ไต๋ ปาณิกบุตร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:19, 23 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ไต๋ ปาณิกบุตร : ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พระยาพหลฯ

           ในบรรดานักการเมืองยุคแรกเริ่มชิมการเมืองประชาธิปไตย ตอนที่ยังไม่มีพรรคการเมืองและผู้คนทั่วไปยังไม่ค่อยจะรู้จักเรื่องราวของการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากนัก แต่ก็มีการเลือกตั้งแล้วเพียงแต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2476 แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีผู้แทนฯที่มาจากการเลือกตั้งเพียงครึ่งหนึ่งของสภาฯก็ตาม แต่ก็มีผู้แทนราษฎรฝีปากดี และฝีมือดีปรากฏตัวให้เห็น ผู้แทนราษฎรที่เด่นดังคนหนึ่งในสมาชิกสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งคนหนึ่งก็คือผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ชื่อนาย ไต๋ ปาณิกบุตร ตอนนั้นจังหวัดพระนครมีผู้แทนราษฎรได้ 3 คน และนาย ไต๋ ผู้นี้เองที่ช่วยรับลูกต่อจากนาย เลียง ไชยกาล ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2480 วันนั้นนาย เลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องเกี่ยวกับที่ดินของพระคลังข้างที่ซึ่งมีการนำออกมาขายให้กับบุคคลสำคัญทั้งในรัฐบาลและในสภาฯ ในราคาที่ค่อนข้างจะถูกมาก แต่กระทู้นั้นถามได้เพียง 3 คำถามเท่านั้น แต่เรื่องยังไม่กระจ่างชัด ตรงนี้เองที่นายไต๋ ผู้แทนราษฎรได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเนื่องโดยได้เป็นผู้ริเริ่มยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายรัฐบาลว่าด้วยการจัดระเบียบพระคลังข้างที่ ในทันทีต่อไปเลย ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในสมัยแรกๆ ของสภาฯนั้น การยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปทำได้ง่ายมาก สมาชิกสภาฯ เพียงคนเดียวก็เริ่มทำได้ ในครั้งนั้นนายกฯ พระยาพหลพลพยุหเสนาก็เป็นนักการเมืองใจนักเลงมาก แม้จะมีการติงกันว่าควรให้รัฐบาลมีเวลาเตรียมตัวเอาข้อมูลมาตอบ ท่านกลับยืนยันยอมให้เปิดอภิปรายต่อไปเลยจนค่ำและคืนนั้นเองนายกรัฐมนตรีก็ขอลาอกจากตำแหน่ง ดังนั้นเรามารู้จักชีวิตและงานการเมืองของผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครท่านนี้กันดูบ้าง

           นาย ไต๋ ปาณิกบุตร นั้นแม้จะเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร คือกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่ท่านไม่ใช่คนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด ท่านเป็นคนเมืองอุดรธานี เกิดที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2438  มีบิดาชื่อหลวงประจิตรัฐกรรม และมารดาชื่อเชย การศึกษาเล่าเรียนของท่านนั้นมีประวัติว่าท่านได้เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แล้วจึงไปต่อด้านวิชาชีพชั้นอุดมศึกษาที่โรงเรียนเกษตรอยู่ 3 ปี ตอนแรกคงคิดไปทำอาชีพทางเกษตร แต่ทางการโอนโรงเรียนเกษตรไปขึ้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน นายไต๋ จึงเปลี่ยนมาศึกษาทางด้านบริหารราชการ และจบจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในปี 2456 ตอนนั้นท่านอายุ18 ปี จึงได้ไปฝึกงานเป็นปลัดอำเภอ ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในยุโรป ประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้ด้วย โดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เพื่อรบกับเยอรมนี ตามประวัติของท่านได้เล่าถึงวีรกรรมของนายไต๋ ในวัยหนุ่มเอาไว้ว่าท่านได้อาสาสมัครเป็นทหารไปสงครามครั้งนั้น โดยสมัครพร้อมกันกับน้องชายคือนายเล็ก ปาณิกบุตร ทั้งคู่อยู่รอดปลอดภัย จบสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วได้กลับมาเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตไทยทั้งคู่

           ก่อนจะเรียนจบเป็นเนติบัณฑิตไทยนายไต๋เคยรับราชการมาหลายตำแหน่ง เพราะที่เรียนมาตอนนั้นก็เพื่อจะเข้ารับราชการ ท่านจึงเคยเป็นทั้งพนักงานสำรวจรังวัดเหมืองแร่ ผู้ฟังคดีและเป็นกรรมการอำเภอ แต่เมื่อได้เป็นเนติบัณฑิตจึงได้มุ่งมายึดอาชีพทนาย และอาชีพทนายความนี่เองที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จทางการเมืองยุคสร้างประชาธิปไตย กล้าลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งแรกทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นขุนนางเก่า ท่านก็ยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ชีวิตครอบครัวของท่านนั้น ท่านได้สมรสกับหม่อมเจ้าลำทองแร่ ทองใหญ่

           ในช่วงเวลาที่นายไต๋ ปาณิกบุตร เป็นผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2476 ถึงปี 2480 จึงเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกที่ได้อยู่จนครบวาระ รัฐบาลที่บริหารประเทศตลอด 4 ปีนี้คือรัฐบาลของนายกฯพระยาพหลฯ ที่ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 การเลือกตั้งครั้งที่ 2 นี้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  ผลการเลือกตั้งที่ได้ผู้แทนฯ ชุดใหม่ไม่มีชื่อนายไต๋ ปาณิกบุตร เป็นผู้แทนราษฎร แม้ต่อมาจะมีการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ตามมาอย่างรวดเร็วในปี 2481 เนื่องจากนายกฯพระยาพหลฯยุบสภา ก็ไม่ปรากฏชื่อนายไต๋ ได้เป็นผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด อายุของสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นี้อยู่ได้นานเกินกว่าปกติ เพราะมีการต่ออายุสภาฯถึง 2 ครั้งโดยอ้างภาวะสงคราม ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 จึงมาล่า โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 อันเป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว บ้านเมืองพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันและการหาเสียงที่โจมตีกันได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏชื่อว่านายไต๋ ได้เป็นผู้แทนราษฎร จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่บัญญัติให้มีสองสภา คือพฤฒสภากับสภาผู้แทนราษฎร และในการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนฯที่เป็นอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เลือก นายไต๋ จึงกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง เพราะท่านได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกพฤฒสภาด้วย และที่สำคัญท่านยังได้รับเลือกให้เป็นรองประธานพฤฒสภา ที่มีนายวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ เป็นประธานฯ ด้วย นายไต๋ เป็นรองประธานฯ จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 จึงพ้นตำแหน่งเพราะการรัฐประหาร

           ต่อมาแม้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาในปี 2491 ก็ไม่ปรากฏชื่อนายไต๋ ได้เป็นผู้แทนฯอีก นายไต๋ ปาณิกบุตรได้อยู่ดูการเมืองไทยที่สับสนต่อมาอีกสักสองปี ท่านก็ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2493