แนวโน้มระบบการเมืองโลก
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
แนวโน้มระบบการเมืองโลก
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตผู้นำค่ายเผด็จการสังคมนิยมใน ค.ศ.1991[1] ทำให้ระบบโลกเปลี่ยนแปลงจากระบบ 2 ขั้วอำนาจเป็นระบบขั้วอำนาจเดียว ขั้วอำนาจที่เหลืออยู่ คือ สหรัฐอเมริกา ภายใต้ระบบโลกใหม่ที่มีขั้วอำนาจเดียว สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำโลกค่ายเสรีประชาธิปไตยมีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด โดยมีความเชื่อว่าโลกที่สิทธิมนุษยชนของบุคคลในทุกหนทุกแห่งได้รับการปกป้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือการกำจัดประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการที่กดขี่ประชาชนให้หมดไป จะทำให้เกิดสันติสุขที่กระจายไปทั่วโลก เพราะเชื่อว่าประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะไม่กดขี่ประชาชน จะไม่ทำสงครามระหว่างกันกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน และยังเป็นการคุ้มครองอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาเองอีกด้วย[2]
โดยที่สหรัฐอเมริกา มีนโยบายที่จะขยายอำนาจไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัย จอร์จ บุช ผู้ลูก (George W. Bush) เป็นต้นมาได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวก่อการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ หรือระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนขบวนการอาหรับสปริงในโลกอาหรับ โดยสนับสนุนฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับให้เคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการด้วยกำลังตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป เริ่มจากประเทศตูนีเซียในแอฟริกาเหนือ ตามด้วยโมร็อกโก ซีเรีย ลิเบีย อียิปต์ และบาห์เรน ผลกระทบจากขบวนการดังกล่าวสร้างความหายนะให้กับประเทศดังกล่าวอย่างรุนแรง แทนที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศเหล่านั้นและมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ ตรงกันข้ามการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการกลับนำไปสู่สงครามกลางเมือง และความไม่สงบอย่างไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ในลิเบีย ซีเรีย อีรัก อัฟกานิสถาน สงครามกลางเมืองทำให้บ้านเมืองพังพินาศ ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า ประชาชนจำนวนมหาศาลพากันลี้ภัยสงครามอพยพเข้ายุโรป ทำให้ยุโรปพลอยเดือดร้อนไปทั่วหน้า[3]
ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาติดพันอยู่กับการทำสงครามในประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนี้ ประเทศจีนได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเติบโตอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจโตเป็น อันดับ 2 ของโลก ตั้งแต่ ปี 2010 และยังมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2008 และสมาชิกสภาพยุโรปหลายประเทศ เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ สเปน เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในปีถัดมา ต้องขอให้จีนเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่ถาถมเข้ามา
การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน ความเข้มแข็งในด้านอุตสาหกรรมและการค้า การเร่งรัดพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการทหาร ทำให้สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก เกรงว่าจีนจะเติบโตล้ำหน้า บดบังความเป็นมหาอำนาจของตน ในปี 2012 สมัย โอบามา สหรัฐอเมริกาจึงปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศจากที่ให้ความสำคัญต่อตะวันออกกลางและยุโรปมาเป็นเอเชียตะวันออก ที่เรียกว่า “การกลับคืนสู่เอเชีย” (Pivot to Asia) พร้อมทั้งโยกย้ายกำลังทางทหาร งบประมาณ และอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบิน เรือรบ กำลังทางทหารมาสู่กองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกเป็นหลัก[4]
นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างมีความเห็นตรงกันว่า อนาคตการเมืองโลกจะดำเนินไปในรูปแบบใด สันติหรือสงคราม ร้อน-เย็น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ ระหว่าง 2 ประเทศเป็นสำคัญ คือ สหรัฐฯกับจีน ในสายตาของเมียร์ไชเมอร์ อนาคตการเมืองโลกอาจเป็นได้ 2 อย่าง อย่างแรก คือ พัฒนาสู่ระบบโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ กล่าวคือ เป็นผลมาจากการทะยานขึ้นมาของจีนและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรัสเซีย รัสเซียมีกองทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก อย่างที่สอง คือ คงเป็นระบบโลกที่มีขั้วอำนาจเดียว คือ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เนื่องจากจีนเกิดความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายอย่างร้ายแรง ขณะเดียวกันอำนาจของรัสเซียถดถอยลงตามกาลเวลา[5]
นักวิชาการและอดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของออสเตรเลีย Paul Dibb และ นักวิจัยด้านจีนศึกษา John Lee จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวอ้างถึงแนวคิดของ Paul Kennedy แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เกี่ยวกับการทะยานขึ้นและการตกต่ำถดถอยของมหาอำนาจว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนในระยะยาวระหว่างการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการทหารของประเทศนั้น โดยนักวิชาการทั้งสองมองว่าประเทศจีนยังไม่สามารถมีอิทธิพลครอบงำเอเชียและยังห่างชั้นจากสหรัฐอเมริกา ประเทศจีนหาได้มีความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจอย่างที่เข้าใจกันไม่ โดยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญเติบโตโดยทั่วไปทำได้ 3 ช่องทาง
ประการที่ 1 โดยการเพิ่มแรงงาน
ประการที่ 2 โดยการเพิ่มทุน และ
ประการที่ 3 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต
นักวิชาการทั้งสองคนดังกล่าวมีความเห็นว่าในด้านเพิ่มแรงงานประเทศจีนกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย คนในวัยทำงาน 15-59 ปี มีปริมาณลดลงเนื่องจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้เพียง 1 คน ในด้านเงินทุน ประเทศจีนมีหนี้สาธารณะในปริมาณที่สูงมาก ขีดความสามารถในการเพิ่มทุนทำได้จำกัด ในด้านเพิ่มประสิทธิภาพด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีของจีนยังตามหลังประเทศตะวันตกอยู่มาก[6]
ในด้านการทหาร ประเทศจีนไม่อยู่ในฐานะจะเทียบเคียงสหรัฐอเมริกาได้ ทหารเรือของจีนมีประสบการณ์ไม่เท่ากองทัพเรือสหรัฐ เรือดำน้ำของจีนอยู่ในขั้นเริ่มพัฒนา กองทัพอากาศจีนขาดความเชี่ยวชาญในการรบ ไม่อยู่ในฐานะจะเทียบเคียงกองทัพสหรัฐได้[7] (โปรดดูภาคผนวก)
สรุปตามนัยยะข้างต้น จีนไม่อยู่ในฐานะที่จะท้าทายความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐได้ พวกเขาเห็นว่าระบบโลกยังคงเป็นแบบขั้วเดียวต่อไป โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำเดี่ยว
