สมาคมคณะราษฎร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:00, 14 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " เรียบเรียงโดย : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


สมาคมคณะราษฎร

          สมาคมคณะราษฎรถือเป็นองค์กรพรรคการเมืองแห่งแรกของไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยจดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2475 เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรที่ต้องการสร้างระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ สมาคมคณะราษฎรประกอบไปด้วยสมาชิกคณะราษฎรและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้กิจกรรมของสมาคมคณะราษฎรนั้นมุ่งเน้นการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยสู่ประชาชน และผลักดันให้สมาชิกของสมาคมได้ลงสมัครเลือกตั้ง แต่ทว่าสมาคมคณะราษฎรต้องยุติบทบาทลงในเวลาอันสั้น เมื่อรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2476 จึงเป็นอันสิ้นสุดบทบาทสมาคมคณะราษฎร อย่างไรก็ดีสมาคมคณะราษฎรก็ได้ผันตัวเป็นสโมสรคณะราษฎรซึ่งไม่ใช่องค์กรการเมือง ในขณะที่สมาชิกคณะราษฎรบางส่วนได้สนับสนุนให้มีสมาคมรัฐธรรมนูญแทนที่สมาคมคณะราษฎรที่ยุติบทบาทลง

 

ที่มาและจุดประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎร

          การจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ประกาศชัดในระหว่างการปฏิวัติที่ต้องการให้ “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร … จงพร้อมใจกันช่วยเหลือคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ”[1] ฉะนั้นภายหลังการปฏิวัติคณะราษฎรได้มีการเปิดรับสมัครสมาชิกสมาคมคณะราษฎรในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งได้รับความสนใจจากราษฎรล้นหลาม โดยทางคณะราษฎรได้ส่งนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนไปแสดงปาฐกถาที่โรงเรียนกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในโอกาสเดียวกันได้เชิญชวนให้ผู้ฟังปาฐกถาลงชื่อสมัครสมาชิกสมาคมคณะราษฎร[2] และในวันเดียวกันนายทวี บุญยเกตุไปเชิญชวนคนเข้าสมาคมคณะราษฎรที่วังสราญรมย์[3] บรรยากาศและความตื่นตัวทางการเมืองของราษฎรทำให้การสมัครสมาชิกสมาคมคณะราษฎรเป็นไปอย่างคึกคัก การตอบรับที่ดีของราษฎรทำให้สมาชิกสมาคมราษฎรมีจำนวนมากถึง 10,000 คน[4]

          สมาคมคณะราษฎรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบต่ออุดมการณ์และนโยบายของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์ระบอบการเมืองใหม่ ทั้งนี้สมาคมคณะราษฎรถูกออกแบบให้เป็นสมาคมการเมืองที่ต้องมีบทบาทในการเป็นกองกำลังให้แก่คณะราษฎรคล้ายกับกองเสือป่า และมีฝ่ายมันสมองทำงานในกองบัญชาการคณะราษฎร[5] นอกจากนี้ยังมีหน่วยสืบราชการลับไว้สำหรับสอดแนมศัตรูทางการเมืองของคณะราษฎร[6]

          ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้อธิบายถึงรูปแบบของสมาคมคณะราษฎรไว้ในหนังสือ ปฏิวัติ 2475 ว่า

          “คณะราษฎร ไม่เพียงจะเป็นองค์กรใหม่ทางการเมือง หากจะยังมีกำลังพลเรือนติดอาวุธคอยทำการปกป้องคณะราษฎร แนวความคิดนี้ ... มาจากพื้นฐานของความไม่มั่นใจว่าจะสามารถยึดกุมกองทัพได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีปลุกราษฎรให้ติดอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรูระบอบใหม่ อย่างไรก็ตามแนวคิดจัดตั้งกองอาสาสมัครและกองพลเรือน ไม่มีผลต่อการจัดตั้งจริง มีเพียงกองนักสืบเท่านั้นที่ได้รับการจัดตั้ง … หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จำนวนข่าวของนักสืบจะลดน้อยลงอย่างมาก และค่อนข้างเชื่อกันว่าเหตุการณ์ “ได้เรียบร้อยเกือบเป็นปกติแล้วก็ว่าได้ และในกาลต่อไปกองสืบของเราก็อาจจะต้องเลิกล้ม” … หน้าที่ในการสืบข่าวการเมืองจึงเป็นหน้าที่ของกองสันติบาล กรมตำรวจเป็นสำคัญ”[7]

