ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:00, 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิต...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) คือ รูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายของรัฐบาล[1] เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยทางตรง นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะอธิบายเชื่อมโยงไปถึงประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ (Athenian Democracy) ซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่ใช้ในสมัยกรีกโบราณเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลของนครรัฐเอเธนส์ในฐานะจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย[2] อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของประเทศที่กว้างใหญ่และประชากรของแต่ละประเทศที่มีจำนวนนับล้าน รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันนำมาใช้จะปรากฏในลักษณะที่เป็นกระบวนการทางการปกครองหรือเครื่องมือการตัดสินใจสาธารณะที่มุ่งหนุนเสริมการใช้อำนาจการปกครองทางตรงของประชาชนภายใต้การเมืองระบบตัวแทนมากกว่าการใช้เป็นระบอบการปกครองเต็มรูปแบบ[3]

 

ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ในฐานะตัวแบบประชาธิปไตยทางตรง

          ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นรูปแบบการปกครองของนครรัฐเอเธนส์ในสมัยกรีกโบราณ โดยนครรัฐเอเธนส์ซึ่งมีพื้นที่เพียง 2,500 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 40,000 คน ได้มีการจัดการปกครองในรูปแบบที่เปิดให้พลเมืองซึ่งมีการกำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้ชายที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีบิดาเป็นคนเอเธนส์ (ไม่รวมผู้หญิงและทาส) มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในการออกกฎหมายผ่านการรับฟัง อภิปราย และพิจารณาลงมติร่างกฎหมายในที่ประชุมใหญ่ที่เรียกว่า “สภาพลเมือง (the Assembly of the Dēmos)"[4] นอกจากนี้ ในการประชุมสภาพลเมือง พลเมืองผู้ชายยังมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและให้ความเห็นชอบนโยบายที่นำเสนอโดยรัฐบาลที่ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการที่เรียกว่า “สภาห้าร้อย (the Council of 500)"[5] ซึ่งประกอบด้วย พลเมือง 500 คน (50 คนจากแต่ละเผ่า) ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี[6] ส่วนในเรื่องการพิจารณาตัดสินคดีความนั้น ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ดำเนินการผ่าน “ศาลประชาชน (the People’s Court)” ในระบบที่เปิดให้พลเมืองเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน (juries of citizens) เพื่อรับฟังการต่อสู้คดีและตัดสินชี้ขาดความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ตลอดจนพิจารณาบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด[7]

          จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในสมัยกรีกโบราณมีการจัดโครงสร้างเชิงสถาบันที่เปิดโอกาสให้พลเมืองที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าไปใช้อำนาจการปกครองโดยตรงผ่านสถาบันประชาธิปไตย 3 เสาหลัก ประกอบด้วย สภาพลเมืองทำหน้าที่เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ สภาห้าร้อยเป็นสถาบันฝ่ายบริหาร และศาลประชาชนเป็นสถาบันฝ่ายตุลาการ

 

ประชาธิปไตยทางตรงในการเมืองร่วมสมัย

          ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยทางตรงจะหมายถึงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดช่องทางให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการออกกฎหมายหรือนโยบายด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้นก็คือถ้ารัฐบาลต้องการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายร่างกฎหมายและ/หรือนโยบายดังกล่าว จะถูกส่งไปให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจโดยตรงผ่านวิธีการ เช่น การออกเสียงประชามติ ในความหมายนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ออกเสียงในประเด็นปัญหาและตัดสินใจอนาคตของประเทศด้วยตนเอง แม้แต่เรื่องสำคัญอย่างการขึ้นหรือลดภาษีก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ในกระบวนการแบบประชาธิปไตยทางตรง ประชาชนยังสามารถนำประเด็นปัญหาที่ต้องการให้มีการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจได้ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย เช่น โดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย[8] ในประเทศที่มีขนาดเล็ก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ รูปแบบการปกครองที่อาศัยหลักการประชาธิปไตยทางตรงดังกล่าวจะปรากฏใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกปรากฏในฐานะรูปแบบการปกครองระดับท้องถิ่นในพื้นที่ที่ยังคงรักษาแบบแผนของการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกับประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เอาไว้ และลักษณะที่สองเป็นการอาศัยกระบวนการริเริ่มกฎหมายและการตัดสินใจสาธารณะที่ยึดตามหลักการประชาธิปไตยทางตรง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (citizen-initiated through collection of signatures) การออกเสียงประชามติ (referendum) เป็นต้น

