พระราชกำหนด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พระราชกำหนด

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่เดิมนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงใช้เพื่อปกครองประเทศยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่เหล่าอาณาประชาราษฎร แต่เมื่อคณะราษฎร กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอำนาจอธิปไตยนี้แก่ปวงชนชาวไทย โดยได้กระจายไปยังองค์กรผู้ใช้อำนาจแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการพิพากษาอรรถคดี ทั้งสามอำนาจนี้มีลักษณะถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากการตรากฎหมายขึ้นใช้ภายในรัฐนั้นให้เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐสภาเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำกฎหมายไปเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เมื่อมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการที่จะพิพากษาอรรถคดี

ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจที่จะตรากฎหมายขึ้นใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดินได้ โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญวางไว้ กฎหมายที่ว่านี้ คือ พระราชกำหนด

ความหมาย

พระราชกำหนด [๑] หมายถึง กฎหมายรูปแบบหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้อง

ได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระราชกำหนดมีผลใช้บังคับได้ดังพระราชบัญญัติ ดังนั้นพระราชกำหนดจึงแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกพระราชบัญญัติได้

สถานการณ์ที่จะประกาศใช้พระราชกำหนด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดเหตุผลและความจำเป็นในการตราพระราชกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ [๒]

1. พระราชกำหนดทั่วไป ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ พระราชกำหนดลักษณะนี้ เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เป็นต้น

2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นนี้ จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชกำหนดลักษณะนี้ เช่น พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 พระราชกำหนด บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ซึ่งออกมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำในสมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี

การพิจารณาพระราชกำหนดโดยรัฐสภา

พระราชกำหนดมีผลเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว

การไม่อนุมัติพระราชกำหนด

ในการพิจารณาให้เริ่มจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติให้ถือว่าพระราชกำหนดนั้นตกไป ไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป หรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป ในกรณีนี้ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ การตกไปของพระราชกำหนดนี้ ไม่กระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น หากพระราชกำหนดที่ออกบังคับใช้ไปแล้วมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และพระราชกำหนดนั้นต้องตกไป ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่ไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น

การอนุมัติพระราชกำหนด

ในการพิจารณาพระราชกำหนด ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

การอนุมัติพระราชกำหนดในอดีต

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว พระราชกำหนดที่ประกาศใช้นั้นจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าความสมบูรณ์จะเกิดขึ้นเมื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติให้ใช้ พระราชกำหนดนั้นเป็นการถาวรต่อไป ในการอนุมัติพระราชกำหนดในอดีตนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรี ต้องเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดต่อรัฐสภา พิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณากฎหมาย แต่ให้ดำเนินการเพียงขั้นตอนเดียว ว่าอนุมัติหรือไม่อนุมัติเท่านั้น ซึ่งเปรียบได้ กับการรับหลักการแห่งร่างกฎหมายในปัจจุบัน เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 52 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาที่กล่าวนี้ ท่านว่าให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ” [๓ ] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 72 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ” [๔] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 150 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ” [๕] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มาตรา 88[๖] และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มาตรา 146 วรรคสาม[๗] เป็นรัฐธรรมนูญฉบับท้ายสุดที่บัญญัติไว้เช่นนี้ ว่า “คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ” แต่นับตั้งแต่ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นต้นมา เมื่อพระราชกำหนดได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ปัจจุบันการอนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังตัวอย่าง

การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาในกรณียืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ

กรณีเป็นที่สงสัยการออกพระราชกำหนด

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้พิจารณาพระราชกำหนดใดตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ส่งความเห็นนั้นมา

กรณีนี้ จะเห็นได้จากเมื่อคณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 แต่เมื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 99 คน [๘] เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนี้ออกตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง คือ ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษา ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือวรรคสอง คือ ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น รีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่