ส่วน Kishore Mahbubani นักวิชาการและอดีตนักการทูตชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียที่เคยทำงานในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ กลับมองตรงกันข้าม เขาเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในอดีต 2,000 ปี ที่ผ่านมา จีน และอินเดีย เป็นประเทศมหาอำนาจโลกมาตลอด 1,800 ปี เพิ่มเกิดความพลิกผันขึ้นเมื่อราว 200 ปี ที่ผ่านมา ทำให้จีนและอินเดียตกต่ำ ประเทศตะวันตกกลายเป็นมหาอำนาจครอบงำโลก บัดนี้ ประเทศจีนรวมทั้งอินเดียมีการพัฒนาและกลับเข้าสู่เส้นทางปกติที่เคยเป็นมา และประเทศจีนไม่มีนโยบายที่จะเข้ายึดครองประเทศอื่นเป็นอาณานิคม และชี้ว่าถ้าจีนมีนโยบายกร้าวร้าวอย่างประเทศตะวันตก ออสเตรเลียควรเป็นประเทศของจีนมากกว่าเป็นประเทศของชาวตะวันตก โดยสรุป เขาเชื่อว่าโลกจะเคลื่อนสู่ระบบหลายขั้วอำนาจที่มี จีน อินเดีย เป็นตัวแสดงสำคัญของระบบโลก[8]
ภาคผนวก
แสดงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ค.ศ. 2020 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เรียงจากมากไปหาน้อย งบประมาณการทหารและประชากร
ลำดับที่ |
ประเทศ |
จีดีพีตามตัวเลข/พันล้านเหรียญสหรัฐฯ |
จีดีพีเทียบตามอำนาจการซื้อ/พันล้านเหรียญสหรัฐฯ | งบประมาณทหาร/พันล้านเหรียญสหรัฐฯ* | ประชากร/ ล้านคน |
1 |
สหรัฐอเมริกา | 20,807 | 20,807 | 778.0 (3.7% ของ จีดีพี) | 331.0 |
2 |
จีน |
15,222 | 24,162 | 252.0 (1.7% ของ จีดีพี) | 1,439.3 |
3 |
ญี่ปุ่น |
4,911 | 5,236 | 49.1 (1.0% ของ จีดีพี) | 126.5 |
4 |
เยอรมนี |
3,781 | 4,454 | 52.8 (1.4% ของ จีดีพี) | 83.8 |
5 |
สหราชอาณาจักร |
2,638 | 2,979 | 59.2 (2.2% ของ จีดีพี) | 67.9 |
6 |
อินเดีย |
2,593 | 8,681 | 72.9 (2.9% ของ จีดีพี) | 1,380.0 |
7 |
ฝรั่งเศส |
2,551 | 2,954 | 52.7 (2.1% ของ จีดีพี) | 65.3 |
8 |
อิตาลี |
1,848 | 2,415 | 28.9 (1.6% ของ จีดีพี) | 60.5 |
9 |
แคนาดา |
1,600 | 1,809 | 22.8 (1.4% ของ จีดีพี) | 37.7 |
10 |
เกาหลีใต้ |
1,587 | 2,293 | 45.7 (2.8% ของ จีดีพี) | 51.3 |
11 |
รัสเซีย |
1,464 | 4,022 | 61.7 (4.8% ของ จีดีพี) | 145.9 |
12 | บราซิล |
1,364 | 3,079 | 19.7 (1.4% ของ จีดีพี) | 212.6 |
ที่มา IMF and World Bank *List of countries by military expenditures, en.m.wikipedia.org (24/06/2564)
หมายเหตุ หากพิจารณาจีดีพีเทียบตามอำนาจการซื้อ ลำดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศข้างต้นจะเปลี่ยนไป กล่าวคือ จีนจะอยู่ใน ลำดับที่ 1 สหรัฐอเมริกาที่ 2 อินเดียที่ 3 ญี่ปุ่นที่ 4 เยอรมนีที่ 5 รัสเซียที่ 6 บราซิลที่ 7 สหราชอาณาจักรที่ 8 ฝรั่งเศสที่ 9 เกาหลีใต้ที่ 10 อิตาลีที่ 11 และแคนาดาที่ 12
อ้างอิง
[1] “The Breakup of the Soviet Union Explained”. YouTube History Scope, May 2, 2563
[2] John J. Mearsheimer, The False Promise of Liberal Hegemony (Stimson lecture at Yale University, November 23, 2017) youtube.com/watch?v=ESwIVY2oiml (22/06/2021)
[3] Arab Spring, History.com editors, January 17, 2020, history.com (22/06/2021)
[4] “East Asia foreign policy of the Barack Obama administration”, en.m.wikipedia.org (23/0602021)
[5]John J. Mearsheimer, The False Promise of Liberal Hegemony (Stimson lecture at Yale University, November 23, 2017) youtube.com/watch?v=ESwIVY2oiml (22/06/2021)
[6] Paul Dibb and John Lee, “Why China Will not Become the Dominant Power in Asia” (Australian National University, 2014) sc10_3_dibb_lee.pdf (23/062021)
[7] เพิ่งอ้าง
[8] ดู Kishore Mahbubani, Has China Won? The Chinese Challenge to American Primacy (New York: PublicAffairs, 2020)