 

ตัวอย่างการปกครองท้องถิ่นที่ใช้รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์

          ประชาธิปไตยทางตรงในฐานะรูปแบบของการปกครองระดับท้องถิ่นในสวิตเซอร์แลนด์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันปรากฏในการปกครองระดับแคนทอน (Canton) ของเมืองกลารุส (Glarus) และเมืองแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดน (Appenzell Innerrhoden) เพียง 2 แห่งเท่านั้น (จากจำนวนแคนทอนทั้งหมด 26 แคนทอน) โดยทั้งสองเมืองถือว่าเป็นแคนทอนที่มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะเมืองแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดน ที่จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์และประชากร พบว่า เป็นแคนทอนที่มีขนาดเล็กที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ถ้านับตามจำนวนประชากร คือ มีประชากรเพียง 16,293 คน (แคนทอนที่มีประชากรมากที่สุด คือ ซูริค มีประชากร 1,553,423 คน) และมีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสองถ้าคิดจากขนาดพื้นที่ คือ มีพื้นที่เพียง 172 ตารางกิโลเมตร (แคนทอนที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ บาเซิล-ชตัดท์ มีพื้นที่เพียง 37 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรถึง 201,156 คน) นอกจากนี้ ในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย แอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนคือพื้นที่สุดท้ายในประเทศที่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ผู้หญิง (ผู้หญิงที่แอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนเพิ่งจะมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1991)[9] ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว ในส่วนนี้จะได้อธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจสาธารณะและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนเพื่อแสดงตัวอย่างหนึ่งของตัวแบบประชาธิปไตยทางตรงที่ยังดำรงอยู่ในการเมืองการปกครองยุคปัจจุบัน

          การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนจัดขึ้นทุกปี ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายน โดยในตอนเช้าจะมีพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์ จากนั้นราว ๆ 11 นาฬิกา คณะผู้บริหาร คณะผู้พิพากษา และตัวแทนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะตั้งขบวนและเดินแถวไปยังจัตุรัสใจกลางเมือง ซึ่งที่นั่นจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสภา (Landsgemeinde: general assembly) และลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) ทั้งชายและหญิง (ซึ่งในแต่ละปีจะมีจำนวนราวๆ สามถึงสี่พันคน) จะทยอยกันเข้าไปในสถานที่จัดการประชุมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่ “สมาชิกสภา” ของตนเอง[10] การมารวมตัวกันทุกปีในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายนดังกล่าวจึงเป็นการประชุมสภาท้องถิ่นเพื่อใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน ซึ่งอำนาจดังกล่าว ประกอบด้วย การเลือกตั้งคณะผู้บริหาร การเลือกตั้งคณะผู้พิพากษา รวมถึงการอภิปรายและลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายและข้อแสนอนโยบายของฝ่ายบริหาร[11]

          ในทุก ๆ ปี การประชุมสภาท้องถิ่นของแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนจะเริ่มในเวลา ประมาณ 12.00 นาฬิกา โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือการเลือกตั้งคณะผู้บริหารในรูปแบบที่เรียบง่ายโดยการ “ยกมือโหวต” กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้นก็คือ ก่อนที่จะมาถึงวันประชุมสภาท้องถิ่น ประชาชนชาวแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเสนอตัวเองเป็นคณะผู้บริหารได้ โดยในช่วง ประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนหน้าวันประชุมสภาเพื่อเลือกตั้ง ผู้ลงสมัครแต่ละคนสามารถจัดการรณรงค์หาเสียงได้ไม่ว่าจะโดยการติดป้ายหาเสียง เดินเคาะประตูบ้าน หรือใช้สื่อต่าง ๆ แต่เมื่อถึงวันลงคะแนนแล้ว จะไม่มีการให้ผู้สมัครขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์อีก

          ในการลงคะแนน จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครทีละคนเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาประชุมกันนั้นยกมือโหวตสนับสนุนผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบ คนที่ได้คะแนน (จำนวนมือ) มากที่สุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยการนับคะแนนนั้นก็ใช้วิธีเรียบง่าย คือ การ “กะจำนวนด้วยสายตา” ถ้าคะแนนสูสีกันมากจนกะด้วยสายตาได้ยากจึงค่อยใช้วิธีนับจำนวน โดยขอให้คนที่ไม่ยกมือเดินออกมารออยู่ข้างนอกที่ประชุมก่อน แล้วนับจำนวนผู้ที่อยู่ในที่ประชุมว่ามีจำนวนเท่าไร จากนั้นค่อยสลับเอาคนที่ยกมือออกมา แล้วเชิญคนที่ไม่ยกมือกลับเข้าไปในที่ประชุมเพื่อนับจำนวน[12]

