
1.ปรับปรุง แก้ไขระบบสหกรณ์
2.ประกันการผลิตและราคาผลผลิตของเกษตรกร
3.พัฒนาเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ และขยายตลาดสินค้าดังกล่าว
4.ปรับปรุงระบบชลประทาน
5.พักชำระหนี้และปลดหนี้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ
ด้านการศึกษา
1.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดเวลาของเยาวชน
2.เด็กยากจนเรียนฟรี
3.พัฒนาครู พัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสม
4.พักชำระหนี้และปลดหนี้ครูอย่างเป็นระบบ
5.สนับสนุนการแปลตำราจากต่างประเทศ
ด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง
1.พัฒนาประสิทธิภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคาม
2.เพิ่มบทบาทของกองทัพทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
3.ผลิตอาวุธขึ้นใช้เอง
4.ปรับปรุงสวัสดิการทหาร
5.จัดให้มีการซ้อมรบ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ
6.จัดตั้งหน่วยตรวจสอบพิเศษเพื่อป้องกันภัยจากการก่อการร้าย
ด้านการต่างประเทศ
1.ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ
2.เป็นมิตรกับทุกประเทศ
3.ทบทวนสนธิสัญญาต่างๆที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ
4.รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1.สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์
2.สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ
3.ประยุกต์ใช้พลังงานธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรม
ด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม
1.ปรับปรุงคำสั่ง ประกาศ กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน
2.ขยายการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน
3.เพิ่มหลักประกันและความมั่นคงในการทำงาน
4.ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
5.ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์
6.จัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติสำหรับผู้ใช้แรงงาน
ด้านเด็ก สตรี เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม
1.ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย
2.จัดหางานที่เหมาะสมและสงวนงานบางประเภทไว้ให้สตรี
3.คุ้มครองสวัสดิภาพ เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส
4.คุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก
5.จัดให้มีองค์กรของรัฐที่จะคอยดูแลเด็กที่ถูกผู้ปกครองทอดทิ้ง
6.จัดระเบียบความเป็นอยู่ของนักโทษให้ดียิ่งขึ้น
ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
1.กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
2.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ
3.แก้ไขปัญหามลพิษ
4.นำเข้าพลังงานหลักจากต่างประเทศและเก็บพลังงานภายในประเทศไว้เป็นพลังงานสำรอง
ด้านการต่อต้านยาเสพติดและโรคติดต่อที่รุนแรง
1.ป้องกันและปราบปรามการผลิต
2.การนำเข้าและจำหน่ายยาเสพติด
3.จัดให้มีการบำบัดผู้ติดยาเสพติด
4.เข้มงวดกับการนำเข้ายาปราบศัตรูพืชที่มีสารพิษเจือปน สัตว์หรือพาหะนำโรคร้ายแรง รวมไปถึงชาติต่างชาติที่อาจนำมาซึ่งโรคติดต่อร้ายแรงได้
ด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค
1.ควบคุมโฆษณาบางชนิดที่ให้โทษต่อสุขภาพและร่างการของประชาชน
2.จัดให้มีการบริการสาธารณสุขที่ดีและทั่วถึง
3.ควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม
ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม
1.ป้องกันการผูกขาดของเอกชน
2.ยกเลิกสัมปทานที่เอาเปรียบประชาชน
3.จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4.ขยายเส้นคมนาคมทั่วประเทศ
5.สร้างรถไฟรางคู่
6.ป้องกันการลงทุนที่ซ้ำซ้อน
7.จัดระบบการจราจรทั่วประเทศให้เป็นระเบียบ
ด้านการกีฬา
1.สร้างสถานที่ฝึก ที่แข่งขันและที่พักผ่อนอย่างเพียงพอ
2.ส่งเสริม สนับสนุนการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน
3.ให้สวัสดิการนักกีฬาทีมชาติอย่างเหมาะสม
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 85ง หน้า 8
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 85ง หน้า 74
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 115ง หน้า 10
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 134ง หน้า 45
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 32ง หน้า 92
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 58ง หน้า 72
- ↑ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 10/2548 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548
- ↑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง,ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548 หน้า 27
- ↑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง,ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548 หน้า 35
- ↑ สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 85ง หน้า 8-27