มองอนาคตอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:44, 1 มิถุนายน 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต '''ผู้ทร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

มองอนาคตอาเซียน

          อาเซียน (the Association of South-East Asian Nations-ASEAN) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1967
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ[1]

          ประเทศที่มีส่วนก่อตั้งอาเซียนในขั้นเริ่มแรกมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน ค.ศ.1984 เวียดนาม
ใน ค.ศ.1995 ลาวและเมียนมาร์ ใน ค.ศ.1997  และกัมพูชา ใน ค.ศ.1999 รวมทั้งสิ้น 10 ประเทศ[2]
ประเทศสมาชิกเหล่านี้มีความแตกต่างหลากหลายกันมากทั้งในทางอุดมการณ์และระบบการเมือง พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ขนาดพื้นที่ของประเทศ จำนวนประชากร เอกภาพและความมั่นคงของประเทศ ดูรายละเอียดประกอบในตารางข้างล่าง

ประเทศ

การเมือง

'รายได้ต่อหัว/'$

ภาษา

ศาสนา

พื้นที่/ตร.กม.

ประชากร/คน

กัมพูชา

กึ่งประชาธิปไตย

4,422

เขมร

พุทธเถรวาท

176,520

16,719 ล้าน

บรูไน

ระบอบกษัตริย์

65,661

มาเลย์

อิสลาม

5,270

437,479

อินโดนีเซีย

ประชาธิปไตย

12,073

อินโดนีเซีย

อิสลาม

1,811,570

273.523 ล้าน

มาเลเซีย

ประชาธิปไตย

27,889

มาเลย์

อิสลาม

328,550

32.366 ล้าน

เมียนมาร์

ระบอบทหาร

4,783

พม่า

พุทธเถรวาท

653,290

54.409 ล้าน

ลาว

กึ่งสังคมนิยม

8,234

ลาว

พุทธเถรวาท

230,800

7.275 ล้าน

ฟิลิปปินส์

ประชาธิปไตย

8,390

ตากาล๊อก

คาทอลิก

298,170

109.581 ล้าน

สิงคโปร์

กึ่งประชาธิปไตย

98,526

อังกฤษ จีน

ขงจื้อ-เต๋า

700

5.850 ล้าน

ไทย

กึ่งประชาธิปไตย

18,236

ไทย

พุทธเถรวาท

510,890

69.799 ล้าน

เวียดนาม

กึ่งสังคมนิยม

   8,650

เวียดนาม

พุทธมหายาน

  310,070

   97.338ล้าน

แหล่งข้อมูล..รายได้ต่อหัวปี 2020 (GDP per capita, ppp) data worldbank.org (19/07/2564) พื้นที่และประขากร ปี 2021 (Countries in the world by population,2021) worldometers.info>po.. (19/07/2564)

          โดยที่อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีความแตกต่างกันมากทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจ การเมือง และปัจจัยแวดล้อมด้านต่างๆ การรวมกลุ่มกันให้เกิดความสนิทแนบแน่นจึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ
ในระยะเวลาอันสั้น หลักในการรวมตัวกันของอาเซียนกล่าวได้ว่าขึ้นกับหลักการหารือและการตัดสินใจ
โดยหลัก “ฉันทามติ” (consensus) มากกว่าการยกมือลงมติใช้เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อย หลักที่ว่านี้เรียกว่า “วิถีแห่งเอเชีย” (the Asian way) ซึ่งหมายถึงรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ที่มีลักษณะ 7 ประการ ดังนี้ 1.ระดับการดำเนินการที่มีลักษณะไม่เป็นทางการสูง (informality) 2.ยึดการทูตในลักษณะที่ไม่เป็นข่าว แต่จำกัดอยู่ในวงสมาชิกเท่านั้น (quiet diplomacy) หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการหารือกันเป็นการภายใน 3.ยึดการพูดจาหารือ (dialogue) และหลักฉันทามติ (consensus) เป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจ 4.เน้นเรื่องความสำคัญของการรู้จักยับยั้งชั่งใจ (self-restraint) 5.เน้นความสำคัญของการมีเอกภาพ (solidarity) 6.เน้นเรื่องการหลีกเลี่ยงปัญหา มากกว่าการแก้ปัญหา และ 7.ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดในหลักการของอธิปไตยของประเทศและการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน[3]

