สี่ยอดกุมาร
ผู้เรียบเรียง
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
3.นายจักรกฤษ กมุทมาศ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
1.ความนำ
“กลุ่มสี่ยอดกุมาร” เป็นอุปลักษณ์ทางการเมืองสื่อถึงกลุ่มอดีตสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (คณะรัฐมนตรีไทยคณะที่ 61) ในช่วงการโยกย้ายปรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 3-5 ของรัฐบาล
พลเอกประยุทธ์ เมื่อครั้งยังเป็นรัฐบาลทหารภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จนถึงช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไทยคณะที่ 62 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2562 ซึ่งสมาชิกของกลุ่มที่กล่าวถึงนี้ประกอบไปด้วย (1) นายอุตตม สาวนายน (2) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (3) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และ (4) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ทั้งนี้ กลุ่มสี่ยอดกุมารเป็นกลุ่มที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น
“มือทำงาน” ทางด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. หรือ หนึ่ง ใน สาม (ส.) ของกลุ่มสามมิตร[1] ซึ่งเป็นอีกกลุ่มตัวแสดงสำคัญทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล คสช.
2.ภูมิหลังและตำแหน่งทางการเมืองของสี่ยอดกุมาร
สมาชิกทั้งสี่คนของกลุ่มสี่ยอดกุมารมีภูมิหลังทั้งทางด้านการศึกษาและประวัติการทำงาน[2] ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวได้ว่า ทั้งสี่ยอดกุมารทั้งสี่คนเป็นตัวแสดงทางการเมืองสำคัญในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในช่วงรัฐบาล คสช. และหลังจากการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลพลเรือนผ่านกระบวนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 การทำความเข้าใจถึงภูมิหลังทางการเมืองของทั้งสี่คนจะเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระดับรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ดียิ่งขึ้น
เริ่มด้วยคนแรก นายอุตตม สาวนายน มีภูมิหลังเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินเอกชนและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทางด้านการเงิน ก่อนเข้ามาเป็นผู้ช่วยนายสมคิดเมื่อคราวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในภายหลังเมื่อเข้าร่วมรัฐบาล คสช. นายอุตตม ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[3] ต่อมาถูกโยกย้ายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลปัจจุบัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มีภูมิหลังเป็นนักธุรกิจ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและเป็นสมาชิก
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในช่วงรัฐบาล คสช. นายสนธิรัตน์ ได้เริ่มจากการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ ก่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ในรัฐบาลปัจจุบัน
ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มีภูมิหลังเป็นเภสัชกร เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในสถาบันรูปแบบพิเศษในระบบราชการและสถาบันอุดมศึกษาก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ช่วยนายสมคิดเมื่อคราวดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้นายสุวิทย์ยังเคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม[4] ตามลำดับ
และคนสุดท้าย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ภายหลังสำเร็จการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ธนาคารแห่งประเทศและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ก่อนลาออกมารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงินเอกชนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงรัฐบาล คสช. นายกอบศักดิ์ ได้เริ่มเข้าสู่การทำงานการเมืองในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและต่อได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้นายกอบศักดิ์ยังเคยได้รับรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น[5]
จากข้อมูลรายละเอียดข้างต้น ทำให้เห็นว่าก่อนที่ทั้งสี่คนจะได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็น “กลุ่มสี่ยอดกุมาร” ซึ่งสื่อถึงอดีตสี่รัฐมนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับการวางและบริหารนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล คสช. นั้น สมาชิกของกลุ่มต่างเพิ่งมีประสบการณ์การทำงานการเมืองและได้รับตำแหน่งสำคัญระดับสูงในช่วงรัฐบาล คสช. และอยู่ใน “วงใน” ทางการเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ (ส.) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการกุมบังเหียนกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง ทั้งนี้นอกจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว สี่ยอดกุมารยังเคยดำรงตำแหน่งและยังคงดำรงตำแหน่งอื่นๆ อยู่ด้วย ทั้งการเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ[6] ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรหลายประเภท และเป็นคณะกรรมการร่วมในชุดนโยบายที่มีความสำคัญแต่จะขอไม่กล่าวถึงทั้งหมดในที่นี้
