วันประชาธิปไตยสากล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

วันประชาธิปไตยสากล

          วันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) ตรงกับวันที่ 15 กันยายน ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้มีมติใน ค.ศ. 2007 เพื่อกำหนดวันที่จะเป็นหมดหมายของการส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีการส่งเสริมและสร้างความตั้งมั่นให้กับประชาธิปไตย[1] ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศให้วันที่ 15 กันยายน เป็นวันประชาธิปไตยสากลนั้น ได้มีการริเริ่มให้เกิดการจัดวันเพื่อแสดงความเป็นประชาธิปไตยจากการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ (International Conference of New or Restored Democracies: ICNRD) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน ค.ศ. 1988 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งต่อมามีการจัดประชุม ICNRD อีก 5 ครั้งในประเทศต่าง ๆ คือ กรุงมานากัว (Managua) ประเทศนิคารากัว ค.ศ. 1994 กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) ประเทศโรมาเนีย ค.ศ. 1997 นครโกโตนู (Cotonou) ประเทศเบนิน ค.ศ. 2000 กรุงอูลานบาตาร์ (Ulaanbaatar) ประเทศมองโกเลีย ค.ศ. 2003 และกรุงโดฮา (Doha) ประเทศการ์ตา ค.ศ. 2006 โดยในการจัดประชุมทั้งหกครั้งได้เน้นย้ำความสำคัญถึงคำประกาศแผนเพื่อปฏิบัติการในการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง[2]

          ในการประชุมนานาชาติเพื่อสร้างและพื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ ครั้งที่ 6 (the Sixth International Conference of New or Restored Democracies: ICNRD-6) ในกรุงโดฮา ประเทศการ์ตาระหว่าง วันที่ 29 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ที่ประชุมเสนอว่าควรให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมศักยภาพประชาธิปไตย และความก้าวหน้าทางสังคม ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนั้นเสนอให้ตระหนักถึงบทบาทหลักของรัฐสภาและการให้ภาคประชาสังคมกับสื่อมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันและมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลในทุกระดับเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม การพัฒนา การเคารพในสิทธิมนุษยชนกับเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และหลักนิติรัฐ รวมถึงให้การประชุมนี้มีการขยายการมีส่วนร่วมในรูปแบบไตรภาคีขึ้นมาอีกด้วย[3]

          เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายในการประชุม ICNRD-6 จึงมีความจำเป็นในการสร้างความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมประชาธิปไตยโดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานจริงภายหลังจากผลการประชุม จึงทำให้คณะกรรมการที่ปรึกษาของการประชุมนานาชาติเพื่อสร้างและพื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ (Advisory Board of the Sixth International Conference of New or Restored Democracies) ได้มีการจัดประชุมสองครั้งเพื่อเร่งพัฒนาโครงการการทำงานที่จะทำต่อเนื่องระหว่าง ค.ศ. 2007-2009 ทั้งนี้จึงมีข้อเสนอในการกำหนดให้มีวันประชาธิปไตยสากลขึ้นมา ต่อมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติจึงมีมติเห็นชอบในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ใน Resolution adopted by the General Assembly on 8 November 2007 เพื่อกำหนดให้วันที่ 15 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันประชาธิปไตยสากลเพื่อให้ประชาชนได้สนใจและตระหนักถึงการเฉลิมฉลองและทำกิจกรรมในวันดังกล่าว โดยการริเริ่มให้จัดวันประชาธิปไตยสากลและยังเป็นการเตรียมการฉลองการครบรอบ 20 ปี ของการประชุมนานาชาติเพื่อสร้างและฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ใน ค.ศ. 2008 อีกด้วย[4]

          นอกจากนี้ จากมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ยังได้ผูกพันให้ประเทศสมาชิก องค์การต่าง ๆ ในระบบของสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศและองค์การระดับภูมิภาค องค์การพัฒนาเอกชน และคนทั่วไปร่วมกันเฉลิมฉลองวันประชาธิปไตยสากลในแนวทางที่เหมาะสมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องประชาธิปไตย รวมถึงเสนอให้ประเทศสมาชิกดำเนินการให้รัฐสภาและองค์การภาคประชาสังคมในประเทศมีโอกาศอย่างเหมาะสมในการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือริเริ่มให้เกิดการเฉลิมฉลองวันประชาธิปไตยสากล รวมทั้งระบบขององค์การสหประชาชาติต้องพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมและสร้างความตั้งมั่นให้กับประชาธิปไตยอีกด้วย[5]

