การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 234 (3) กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม
1. วัตถุประสงค์ของการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน[1]
1.1) เพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ยื่นบัญชีการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อสร้างความโปร่งใสให้สังคมการเมืองและสังคมราชการ (Transparency) เพราะความโปร่งใสช่วยป้องกันการทุจริต การใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมการเมืองและสังคมราชการ เพื่อแสดงความโปร่งใสว่าขณะดำรงตำแหน่งมิไต้ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ผิดปกติหรือรารวยผิดปกติ
1.2) เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตและคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินสูงกว่าความเป็นจริง (Over statement) และการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง เมื่อผู้ยื่นพ้นจากตำแหน่งก็เพื่อป้องกันมิให้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่ำกว่าความเป็นจริง (Under statement) นอกจากนั้น การให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ยื่นบัญชีเพื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบ ยังเป็นการคัดกรองบุคคลตั้งแต่เบื้องต้นป้องกันมิให้ผู้ที่มีพฤติการณ์ฉ้อฉลเข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดย มิชอบด้วย เพราะหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ก็จะเสนอเรี่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งอันเป็นการตัดโอกาสบุคคลดังกล่าวที่จะใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์
แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นตั้งแต่เบื้องต้น
1.3) เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการปราบปรามการทุจริตการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยใช้มาตรการทางกฎหมายด้านปราบปรามเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นการยาก โดยเฉพาะการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีตัวอย่างบุคคลเหล่านี้ถูกลงโทษทางอาญาโดยกระบวนการยุติธรรมตามปกติน้อย ทั้งนี้เบื้องจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีความรู้ มีอำนาจรัฐในมือ มีอิทธิพล มีฐานะทางเศรษฐกิจ มีการสร้างฐานสนับสนุน และสร้างภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเกรงกลัวและพยานไม่กล้าพูดความจริง ดังนั้น การตรวจสอบทรัพย์สินบุคคลดังกล่าวจึงถือเป็นมาตรการเสริมการปราบปรามการทุจริตอีกด้านหนึ่ง
1.4) เพื่อให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มิได้มีวัตถุประสงค์จะให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเท่านั้นเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ต้องการให้สาธารณชนซึ่งเป็นต้นทางแห่งการมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตนเลือกเข้าไปทำหน้าที่ด้วยว่าขณะดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีผลประโยชน์ในธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทใดบ้าง หรือมีความร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะตรวจสอบว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจหรือกิจกรรมที่ตนมีผลประโยชน์หรือไม่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทำให้ตนมีฐานะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
2. บุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส[2] และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(4) ตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
(5) ตุลาการศาลปกครอง ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
(6) อัยการ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
(7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง[3]
(7.1) หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง/ทบวง/กรม/ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ปลัดกระทรวงกลาโหม/ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/ผู้บัญชาการเหล่าทัพ/ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(7.2) ผู้ว่าราชการจังหวัด
(7.3) ปลัดกรุงเทพมหานคร
(7.4) กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
(7.5) หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
(7.6) กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ
(7.7) ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
(7.8) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(8) ตำแหน่งอื่น ตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
(9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด[4]
และต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ออกประกาศกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ประกาศกำหนดตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ. 2561 ประกาศกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และประกาศกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ยังระบุว่าเจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ตามนัยมาตรา 103 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ออกประกาศกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 พ.ศ. 2561 อีกด้วย
อ้างอิง
[1] วรวิทย์ สุขบุญ, ม.ป.ป. การตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ. นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, หน้า 1-2 อ้างถึงใน วันวิสาข์ สัมพันธ์, 2562. “การกำหนดตำแหน่งผู้อํานวยการโรงเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.” (การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช), หน้า 25-26.
[2] คู่สมรส ตามมาตรา 102 ยังหมายรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย
[3] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อ้างถึงใน วันวิสาข์ สัมพันธ์, อ้างแล้ว, หน้า 27.
[4] มีชัย โอ้น, ม.ป.ป. สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน. นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. อ้างถึงใน วันวิสาข์ สัมพันธ์, อ้างแล้ว, หน้า 28.