          ในการรวมกลุ่มของอาเซียนใน 10 ปีแรกไม่มีกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญอะไรมากนัก จุดเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นในปี 1975 เมื่อประเทศพันธมิตรในซีกโลกทุนนิยมอันได้แก่ เวียดนามใต้ ลาว และเขมร พ่ายแพ้
แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศอาเซียนตกอยู่ใต้ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์  โดยเฉพาะประเทศไทย
มีอาณาเขตติดกับประเทศลาว เขมร และอยู่ใกล้กับเวียดนาม ประเทศไทยจึงได้ชวนประเทศในอาเซียนอื่น
ให้ร่วมผนึกกำลังกันต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับจากประเทศสมาชิกอื่น
เป็นอย่างดี มีการตกลงทำสนธิสัญญาระหว่างกันในหลายเรื่อง เกิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1
ในปี 1976 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และครั้งที่ 2 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี 1977
ต่อมาในปี 1978 เวียดนามส่งทหารเข้ายึดกัมพูชา อาเซียนได้ร่วมกันกดดันให้เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชา และสนับสนุนเขมร 3 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเขมรที่เวียดนามให้การสนับสนุน[4] การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 3 มิได้จัดขึ้นจนกระทั่งปี 1987 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หรือ 10 ปีหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน
ครั้งที่ 2

          การร่วมมือกันมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังเวียดนามถอนทหารออกจากประเทศกัมพูชาในปี 1989
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามเย็นเริ่มอ่อนแรงลง และสลายตัวไปในที่สุดเมื่อสหภาพโซเวียต ขั้วการเมืองฝ่ายสังคมนิยมล่มสลายในปี 1991 ต่อมาในปี 1992 มีการประชุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการประชุม
ที่มีมติให้เพิ่มร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคและระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันให้มากขึ้น คือได้มีการตกลง
ที่จะจัดตั้งกลไกสร้างความมั่นคง (ASEAN Regional Forum--- ARF) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมหารือ
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับสูงด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ลดอัตราภาษีระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันให้เหลือร้อยละ 0-5 โดยครอบคลุมสินค้า
ทุกประเภท ยกเว้นสินค้าเกษตร[5]

          ความคืบหน้าของอาเซียนในการร่วมมือกับประเทศภายนอกภูมิภาคมีมากขึ้น โดยในปี 1997
เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สหรัฐอเมริกา ผู้นำโลกทุนนิยมไม่เหลียวแล ในขณะที่ประเทศจีนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขัน และได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งอาเซียนบวก 3
(ASEAN Plus Three-APT) คือร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเน้นความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีตะวันออก 2.ด้านการเงิน 3.ด้านการเมืองและความมั่นคง
4.ด้านสิ่งแวดล้อม และ 5.ด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งต่อมาได้เริ่มจัดตั้งกลไกขึ้นดำเนินการ
อย่างเป็นทางการในปี 1999 และจีนเป็นประเทศแรกที่ทำความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียนในปี 2003 ในเวลาต่อมา การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ที่ญี่ปุ่น ปี 2006 ได้มีการขยายความร่วมมือจากอาเซียนบวก 3 เป็นอาเซียนบวก 6 เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หลังจากนั้นขยายเป็นอาเซียนบวก 8 เพิ่ม สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีคู่ความสัมพันธ์อื่นๆ ที่อาเซียน
ทำกับกลุ่มประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ[6]  

          ในปี 2015 อาเซียนได้ยกระดับความร่วมมือในแนวดิ่งระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นจากรูปแบบสมาคม
เป็นประชาคม โดยมีผลตอนปลายปี โดยแยกประชาคมออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่

          1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community-APSC) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธีและยึดมั่น
ในหลักความมั่นคงร่วมกัน 

          2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในภูมิภาคอื่นได้
โดยให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้อาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว เป็นฐานการผลิต และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำกว่า

          3.ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio3Cultural Community-ASCC) มีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม[7]

          การยกระดับความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนได้พัฒนามาถึงขั้นประกาศจัดตั้งเป็นประชาคม แต่ในทางปฏิบัติยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการขับเคลื่อนไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดยังบอกไม่ได้ ในระยะหลายปีที่ผ่านมาการดำเนินงานของอาเซียนมีอุปสรรคหลายเรื่อง เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน เช่น กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ความไม่ไว้วางใจกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเพื่อนบ้านอาจเป็นศัตรู[8] 