          ความน่าสนใจของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของแอฟเพนเซลล์ อินเนอร์โรเดนอีกประการหนึ่ง คือ การแข่งขันทางการเมืองที่แม้จะเป็นการเลือกตั้งในเมืองเล็กๆ ที่ใช้รูปแบบการออกเสียงทางตรงโดยการยกมือโหวต แต่ก็เป็นการแข่งขันที่มีผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองระดับชาติลงแข่งขันด้วยเช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในแคนทอนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 2018 มีผู้สมัครที่เสนอตัวลงแข่งขันเพื่อเข้าไปทำหน้าที่คณะผู้บริหารด้านการคลัง 3 คน ประกอบด้วยนาย Ruedi Eberle จากพรรค Swiss People's Party (SVP) พรรคการเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของสวิสเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน (มี 65 จาก 200 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) นาย Reto Inauen จากพรรค Christian Democratic People’s Party (CVP) พรรคการเมืองใหญ่อันดับสี่ของสวิสเซอร์แลนด์ (มี 27 จาก 200 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และนาย Matthias Rhiner ผู้สมัครอิสระ[13]

          ถัดจากการเลือกตั้งคณะผู้บริหารจะเป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคณะผู้พิพากษา โดยวิธีการออกเสียงและนับคะแนนก็จะเป็นแบบเดียวกันกับการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร ส่วนกิจกรรมสุดท้ายของการประชุม คือ การพิจารณาร่างกฎหมายและข้อเสนอนโยบายของคณะผู้บริหาร โดยกระบวนการพิจารณาที่ใช้แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากการประชุมรัฐสภาในการเมืองระดับชาติหรือการประชุมสภาท้องถิ่นแบบมีตัวแทนในรูปแบบทั่วๆ ไป นั่นคือ การเริ่มต้นจากการนำเสนอร่างกฎหมาย/นโยบายของฝ่ายบริหาร ต่อด้วยการอภิปรายของสมาชิกสภาและจบลงด้วยการลงมติ

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากสภาแบบตัวแทนอย่างสิ้นเชิงก็คือ สภาท้องถิ่นของแอฟเพนเซลล์อินเนอร์โรเดนเป็นสภาที่ประชาชนทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิก ประชาชนทุกคนที่มาเข้าร่วมประชุมจึงสามารถร่วมอภิปรายร่างกฎหมาย/ข้อเสนอนโยบายและลงมติว่าจะ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่างกฎหมาย/นโยบายดังกล่าวได้ด้วยตนเอง กล่าวคือ ในขั้นตอนของการอภิปรายร่างกฎหมาย/ข้อเสนอนโยบาย ประชาชนที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นสามารถยกมือขึ้น และได้รับเชิญให้ขึ้นไปพูดบนเวทีที่จัดเตรียมไว้ทีละคนตามลำดับของคนที่แสดงความประสงค์ และการอภิปรายจะดำเนินการไปจนกว่าจะไม่มีใครประสงค์ที่จะขออภิปรายแสดงความคิดเห็นอีก เรียกว่า เป็นกระบวนการที่เปิดกว้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเรื่องเวลาและจำนวนผู้ต้องการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ส่วนการลงมติตัดสินว่าร่างกฎหมาย/นโยบายที่ฝ่ายบริหารเสนอจะผ่าน
ความเห็นชอบของที่ประชุมหรือไม่เป็นการอาศัยหลักการเสียงข้างมากอย่างง่าย (simple majority) คือ ถ้าร่างกฎหมาย/นโยบายได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าเสียงคัดค้าน ฝ่ายบริหารก็สามารถนำร่างกฎหมายไปประกาศใช้หรือนำนโยบายที่เสนอมาไปดำเนินการได้ แต่ถ้าเสียงคัดค้านมีมากกว่า ร่างกฎหมาย/นโยบายนั้นก็เป็นอันตกไป[14]

 

การออกเสียงประชามติในฐานะรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรงในปัจจุบัน

          การลงประชามติเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ผ่านการตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องสำคัญๆ ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน การลงประชามติอาจมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อขอคำปรึกษาจากประชาชนต่อนโยบาย/การดำเนินการของรัฐบาล และประการที่สอง เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนโดยผลการลงประชามติมีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไปตามการออกเสียงของประชาชนนั้น[15] การลงประชามติสามารถริเริ่มได้จากหลายฝ่ายทั้งรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนการเข้าชื่อของประชาชน โดยมีหลายแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการอาทิในประเทศอิตาลี สมาชิกรัฐสภาใดสภาหนึ่ง จำนวน 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อขอให้มีการจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ กรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คนขึ้นไป สามารถรวมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอให้มีการลงประชามติได้[16]

          การจัดให้มีการลงประชามติเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ การให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายใหม่ การร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงดินแดนอาณาเขต การเงิน การคลัง และการกระจายอำนาจ ส่วนคำถามที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติ อาจมีได้อย่างน้อยใน 2 แนวทาง ดังนี้

          แนวทางที่ 1 ให้ประชาชนตอบว่า เห็นชอบ (yes) หรือไม่เห็นชอบ (no) เช่น การลงประชามติเรื่องระบบเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรในปี 2011 เป็นการให้ประชาชนออกเสียงว่าเห็นด้วยที่จะให้มีการนำระบบการเลือกตั้งแบบ Alternative Vote (ระบบที่ใช้ในออสเตรเลีย) มาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่[17]

          แนวทางที่ 2 ให้ประชาชนออกเสียงประชามติจากตัวเลือกที่มีให้ (multiple choices) เช่น การลงประชามติเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งของนิวซีแลนด์ในปี 1992 เป็นการให้ประชาชนออกเสียงเลือกระบบการเลือกตั้งที่ชอบที่สุดจากตัวเลือกระบบการเลือกตั้ง 5 รูปแบบ[18]

          การนับผลการลงประชามติยึดตามเสียงข้างมาก ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ เสียงข้างมากธรรมดา (เกินกึ่งหนึ่ง) ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง หรือผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และรูปแบบเสียงข้างมากสองระดับ (double majority) เป็นการกำหนดเงื่อนไขของเสียงข้างมากไว้มากกว่าหนึ่งเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น การลงประชามติในประเทศสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ จะถือว่าประชาชนเห็นชอบต่อเมื่อโดยภาพรวมของประเทศผู้มาออกเสียงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ โดยเมื่อแยกตามมลรัฐจะต้องมีมลรัฐจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่ประชาชนโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ[19]

          การพิจารณาว่าจะใช้เสียงข้างมากแบบใดขึ้นอยู่กับความสำคัญของประเด็น (คำถาม) ที่นำไปให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งตามหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่ยึดถือกันนั้น หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เช่น การให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่บังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ก็จะมีการกำหนดเงื่อนไขของเสียงข้างมากไว้ค่อนข้างสูง แต่หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่า เช่น การให้ความเห็นชอบต่อแผนงานหรือโครงการของรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น การใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการลงประชามติก็อาจจะเพียงพอ[20]

          ปัจจุบัน การออกเสียงประชามตินับเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางการเมืองที่อาศัยหลักการประชาธิปไตยทางตรงที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดเครื่องมือหนึ่ง จากการรวบรวมข้อมูลของ The Research Center on Direct Democracy (C2D) พบว่า ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1945 - 2012 มีการจัดการลงประชามติระดับชาติในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม 898 ครั้ง โดยประเทศที่มีการจัดการลงประชามติในช่วงเวลาดังกล่าวมากที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ (432 ครั้ง) รองลงมาคือ ลิกเตนสไตน์ (80 ครั้ง) และอิตาลี (73 ครั้ง)[21] ตามลำดับ

          กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันการลงประชามติเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรงที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เนื่องจากการลงประชามติถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองทางตรงผ่านการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตนเองได้ การลงประชามติเป็นมาตรการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรหรือสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชนมิให้ดำเนินการใดๆ โดยมิได้ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน เสียงของประชาชนในกระบวนการประชามติจะถูกนับอย่างเท่าเทียม ถือเป็นที่สุด และมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปในวงกว้าง

 