          ทั้งนี้ เหตุที่เลือกให้วันที่ 15 กันยายน เป็นวันประชาธิปไตยสากล เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันที่ สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) ได้ประกาศใช้คำประกาศว่าด้วยประชาธิปไตย (Universal Declaration on Democracy) เพื่อวางหลักการประชาธิปไตย องค์ประกอบและการดำเนินการของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และมิตินานาชาติของความเป็นประชาธิปไตย[6] ทั้งนี้สหภาพรัฐสภาต่อมาได้กลายเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่สำคัญในการจัดกิจกรรมในวันประชาธิปไตยสากลอย่างต่อเนื่องอีกด้วยตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมวันประชาธิปไตยสากล

          ในการส่งเสริมวันประชาธิปไตยสากล ประเทศและองค์กรต่าง ๆ ทั้งหลายได้พิจารณาถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ได้มีการตราขึ้นมาก่อนการที่จะมีการสถาปนาวันดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากวันประชาธิปไตยสากลถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับและส่งเสริมกฎระเบียบที่องค์การระหว่างประเทศได้ออกมาเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงทำให้วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันประชาธิปไตยเกี่ยวเนื่องกับการทำให้กฎระเบียบเหล่านี้มีการนำไปการปฏิบัติ ในที่นี้มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและควรพิจารณา ดังนี้

          หนึ่ง หลักการประชาธิปไตยในมติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2007 (Resolution adopted by the General Assembly on 8 November 2007) ที่ได้ระบุหลักการและขอบเขตเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เป็นเหตุผลของการสถาปนาวันประชาธิปไตยสากลไว้ ดังนี้

               1. เน้นย้ำเรื่องประชาธิปไตย การพัฒนา และการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานว่าเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพากันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน (Stressing that democracy, development and respect for all human rights and fundamental freedoms are interdependent and mutually reinforcing)

               2. ยืนยันว่าประชาธิปไตยคือค่านิยมสากลที่อิงอยู่กับฐานของการการที่ประชาชนมีเจตจำนงในการแสดงออกอย่างเป็นอิสระเพื่อกำหนดระบบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนเองและรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติของชีวิต (Reaffirming that democracy is a universal value based on the freely expressed will of people to determine their own political, economic, social and cultural systems and their full participation in all aspects of their lives)

               3. ยืนยันอีกด้วยว่าแม้ประชาธิปไตยจะมีคุณลักษณะร่วมกัน แต่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวแบบประชาธิปไตยมีเพียงตัวแบบเดียว และประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดผู้มิภาคหนึ่ง และยืนยันถึงความจำเป็นของการเคารพต่ออำนาจอธิปไตย สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง และการบูรณาการของดินแดน (Reaffirming also that, while democracies share common features, there is no single model of democracy and that democracy does not belong to any country or region, and reaffirming further the necessity of due respect for sovereignty, the right to self-determination and territorial integrity)[7]

          สอง กฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) เป็นกฎบัตรสำคัญที่ถูกระบุไว้ในมติที่กล่าวในข้อหนึ่ง ที่ย้ำว่าการสถาปนาวันประชาธิปไตยสากล คือการเน้นย้ำถึงหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรดังกล่าวและให้ตระหนักรู้ว่าหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตยได้เชื่อมโยงและเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หลักการเหล่านี้จึงเป็นหลักการและค่านิยมสากลที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ขององค์การสหประชาชาติ[8] ทั้งนี้ใน หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรา 55 ระบุให้ดำเนินการ “ด้วยทัศนะที่จะสถาปนาภาวการณ์แห่งเสถียรภาพและสวัสดิภาพ ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์โดยสันติ และโดยฉันมิตรระหว่างนานาชาติ โดยยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกัน และการกำหนดเจตจำนงของตนเองของประชาชนเป็นมูลฐาน สหประชาชาติจักส่งเสริม....การเคารพโดยสากล และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา”[9]

          สาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่ตราขึ้นใน ค.ศ. 1948 เพื่อวางหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและมองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศเพื่อคุ้มครองและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอย่างมีระสิทธิผล[10] ตามที่ระบุในข้อ 21(3) ว่า “เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและเป็นหารเลือกตั้งอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน”[11]

          สี่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1966 และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1976[12] ส่งเสริมการมีสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองว่าเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอย่างมีความหมาย[13] ทั้งนี้ใน Resolution adopted by the General Assembly on 8 November 2007 ได้วางหลักการที่สอดรับกับ ICCPR ภาค 1 ข้อ 1 ที่เน้นให้ประชาชนมีวิถีการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (self-determination) ที่กำหนดให้

               1. ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน

               2. เพื่อจุดมุ่งหมายของตน ประชาชนทั้งปวงอาจจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรี โดยไม่กระทบต่อพันธกรณีใด ๆ อันเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนจากวิถีทางแห่งการยังชีพของตนไม่ว่าในกรณีใด ๆ

               3. รัฐภาคีแห่งกติกานี้ รวมทั้งผู้รับผิดชอบในการบริหารดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองและดินแดนในภาวะทรัสตี จะส่งเสริมสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองให้บรรลุผลเป็นจริง และต้องเคารพสิทธินั้นตามบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ[14]

          ห้า คำประกาศว่าด้วยประชาธิปไตย (Universal Declaration on Democracy) ที่ประกาศโดยสหภาพรัฐสภาในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1997 จากการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 161 (Inter-Parliamentary Council at its 161st session) เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและรัฐสภาทั่วโลกยึดหลักการประชาธิปไตยที่จะเป็นหลักการสำคัญของสหภาพรัฐสภาที่ใช้ส่งเสริมในวันประชาธิปไตยสากลอยู่ 3 ส่วน คือ

               1. หลักการประชาธิปไตย (the principles of democracy) ประกอบด้วย หนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นอุดมคติและเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล สอง ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติในการแสวงหารูปแบบการปกครองที่สามารถถูกประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแบบแผนที่สะท้อนความหลากหลายของประสบการณ์และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมได้โดยไม่ละทิ้งหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย สาม เป้าหมายของประชาธิปไตยมุ่งเพื่อรักษาและส่งเสริมศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคล สี่ การบรรลุถึงประชาธิปไตย มีสมมติฐานว่าจะต้องมีพันธมิตรระหว่างชายกับหญิงอย่างแท้จริงเพื่อมุ่งสร้างความเท่าเทียม ห้า สถานะของประชาธิปไตยต้องทำให้แน่ใจว่ากระบวนการของการสืบทอดอำนาจผ่านการแข่งขันทางการเมืองอย่างเปิดกว้าง เสรี และไม่กีดกัน หก ประชาธิปไตยไม่อาจแยกขาดจากสิทธิที่ตามกฎระเบียบและวิถีทางที่นานาชาติรับรองไว้ เจ็ด ประชาธิปไตยปรากฏในหลักกฎหมายและการทำให้เกิดสิทธิมนุษยชน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย และแปด สันติภาพและเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมเป็นสภาพบรรยากาศที่เอื้อและเกื้อกูลต่อประชาธิปไตย

               2. องค์ประกอบและการดำเนินการของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย (the elements and exercise of democratic government) ประกอบด้วย หนึ่ง ประชาธิปไตยอิงอยู่กับโครงสร้างและหน้าที่ของสถาบัน มาตรฐาน และกฎที่ดี สอง สถาบันที่เป็นประชาธิปไตยควรเป็นตัวกลางเพื่อรองรับความตึงเครียดและรักษาความสมดุลระหว่างความหลากหลายและความเป็นหนึ่งเดียว สาม ประชาธิปไตยคือการให้สิทธิแก่ทุกคนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการภาครัฐ สี่ การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญของการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ห้า หน้าที่ของรัฐคือการทำให้แน่ใจว่าประชาชนยินดีและเข้าร่วมในการใช้สิทธิพลเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม หก ความรับผิดรับชอบทางการเมือง (Public accountability) คือ สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่บุคลากรทุกคนในภาครัฐควรยึดถือและนำไปปฏิบัติ เจ็ด ชีวิตสาธารณะในภาพรวมควรต้องมีสำนึกทางศีลธรรมและความโปร่งใส แปด การมีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคลในทุกระดับควรเกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมและไม่มีอคติ เก้า สถาบันทางตุลาการที่มีอิสระ ไม่เลือกปฏิบัติ และมีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิผลมีส่วนสำคัญในการสร้างหลักนิติรัฐ สิบ ควรพัฒนาบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้สิทธิและการมีส่วนร่วม สิบเอ็ด ควรปลูกฝังและส่งเสริมบรรยากาศและวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านการจัดการศึกษาและกลไกขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร สิบสอง สถานะของประชาธิปไตยมีสมติฐานว่าต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก สิบสาม สถาบันและกระบวนการของประชาธิปไตยต้องอำนวยความสะดวกให้กับการมีส่วนร่วมแก่คนทุกคนทั้งในแง่สังคมเชิงเดี่ยวและพหุสังคม และสิบสี่ สถาบันและกระบวนการประชาธิปไตยต้องเอาใจใส่ดำเนินการให้เกิดการกระจายอำนาจของรัฐบาลและการปกครองสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค

               3. มิตินานาชาติของความเป็นประชาธิปไตย (the international dimensions of democracy) มองว่า หนึ่ง ต้องให้ความสำคัญแก่หลักการประชาธิปไตยว่าเป็นหลักการสากลที่องค์การระหว่างประเทศกับรัฐเอาไปใช้ สอง หลักการประชาธิปไตยควรถูกประยุกต์ใช้ในการจัดการระดับนานาชาติในประเด็นอันเป็นผลประโยชน์ระดับโลก สาม รัฐควรปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกำจัดภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้กำลังซึ่งอาจล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของดินแดน และ สี่ ประชาธิปไตยควรสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[15]


สหภาพรัฐสภาและวันประชาธิปไตยสากล

          สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) คือ องค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างกันของฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศต่าง ๆ และใช้มิติการดำเนินงานของรัฐสภาเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินงานระหว่างสมาชิกรัฐสภา โดยมีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตย การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระว่างประเทศ การเคารพในสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน[16] โดยใน มติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2007 กำหนดให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติควรให้รัฐสภาของแต่ละประเทศมีโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองวันประชาธิปไตยสากล[17] สหภาพรัฐสภาจึงดำเนินการโดยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกสหภาพจัดกิจกรรมและการเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ จึงมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันภาพถ่าย การจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติแก่เยาวชน การแข่งขันวาทีทางโทรทัศน์ การจัดประชุมพบปะกับภาคประชาสังคม เป็นต้น[18]

          ทั้งนี้ สหภาพรัฐสภายังถือโอกาสในวันประชาธิปไตยสากลทำกิจกรรมเพื่อทบทวนสถานะความเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดประเด็นเฉพาะ (themes) เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมทั้งที่ดำเนินการโดยสหภาพรัฐสภาเองและประเทศสมาชิก ตั้งแต่ ค.ศ. 2008 มีการกำหนดประเด็นเฉพาะไว้[19] ดังนี้

 

ตารางที่ 1 : ประเด็นการจัดงานวันประชาธิปไตยสากลของสหภาพรัฐสภา

ปีที่จัด

ประเด็นเฉพาะ

ค.ศ.2008

International Day of Democracy 2008

ค.ศ.2009

International Day of Democracy 2009

ประชาธิปไตยและขันติธรรมทางการเมือง (Democracy and political tolerance)

ค.ศ.2010

International Day of Democracy 2010

รัฐสภาของคุณ: ทำงานเพื่อคุณ รับผิดต่อคุณ (Your Parliament: Working for you, Accountable to you)

ค.ศ.2011

International Day of Democracy 2011

ประชาชนคาดหวังอะไรต่อสภาของพวกเขา ? (What do citizens expect from their parliament?)