ในระหว่างนี้เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานวุฒิสภา)ได้รับคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (หรือสมาชิกวุฒิสภา) แล้ว ให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วและพิจารณาเห็นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าชื่อเสนอความเห็น จึงมีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา จึงได้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะคณะรัฐมนตรี นายประเกียรติ นาสิมมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็น ได้จัดทำคำชี้แจงหรือเสนอความเห็นเป็นหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 และในวันรุ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่อรับฟังคำชี้แจงและแสดงความเห็นจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็น และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนนายกรัฐมนตรีในฐานะคณะรัฐมนตรี และอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายทำความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนการวินิจฉัย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ในที่สุด [๙] ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ได้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง และตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด

พระราชกำหนดที่ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา

มีไม่บ่อยครั้งนักที่พระราชกำหนดจะไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภา เพราะโดยหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารจะมีเสียงข้างมากสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร ดังจะเห็นได้จากการเลือกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน หรือการยอมรับให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการสอบถามความเห็น (ซาวเสียง) เหมือนในอดีต ดังนั้นการดำเนินกิจการใด ๆ ของฝ่ายบริหาร จึงมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน ไม่เว้นแม้แต่การพิจารณาพระราชกำหนด


อย่างไรก็ตาม มีพระราชกำหนดที่ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภานับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันได้ 3 ฉบับ ดังนี้

1. พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 [๑๐]

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นความคิดในการก่อสร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบให้ออกเป็นพระราชกำหนด ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 4 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36

2. พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. 2487 [๑๑]

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบให้ออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อปกปิดความมุ่งหมายในการก่อสร้างเขตปลอดทหารขึ้นที่จังหวัดสระบุรี ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 5 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41

ผลจากการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แสดงความรับผิดชอบในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่ได้การตอบสนองจากสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 [๑๒]

3. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 [๑๓]

พระราชกำหนดนี้ออกในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2529 สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณาและมีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดนี้ด้วยคะแนนเสียง 147 ต่อ 143 เพราะเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคการเมืองที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในตอนค่ำของวันเดียวกัน

พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่อาจให้ฝ่ายรัฐสภาออกกฎหมายตามวิธีปกติได้ ทั้ง ๆ ที่การออกกฎหมายนั้นย่อมเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา แต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หากบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งไม่อาจเรียกประชุมรัฐสภาได้ทันท่วงที หรือแม้ว่าจะอยู่ในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภา แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายอย่างรีบด่วน โดยรัฐธรรมนูญจะได้รับรองให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดได้ ซึ่งพระราชกำหนดที่ออกนี้มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าฝ่ายรัฐสภาจะอนุมัติให้พระราชกำหนดนี้มีผลบังคับใช้อย่างถาวรเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติต่อไป


แผนภูมิขั้นตอนพิจารณาพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

อ้างอิง


หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

มนตรี รูปสุวรรณ. กฎหมายรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ  : โรงพิมพ์สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2535.

ภานุมาศ วราหะไพฑูรย์. “กระบวนการตรากฎหมายในฝ่ายบริหาร”. จุลนิติ. 1(4) : หน้า 35 ; กันยายน – ตุลาคม 2547.

บรรณานุกรม

กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. “กระบวนการตรากฎหมาย”. ใน คู่มือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. นนทบุรี  : สถาบันพระปกเกล้า, 2548.

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 8/2552 วันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2552.

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 9/2552 วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2552.

“ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย” [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.cabinet.thaigov.go.th เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49 หน้า 529 ; 10 ธันวาคม 2475.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 63 ตอนที่ 30 หน้า 357 ; 10 พฤษภาคม 2489.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 66 ตอนที่ 17 หน้า 65 ; 23 มีนาคม 2492.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 69 ตอนที่ 15 หน้า 27 ; 8 มีนาคม 2495.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 85 ตอนพิเศษ หน้า 56 ; 20 มิถุนายน 2511.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47 : หน้า 68-70 ; 24 สิงหาคม 2550.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 4 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2487.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 5 สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2487.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2529.

ดูเพิ่มเติม

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 184-186.
  • “พระราชกำหนด” [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.thethailaw.com เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552.
  • อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ  : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.