บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ปรียานุช คลอวุฒิวัฒน์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นตำแหน่งสูงสุดทางด้านนิติบัญญัติเพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นนอกจากจะเป็นประมุขของสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐสภาโดยตำแหน่งอีกด้วย[1] ดังนั้นผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวจึงถือว่าเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประเทศชาติ เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งขึ้นตามมติของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ควบคุมและจัดการประชุมสภาให้มีประสิทธิภาพ[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงได้วางหลักว่า ประธานรัฐสภาจะต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่[3] ส่งผลให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภาราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าเป็นคนยุติธรรม มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลาง ทั้งนี้พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว คือเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของคนส่วนใหญ่ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องทำงานเพื่อส่วนรวม มีความอาวุโสทางการเมือง อีกทั้งเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อ่อนโยน จึงที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานรัฐสภาของประเทศไทย

ประวัติ[4]

พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ (นามเดิม “กิมกุ่ย” ) เป็นบุตรนายเอี้ยง และ นางช่วง สุวรรณหงษ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ประเสริฐสุวรรณ”) เกิดวันที่ 13 เมษายน 2462 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และศึกษาระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนในจังหวัดสุพรรณบุรีมาโดยตลอด ได้แก่ โรงเรียนประชาบาลวัดประตูสาร โรงเรียนประชาบาลวัดสาลี และโรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี (กรรณสูตศึกษาลัย) ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษานั้นเองก็สอบไล่ได้ธรรมศึกษาตรี โท และ ประกาศนียบัตรวิชาครู (พม.) ไปด้วย จากนั้นได้รับการบรรจุเป็นครูโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ก่อนจะขอลาออกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทหารเสนารักษ์ หลักสูตร 3 ปี ซึ่งท่านสอบไล่ได้ที่ 1 ทุกปีจนได้รับการจารึกไว้ที่โล่ห์ของโรงเรียน นอกจากนี้ในเวลาต่อมายังได้รับประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(กิตติมศักดิ์) อีกด้วย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ชั้นสายสะพาย สายที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสายสะพายสูงสุด

การทำงานในบทบาทอื่นๆ ก่อนดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

พลตรี บุญเอื้อเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆมาหลายด้านก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะเป็น ครู หมอ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรคชาติไทย และ รัฐมนตรี ทั้งนี้ท่านยึดหลัก “ความสุขของประชาชน เยี่ยมยอดกว่าความสุขอื่นใด”[5] แต่ละบทบาทที่ท่านทำจึงล้วนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมีผลงานแสดงเป็นที่ประจักษ์เสมอมา ดังนี้

ครู ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกจากการเป็นครูโดยเป็นครูโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย หลังจากสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี 2480 ก่อนไปศึกษาต่อและกลับมาเป็นครูอีกครั้ง ที่โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

หมอ หลังจากสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนายแพทย์ทหารที่สอนด้านการแพทย์และสาธารณสุขแผนปัจจุบันแล้ว ท่านก็ได้นำความรู้ทางการแพทย์ที่ได้นั้นมาใช้ทำงานอย่างเต็มที่ คือนอกจากสอนด้านการแพทย์ที่โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต่อมายังได้รับตำแหน่งหัวหน้าตึกอายุรกรรมและหัวหน้าตึกศัลยกรรมโรงพยาบาลอานันทมหิดล อีกด้วย จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2488 จึงได้ลาออกจากราชการ เพื่อจะสามารถดูแลมารดาและยายได้ใกล้ชิด โดยกลับไปตั้งคลินิกรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันโดยมีใบประกอบโรคศิลป์ ของกระทรวงสาธารณสุข ชื่อ “วิริยะการแพทย์” ที่อำเภอบางปลาม้าบ้านเกิด คนส่วนใหญ่จึงมักเรียกท่านว่า “หมอเอื้อ” ท่านได้ริเริ่มโครงการเพิ่มพูนความรู้ด้านสาธารณสุขแผนปัจจุบันแก่ชาวบ้านบางครั้งออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ด้วยจนได้รับรางวัลแพทย์ประจำตำบลดีเด่น 3 ปีซ้อน[6]

ทหาร ในขณะรับราชการที่โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์ นั้นท่านมียศเป็นสิบเอก ยังมิได้ทันเรียนต่ออีก 2 ปีเพื่อเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรก็ต้องไปราชการสงคราม ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับเหรียญชัยสมรภูมิมหาเอเชียบูรพา (สงครามอินโดจีน – ฝรั่งเศส) และ เหรียญชัยสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล “คนดีศรีส.ร.” เป็นเกียรติประวัติ ยิ่งไปกว่านั้นยังนับเป็นปูชนียบุคคลของเหล่าทหารแพทย์ที่ประกอบคุณงามความดีจนได้รับพระราชทานยศ พลตรีเป็นกรณีพิเศษ[7]ในเวลาต่อมา

