กรมคลัง
ผู้เรียบเรียง : ดร.โดม ไกรปกรณ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
กรมคลัง
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พ.ศ. 1893-1912) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งตำแหน่งข้าราชการ โดยตำแหน่งสำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ ตำแหน่ง “จตุสดมภ์” อันได้แก่ เวียง วัง คลัง นา สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกรมคลัง มียศเป็นเจ้าพระยาหรือพระยา โดยมีบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม “โกษาธิบดี” ตามระบบศักดินาที่ใช้ในสมัยอยุธยานั้น เจ้าพระยาพระคลังมีศักดินา 10,000[1]
สำหรับอำนาจหน้าที่ของเสนาบดีกรมคลังในสมัยอยุธยานั้น ในระยะแรกเสนาบดีกรมคลัง ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการเก็บรายได้และรายจ่ายของกรมทุกกรม รวมทั้งตัดสินคดีความที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์หลวง โดยงานของเสนาบดีกรมคลังน่าจะเป็นงานเบา เนื่องจากภาษีอากรที่รัฐเรียกเก็บเป็นตัวเงินมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นการเรียกเก็บสิ่งของและเรียกเกณฑ์แรงงานจากราษฎร ซึ่งอย่างหลังเป็นหน้าที่ของฝ่ายมหาดไทยและกลาโหม[2] เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเริ่มติดต่อค้าขายกับจีนและส่งสำเภาหลวงนำสินค้าพื้นเมืองออกไปขาย เสนาบดีกรมคลังจึงมีหน้าที่ดูแลเรื่องการติดต่อค้าขายกับจีน รวมทั้งเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกรุงศรีอยุธยากับอาณาจักรจีนด้วย โดยหน่วยงานในสังกัดเสนาบดีกรมคลังที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีน ได้แก่ “กรมท่าซ้าย” ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยามีการติดต่อค้าขายกับชาวยุโรป และพ่อค้ามุสลิมจากอาหรับ จึงมีการตั้ง “กรมท่าขวา” เพื่อทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับพ่อค้ามุสลิมและพ่อค้าชาวฮอลันดา (ส่วนการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับพ่อค้าจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปนั้น ขึ้นอยู่กับล่ามที่ชาตินั้นๆ ใช้ในการติดต่อกับสยามว่าชาติตะวันตกชาตินั้นๆ จะต้องไปติดต่อกับกรมท่าซ้ายหรือกรมท่าขวา หากใช้ล่ามที่มาจากประเทศทางฝั่งตะวันออกของสยามให้ติดต่อกับกรมท่าซ้าย หากใช้ล่ามที่มาจากประเทศทางฝั่งตะวันตกของสยามให้ติดต่อกับกรมท่าขวา)[3]
ในช่วงปลายสมัยอยุธยา อำนาจหน้าที่ของเสนาบดีกรมคลังได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมาในช่วงต้น-กลางสมัยอยุธยา โดยพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกหัวเมืองภายใต้ปกครองของสมุหพระกลาโหมมาขึ้นกับเสนาบดีกรมคลังแทน เนื่องจากเสนาบดีกลาโหมได้กระทำความผิดที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงพอพระทัย นอกจากนี้ ในช่วงปลายสมัยอยุธยา เสนาบดีกรมคลังยังมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบด้านการศาล การสงคราม ภาษีอากร และการปกครองโดยทั่วๆ ไปในบริเวณหัวเมืองภาคใต้ด้วย[4]
ด้วยเหตุที่กรมคลังทำหน้าที่ดูแลงานด้านการค้าและการทูตกับชาวต่างประเทศ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กรมท่า” ตามบทบาทหน้าที่ที่บังคับการท่าเรือที่เรือต่างประเทศเข้ามาค้าขาย[5] โดยนับตั้งแต่สมัยกลางอยุธยา จนถึงปลายสมัยอยุธยา เสนาบดีที่คุมกรมคลังทั้งหมดให้ความสำคัญแก่กิจกรรมของกรมท่ามากกว่ากิจกรรมของกรมคลังของกรมพระคลัง ทำให้คนภายนอกมองว่า การค้าต่างประเทศของกรมท่า เป็นหน้าที่หลักของกรมคลังหรือมองว่า “กรมท่า” คือสิ่งเดียวกับ “กรมพระคลัง” มีการเรียกชื่อ เสนาบดีพระคลังว่า เสนาบดีในกรมท่า[6]
กรมพระคลังในสมัยธนบุรี-สมัยต้นรัตนโกสินทร์
แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายไปเมื่อพ่ายแพ้ต่อกองทัพพม่าในสงครามคราว “เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310” แต่พระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี ผู้รื้อฟื้นอาณาจักรสยามขึ้นมาใหม่ ได้ใช้ระบบการบริหารราชการตามแบบสมัยอยุธยา ดังนั้น กรมคลังจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ กรมคลังในสมัยปลายอยุธยา ต่อมาเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ปกครองมาเป็นราชวงศ์จักรี และมีการย้ายราชธานีของอาณาจักรจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระบรมราชโองการปรับปรุงการปกครองดูแลบ้านเมืองใหม่ทั้งหมด เสนาบดีกรมคลังหรือกรมท่า ถูกลดอำนาจในการคุมหัวเมืองจากเคยคุมหัวเมืองชายทะเลภาคใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก เหลือเพียงมีอำนาจคุมหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ส่วนหัวเมืองภาคใต้นั้นให้เสนาบดีกลาโหม (สมุหพระกลาโหม) เป็นผู้ดูแล[7] ในรัชสมัยของพระองค์มีการแต่งตั้งขุนนางผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง 3 ท่าน ได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (สน), เจ้าพระยาพระคลัง (หน), เจ้าพระยาคลัง (กุน)[8]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง (หรือกรมท่า) รวม 2 ท่าน