          ในประเด็นคำถามว่าปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 50 ปี มีเรื่องอะไรที่ท้าทายการก้าวไปข้างหน้าของอาเซียนมากที่สุด 3 เรื่อง อดีตนายกรัฐมนตรี โก๊ะจกตง (Goh Chok Tong) แห่งสิงคโปร์
ตอบว่า ได้แก่ 1.ความแตกแยกที่ร้าวลึกในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2.แนวโน้มสูงขึ้นของ “ประเทศของฉันก่อน”
และ “ประชานิยม” เพื่อสนองตอบต่อกระแสการเมืองภายในประเทศที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และ
3.ความผิดหวังของประชาชนในประเทศสมาชิกที่โน้มไปในทางลงลึกมากขึ้นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป็นประโยชน์เฉพาะแก่คนรวย ในขณะที่คนชั้นล่างและคนชั้นกลางต้องแบกรับภาระ[9]

          อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย สยิด ฮามิด อัลบาร์ (Syed Hamid Albar)
ให้ความเห็นในโอกาสการจัดตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปีนี้ ว่าอาเซียนยังคงแตกแยกกันในประเด็นปัญหา
บางเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในด้านการทูตเพื่อการป้องกันหรือเพื่อทำความตกลงในปัญหาข้อพิพาท อาเซียนขาดความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่น อาเซียนดูเหมือนว่าพอใจที่จะเป็นเวทีการประชุมเพื่อถกหรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่ไม่มีข้อขัดแย้งกัน และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องพิจารณาตรวจสอบโครงสร้างภายในและกระบวนการในการตัดสินใจ ถ้ายังต้องการให้อาเซียนดำรงอยู่อย่างสอดรับ
กับความเป็นจริงของโลก และสามารถแสดงบทบาทที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่าง
ประเทศได้[10]

          ส่วนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย นูร์ ฮัสซัน วิราจูดา (Nur Hassan Wirajuda) ให้ความเห็นในโอกาสการจัดตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปีนี้เช่นเดียวกันว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้แสดงให้เห็นถึงความไร้เอกภาพและบทบาทการเป็นศูนย์กลางการนำ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากอาเซียนขาดผู้นำที่มีความสามารถและผู้นำที่มีภูมิปัญญา[11]

          ความเห็นข้างต้น แม้จะกล่าวเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ในปัจจุบัน (ปี 2021) สถานการณ์ของอาเซียนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น  ตรงกันข้ามกับเผชิญกับปัญหากดดันทั้งจากภายในภายนอกมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาอำนาจยังคงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายปักหมุดเอเชีย
(pivot to Asia ) ตั้งแต่ปี 2012 สมัยรัฐบาลโอบามา ปลุกประเทศพันธมิตร (ญี่ปุ่น) ให้ก่อประเด็น
ความขัดแย้งกับจีนในเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนตะวันออก สนับสนุนประเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียให้ก่อประเด็นความขัดแย้งกับจีนในเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้

          ในสมัยรัฐบาลโดนัล ทรัมพ์ (มกราคม ค.ศ.2017-มกราคม 2021) สหรัฐอเมริการุกหนักในเรื่อง
การปฏิวัติสี พยายามสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ธิเบต ซินเจียง ให้ก่อเรื่องความวุ่นวาย รวมถึงการยั่วยุจีนในเรื่องการขายอาวุธให้ไต้หวัน และยกระดับการติดต่อกับไต้หวันที่เป็นทางการมากขึ้น
ซึ่งละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับจีนในสมัยนิกสัน ในอีกด้านหนึ่ง ก่อสงครามการค้ากับจีน โดยเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งในปี 2017 และเริ่มลงมือในปี 2018เป็นต้นมา ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนไม่แน่นอน  สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นสนามประลองยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่สำคัญ ยิ่งกว่านี้ ยังพยายามกดดันให้ประเทศในอาเซียนต้องเลือกข้างมากขึ้น อันมีผลทำให้อาเซียนเกิดการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย และมีผลถึงเอกภาพในบรรดาสมาชิกของอาเซียน

