การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 19 มีนาคม 2526
ผู้เรียบเรียง สุเทพ เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
มีไม่บ่อยครั้งนักที่เหตุแห่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริงมิได้เกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็นความขัดแย้งกันเองภายในพรรคการเมืองที่ร่วมบริหารราชการแผ่นดินด้วยกัน แต่ในคราวยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ ถือเป็นข้อยกเว้น และมีลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปจากคราวอื่น ๆ เพราะครั้งนี้เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคลี่คลายปมปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และเมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๓๐ วันเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน ๙๐ วัน
สาเหตุที่นำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร
ในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๒๑) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างระบบการเมืองให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ สร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงแก้ไขปัญหาโดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากแบบแบ่งเขต มาเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด ซึ่งรูปแบบเดิมนี้ใช้เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ กล่าวคือ จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไดไม่เกินสามคนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่หากจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไดเกินกว่าสามคนให้แบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสองคนและไม่เกินกว่าสามคน พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถส่งได้ไม่เกินจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี และประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเลือกหมายเลขใดก็ได้ไม่เกินจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี เมื่อได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด แต่กรุงเทพมหานครให้แบ่งออกเป็นสามเขต พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งต้องส่งผู้สมัครเป็นคณะตามจำนวนที่จังหวัดนั้นพึงมี และประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องเลือกเป็นคณะตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งบัญชีใดบัญชีหนึ่ง อันเป็นระบบเลือกตั้งที่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหวังให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและเหลือจำนวนน้อยลง
รูปแบบดังกล่าวนี้ มีผู้ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นเพราะเห็นว่าขัดกับเจตจำนงของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการบังคับให้ต้องเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองนั้นอาจจะมีผู้สมัครอยู่ในบัญชีที่ประชาชนไม่ต้องการเลือก และปิดทางเลือกของประชาชนเมื่ออาจมีผู้สมัครรายอื่นที่ต้องการเลือกแต่ไปมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการเลือก และที่สำคัญมองเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ไม่สามมารถป้องกันการ “แอบ” เข้ามาของนายทุน นักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพล เพื่อมานั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้
นอกจากประเด็นปัญหาเรื่องวิธีการเลือกตั้งแล้ว รัฐธรรมนูญนี้ยังแฝงปัญหาไว้ในบทเฉพาะกาล อีกเช่น การให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการอนุมัติพระราชกำหนดให้กระทำในที่ประชุมประชุมร่วมกันของรัฐสภา การให้ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ หรือผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ระบุว่าต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเท่ากับเปิดช่องให้ “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เป็นต้น
การรณรงค์ต่อต้านได้เริ่มขึ้นเมื่อนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๒ เพราะเห็นว่าบรรยากาศของบ้านเมืองไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ภาคประชาชนได้จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๓ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมและมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งจำนวน ๓๕ คน เพื่อพิจารณาศึกษาข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ กับคณะเป็นผู้เสนอ จากนั้นวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ วุฒิสภาก็ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นอีกคณะหนึ่งจำนวน ๓๕ คน เพื่อพิจารณาศึกษาข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ร้อยตำรวจโท ชาญ มนูธรรม กับคณะ เป็นผู้เสนอ เพราะเห็นว่าในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องประชุมพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภา
ในขณะที่ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำมันที่เป็นปัญหาเร่งด่วนมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชน การดำเนินงานทางการเมืองของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรม ขณะที่เวลาของบทเฉพาะกาลที่จะมีผลบังคับใช้ผ่านพ้นไปกว่าครึ่งทางแล้ว
ความพยายามขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑
ด้วยตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๒๔ คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งเพราะเห็นว่าการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ความยุ่งยากหากประชาชน พรรคการเมืองและหลายภาคส่วนในสังคมไม่สนับสนุน พร้อมกันนั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กับคณะ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา ในประเด็นเกี่ยวกับการต้องสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาได้ประชุมในวันศุกร์ ที่ ๘ และวันศุกร์ ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๕ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับไปพร้อมกันเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน และมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง ๔๒๓ : ๑๔ การพิจารณาวาระที่ ๒ มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน ๓๙ คน ครั้นการพิจารณาวาระที่ ๓ ขั้นการลงมติ ในวันศุกร์ ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕ กลับมีสมาชิกเห็นชอบด้วยเพียง ๒๕๘ เสียง ไม่เห็นด้วย ๓๓ เสียง และงดออกเสียง ๑๑๙ เสียง ซึ่งเสียงที่เห็นชอบด้วยมีไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาคือ ๒๖๘ เสียง จึงถือว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับเป็นอันตกไป
ความพยายามขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒
ในระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่นั้น วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาอีก ๒ ฉบับมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นฉบับหนึ่ง และแก้ไขกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่ง พร้อมกันนั้นผู้เสนอได้อ้างเหตุผลถึงความชอบของรัฐธรรมนูญที่วางหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐสภาไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาได้ประชุมในวันศุกร์ ที่ ๒ และวันศุกร์ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๕ และมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง ๒๓๕ ไม่รับหลักการ ๑๖๘ เสียง และงดออกเสียง ๙ เสียง ซึ่งเสียงที่เห็นชอบด้วยมีไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงถือว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เป็นอันตกไป
ความพยายามขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓
วันเวลาที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงเพราะครบวาระเหลือไม่ถึง ๙๐ วัน แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายปัญหาทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นวิธีการเลือกตั้งที่จะต้องจัดแบบใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยังไม่อาจแก้ไขได้ และที่สำคัญเมื่ออยู่นอกสมัยประชุมสามัญ หากคณะรัฐมนตรีไม่เป็นฝ่ายขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ แต่เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงจะกระทำต่อไปได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คณะรัฐมนตรีเคยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่รัฐสภาไม่เห็นชอบด้วย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้เอง ความพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิกทั้งฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายวุฒิสภาจึงเริ่มต้นขึ้น ขณะที่ฝ่ายทหารซึ่งมีจำนวนมากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ประกาศสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งขอลาออกเพื่อลดจำนวนสมาชิกวุฒิสภา หวังผลให้สัดส่วนจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาลดลง เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ง่ายขึ้น
ในที่สุด วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๖ การเข้าชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญก็ประสบความสำเร็จ เมื่อสามารถรวบรวมรายชื่อ ได้ ๑๙๑ คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร๑๔๑ คน และสมาชิกวุฒิสภา ๕๐ คน และเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญต่อไป
ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีผู้เสนอ ๒ ฉบับ ประกอบด้วยนายปัญจะ เกสรทองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคเกษตรสังคม กับคณะ ฉบับหนึ่ง และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กับคณะ อีกฉบับหนึ่ง
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของนายปัญจะ เกสรทอง กับคณะ มีสาระสำคัญเป็นการขยายเวลาของบทเฉพาะกาลในประเด็นที่เป็นปัญหาความขัดแย้งออกไปอีก ๔ ปี ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติถาวรของรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ในการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมเพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางกลุ่มได้ประกาศต่อสาธารณะว่าหากรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จจะฆ่าตัวตาย
รัฐสภาได้ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของนายปัญจะ เกสรทอง กับคณะในวันศุกร์ ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง ๒๙๕ เสียง ไม่รับหลักการ ๑๒๖ เสียง และงดออกเสียง ๑๙ เสียง เป็นอันว่ารัฐสภารับร่างนี้ไว้พิจารณาต่อไปในวาระที่ ๒ เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา แต่ในการพิจารณาวาระที่ ๓ วันพุธ ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๖ กลับมีผู้ออกเสียงเห็นชอบด้วย ๒๕๔ เสียง ซึ่งไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาคือ ๒๖๔ เสียง จึงถือว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เป็นอันตกไป
รัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้พิจารณาแล้วมีมติไม่รับหลักการ โดยมีผู้เห็นชอบด้วยเพียง ๑๕๙ เสียง จึงถือว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เป็นอันตกไป
ยุบสภาผู้แทนราษฎร หลีกเลี่ยงบทเฉพาะกาล…จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
“เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง ๔ ครั้ง ประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างก้ำกึ่งกัน หากให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการ ใหม่ในขณะนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองได้ อันจะนำมาซึ่ง ความเสื่อมโทรมของระบบเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของชนในชาติ และการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่”
นั่นคือเหตุผลที่คณะรัฐมนตรีได้แจ้งไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ ภายหลังจากที่รัฐสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับ และประการสำคัญในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ หมายความว่า กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง มีเวลาในการดำเนินการทุกขั้นตอนเพียง ๓๐ วันเท่านั้น และพรรคการเมือง ตลอดจนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีเวลาในการรณรงค์หาเสียงเพียงสามสัปดาห์หลังจากสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ ๒๔-๒๘ มีนาคม ๒๕๒๖ แล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ พ.ศ.๒๕๒๖ เกี่ยวกับเวลาประกาศรายชื่อมีสิทธิเลือกตั้ง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้สอดคล้องกับเวลาที่มีอยู่ เป็นต้น
การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ จึงมีการจัดการเลือกตั้งที่เร่งด่วนที่สุด มีระยะเวลาในการดำเนินการน้อยที่สุด แต่ทุกพรรคการเมืองต่างพร้อมใจกันส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อมุ่งหวังจะเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่ให้หมดสิ้นไป เพื่อประเทศจะได้ก้าวพ้นกับดักที่คณะปฏิวัติได้วางไว้ โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้ใช้สิทธิที่มีพลังอำนาจในการกำหนดทิศทางก้าวต่อไป
ผลการเลือกตั้ง : บทพิสูจน์อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
การแสดงออกของพรรคกิจสังคม โดยพยายามเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้ง ในเป็นประเด็นความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ผลการเลือกตั้งในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ ส่งผลให้พรรคกิจสังคมชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ๑๐๒ คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด จำนวน ๓๒๔ คน แม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะจนเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ แต่มีความชอบธรรมที่จะตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องหาพรรคการเมืองอื่นมาสนับสนุนเพื่อเป็นเสียงข้างมาก
ขณะเดียวกัน พรรคชาติไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นลำดับที่สองด้วยจำนวน ๘๘ คน ได้ร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ จนมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมที่จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และสนับสนุนพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นนายกรัฐมนตรี
การชิงจังหวะระหว่างสองขั้วการเมืองเริ่มจากการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพรรคชาติไทยเสนอนายอุทัย พิมพ์ใจชน หัวหน้าพรรคก้าวหน้า เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง ๓ คน แต่มีนโยบายชัดเจนว่าสนับสนุนผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคกิจสังคมเสนอนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนหน้านี้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคาร ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๖ มีมติเลือกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนน ๑๖๔ เสียง เป็นการชนะเหนือนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อย่างเฉียดฉิวเพียง ๕ เสียง และมีมติเลือกนายสมรรค ศิริจันทร์ จากพรรคประชากรไทย และนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ จากพรรคชาติไทย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งและสองตามลำดับ
ทางด้านพรรคกิจสังคม ที่เพลี่ยงพล้ำในคราวเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว จึงหันไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ (๕๖ คน) พรรคประชากรไทย (๓๖ คน) พรรคชาติประชาธิปไตย (๑๕ คน) และสนับสนุน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินเป็นผลสำเร็จส่งผลให้พรรคชาติไทย (๘๘ คน) พรรคสยามประชาธิปไตย (๑๘ คน) พรรคประชาไทย (๔ คน) พรรคก้าวหน้า (๓ คน) พรรคสังคมประชาธิปไตย (๒ คน) และพรรคประชาเสรี (๑ คน) เป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน
ผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วย แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะผ่านพ้นไป และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ทางด้านการดำเนินงานของรัฐสภา แม้ว่าจะทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ต้องตกไป หากแต่สภาผู้แทนราษฎร หรือคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ยังคงเห็นความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนก็สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาใหม่ได้
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ที่มีประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยจะมอบให้แก่ “ผู้แทน” คนใดต่อไปเพื่อใช้อำนาจนั้นตามเจตนารมณ์ของประชาชน.
หนังสือที่แนะนำให้อ่านต่อ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑
- รัฐสภาสาร “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับที่ ๘ เดือนสิงหาคม ๒๕๒๕
บรรณานุกรม
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐ : ตอนที่ ๓๙ : วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ : หน้า ๗
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ พ.ศ.๒๕๒๖ . ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐ : ตอนที่ ๓๙ : วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ : หน้า ๑
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕: ตอนที่ ๑๔๖ : วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑: หน้า ๑
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๕๒๓ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดี ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๓
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๘/๒๕๒๓ (สมัยสามัญ) วันศุกร์ ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒/๒๕๒๕ (สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๒) วันศุกร์ ที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๕
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๓/๒๕๒๕ (สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๒) วันศุกร์ ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๕
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๗/๒๕๒๕ (สมัยสามัญ) วันศุกร์ ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๕
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๘/๒๕๒๕ (สมัยสามัญ) วันศุกร์ ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๕
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๙/๒๕๒๕ (สมัยสามัญ) วันศุกร์ ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๕
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒/๒๕๒๖ (สมัยวิสามัญ) วันศุกร์ ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๗/๒๕๒๖ (สมัยวิสามัญ) วันพุธ ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๖
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑ /๒๕๒๖ (สมัยสามัญ) วันอังคาร ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๖