ธรรมรัฐ (พ.ศ. 2542)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคธรรมรัฐ
พรรคธรรมรัฐจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542[1] โดยมีว่าที่ร้อยตรีอดิศักดิ์ วิชาชู[2] ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคธรรมรัฐ[3] ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 กล่าวคือพรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนดและมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งภายในระยะเวลาดังกล่าวนั้นพรรคธรรมรัฐมีสมาชิกเพียง 2,810 คนแม้ว่าหลังจากนั้นพรรคจะหารายชื่อสมาชิกเพิ่มเติมได้อีกรวมทั้งสิ้น 5,645 คนแต่ก็เป็นการพ้นช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการดังกล่าวแล้ว ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคธรรมรัฐ
รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ [4]
ด้านการเมืองการปกครอง
1.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างพรรคในลักษณะพรรคมหาชน
2.วุฒิสมาชิกควรเป็นตัวแทนจากกลุ่มชนต่างๆหลากหลายอาชีพ
3.แก้ไขกฎหมายลูกทุกข้อที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ด้านเศรษฐกิจ
1.พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง
2.พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน
4.กระจายรายได้อย่างทั่วถึง
5.ออกกฎหมายคุ้มครองธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มการเงินของหมู่บ้าน
6.สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง
7.สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการขนาดกลาง
8.ขุดคอคอดกระ
ด้านเกษตรกรรม
1.แก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยการประนอมหนี้
2.ส่งเสริมให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตรหรือสหกรณ์รับจำนำผลผลิตทางการเกษตร
3.จัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
4.จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ
5.กำหนดพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูก
6.ป้องกันการจดทะเบียนสิทธิบัตรสัตว์และพืชที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย
7.กำหนดปริมาณการเช่าที่ดินไม่เกินคนละ 100 ไร่
ด้านอุตสาหกรรม
1.ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน
3.กระจายโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่ชนบท
ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
1.จัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยว
2.สนับสนุนให้มีการสำรวจหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่
3.สนับสนุนการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรมและซื่อสัตย์
ด้านการศึกษา
1.ส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกคนโดยสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน12ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2.ปรับปรุงหลักสูตรการสอนให้มีความหลากหลาย
3.สนับสนุนให้ครูผลิตผลงานด้านการวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น
4.สนับสนุนเด็กที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการให้ได้แข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ด้านกีฬา
1.สนับสนุนให้มีการตั้งสถาบันทางพลศึกษาและการกีฬาในทุกจังหวัด
2. สนับสนุนให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการกีฬาให้ทันสมัย
3.ส่งเสริมให้มีการพัฒนากีฬาบางชนิดให้ไปสู่การเป็นกีฬาอาชีพ
4.นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนากีฬา
5.ส่งเสริมและอนุรักษ์กีฬาประจำท้องถิ่น
ด้านการศาสนา
1.สนับสนุนให้ทุกศาสนาในประเทศไทยจัดกิจกรรมที่ไม่ขัดกับกฎระเบียบของสังคมได้
2.คุ้มครองพุทธศาสนาโดยรวมเข้ากับองค์กรสงฆ์
ด้านศิลปวัฒนธรรม
1.สำรวจรวบรวมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านทุกภาคของไทย
2.พัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ร่วมกับการนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้
3.ส่งเสริมหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นให้ร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ
ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
1.พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ให้มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอกับความต้องการของสังคม
2.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นระบบ
3.ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4.ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน
5.เร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน
ด้านสาธารณสุข
1.สนับสนุนให้มีสถานพยาบาลอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพได้มาตรฐาน
2.สนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
3.ใช้สื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจด้านสุขภาพกับประชาชน
4.กำหนดมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรม
5.สนับสนุนการวิจัยด้านสมุนไพรไทย
ด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง
1.ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ทางกองทัพระหว่างกลุ่มอาเซียน
2.เสริมสร้างความทันสมัยให้กับกำลังพลและยุทโธปกรณ์
3.ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังพลระดับต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น
4.ส่งเสริมให้กองทัพช่วยเหลือสังคมยามสันติ
ด้านการต่างประเทศ
1.ส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศกับงานการทูตควบคู่กันไป
2.ตรวจสอบการรับการสนับสนุนจากต่างประเทศโดยมิให้ประเทศได้รับผลเสียหาย
3.ปรับปรุงระบบงานข่าวสารต่างประเทศให้ทันสมัย
ด้านการปฏิรูประบบราชการ
1.ส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการประชาชนในส่วนราชการระดับต่างๆ
2.สนับสนุนให้มีระบบราชการกระจายอำนาจ โดยเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการเสนอแนะ
3.ส่งเสริมให้หน่วยงานด้านความมั่นคงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากยิ่งขึ้น
4.ส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ด้านการปฏิรูปสื่อมวลชน
1.จัดตั้งองค์กรตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน
2.สนับสนุนให้มีระบบการสอบคัดเลือกเพื่อเป็นผู้สื่อข่าว
3.ส่งเสริมการจัดอันดับคุณภาพของสื่อมวลชน