ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ผู้เรียบเรียง อารีรัตน์ วิชาช่าง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ ถือเป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และเป็นผู้นำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ความหมายและประวัติความเป็นมา
คำว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร (Speaker)” มีผู้ให้ความหมายไว้หลายแบบ อาทิเช่น หมายถึง ผู้ที่เป็นประธานของที่ประชุมสภา เดิมทีเดียวคำนี้ใช้เรียกประธานสภาสามัญของอังกฤษ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ “พูด” แทนสามัญชนในรัฐสภา[1] หรือ หมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนอกจากจะเป็นประมุขของสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาด้วย[2] รวมทั้งหมายถึง ผู้ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งมวล (ทุกพรรคการเมือง) ได้เลือกขึ้นมาให้เป็นประธานของพวกตน เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมและจัดการประชุมให้มีประสิทธิภาพ ประธานสภาจะต้องเป็นกลางในทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ของตน[3]
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ที่ใช้ในการปกครองประเทศขณะนั้น ได้บัญญัติ มาตรา 18 ให้สมาชิกเลือกกันขึ้นเป็นประธานของสภา 1 นาย มีหน้าที่ดำเนินการของสภา และมีรองประธาน 1 นายเป็นผู้ทำการแทน เมื่อประธานมีเหตุขัดข้องชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ได้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพลตรี พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้มีผู้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา
การดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 124 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มีบทบัญญัติแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น คือ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารคือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองขณะเดียวกันมิได้ สำหรับการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ เมื่อเลือกประธานและรองประธานได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ[4] นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาหรือมีการยุบสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระได้แล้วแต่กรณี ดังนี้ เมื่อขาดจากสมาชิกภาพ ลาออกจากตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
สำหรับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2551 ณ ตึกรัฐสภา การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.43 นาฬิกา เมื่อครบองค์ประชุมแล้วนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดประชุม จากนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง[5] ในการนี้พรรคพลังประชาชนเสนอ นายชัย ชิดชอบ ส่วนพรรคฝ่ายค้านเสนอนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเลือก นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนน 283 ต่อ 158 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง[6] ส่งผลให้นายชัย ชิดชอบ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 24 ของประเทศไทย
อำนาจหน้าที่และภารกิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งแล้วประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่หลายประการสรุปได้ ดังนี้
1.อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
เป็นประธานรัฐสภา
เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการดังต่อไปนี้
-นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 171, 172 และ 173)
-นำชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 158 วรรคท้าย)
-ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 110 )
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง (มาตรา 109 (2) )
เป็นผู้ส่งเรื่อง ส่งความเห็น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นและส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนี้
-ส่งคำร้องในกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลง (มาตรา 91 วรรคหนึ่ง)
-ส่งเรื่องในกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (มาตรา 91 วรรคสาม)
-ส่งร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอหรือส่งให้พิจารณาใหม่นั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ (มาตรา 149)
-ส่งความเห็นในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย มีข้อความขัดหรือแย้งหรือถูกตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 154 (1))
-ส่งความเห็นในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ เห็นว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่สภาผู้แทนราษฎรนั้นเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งหรือถูกตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 155)
-ส่งความเห็นในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนใดหนึ่งสิ้นสุดลง (มาตรา 182 วรรคท้าย)
-ส่งความเห็นในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอความเห็นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้อนุมัติพระราชกำหนดว่าพระราชกำหนดไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือกรณ๊ไม่เป็นกรณ๊ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ (มาตรา 185)
-ส่งความเห็นในกรณีที่สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนในกรณีที่หนังสือสัญญามีปัญหาตามมาตรา 190 วรรคสอง ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย (มาตรา 190 วรรคท้าย)
เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ
-เป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 206)
-เป็นกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 231(1))
-เป็นกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา 243)
-เป็นกรรมการสรรหากรรมการป้องกันแลปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 146 วรรคสาม)
อำนาจหน้าที่อื่น
-ดำเนินกิจการของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้ แทนราษฎร (มาตรา 125)
-จัดให้มีการบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ในที่ที่ประชาชนอาจเข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่กรณีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ(มาตรา 126 วรรคสี่)
-สั่งให้ปล่อยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกจับขณะกระทำความผิดในระหว่างสมัยประชุม (มาตรา 131 วรรคสอง)
-ร้องขอให้ปล่อยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม (มาตรา 131 วรรคห้า)
-กำหนดสัดส่วนของกรรมาธิการสามัญซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภา (มาตรา 135 วรรคท้าย)
-จัดให้มีการประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการ สามัญทุกคณะ ในกรณีที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว (มาตรา 143)