          แม้ว่ารูปแบบของสมาคมคณะราษฎรในช่วงแรกของการจัดตั้งจะเป็นไปเพื่อสนับสนุนกิจการของคณะราษฎรในการทำปฏิวัติ แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในสยามสงบลงภายหลังการประนีประนอมระหว่างฝ่ายคณะราษฎร และผู้นิยมระบอบเก่า เป้าหมายของสมาคมคณะราษฎรจึงแปรเปลี่ยนไป โดยสมาคมคณะราษฎรได้หันไปให้ความสำคัญกับการเมืองในระบบเลือกตั้ง ฉะนั้นสมาคมคณะราษฎรได้พยายามผลักดันให้สมาชิกสมาคมคณะราษฎรลงสมัครเลือกตั้งทั่วทุกเขตโดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน[8] ด้วยเหตุนี้สมาคมคณะราษฎรจึงมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมมากขึ้น รวมไปถึงได้มีการขยายสาขาของสมาคมคณะราษฎรออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของระบอบใหม่ และเพื่อให้สมาชิกคณะราษฎรได้ลงเลือกตั้งในหลายเขตซึ่งจะทำให้คณะราษฎรมีเสียงข้างมากในรัฐสภา

          โครงสร้างของสมาคมคณะราษฎรได้มีการแบ่งประเภทสมาชิกไว้อย่างคร่าว ๆ เป็น 3 กลุ่มคือ พวกกองอาสาสมัคร พวกกองพลเรือน และพวกกองสอดแนม ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนโครงสร้างขององค์กรฝ่ายบริหารนั้นมี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เป็นนายกสมาคมคณะราษฎร นายประยูร ภมรมนตรีเป็นอุปนายก นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเหรัญญิก นายประหยัด ศรีจรูญ เป็นนายทะเบียน นายสุรินทร์ ชิโนทัย เป็นบรรณารักษ์ นายวนิช ปานะนนท์ เป็นเลขาธิการ นายเรือเอก หลวงนิเทศกลกิจ เป็นปฏิคม นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในคณะราษฎรชั้นผู้น้อย และผู้ที่ไม่ได้เป็นคณะราษฎร ส่วนกรรมการสมาคมกิติมศักดิ์นั้นจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจในคณะราษฎร และผู้ที่เป็น กรรมการราษฎร ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา[9]

 

บทบาทของสมาคมคณะราษฎรก่อนการประกาศห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง พ.ศ. 2476

          สมาคมคณะราษฎรมีจุดประสงค์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจการของคณะราษฎร โดยตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลคณะราษฎรปกครองประเทศ สมาคมคณะราษฎรได้มีส่วนอย่างมากในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อระบอบการเมืองใหม่สู่ประชาชน ทั้งในเขตพระนคร และต่างจังหวัดห่างไกล อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างแข็งขันที่สุด

          โดยมากบทบาทของสมาคมคณะราษฎรจะเป็นการสนับสนุนให้ราษฎรมีความเข้าใจในระบอบการเมืองใหม่มากขึ้น รวมทั้งการเรี่ยไรเงินจากสมาชิกสมาคมเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการทำกิจกรรมของสมาคมเอง นอกจากนี้ยังมีการจัดงานมหรสพ งานฤดูหนาว[10]  งานแสดงละคร[11] รวมไปถึงการจัดร้านขายของในวันฉลองรัฐธรรมนูญโดยแบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกแสดงศิลปะหัตถกรรมต่าง ๆ แผนกเครื่องสมุนไพร แผนกกีฬา (เช่น ชกมวยเป็นต้น) แผนกร้านเครื่องการเล่น แผนกโขนละคร แผนกหนังสือพิมพ์ แผนกโบราณวัตถุ แผนกหลัก 6 ประการ และแผนกร้านอาหาร[12]

          นอกจากกิจกรรมจัดงานเผยแพร่แนวคิดระบอบการเมืองใหม่แล้ว การที่สมาคมคณะราษฎรได้เปิดสาขาต่าง ๆ ในต่างจังหวัด[13] จึงได้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการเมืองใหม่มากขึ้น ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของสมาคมคณะราษฎรที่ช่วยให้ประชาชนมีสำนึกในประชาธิปไตย