นักการเมืองท้องถิ่น ได้หันมาเริ่มต้นชีวิตนักการเมืองท้องถิ่นครั้งแรกเมื่อปี 2498 โดยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขตอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี 4 สมัย โดยเป็นประธานสภาจังหวัดถึง 3 สมัย ในระหว่างนี้ได้มีผลงานในการพัฒนาอำเภอบางปลาม้าและอำเภอใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การทำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จนกระทั่งปี 2514 จึงได้ลาออกเพราะกฎหมายให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เพียงตำแหน่งเดียวและในระหว่างนี้ได้รับการเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี ถึง 10 สมัย ตั้งแต่ปี 2500 จนถึง 2539 ในระหว่างที่ท่านทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นท่านเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญอย่างมาก เคยทำงานใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี 2 ท่านคือ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายบรรหาร ศิลปอาชา(เป็นผู้ที่ชักชวนนายบรรหารให้เข้าสู่แวดวงการเมือง)และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในหลายด้าน คือ

• การทำงานกับพรรคการเมือง ท่านเริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยพันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ในปี 2500 โดยย้ายมาพรรคธรรมสังคมในปี 2518 และต่อมาได้ไปทำงานในพรรคชาติไทยตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคในปี 2519 จนได้เป็นถึงรองหัวหน้าพรรค แม้อำลาวงการเมืองไปแล้วก็ยังคงเป็นคณะที่ปรึกษาของพรรคตลอดมา

• การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้พัฒนาพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานมีผลงานโครงการต่างๆ ถึงหลายร้อยโครงการ จนมีผู้ขนานนามท่านว่าเป็น “ราชสีห์ผู้เอื้ออารีแห่งบางปลาม้า”

• บทบาทในรัฐสภาทางด้านนิติบัญญัตินั้น ได้แก่

     1. เสนอกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2528 และ พระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2530 ประธานคณะกรรมการประสานงานสภา

     2. เป็นคณะกรรมาธิการต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน คณะกรรมาธิการสาธารณสุข และ กรรมาธิการการศึกษา

• ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายรัฐบาล ประธานคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปรัฐบาล) และ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ซึ่งไม่ว่าท่านจะทำงานกับฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ท่านได้ปฏิบัติงานด้วยความอลุ่มอล่วยในปัญหาที่เกิดขึ้นประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อให้เกิดความปรองดองกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่เสมอ[8]

การบริหารราชการแผ่นดิน ท่านได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีถึง 3 สมัย ดังนี้

• เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2524-2526 ซึ่งมีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

• เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2531-2533 ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 45 ซึ่งมีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

• เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในปี 2534 ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 46 ซึ่งมี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

บทบาทในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา

พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ของรัฐสภาชุดที่ 27 ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฏาคม 2538 จนถึงวันที่ 27 กันยายน 2539 (รวมระเวลา 1 ปี 2 เดือน 25 วัน) นับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 19 และเป็นประธานรัฐสภา คนที่ 23 ของประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นท่านไม่ขอรับตำแหน่งและได้เสนอ พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสารซึ่งมีความเหมาะสมกว่าแต่ท่านปฏิเสธและยืนยันว่าพลตรี บุญเอื้อนั้นเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ดีแล้ว แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นในการดำรงตำแหน่งประมุขทางนิติบัญญัติ แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างดียิ่งจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการประสานงานได้เป็นอย่างดี ประวัติทางการเมืองไม่เคยเสื่อมเสีย เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การทำหน้าที่ประธานเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้โดยเรียบร้อยแม้จะเป็นภาระหนักแต่สาธารณชนทั่วไปเห็นได้ชัดเจนว่าท่านประธานผู้นี้ได้วางตัวอย่างเป็นกลางที่สุด[9] นอกจากนี้ท่านยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคชาติไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพรรคแล จังหวัดเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีมีผลให้การประสานงานระหว่างสภากับคณะรัฐมนตรีสามารถทำได้ราบรื่นขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นท่านเองยังเคยมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน (วิป) มาก่อน จึงนำหลักแห่งการยืดหยุ่น การประนีประนอมบนพื้นฐานของเหตุและผล ความถูกต้องเหมาะสม มาใช้และพยายามใช้อำนาจของประธานและใช้ข้อบังคับให้น้อยที่สุด ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวของท่านที่เป็นคนดี มีเมตตา และมีความโอบอ้อมอารีต่อผู้ที่ร่วมงานด้วยเสมอมา[10] อ่อนน้อมถ่อมตนและที่สำคัญจะทำการใดก็จะระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนเสมอ[11] จึงทำให้เป็นที่เคารพของนักการเมืองทุกรุ่นได้รับการยอมรับเชื่อถือศรัทธาจากทุกฝ่าย[12] เป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม[13] ปราศจากรอยด่างพร้อยใดๆ แม้แต่ข้าราชการประจำก็ให้การยอมรับ

นอกจากภารกิจในการเป็นประธานในที่ประชุมแล้วยังต้องทำหน้าที่บริหารงานของรัฐสภาอีกหลายด้าน เช่น ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) ประธานคณะกรรมการบริหารแห่งประเทศไทยในองค์การรัฐสภาอาเซียน (AIPO) และประธานสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น สิ่งที่ท่านภูมิใจมากในขณะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาก็คือการได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งเป็นปีกาญจนาภิเษก