3. สี่ยอดกุมาร : ความร่วมมือและความขัดแย้งในพลังประชารัฐ
ถึงแม้ในหน้าข่าวที่สื่อต่างๆ จะนำเสนอภาพของ “สี่ยอดกุมาร” เป็นกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงสี่ยอดกุมารไม่ได้เป็นกลุ่มที่เป็นทางการหรือมีความร่วมมือระหว่างสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมีความเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกันแต่อย่างใด การตั้งชื่อกลุ่มเพื่ออ้างถึงอดีตรัฐมนตรีทั้งสี่คนเป็นการสร้างคำการเมืองขึ้นมาทำความเข้าใจถึงความสัมพันธภาพระหว่างบุคคลทางการเมืองที่มีความโดดเด่นทั้งในลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจและภาพลักษณ์ในสื่อสาธารณะ “ยอดกุมาร” ดังว่านี้ได้นำเสนอการรับรู้เข้าใจที่มีต่อความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจของนักการเมืองระดับสูงของรัฐบาลคสช. เป็นที่เชื่อกันว่าตัวแสดงเหล่านี้เป็นแกนนำที่สามารถปรับทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจได้และย่อมสามารถบริหารประเทศให้ประสบความสำเร็จเกิดผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจที่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี เมื่อรัฐบาลมียอดกุมารในด้านเศรษฐกิจอยู่ในคณะรัฐมนตรีถึงสี่คน? ฉายานี้จึงเป็นเสมือนดาบสองคนที่ในด้านหนึ่ง คือการชื่นชมและสร้างจุดสนใจในทางการเมือง แต่ในอีกด้านก็ถูกฉวยใช้เป็นการส่วนหนึ่งของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่มีความใกล้ชิดกับนายทุนและวงการวานิชธนกิจ และยังสื่อถึงความอ่อนด้อยประสบการณ์ไม่เคยการทำงานการเมืองในระดับชาติมาก่อนการเข้าร่วมรัฐบาลคสช. และร่วมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ[7]
ในช่วงก่อนการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีไทย ชุดที่ 62 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 สื่อต่างรายงานถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและภายในพรรคพลังประชารัฐเองเกี่ยวกับสัดส่วนการแบ่งเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เกิดความขัดแย้งในกลุ่มสามมิตรขึ้น นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์
เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย ออกมาแถลงว่าพวกตนต้องได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ได้ตกลงกันไว้และยังมีข่าวว่ากลุ่มสามมิตรพยายามเสนอญัตติขับไล่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคพลังประชารัฐและคณะรัฐบาล[8] แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองที่มีภายในพรรค ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์เฉพาะในรูปแบบของ “มุ้งการเมือง” มีความเป็นพรรคเป็นพวกสูง สืบเนื่องมากจากลักษณะการก่อตัวของพรรคพลังประชารัฐที่ส่วนหนึ่งประกอบด้วยการรวบรวมกลุ่มค่ายทางการเมืองจากหลากพรรคการเมืองเก่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคใหม่ แสดงให้เห็นว่านอกเหนือไปจากคุณลักษณะเด่นเรื่องความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สี่ยอดกุมารมีความเข้มแข็งเรื่องเครือข่ายทางการเมือง ดังที่นายสนธิรัตน์มีฉายาว่า “มือประสานสิบทิศ”
อยู่เนืองๆ และเป็น “คีย์แมน” ที่ความสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองและการเจรจาต่อรองผลประโยชน์สำคัญภายในพรรคและคณะรัฐบาลได้ ทั้งในการวางยุทธศาสตร์ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งและการดึงตัวผู้สมัครจากกลุ่มการเมืองที่มีฐานเสียงในหลายพื้นที่ รวมถึงการจัดวางสัมพันธภาพของกลุ่มอิทธิพลภายในพรรคระหว่างกลุ่มอดีตนายทหารและกลุ่มนักการเมืองอาชีพ[9] ก็มาจากประสานงานของนายสนธิรัตน์[10] เป็นสำคัญ
5. บทสรุป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐเอง
ได้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตรของการเมืองแบบเก่าที่ขับเคลื่อนภายใต้มุ้งการเมืองของบ้านหลังเดียวกัน ซึ่งอำนาจในการเจรจาต่อรองมักมาจากอิทธิพลและคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำหรือหัวหน้ากลุ่มที่ได้รับการยอมรับนับถือและมีผลต่อการตัดสินใจทางการหรือการสนับสนุนนโยบายของพรรคการเมืองในประเด็นต่างๆ[11]