ได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (กร) และเจ้าพระยาพระคลัง (สังข์) มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้ง เจ้าพระยาพระคลัง 1 ท่าน ได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) โดยเจ้าพระยาพระคลังท่านนี้ ทำหน้าที่สมุหพระกลาโหมควบคู่กันไปด้วย จึงเรียกกันว่า เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม[9]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการแต่งตั้งเสนาบดีกรมพระคลัง ได้แก่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)[10] โดยในช่วงปลายรัชสมัยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของเสนาบดีกรมพระคลัง คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้แยกงานด้านการต่างประเทศกับด้านพระคลัง ซึ่งรวมอยู่ในเสนาบดีคนเดียวกันออกจากกันเป็นคนละแผนก[11] คือ ให้กรมพระคลังดูแลรับผิดชอบงานการเก็บภาษีอากร และให้กรมท่าดูแลราชการทางการทูตอย่างเดียว[12]
กรมพระคลังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว จะทรงปฏิรูปการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2435 อันส่งผลให้มีการยกเลิกระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วงแรกของรัชสมัยยังคงใช้ระบบการบริหารราชการที่ใช้กันมาแต่เดิม โดยมีเชื้อพระวงศ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ว่าการกรมท่าหรือกรมพระคลัง คือ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต่อมาเมื่อกรมขุนวรจักรธรานุภาพ สิ้นพระชนม์ในช่วงกลางๆ ปี 2415 ได้ทรงแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกศาธิบดี (ท้วม บุนนาค) จนกระทั่ง ท่านเจ้าพระยากราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในปี 2428 ก็ไม่มีการตั้งเสนาบดีตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังอีก[13] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ ใน พ.ศ. 2435 ได้มีการตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น ในการนี้กรมพระคลังได้ถูกยกเลิกและตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาดูแลงานด้านการเก็บภาษีอากร และงานด้านการต่างประเทศแทน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการกำหนดเป็นกระทรวงเสนาบดีต่างกัน กระทรวงหนึ่งเรียกว่า กระทรวงต่างประเทศ อีกกระทรวงหนึ่งเรียกว่า กระทรวงพระคลัง[14]
บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555.
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
เวลส์, ควอริช. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล).กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.
ส. พลายน้อย. ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
อดิศร หมวกพิมาย. “กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398”. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531.
อ้างอิง
[1] เรียบเรียงจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 13; ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล).กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527, หน้า 73.
[2] เรียบเรียงจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิราชแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, หน้า 17-18; สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, หน้า 14; ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, หน้า 73.
[3] เรียบเรียงจาก ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, หน้า 73-74; อดิศร หมวกพิมาย, “กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398,” วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, หน้า 22-29; จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, ขุนนางกรมท่าขวา การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435, กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546, หน้า 71-82.
[4] ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, หน้า 74-75.
[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 74.
[6] อดิศร หมวกพิมาย, “กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398,” หน้า 30.
[7] เรียบเรียงจาก อดิศร หมวกพิมาย, “กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398,” หน้า 57-58; ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, หน้า 75.
[8] ส. พลายน้อย, ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550, หน้า 52-53, 120-121.
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 121-122.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 122-123.
[11] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้, หน้า 74.
[12] อดิศร หมวกพิมาย, “กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย : วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398,” หน้า 235.
[13] ส. พลายน้อย, ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน, หน้า 123-126.
[14] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์สรรพความรู้, หน้า 74.