-สั่งให้ระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขเพิ่มเติมจนมีผลทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไว้ก่อน แล้วจัดให้มีการประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร เพื่อวินิจฉัย ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นให้นายกรัฐมนตรีรับรอง หากการประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ร่างพระราชบัญญัติมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (มาตรา 144)
-แจ้งไปยังวุฒิสภาว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (มาตรา 146)
-วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่จะให้สภาพิจารณามีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ (มาตรา 152)
-บรรจุระเบียบวารกระทู้ถามทั่วไปและกระทู้ถามสดที่สมาชิกตั้งถามรัฐมนตรีในวันที่มีการประชุมนั้นเข้าวาระการประชุม (มาตรา 156, 157)
-ร่วมปรึกษากับนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน (มาตรา 165 (1))
-รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำเอาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มาหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แล้วพิจารณาให้ความช่วยเหลือหรือส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป (มาตรา 59)
2.อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551
2.1 เป็นประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ข้อ 8 (1))
2.2 ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาผู้แทนราษฎร (ข้อ 8 (2))
2.3 รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดถึงบริเวณสภา(ข้อ8 (3))
2.4 เป็นผู้แทนสภาผู้แทนราษฎรในกิจการภายนอก(ข้อ 8 (4))
2.5แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภาผู้แทนราษฎร (ข้อ 8 (5))
2.6 อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ (ข้อ 8 (6))
3.อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518
4.อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2552 (อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะตราขึ้นตามมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550)
5.อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541
ประธานสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศมาแล้วถึง 18 ฉบับ แต่ละฉบับจะมีหลักการใหญ่ที่คล้ายคลึงกัน และมีความแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นกัน ในช่วงแรกรัฐสภามีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย แต่ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ รัฐสภาประกอบด้วย พฤฒสภาและสภาผู้แทน และให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญหลายฉบับจากนั้นมา กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้ประธานวุฒิสภา เป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น คือ กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา ตราบจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้ในปัจจุบัน ก็ยังกำหนดเช่นกัน จากวันที่ประเทศไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมจำนวน 24 คน มีรายนามตามลำดับ ดังนี้
1. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | 13. นายอุทัย พิมพ์ใจชน |
2. เจ้าพระยาพิชัยญาติ | 14. นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ |
3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน) | 15. นายชวน หลีกภัย |
4. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิต ณ สงขลา) | 16. นายปัญจะ เกสรทอง |
5. พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) | 17. นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ |
6. นายเกษม บุญศรี | 18. นายมารุต บุนนาค |
7. นายพึ่ง ศรีจันทร์ | 19. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ |
8. พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ) | 20. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา |
9. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) | 21. นายพิชัย รัตตกุล |
10. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร) | 22. นายโภคิน พลกุล |
11. พลตรีศิริ สิริโยธิน | 23. นายยงยุทธ ติยะไพรัช |
12.นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ | 24. นายชัย ชิดชอบ |
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548. หน้า 564.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ศัพท์รัฐสภา. กรุงเทพฯ บพิธการพิมพ์, หน้า 246-247.
- ↑ เดโช สวนานนท์. พจนานุกรมศัพท์การเมือง. กรุงเทพฯ : หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2547, หน้า 150.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550. หน้า 66-67.
- ↑ บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2551 ณ ตึกรัฐสภา (ออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_meetings_count.php?doc_id=473 (วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552)
- ↑ “ชัย นั่งปธ. สภาพลิกโผ” เดลินิวส์ (Th) (ออนไลน์) สืบค้นจาก NEWSCenter. (วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552)
บรรณานุกรม
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475 – 2517). กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง 2517.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550
รายชื่อประธาน รองประธาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ 2475-2519. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ม.ป.ป.
สาระสำคัญเกี่ยวกับภารกิจและสิทธิประโยชน์ของประธานรัฐสภา ประธานและรองประธาน สภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานประธานสภา ผู้แทนราษฎร, 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐสภาไทย : จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2539.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
กิตติ เจริญยงค์. บทบาทอำนาจหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543.
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร, 2544.
ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ. ชีวประวัติและผลงาน พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี. ม.ป.ท., ม.ป.พ. 2540.
ประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา 2539 – 2543. กรุงเทพฯ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2543.
ประวัติประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 1-19. กรุงเทพฯ : หอสมุดรัฐสภาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2539.
ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ คิด พูด เขียน. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2540.
พัชรินทร์ สิรสุนทร. พึ่ง ศรีจันทร์ : นักประชาธิปไตยผู้ทรหด อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2490. นนทบุรี : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2536.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 : การศึกษาการบังคับใช้. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.
สัมภาษณ์อดีตประธานสภาฯ. กรุงเทพฯ : กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.