          ในปี 2020 ยังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่เริ่มระบาดขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 ในเมืองอู่ฮั้น
มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้แต่ละประเทศต้องหันมาสนใจแก้ปัญหาภายในประเทศอย่างหนัก ทั้งปัญหาสาธารณสุข
ที่มีผู้คนติดเชื้อจำนวนมากมาย เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการรักษาพยาบาล ผู้ติดเชื้อล้มตายจำนวนมาก และปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องปิดเมือง รัฐบาลประกาศ
สั่งการให้ประชาชนอยู่กับบ้าน รวมทั้งส่วนราชการและภาคเอกชนให้ปฏิวัติงานที่บ้าน โรงเรียนให้หยุด
การเรียน ลดจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียน หรือจัดการสอนผ่านสื่อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายถูกกระทบ
การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างกันทำได้ลำบาก เพราะกลัวการติดเชื้อ เศรษฐกิจล้มละลายจำนวนมาก
โดยประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากถูกกระทบมากเป็นพิเศษ                                          

          ส่วนกระแสในด้านบวกที่จะทำให้ประเทศต่างๆต้องร่วมมือกัน ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่วิกฤตมากขึ้น เช่น ปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่มาตามฤดูกาล ปัญหาน้ำท่วม ฝนตกมากเกินไป ปัญหาพายุ ปัญหาแผ่นดินไหว ปัญหาขยะทางทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาไฟป่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังประเทศใดประเทศหนึ่ง หลายๆ ประเทศต้องร่วมมือกัน ปัญหาโรงระบาด ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ที่ประเทศทั้งหลายต้องร่วมกันแก้ไข ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร รวมถึงโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเชื่อมต่อกันข้ามประเทศ ข้ามทวีป อย่าง “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
ที่จีนนำเสนอและให้การสนับสนุน โครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเช่นกันของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ
7 ประเทศ (G7)  คือโครงการ “Build Back Better” การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ที่ลงนามโดย
15 ประเทศในช่วงต้นปี 2021 ก็จัดได้ว่าเป็นพลังบวกต่อการร่วมมือระหว่างประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ
ของประเทศ

          ภายใต้สถานการณ์ที่มีพลังบวกและพลังลบที่กระทบต่อความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน เงื่อนไขความจำเป็นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และปัญหาความมั่นคงของประเทศ
ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละประเทศ ยากที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหลายมีจุดยืนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความเป็นประชาคม
มากขึ้นหรือมีการแยกตัวออกของสมาชิกอย่างกรณีประเทศอังกฤษที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะอาเซียนดำรงอยู่อย่างคนเอเชียหรือที่เรียกว่า “วิถีแห่งเอเชีย” ไม่บังคับให้ต้องปฏิบัติ
อย่างเดียวกันถ้าไม่พร้อมจะปฏิบัติ และด้วยวิถีทางของคนเอเชีย อาเซียนจะก้าวหน้าไปถึงขั้นการเป็นประชาคมที่สมบูรณ์ตามเป้าหมาย ที่จะให้เกิดการรวมตัวเป็น “ตลาดเดียว”  “วิสัยทัศน์เดียว” หรือ
“เอื้ออาทรต่อกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน” ยังคงต้องใช้เวลานานกว่า 5-10 ปี  ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความใฝ่ฝันอันสูงส่งที่จะรวมตัวกันเป็น “สหภาพ” อย่างสหภาพยุโรป

 

อ้างอิง

[1] ประภัสสร์ เทพชาตรี ประชาคมอาเซียน (กรุงเทพฯ  เสมาธรรม 2555) หน้า คำนำ

[2] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (นนทบุรี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 2552) หน้า 9

[3] สุรพงษ์ ชัยนาม การทูต-การเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศยาม 2550) หน้า 34-35

[4] 梁英明《东南亚史》(北京:人民出版社,2010)第296页。

[5] ประภัสสร์ เทพชาตรี อ้างแล้ว หน้า 2-5  และ จุลชีพ ชินวรรโณ ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก..วิกฤตกับการท้าทาย
ในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2558)   หน้า 217

[6] จุลชีพ ชินวรรโณ หน้า 222-223, 238 และ 243

[7] เพิ่งอ้าง หน้า 224-228

[8] ประภัสสร์ เทพชาตรี อ้างแล้ว หน้า 32

[9] “The Story of the ASEAN Economic Community” in ISEAS,  ASEAN Focus 1/2017 (Jan/Feb 2017),p. 24

[10] Hoang Thi Ha “Reconciling Consensus with New Realities” Ibid, p. 4

[11] เพิ่งอ้าง หน้า 3