พรรคพลังสังคมใหม่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) หรือชื่อภาษาอังกฤษ (Plung Sungkom Mai : P.S.M.) เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการประชุมใหญ่จัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมน้ำทองแกรนด์ โรงแรมน้ำทองน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมีสมาชิกพรรคและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 253 คน[1] และได้ยื่นจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีที่ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 405 ม.3 ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยมีนายเชาว์ฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังสังคมใหม่และเป็นหัวหน้าพรรค และมีนายลำโขง ธารธนศักดิ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค[2] ในขณะนั้น และมีนายอังกูร ไผ่แก้ว เป็นเลขาธิการพรรค รวมทั้งมีคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 17 คน[3] นอกจากนี้ยังกล่าวได้ว่า พรรคพลังสังคมใหม่เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากระดับท้องถิ่นในจังหวัดน่าน มีสีประจำพรรค คือ สีแดง[4]

          ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการจัดตั้งพรรค พรรคพลังสังคมใหม่ได้กำหนดนโยบาย 4 ด้าน ได้แก่

          (1) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม โดยจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ลดความเหลื่อมสังคม-การศึกษา การเรียนรู้ และภูมิปัญญา-ความเท่าเทียมทางสังคมของ LGBT การเปลี่ยนคำนำหน้านามสิทธิ์และความเสมอภาค ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย การดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ศาสนธรรมและจิตวิญาณ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ การสื่อสาร ระบบสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

          (2) ลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่นที่ดิน ป่าไม้ น้ำทะเล และชายฝั่งประมงสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ ทรัพยากรแร่

          (3) ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ทุนและทางรายได้การถือครองทรัพย์สิน แรงงาน การเกษตร การตลาด ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม พลังงาน พาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยกระจายรายได้สู่ฐานราก ต่อยอดการท่องเที่ยว การจำหน่ายสินค้า OTOP

          (4) ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเมือง โครงสร้างทางการเมือง การกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณ กระบวนการยุติธรรม ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน การเสนอแนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เป็นต้น

 

ภาพ : การประชุมการจัดตั้งพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2563 [5]

Plung Sungkom Mai (1).jpg
Plung Sungkom Mai (1).jpg
Plung Sungkom Mai (2).jpg
Plung Sungkom Mai (2).jpg

         

          จากข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลพรรคการเมืองไทยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า พรรคพลังสังคมใหม่มีสมาชิกทั้งหมด 13,355 คน โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจำนวนมากที่สุด 6,395 คน รองลงมา คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,827 คน ภาคใต้จำนวน 1,708 คน และภาคกลางมีจำนวน 1,425 คน ในขณะที่มีสาขาพรรคทั้งหมด 9 แห่ง โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ภาคเหนือ 2 แห่ง และอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ภูมิภาคละ 1 แห่ง ด้านตัวแทนของพรรคนั้นพบว่า พรรคพลังสังคมใหม่มีตัวแทนทั้งหมด 39 คน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 คน รองลงมาคือภาคเหนือ จำนวน 13 คน ภาคใต้ 7 คน และภาคกลางจำนวน 3 คน[6]

          นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว พรรคพลังสังคมใหม่ยังเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง เช่น ในงบประมาณประจำปี 2565 ได้ขอรับการอุดหนุนในการจัดโครงการอบรมสัมมนาเพื่อบุคคลากรของพรรคและสมาชิกพรรคในการเข้าถึงคุณภาพและคุณธรรมอันดีงามทางการเมือง และการเมืองวิถีประชาชนคนรุ่นใหม่[7] เป็นต้น

 

พรรคพลังสังคมใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

          หลังจากการจัดตั้งพรรคพลังสังคมใหม่ได้ส่ง นายพลพงศ์ พงษ์สุพัฒน์ เป็นผู้สมัครลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำหน่งที่ว่าง ในเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[8] ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคพลังสังคมใหม่ได้ส่งผู้สมัครโดยแบ่งเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 79 คน และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 27 คน โดยมีนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังสังคมใหม่ แม้ว่าในช่วงแรกจะมีเป้าหมายในการส่งผู้สมัครในแต่ละเขตให้ครบทั้ง 400 เขตก็ตาม[9]

 

ตาราง : แสดงจำนวนเขตเลือกตั้งที่พรรคพลังสังคมใหม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร

เขตเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัคร

กรุงเทพมหานคร

2 เขต ได้แก่ เขต 8 และ เขต 33

กาญจนบุรี

5 เขต ได้แก่ เขต 1, 2, 3 ,4 ,5

ขอนแก่น

1 เขต ได้แก่ เขต 6

เชียงราย

1 เขต ได้แก่ เขต 4

เชียงใหม่

3 เขต ได้แก่ เขต 4, 8, 10

นครพนม

1 เขต ได้แก่ เขต 1

นครศรีธรรมราช

1 เขต ได้แก่ เขต 6

นราธิวาส

1 เขต ได้แก่ เขต 4

บุรีรัมย์

3 เขต ได้แก่ เขต 2, 3, 4

ปัตตานี

3 เขต ได้แก่ เขต 1, 2,  4

พิษณุโลก

2 เขต ได้แก่ เขต  3, 5

เพชรบูรณ์

1 เขต ได้แก่ เขต 6

มหาสารคาม

2 เขต ได้แก่ เขต 2, 3

แม่ฮ่องสอน

1 เขต ได้แก่ เขต 2

ร้อยเอ็ด

3 เขต ได้แก่ เขต  5, 7, 8

ลำปาง

2 เขต ได้แก่ เขต 3, 4

ลำพูน

1 เขต ได้แก่ เขต 2

สกลนคร

4 เขต ได้แก่ เขต  1, 4, 6, 7

สงขลา

8 เขต ได้แก่ เขต  2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9

สุโขทัย

1 เขต ได้แก่ เขต 1

สุพรรณบุรี

2 เขต ได้แก่ เขต 1, 2

สุราษฎร์ธานี

1 เขต ได้แก่ เขต 4

สุรินทร์

7 เขต ได้แก่ เขต 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7

หนองคาย

2 เขต ได้แก่ เขต 1, 3

หนองบัวลำภู

2 เขต ได้แก่ เขต 1, 3

อำนาจเจริญ

1 เขต ได้แก่ เขต 1

อุดรธานี

8 เขต ได้แก่ เขต 1, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 10

อุตรดิตถ์

1 เขต ได้แก่ เขต 2

อุบลราชธานี

3 เขต ได้แก่ เขต 1, 6, 9

 