ในขณะดำรงตำแหน่งนี้ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และได้รับประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรกิตติมศักดิ์ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ก็มอบเข็มวิทยวิทยฐานะนักบริหารระดับสูงกิติมศักดิ์ให้อีกด้วย และเมื่อได้มีการยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 ท่านจึงตัดสินใจอำลาวงการเมืองอย่างถาวร ด้วยวัย 77 ปี กับการเป็นนักการเมืองมานานกว่า 40 ปี โดยกล่าวว่า “คนเราต้องรู้จักพอ”[14] และด้วยเหตุที่ท่านตั้งใจทำงานมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานดำรงตำแหน่งนี้เอง จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ จากที่เคยรับราชการทหารมียศสิบเอก ให้เป็นพลตรี ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม 2540 โดยเนื้อความตอนหนึ่งของพระบรมราชโองการนี้ กล่าวถึงเหตุที่พระราชทานยศดังกล่าวนอกเหนือจากเหตุเคยร่วมรบในสงครามว่า “ขณะดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นผลดีแก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง”[15]

แม้ว่าท่านจะไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองแล้ว ท่านก็มักจะปลูกฝังแนวคิดในด้านจริยธรรมของนักการเมือง ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นหลังอยู่เสมอ โดยส่งเสริมให้นักการเมืองรุ่นใหม่มี “หิริโอตตัปปะ” รู้จักสามัคคีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ[16] จากคำแนะนำดังกล่าวนี้ทำให้เห็นได้ว่าท่านอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ นี้ยังคงมีความผูกพันกับสภาผู้แทนราษฎรอยู่เสมอ และยังพยายามชี้นำทางที่ถูกที่ควรให้ผู้อื่น ใครเข้าใกล้จึงเหมือนเข้าใกล้แสงแห่งธรรมสมดังฉายา “บัวในดงบอน” [17]

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ, “ประธานรัฐสภา” ใน ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย, (หน้า 555-558) กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 555.
  2. เดโช สวนานนท์, “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ใน พจนานุกรมศัพท์การเมือง, (หน้า 150) หน้าต่างสู่โลกกว้าง : กรุงเทพฯ, 2545, หน้า 150.
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 67.
  4. “ประวัติและผลงานของคุณหมอบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ” ใน 37ปี ในหน้าที่ของผู้แทน ฯพณฯ บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี, (หน้า 4-6) กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2537, หน้า 4.
  5. “ปิดทองหลังพระ” ใน 37ปี ในหน้าที่ของผู้แทน ฯพณฯ บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี, (หน้า 10-12) กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2537, หน้า 10.
  6. ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ, “สรุป พลตรี” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, (หน้า 59-66) ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 60.
  7. “หมอเอื้อขึ้นพลตรี จาก ‘ส.อ.’ ” เดลินิวส์, 1 เมษายน 2540, หน้า 17.
  8. มารุต บุญนาค, “สารแสดงความยินดี” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 11.
  9. “ พูดจาประสาคน : อย่าลืมบทเรียน ” เดลินิวส์, 3 ตุลาคม 2539, หน้า 7.
  10. วันมูหะมัดนอร์ มะทา, “สารแสดงความยินดี” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 9.
  11. มีชัย ฤชุพันธ์, “สารแสดงความยินดีจากประธานวุฒิสภา” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 10.
  12. ชวลิต ยงใจยุทธ, “สาร พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 4.
  13. ประมาณ อดิเรกสาร, “สารแสดงความยินดี” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 12.
  14. “ บุญเอื้อยันวางมือ-พอแล้วชาวสุพรรณขอทายาทลงแทน ” เอกลักษณ์แนวหน้า, 5 ตุลาคม 2539 , หน้า 2.
  15. “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานยศทหาร” ใน ชีวประวัติ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี, ม.ป.พ. : ม.ป.ท., 2540, หน้า 1.
  16. “ บุญเอื้อยันวางมือ-พอแล้วชาวสุพรรณขอทายาทลงแทน ” เอกลักษณ์แนวหน้า, 5 ตุลาคม 2539 , หน้า 2.
  17. “ เผย 10 อันดับฮิตประจำทำเนียบฯ ” ไทยรัฐ, 28 ธันวาคม 2533 , หน้า 1.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

จริณ จรรยาบรรณ. “ ส.ส.10 สมัยเมืองขุนแผน บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ” มติชน. 8 กรกฎาคม 2538 , หน้า 4.

“ นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. 42,51 (19-24 พฤษภาคม 2539) , หน้า 3-8.

พรพิมล ชัยเศรษฐ. “บุญเอื้อประเสริฐสุวรรณ ราชสีห์ผู้เอื้ออารีแห่งบางปลาม้า กับฉายาบัวในดงบอน”. Hi-Class. 12,142 (กุมภาพันธ์ 2539) : 144-150.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. “ประธานรัฐสภา” ใน ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. (หน้า 555-558) กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับบิเคชั่นส์, 2546.

อธิคม อินทุภูติ, “วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 5/49 เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน” [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.sittigorn.net/documents/con_atikom_59_p_5.pdf เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552.

ดูเพิ่มเติม