          บทบาทของสมาคมคณะราษฎรที่สำคัญที่สุดคือการสร้างฐานมวลชนของคณะราษฎรที่ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสมาคมคณะราษฎรเข้าสู่รัฐสภา ทั้งนี้สมาชิกของสมาคมคณะราษฎรมีจำนวนราว 10,000 คน[14] และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเวลาต่อมาถึง 60,000 คน[15] โดยในจำนวนนี้เป็นสมาชิกคณะราษฎรส่วนหนึ่ง ในขณะที่สมาชิกที่มาจากการเปิดรับสมัครของสมาคมคณะราษฎรโดยมากก็เป็นข้าราชการ นายทหาร ครู รวมถึงประชาชนทั่วไป[16] ซึ่งสมาชิกคณะราษฎรเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นฐานเสียงของนายปรีดี พนมยงค์ในการสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของพวกหัวเก่า[17] และในขณะนั้นมีเพียงสมาคมคณะราษฎรเท่านั้นที่เป็นสมาคมการเมืองจึงทำให้เป็นที่หวั่นเกรงของขุนนางระบอบเก่าว่าคณะราษฎรจะกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงคณะเดียว อย่างไรก็ตามแม้ว่ามีความพยายามของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เรียกว่า “คณะชาติ” แต่ก็ถูกห้ามปรามโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ไม่ทรงต้องการให้มีพรรคการเมืองในสยามแม้ว่าในภายหลังพระองค์จะผลักดันให้มีพรรคการเมืองในสยามก็ตาม[18] และด้วยเหตุนี้เองฝ่ายขุนนางระบอบเก่าจึงได้พยายามขัดขวางกิจการของสมาคมคณะราษฎร เพื่อป้องกันไม่ให้คณะราษฎรครองอำนาจการเมืองอยู่ฝ่ายเดียวจนนำไปสู่การยุติบทบาทของสมาคมคณะราษฎรในฐานะเป็นพรรคการเมืองแห่งแรกของสยาม ไปเป็นสโมสรคณะราษฎรที่เป็นเพียงสมาคมในการทำหน้าที่สนับสนุนคณะราษฎรแต่ไม่ใช่องค์กรพรรคการเมือง

 

ความขัดแย้งทางการเมืองอันนำไปสู่การห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองในสยาม

          ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ. 2475 แม้ในชั้นต้นของการปฏิวัติคณะราษฎรจะมีท่าทีเกรี้ยวกราดต่อระบอบเก่าดังจะเห็นได้จากประกาศคณะราษฎร แต่ในเวลาต่อมาคณะราษฎรและระบอบเก่าสามารถประนีประนอมกันได้ ดังจะเห็นได้จากการเลือกเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาผู้เป็นขุนนางในระบอบเก่าและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และการขอนิรโทษกรรมของคณะราษฎร สถานการณ์ทางการเมืองในระยะแรกของการเมืองระบอบใหม่มีท่าทีประนีประนอมกันอย่างเห็นได้ชัด

          คณะราษฎรไม่ได้ทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากมือชนชั้นสูงมาสู่มือของตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของราษฎรสยามให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่จะรื้อรากระบบเศรษฐกิจสยามใหม่ให้ราษฎรมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีถูกโจมตีอย่างหนักจากทั้งคณะราษฎรด้วยกันเอง และขุนนางระบอบเก่า รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์[19] จึงนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ความขัดแย้งนี้ได้ฉีกทำลายความสมัครสมานของคณะราษฎรกับพวกขุนนางในระบอบเก่า จนนำไปสู่การจัดการกับนายปรีดี พนมยงค์โดยถูกพวกขุนนางในระบอบเก่ามองว่าเป็นตัวอันตรายและมีผู้สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก

          อย่างไรก็ตามการพยายามให้ยุบเลิกสมาคมคณะราษฎรมีมาตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินแบบเก่า) แล้ว โดยขณะนั้นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาได้พยายามจัดตั้งองค์กรพรรคการเมืองของตนเองขึ้น โดยได้ขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงอนุญาตให้มีพรรคการเมืองแต่พระองค์ไม่เห็นด้วย และในเวลาต่อมาพระองค์ยังได้แนะนำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดายุบเลิกสมาคมคณะราษฎรเสีย[20] แม้ว่าในภายหลังจากที่สมาคมคณะราษฎรได้ยุบเลิกไปพระองค์มีพระประสงค์ให้มีการจัดตั้งสมาคมการเมืองขึ้นอีก[21] ซึ่งการเคลื่อนไหวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีผลทำให้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาห้ามไม่ให้ข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง[22]อันเป็นการทำลายฐานมวลชนของสมาคมคณะราษฎร และทำลายฐานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ไปพร้อมกัน