พรรคการเมืองที่มีมุ้งการเมืองโดดเด่นอาจจะทำให้มุ้งการเมืองดังกล่าวกลายเป็นภาพลักษณ์ที่สื่อถึงพรรคการเมืองนั้นไปโดยปริยาย ดังเช่น เมื่อเอ่ยถึงกลุ่มสี่ยอดกุมารในหน้าข่าวก็มักจะมีข้อมูลนำเสนอเกี่ยวข้องกับทิศทางการทำงานและภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ
การเคลื่อนไหวล่าสุดในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคและแนวโน้มในการปรับคณะทำงานระดับแกนนำนโยบายของพรรคพลังประชารัฐได้ฉายภาพความขัดแย้งของขั้วอำนาจภายในพรรค เมื่อมีกระแสข่าวหนาหูว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อาจก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคแทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์[12] ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญดังกล่าวซึ่งอิทธิพลสูงต่อกำหนดการตัดสินใจเชิงนโยบายของพรรครัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ย่อมส่งผลกระทบต่ออำนาจภายในพรรคและความมั่นคงในตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของทั้งสี่ยอดกุมารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้โอกาสทางการเมืองของสี่ยอดกุมารยังดูคลอนแคลนยิ่งขึ้นเมื่อทั้งสี่คนไม่ได้ดำรงตำแหน่งบริหารพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป พร้อมการผงาดขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคโดยตัวแทนของกลุ่มสามมิตร[13] ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกร้าวระหว่างสาม ส. เดิมของกลุ่มสามมิตรเช่นกัน
บรรณานุกรม
กมลชัย รัตนสกาววงศ์. (2563). มุ้งหรือมุ้งการเมือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/
index.php?title=มุ้ง>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
“กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา,” ประชาไท (3 กรกฎาคม
2561), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77682>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
“เก่งโปรไฟล์เลิศ ทำไม "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่ได้”,” ไทยรัฐ (28 มิถุนายน
2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1878245>, สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563.
“ข้อมูลเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี,” สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรี (12 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก
<https://www2.soc.go.th/?page_id=182>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและกรรมการบริหารพรรค
พลังประชารัฐ,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 137 ตอนที่ 28 ง, วันที่ 2 เมษายน 2563.
“พลังประชารัฐ : สามมิตร ไล่ สนธิรัตน์ พ้นเลขาฯ ชี้ "เป็นภัยความมั่นคงของ,” BBC News-ไทย (1
กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48824390>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
“เปิดใจ“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” “มือประสานสิบทิศ” สายตรง “บิ๊กตู่”,” สยามรัฐ (20 มิถุนายน 2562),
เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/85778>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
“เปิดตัวคน'เปิด-ปิด'ดีลพรรคพลังประชารัฐ 'สนธิรัตน์'ถูกยกชั้นหลงจู๊การเมือง,” ผู้จัดการออนไลน์ (20
เมษายน 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/specialscoop/detail/9610000038950>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
“เปิดรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ใต้การนำของ “ลุงป้อม””,” ไทยรัฐ (27
มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1877560>, สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563.
“รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น,” ธนาคารแห่งประเทศไทย (9 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก
<https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Documents/GoodGovernance_2019.pdf>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
“ว่าที่นายกรัฐมนตรี" ตัวแปรสำคัญชนะเลือกตั้ง,” โพสต์ทูเดย์ (9 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก
<https://www.posttoday.com/politic/report/573419>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
“สืบสาแหรก 4 กุมาร หลังควันจางศึกในพลังประชารัฐ,” เนชันทีวี (15 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก
<https://www.nationtv.tv/main/program/378722876/>, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563.
[1] “สืบสาแหรก 4 กุมาร หลังควันจางศึกในพลังประชารัฐ,” เนชั่นทีวี (15 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก < https://www.nationtv.tv/main/program/378722876/>, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563.