ภาพ : สื่อที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคของพรรคพลังสังคมใหม่[10]

Plung Sungkom Mai (3).png
Plung Sungkom Mai (3).png

 

          ด้านนโยบายหลักที่พรรคพลังสังคมใหม่นำเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ได้แก่

          (1) รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย เดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือน

          (2) กองทุนกู้วิกฤตธุรกิจรายย่อย (แม่ค้ารายย่อย) ให้เข้าถึงแหล่งทุน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท

          (3) แก้ไขปัญหาหนี้สินให้สมาชิกกองุทนฟื้นฟูและกลุ่มเกษตรกร

          (4) ปุ๋ยคนละครึ่งที่พึ่งเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

          (5) เปลี่ยนที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5-6-11) และเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.4-01) เป็นโฉนดที่ดินให้เกษตรกร

          (6) ระบบสาธารณสุขแนวคิดบริการแบบใหม่

          (7) บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทุกโรคได้ทั่วไทยทุก ๆ โรงพยาบาลของรัฐ

          (8) แยกท้องถิ่นออกจากระทรวงมหาดไทย โดยยกฐานะเป็นกระทรวงส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น

          (9) นิรโทษกรรม ผู้ติดเครดิตบูโร (แบล็คลิส)

         

          อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคพลังสังคมใหม่ไม่ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขต แต่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อรวม 174,897 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 0.45[11] ทำให้ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคในฐานะบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 ของพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 เสียงของพรรคพลังสังคมใหม่

          ทั้งนี้ พรรคพลังสังคมใหม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นเมื่อกลายเป็นพรรคที่ 6 ที่ตอบรับจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่าพร้อมสนับสนุนพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง และจะเป็นโอกาสในการเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่พบว่าขณะนี้ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ลำไย มะม่วง มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก และราคาตกต่ำ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ชาวสวน เป็นต้น[12] นอกจากนี้แล้ว นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ยังได้เปิดเผยว่าได้เคยได้รับการการชักชวนจาก นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้มาทำงานร่วมกันอีกด้วย[13]

 

อ้างอิง

[1] “น่านจัดตั้งพรรคพลังสังคมใหม่ เปิดตัวแถลงนโยบายของพรรค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมให้เป็นธรรม”, สืบค้นจาก https:// www.chiangmainews.co.th/news/1285504/ (30 มิถุนายน 2566).

[2] “ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่8 มีนาคม 2566”, สืบค้นจาก https://www.ect.go.th/ect_th/download/ article/article_20230309130907.pdf(30 มิถุนายน 2566).

[3]  “พรรคพลังสังคมใหม่ ( พ.ส.ม )”, สืบค้นจาก  https://party.ect.go.th/dataparty-detail/128(30 มิถุนายน 2566).

[4] “เลือกตั้ง 2566 รู้จัก "พรรคพลังสังคมใหม่" ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://news.trueid.net/detail/ QY0DxDq590xY (30 มิถุนายน 2566).

[5] “พลังสังคมใหม่”, สืบค้นจาก https:// www.vote62.com/party/พลังสังคมใหม่/(30 มิถุนายน 2566).

[6] “พรรคพลังสังคมใหม่ ( พ.ส.ม ), สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/128(30 มิถุนายน 2566).

[7] หนังสือแจ้งแผนปฏิบัติติการของพรรคการเมือง https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=11198(30 มิถุนายน 2566).

[8] “สมรภูมิไม่เอา 'ประยุทธ์'? ชิง ส.ส.ลำปาง 'ธรรมนัส' ขอล้างตาทวงคืน ส.ส.ชน 'เสรีรวมไทย' ”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/ read/eRZPjEVgq (30 มิถุนายน 2566).

[9] “พรรคใหม่แต่ไม่เล็กพร้อมลุย400เขต’พลังสังคมใหม่’ชูนโยบาย เพิ่มค่าครองชีพ/สวัสดิการ ปชช.”, สืบค้นจาก https:// thairemark.com/variety/5673/(30 มิถุนายน 2566).

[10] “ทำความรุ้จัก พรรคพลังสังคมใหม่ หลังตอบรับร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรคก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://www.brighttv.co.th/ social-news/political-party-join-government(30 มิถุนายน 2566).

[11] “พรรคพลังสังคมใหม่”, สืบค้นจาก https://www2.ectreport.com/by-party(30 มิถุนายน 2566).

[12] “รู้จัก พรรคพลังสังคมใหม่ เปิดประวัติ พรรคที่อาจได้เข้าร่วมรัฐบาลก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://www.springnews.co.th/ news/election66/838937(30 มิถุนายน 2566).

[13] “เลือกตั้ง 2566 : เสียงที่ 311! พรรคพลังสังคมใหม่ ตอบรับคำเชิญร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://today.line. me/th/v2/article/qon8EXy (30 มิถุนายน 2566).