          แม้ว่านายกสมาคมคณะราษฎร พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ จะได้คัดค้านสภาผู้แทนราษฎรว่าการห้ามไม่ให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ทว่าสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติลับด้วยเสียงข้างมาก 38 ต่อ 11 ให้ยกเลิกคำสั่งรัฐบาลที่ห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง แต่ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แทน  ซึ่งทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ยับเยินในสภา จนนำไปสู่การรัฐประหารตัวเองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อจัดการกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฐานเสียงของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้มีการปลดรัฐมนตรีที่สนับสนุนนายปรีดีออกจากรัฐบาล รวมไปถึงการประกาศใช้พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และการประกาศห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง[23]

          การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาครั้งนี้นอกจากจะเป็นการกำจัดนายปรีดี พนมยงค์ แล้วยังได้กำจัดพวกที่สนับสนุนนายปรีดีด้วย จึงมีผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องออกจากประเทศ และสมาคมคณะราษฎรต้องยุติบทบาทในฐานะองค์กรพรรคการเมือง และแปรผันเป็นสโมสรคณะราษฎรซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีจุดประสงค์ทางการเมือง

 

บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  ปฏิวัติ 2475.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

ณัฐพล ใจจริง.  (2556).  ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ.  นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

บัทสัน, เบนจามิน เอ.  (2555).  อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์.  แปลโดย กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์, บรรณาธิการ.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.  (2553).  แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

เสทื้อน ศุภโสภณ.  (2535).  ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช.  กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการ จัดพิมพ์หนังสือโครงการ 60 ปีประชาธิปไตย.

 

หนังสือพิมพ์

คณะราษฎรจะมีงานฤดูหนาว ประชุมกันเมื่อวันที่ 1.  (2475, 3 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

ประกาศสมาคมคณะราษฎร ไทยเขษมเล่นละครบทพระราชนิพนธ์.  (2475, 19 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

สนุกในวันฉลองรัฐธรรมนูญ จะมีการสหรสพอย่างเช่น โขน ละคร ภาพยนตร์ จำอวด เป็นต้น ประชุมนายอำเภอให้จัดหามหรสพ.  (2475, 26 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

 

อ้างอิง

          [1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  ปฏิวัติ 2475.  หน้า 499 – 501.

          [2] เสทื้อน ศุภโสภณ.  (2535).  ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช.  หน้า 117.

          [3] มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.  (2553).  แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์.  หน้า 35.

          [4] เบนจามิน เอ. บัทสัน.  (2555).  อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์.  แปลโดย กาญจนี ละอองศรี และ     ยุพา ชุมจันทร์, บรรณาธิการ.  หน้า 386.

          [5] เสทื้อน ศุภโสภณ.  (2535).  เล่มเดิม.  หน้า 117.

          [6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  เล่มเดิม.  หน้า 297.

          [7] แหล่งเดิม.  หน้า 297 – 298.

          [8] แหล่งเดิม.  หน้า 299.

          [9] แหล่งเดิม.  หน้า 298.

          [10] คณะราษฎรจะมีงานฤดูหนาว ประชุมกันเมื่อวันที่ 1.  (2475, 3 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

          [11] ประกาศสมาคมคณะราษฎร ไทยเขษมเล่นละครบทพระราชนิพนธ์.  (2475, 19 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

          [12] สนุกในวันฉลองรัฐธรรมนูญ จะมีการสหรสพอย่างเช่น โขน ละคร ภาพยนตร์ จำอวด เป็นต้น ประชุมนายอำเภอให้จัดหามหรสพ.  (2475, 26 พฤศจิกายน).  ชาติไทย.  หน้า 1.

          [13] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  เล่มเดิม.  หน้า 300.

          [14] เบนจามิน เอ. บัทสัน.  (2555).  เล่มเดิม.  หน้า 386.

          [15] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  เล่มเดิม.  หน้า 300.

          [16] แหล่งเดิม.  หน้า 300.

          [17] แหล่งเดิม.  หน้า 300.

          [18] ณัฐพล ใจจริง.  (2556).  ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ.  หน้า 22.

          [19] แหล่งเดิม.  หน้า 250 – 251.

          [20] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  เล่มเดิม.  หน้า 493.

          [21] ณัฐพล ใจจริง.  (2556).  เล่มเดิม.  หน้า 22.

          [22] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  (2552).  เล่มเดิม.  หน้า 493.

          [23] แหล่งเดิม.  หน้า 494.