ประชาธิปไตยทางตรงในการเมืองการปกครองไทย

          ประเทศไทยนำแนวคิดประชาธิปไตยทางตรงมาใช้เป็นช่องทางในการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชนในการใช้และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นครั้งแรกหลายประการ ได้แก่ การกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดใน หมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และหมวด 5 (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) ของรัฐธรรมนูญ[22] การกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ออกจากตำแหน่งได้ โดยคำร้องขอดังกล่าวจะต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน[23] นอกจากนี้ในหมวดที่ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงสามารถออกเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้ หากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือกระทำผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้[24] และยังกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้[25]

          ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการนำกลไกต่าง ๆ ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนมาบัญญัติรวมกันไว้เป็นหมวดเฉพาะ และได้มีการลดเงื่อนไขที่อาจทำให้การมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนมีความยุ่งยากลงหลายประการ โดยเฉพาะการลดจำนวนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเดิมที่กำหนดไว้ ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เป็นไม่น้อยกว่า 10,000 คน และลดจำนวนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากเดิมที่กำหนดไว้ ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เป็นไม่น้อยกว่า 20,000 คน

          ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนที่สอดคล้องกับรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงปรากฏในบทบัญญัติหลายมาตรา ได้แก่ มาตรา 133 การมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย (ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายตาม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐได้) มาตรา 236 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ในกรณีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริธรรม เพื่อให้มีการตั้งผู้ไต่สวนอิสระแสวงหาข้อเท็จจริง) มาตรา 254 การมีส่วนร่วมในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น (ประชาชนชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น) และมาตรา 256 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้)

 

อ้างอิง

[1] Bernard Crick, Democracy: A Very Short Introduction. (Oxford: Oxford University Press, 2002); David Stasavage, The Decline and Rise of Democracy (Princeton: Princeton University Press, 2020).

[2] Thomas N. Mitchell, Democracy's Beginning: The Athenian Story (Yale University Press, 2015).

[3] David Altman, Citizenship and Contemporary Direct Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2018).

[4] Christopher W. Blackwell, “Athenian Democracy: an overview,” in C. Blackwell, ed., Dēmos: Classical Athenian Democracy, 2003, 3-5. http://www.stoa.org/projects/demos/democracy_overview.pdf (Accessed on 13 April 2022).

[5] Ibid., p. 5.

[6] Ibid., p. 40

[7] Ibid. p. 50

[8] David Altman, Direct Democracy Worldwide (Cambridge: Cambridge University Press, 2011), 7-8.

[9] John Bendix, “Women's Suffrage and Political Culture: A Modern Swiss Case,” Women & Politics 12, no. 3 (1993): 27-56.

[10] “Landsgemeinde (open-air assembly),” Appenzellerland, https://www.appenzell.ch/en/culture-traditions/customs/landsgemeinde-open-air-assembly.html (Accessed April 25, 2022).

[11] Gregory A. Fossedal, Direct Democracy in Switzerland (New Brunswick, NJ: Transaction Publishers, 2002), 130.

[12] ดูเพิ่มเติม ใน Hans-Peter Schaub, “Maximizing Direct Democracy - by Popular Assemblies or by Ballot Votes,” Swiss Political Science Review 18, no. 3 (2012): 305–331.

[13] “Grosser Rat,” Kanton Appenzell Innerrhoden, https://www.ai.ch/politik/grosser-rat (Accessed April 25, 2022).

[14] โปรดศึกษาเพิ่มเติมจาก Sean Mueller, “The Politics of Local Autonomy: Measuring Cantonal (De)centralisation in Switzerland,” Space and Polity 15, no. 3 (2011): 213 – 239.

[15] Matt Qvortrup, “Introduction: Theory, Practice and History.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018), 2-3.

[16] Altman, D. (2011), op.cit., p. 10.

[17] Matt Qvortrup, “Western Europe.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018), 9.

[18] Matt Qvortrup, Caroline Morris, and Masahiro Kobori. 2018. “Australasia.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018), 253.

[19] ดู Todd Donovan, “North America and the Caribbean.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018), 153-157; Serdült, Uwe. 2018. “Switzerland.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018), 53-58.

[20] Matt Qvortrup, “Two Hundred Years of Referendums.” In Matt Qvortrup (ed.). Referendums Around the World, (London: Palgrave Macmillan, 2018).

[21] ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2022 ของ The Research Center on Direct Democracy ระบุว่าจำนวนการจัดการลงประชามติของสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 679 ครั้ง ลิกเตนสไตน์เพิ่มขึ้นเป็น 114 ครั้ง และอิตาลีเพิ่มขึ้นเป็น 84 ครั้ง

[22] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา  170

[23] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา  303-304

[24] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา  286

[25] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา  287