ค.ศ.2012

International Day of Democracy 2012

บทสนทนาและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง: หัวใจของประชาธิปไตย (Dialogue and inclusiveness - central to democracy)

ค.ศ.2013

International Day of Democracy 2013

สร้างความเข้มแข็งต่อเสียงของคุณ (Strengthen Your Voice)

ค.ศ.2014

International Day of Democracy 2014

เยาวชนมีส่วนร่วม (Engaging Youth)

ค.ศ.2015

International Day of Democracy 2015

การมีส่วนร่วมสาธารณะเพื่อประชาธิปไตย (Public Participation for Democracy)

ค.ศ.2016

International Day of Democracy 2016

ประชาธิปไตยปี 2030 (Democracy 2030)

ค.ศ.2017

International Day of Democracy 2017

เพื่อการปกป้องประชาธิปไตย (In defence of democracy)

ค.ศ.2018

International Day of Democracy 2018

ถ้าหากไร้การตรวจสอบทางรัฐสภา ? (What if parliamentary oversight did not exist?)

ที่มา : Inter-Parliamentary Union, "Archive," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.ipu.org/our-impact/strong-parliaments/international-days/international-day-democracy/archive.

บรรณานุกรม

General Assembly. "Resolution Adopted by the General Assembly on 8 November 2007 62/7. Support by the United Nations System of the Efforts of Governments to Promote and Consolidate New or Restored Democracies ", 13 December 2007. Accessed 10 May, 2022. https://www.un.org/ga/search/view_doc.asp?symbol=A/RES/62/7.

Inter-Parliamentary Union. "Archive." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.ipu.org/our-impact/strong-parliaments/international-days/international-day-democracy/archive.

Inter-Parliamentary Union. "International Day of Democracy." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.ipu.org/our-impact/strong-parliaments/international-days/international-day-democracy.

Inter-Parliamentary Union. "Universal Declaration on Democracy." 16 September 1997. Accessed 10 May, 2022. http://archive.ipu.org/cnl-e/161-dem.htm.

United Nations. "Background." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.un.org/en/observances/democracy-day.

กระทรวงการต่างประเทศ และ UN Country Team Thailand. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Universal Declaration of Human Rights: กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2551. http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf.

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

ปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์. "องค์กรของสหภาพรัฐสภา." จุลนิติ 6, no. 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2552): 159-69.

สำนักงานแถลงข่าวสหประชาชาติ. "กฎบัตรสหประชาชาติ Charter of the United Nations." เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม, 2565. https://treaties.mfa.go.th/pdf/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88/UN_Charter_Thai.pdf.

อ้างอิง

[1] Inter-Parliamentary Union, "International Day of Democracy," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.ipu.org/our-impact/strong-parliaments/international-days/international-day-democracy.

[2] General Assembly, "Resolution Adopted by the General Assembly on 8 November 2007 62/7. Support by the United Nations System of the Efforts of Governments to Promote and Consolidate New or Restored Democracies ", 13 December 2007, accessed 10 May, 2022, https://www.un.org/ga/search/view_doc.asp?symbol=A/RES/62/7.

[3] Ibid.

[4] Ibid.

[5] Ibid.

[6] Inter-Parliamentary Union, "Universal Declaration on Democracy," 16 September 1997, accessed 10 May, 2022, http://archive.ipu.org/cnl-e/161-dem.htm.

[7] General Assembly.

[8] Ibid.

[9] สำนักงานแถลงข่าวสหประชาชาติ, "กฎบัตรสหประชาชาติ Charter of the United Nations," accessed 15 พฤษภาคม, 2565, https://treaties.mfa.go.th/pdf/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88/UN_Charter_Thai.pdf.

[10] United Nations, "Background," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.un.org/en/observances/democracy-day.

[11] 21(3) The will of the people shall be the basis of the authority of government; this will shall be expressed in periodic and genuine elections which shall be by universal and equal suffrage and shall be held by secret vote or by equivalent free voting procedures. ดูใน กระทรวงการต่างประเทศ และ UN Country Team Thailand, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน Universal Declaration of Human Rights (กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2551), 12-13, 26. http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf.

[12] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ), 15.

[13] United Nations.

[14] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 22-24.

[15] Inter-Parliamentary Union, "Universal Declaration on Democracy."

[16] ปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์, "องค์กรของสหภาพรัฐสภา," จุลนิติ 6, no. 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2552): 159.

[17] General Assembly.

[18] Inter-Parliamentary Union, "International Day of Democracy."