กลุ่มสามมิตร ประกอบไปด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือบางทีเรียกว่า “กลุ่มสาม ส.” สื่อถึงการกลับมาร่วมงานทางการเมืองของนักการเมืองทั้งสามคนที่เป็นส่วนสำคัญของการจัดตั้งและผลักดันพรรคไทยรักไทยและพรรพลังประชาชนในอดีต โดยนายสุริยะได้เคยแถลงว่ากลุ่มสามมิตรจะให้การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้ได้เป็นรัฐมนตรีและมีการรวบรวม ส.ส. กลุ่มจำนวนหนึ่งที่มีความพร้อมเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ ส.ส. จากภาคอีสาน ซึ่งทางกลุ่มได้เชิญ ส.ส. กว่า 50 คน เข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท จ.ปทุมธานี, ดูเพิ่มเติม “กลุ่มสามมิตร’ คือใคร? 'ประวิตร' ชี้หนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกก็เรื่องของเขา,” ประชาไท
(3 กรกฎาคม 2561),
เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/07/77682>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
[2] “ข้อมูลเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี,” สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรี (12 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก
< https://www2.soc.go.th/?page_id=182>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
[3] ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
[4] กระทรวงนี้เกิดจากการยุบควบรวม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้าด้วยกัน
[5] “รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น,” ธนาคารแห่งประเทศไทย (9 มีนาคม 2562),
เข้าถึงจาก <https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Documents/GoodGovernance_2019.pdf>, สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
[6] หลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐได้มติให้ นายอุตตมดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ นายสุวิทย์เป็นรองหัวหน้าพรรคฯ นายกอบศักดิ์เป็นกรรมการพรรคฯ ส่วนนายสนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรคฯ, สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ดูจาก “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 137 ตอนที่ 28 ง, วันที่ 2 เมษายน 2563.
[7] “สืบสาแหรก 4 กุมาร หลังควันจางศึกในพลังประชารัฐ,” เนชันทีวี (15 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก
<https://www.nationtv.tv/main/program/378722876/>, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563.
[8] “เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและของรัฐบาลเป็นอย่างสูง ถ้าปล่อยไว้เป็นเลขาฯ เป็นอันตรายต่อพรรคมาก ท่านบริหารงานผิดพลาดหลายเรื่อง...ไม่ยึดโยงกับ ส.ส. ในพรรค ไม่เห็นหัว ส.ส. ในพรรคแม้แต่คนเดียว ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาในพรรค...ท่านทำให้พรรคเราแตกแยก...'”ดูจาก “พลังประชารัฐ : สามมิตร ไล่ สนธิรัตน์ พ้นเลขาฯ ชี้ "เป็นภัยความมั่นคงของ,” BBC News-ไทย(1 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48824390>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
[9] “เปิดตัวคน'เปิด-ปิด'ดีลพรรคพลังประชารัฐ 'สนธิรัตน์'ถูกยกชั้นหลงจู๊การเมือง,” ผู้จัดการออนไลน์ (20 เมษายน 2561), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/specialscoop/detail/9610000038950>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
[10] “ว่าที่นายกรัฐมนตรี" ตัวแปรสำคัญชนะเลือกตั้ง,” โพสต์ทูเดย์ (9 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/report/573419>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
ถึงแม้ว่าในภายหลัง ฉายานี้มักถูกอ้างถึงในหน้าข่าวบ่อยกว่าเมื่อกล่าวถึง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าเป็น
“มือประสานสิบทิศตัวจริง” ที่มีอิทธิพลในศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น “สายตรงถึงบิ๊กตู่”
ดูเพิ่มเติมใน “เปิดใจ“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” “มือประสานสิบทิศ” สายตรง “บิ๊กตู่”,” สยามรัฐ (20 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/85778>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
[11] กมลชัย รัตนสกาววงศ์. (2563). มุ้งหรือมุ้งการเมือง. [ออนไลน์].
เข้าถึงจาก < http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=มุ้ง>, สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2563.
[12] “เก่งโปรไฟล์เลิศ ทำไม "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่ได้”,” ไทยรัฐ (28 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1878245>, สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563.
[13] นายอนุชา นาคาศัย ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ แทน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563, ดูเพิ่มเติมใน “เปิดรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ใต้การนำของ “ลุงป้อม”,” ไทยรัฐ (27 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1877560>, สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563.