การเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยม
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์. ดร. นิยม รัฐอมฤต
บทนำ
การเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian Election) เป็นทั้งปรากฏการณ์ทางการเมือง และทฤษฎีการเมืองเปรียบเทียบที่ใช้อธิบายกลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยภายใต้ระบอบเผด็จการ และระบอบกลายพันธุ์ (hybrid regime) โดยที่รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นมักอาศัยกลไกการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อให้เกิดการยอมรับและลดแรงกดดันจากประชาคมนานาชาติที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งกลายเป็นช่องทางระบายความคับแค้นใจของประชาชนผู้ถูกกดขี่เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยม อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเลือกตั้งไม่ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองเสียเอง รัฐบาลอำนาจนิยมมักอาศัยความได้เปรียบต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงงบประมาณของรัฐ การเข้าถึงสื่อหลัก และการถืออำนาจรัฐในการครองความได้เปรียบในการเลือกตั้ง จึงส่งผลให้ฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านระบอบแม้จะชนะเลือกตั้งในบางพื้นที่ก็ไม่เพียงพอที่จะท้าทายต่ออำนาจของรัฐบาลได้ ทั้งนี้การเลือกตั้งในระบบอำนาจนิยมอาจปรากฏขึ้นในหลายระดับทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น
แนวคิดว่าด้วยการเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยม
การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเพียงกลไกทางการเมืองการปกครองของระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะในระบอบอำนาจนิยมก็อาจอาศัยการเลือกตั้งเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลด้วยเช่นกัน Andreas Schedler ได้ชี้ให้เห็นว่าระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) ยอมให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมือง (multiparty election) โดยจัดเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอให้ได้มาซึ่งตำแหน่งสำคัญอย่างผู้นำฝ่ายบริหารและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สิ่งที่ทำให้การเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยมต่างไปจากระบอบเสรีประชาธิปไตยก็คือ ผู้นำอำนาจนิยมมักจะละเมิดหลักการว่าด้วยเสรีภาพ และความเป็นธรรมเพื่อที่จะให้ผลการเลือกตั้งเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ[1]
เช่นเดียวกับ Steven Levitsky และ Lucan A. Way ที่มองไปในทิศทางเดียวกันว่าการเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน (competitive authoritarianism) นั้นมักจะจัดให้มีขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เต็มไปด้วยการทุจริตอย่างกว้างขวางเช่นกัน รัฐบาลในอำนาจมักใช้ทรัพยากรของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคของตนเองและพวกพ้อง ทั้งยังปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายค้านเข้าถึงช่องทางการสื่อสารในระดับที่ใกล้เคียงกันกับตนเอง อาจมีการคุกคามผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามและผู้สนับสนุน หรือในบางกรณีอาจไปถึงขั้นกำหนดผลการเลือกตั้งตามอำเภอใจ[2] กล่าวโดยทั่วไปก็คือการเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอาจยอมให้มีการแข่งขันของหลายพรรคการเมืองในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลก็จะไม่ยอมเปิดสนามเลือกตั้งให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
หน้าที่ของการเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยม
รัฐบาลอำนาจนิยมใช้การเลือกตั้งเพื่อค้ำยันระบอบของตนเอง โดยทำให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือกระชับความร่วมมือและแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองในหมู่ชนชั้นนำสมาชิกพรรค และกลุ่มต่างๆ ในสังคมมากกว่าวิธีการอื่นๆ เช่น การแต่งตั้ง ผู้นำเผด็จการอาจใช้การเลือกตั้งเป็นวิธีการกระจายตำแหน่งหน้าที่ผ่านการปล่อยให้ชนชั้นนำเข้าใจไปว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางที่เป็นธรรมและเหมาะสมในอันที่จะได้เข้าร่วมแบ่งปันอำนาจโดยที่ตนเองพยายามที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน วิธีการนี้เพื่อทำให้แน่ใจว่าชนชั้นนำที่จะเข้าสู่ระบอบเป็นบุคคล หรือ กลุ่มทางการเมืองซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน ผลที่สุดก็คือ การได้มาซึ่งพันธมิตรที่เข้มแข็งที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม[3]
ในทางกลับกันการเลือกตั้งอาจถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความร่วมมือกับฝ่ายค้านได้เช่นกันการยอมให้นักการเมือง และพรรคการเมืองฝ่ายค้านลงแข่งขันเลือกตั้งจึงเท่ากับเป็นการยอมให้คนกลุ่มดังกล่าวมีตำแหน่งทางการเมืองในระบอบบนเงื่อนไขที่มีอำนาจตัดสินใจจำกัด การทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการทำลายความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพของฝ่ายต่อต้านระบอบเอง เผด็จการจะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการแบ่งแยกนักการเมืองและกลุ่มทางการเมืองออกเป็นกลุ่มๆ กล่าวคือกลุ่มในระบอบและกลุ่มที่ต่อต้านระบอบ แล้วจึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิลงแข่งขันเลือกตั้งให้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มในระบอบที่จะไม่คุกคามเสถียรภาพของระบอบเท่านั้น ทั้งนี้การจัดแบ่งดังกล่าวขึ้นอยู่กับแนวโน้มเชิงอุดมการณ์และขนาดของพรรคฝ่ายค้านด้วย[4]
ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เผด็จการจึงอาจใช้การเลือกตั้งเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารว่าฐานสนับสนุนและฐานต่อต้านตนเองเป็นคนกลุ่มใดและพื้นที่ใด เพื่อที่จะควบคุมภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝ่ายต่อต้านระบอบ วิธีการสำคัญภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลงและก่อนการเลือกตั้งสมัยถัดไปก็คือ การลงโทษประชาชนในเขตที่ให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านโดยการให้งบประมาณที่น้อยลงหรือ การซื้อใจให้หันมาสนับสนุนตนเองก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า หรือแม้แต่การทำให้กลุ่มดังกล่าวไม่สามารถออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เป็นต้น บทบาทการให้ข้อมูลข่าวสารของการเลือกตั้งยังสามารถอยู่ในรูปแบบที่ผู้นำระดับชาติจะสามารถรับรู้ได้ผ่านผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นว่าคนของพรรคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยเพียงใด[5]
ถ้าการเลือกตั้งในระบอบเสรีประชาธิปไตยนำมาซึ่งการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอย่างสันติการเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยมก็นำมาซึ่งการหลีกเลี่ยงจากการที่รัฐบาลในอำนาจจะถูกล้มล้างด้วยความรุนแรง โดยการให้ทางเลือกแก่ชนชั้นนำกลุ่มอื่นที่คิดจะรัฐประหารได้มีตำแหน่งทางการเมืองโดยปราศจากการใช้กำลัง[6] ในบางกรณีที่เป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนั้นอาจทำให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันในเชิงนโยบาย (policy congruence) ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งช่วยสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัฐอำนาจนิยมด้วยกันอ้างไปถึงฉันทามติของปวงชน (popular consent) ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับในประชาคมนานาชาติและภายในประเทศ แม้ว่าแท้จริงแล้วผลการเลือกตั้งจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือท้าทายการดำรงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมแต่อย่างใด
นัยยะสำคัญต่อการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ
แม้การเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยมจะถูกมองว่าเป็นเพียงฉากบังหน้าของรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลอำนาจนิยมจำนวนหนึ่ง (เช่น จีน ประเทศในยุโรปตะวันออกภายใต้สหภาพโซเวียตและรัสเซียในปัจจุบัน) ใช้กลไกการเลือกตั้งเพื่อเป้าหมายทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงบางอย่าง แตกต่างจากในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่ต้องมีมาก่อน (prerequisite condition) การเลือกตั้งแบบอำนาจนิยมช่วยรัฐบาลรักษาอำนาจรัฐบาล ประเมินความเสี่ยงและภัยคุกคาม สร้างความร่วมมือและแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นนำในระบอบ ทั้งนี้การศึกษาการเลือกตั้งในระบอบอำนาจนิยมที่มองแต่เพียงมิติเชิงมหภาคว่าการเลือกตั้งในระบอบนี้ทุกที่คล้ายคลึงกันหมดนั้น จะไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าทำไมเผด็จการจึงใช้การเลือกตั้งแทนที่จะเป็นวิธีการอื่น ๆ ในทางกลับกันการพิจารณาในมิติเชิงจุลภาพของแต่ละระบอบจะชี้ให้เห็นถึงพลวัตและยุทธศาสตร์เฉพาะที่ใช้ในการจัดการการเลือกตั้งของเหล่าเผด็จการ
บรรณานุกรม
Gandhi, Jennifer and Ellen Lust-Okar (2009). "Elections Under Authoritarianism." Annual Review of Political Science. 12: 403-422.
Gelman, Vladimir (2008). "Party Politics in Russia: From Competition to Hierarchy." Europe-Asia Studies. 60(6): 913-930.
Levitsky, Steven and Lucan A. Way (2002). "The Rise of Competitive Authoritarianism." Journal of Democracy. 13(2): 51-66.
Schedler, Andreas (2006). "The Logic of Electoral Authoritarianism." in Andreas Schedler (ed.). Electoral Authoritarianism: The Dynamics of Unfree Competition, pp. 1-26. Colorado: Lynne Rienner.
อ้างอิง
[1] Andreas Schedler, "The Logic of Electoral Authoritarianism," in Andreas Schedler (ed.), Electoral Authoritarianism: The Dynamics of Unfree Competition (Colorado: Lynne Rienner, 2006), p. 3.
[2] Steven Levitsky and Lucan A. Way, "The Rise of Competitive Authoritarianism." Journal of Democracy. 13(2) 2002: 53.
[3] Jennifer Gandhi and Ellen Lust-Okar, "Elections Under Authoritarianism," Annual Review of Political Science, 12, 2009: 405.
[4] โปรดดู Vladimir Gelman, "Party Politics in Russia: From Competition to Hierarchy," Europe-Asia Studies, 60(6) 2008: 913-930.
[5] Jennifer Gandhi and Ellen Lust-Okar, "Elections Under Authoritarianism," 405.
[6] Jennifer Gandhi and Ellen Lust-Okar, "Elections Under Authoritarianism," 406.